ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม >>
ชนพื้นเมืองดั้งเดิม จังหวัดนครพนม
ชนเผ่าไทยญ้อ (ญ้อ)
ชนเผ่าผู้ไทย
เผ่าไทยกะเลิง
เผ่าไทแสก
เผ่าไทยโส้หรือไทยกะโซ่
ไทยข่า
ชนเผ่าไทยอีสาน
ไทยข่า
อาศัยในเขตอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
ประวัติความเป็นมา ไทยข่าเป็นชาวไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังพอมีหลงเหลือบ้างในพื้นที่จังหวัดนครพนมแต่ไม่ปรากฏให้เป็นชุมชนชัดเจนจะมีเพียงครอบครัวที่แทรกอยู่ในชุมชนอยู่ในพื้นที่อำเภอนาแกตามหมู่บ้านแถบเทือกเขาภูพาน ซึ่งเป็นรอยต่อกับอำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร อำเภอดงหลวง จะมีชาวข่าอาศัยอยู่มาก ในอดีตจังหวัดมุกดาหารเป็นอีกอำเภอหนึ่งที่ขึ้นต่อจังหวัดนครพนมรวมถึงอำเภอดงหลวงด้วย ปัจจุบันอำเภอมุกดาหารได้เลื่อนเป็นจังหวัด และอำเภอดงหลงก็ไปขึ้นเป็นสังกัดมุกดาหารด้วย ชุมชนไทยข่าในจังหวัดนครพนมจึงไม่ปรากฏให้เห็นเด่นชัด จึงมีเพียงกระจัดกระจายเป็นบางครอบครัวในชุมชนต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว
ไทยข่ามีถิ่นดั้งเดิมอยู่แขวงสุวรรณเขตสาละวัน และอัตปือ ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และได้อพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา
นักมนุษยวิทยาถือว่า ชาวไทยข่าเป็นเผ่าดั้งเดิมในแถบกลุ่มแม่น้ำโขง สืบเชื้อสายมาจากขอมโบราณภายหลังขอมเสื่อมอำนาจลง ภาษาของชาวไทยข่าเป็นภาษาในตระกูลออสโตรอาเชียติก ในสมัยมอญเขมร ชาวไทยข่ามิได้เรียกตัวเองว่าชาวไทยข่า แต่จะเรียกตัวเองว่าพวกบรู
คำว่า ข่า อาจมาจาก ข้าทาส ซึ่งสำเนียงอีสานจะออกเสียง ข่าทาส เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการจัดพวกบรูมาเป็นข้าทาสรับใช้กันมาก จึงเรียกกันมาว่าไทยข่า
จารีตประเพณีของชาวข่าที่น่าศึกษา (การแต่งงาน)
การสู่ขอฝ่ายชายมีล่าม 4 คน (ชาย 2 คน หญิง 2 คน) เทียน 4 เล่ม และเงินหนัก 5 บาท การแต่งงานมีเหล้าอุ 2 ไห ไก่ 2 ตัว ไข่ 8 ฟอง เงินหนักสองบาท หมูหนึ่งตัว และกำลัยเงิน 1 คู่
การกระทำผิดจารีตประเพณี (ผิดผี) เช่น ห้ามลูกสะใภ้เข้าห้องนอนพ่อผัว ห้ามลูกสะใภ้รับของจากพ่อผัว ห้ามลูกเขยเข้าออกภายในบ้านจากห้องหนึ่งไปยังอีกห้องหนึ่ง หรือลูกเขยพกมีดพร้า สวมหมวกขึ้นบ้านพ่อตา หรือกินข้าวร่วมกับแม่ยาย หรือรับของจากแม่ยาย การผิดผีหรือผิดจารีตประเพณีเช่นนี้ลูกเขยจะต้องใช้เงิน 5 บาท หมู 1 ตัว ดอกไม้ธูปเทียน 2 คู่ หากเป็นลูกสะใภ้ ต้องใช้ผ้าขาวม้า 1 ผืน ผ้าซิ่น 1 ผืน และแก้การผิดผีโดยใช้บุหรี่ ซึ่งม้วนด้วยใบตอง 2 ม้วน หมากพลู 2 คำ นำไป ขอคารวะต่อผีของบรรพบุรุษที่มุมเรือนด้านทิศตะวันออกหรือที่เตาไฟ