ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »
จังหวัดสุรินทร์
ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก
สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว จังหวัดสุรินทร์
อนุสาวรีย์พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง
สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2511
เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานระลึกถึงผู้สร้างเมืองท่านแรก
ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ของเมืองสุรินทร์
เดิมเคยเป็นกำแพงเมืองชั้นในของตัวเมืองสุรินทร์
อนุสาวรีย์เป็นรูปหล่อทองเหลืองรมดำ สูง 2.2 เมตร มือขวาถือของ้าว
อันเป็นการแสดงถึงความเก่งกล้าสามารถของท่านในการบังคับช้างศึกและเป็นเครื่องแสดงว่าสุรินทร์เป็นเมืองช้างมาแต่ดึกดำบรรพ์
ศาลหลักเมืองสุรินทร์
ตั้งอยู่ที่ถนนหลักเมือง
เป็นสถานที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองของชาวสุรินทร เดิมเป็นศาลที่ยังไม่มีเสาหลักเมือง
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2511 กรมศิลปากรได้ออกแบบสร้างศาลหลักเมืองใหม่
เสาหลักเมืองเป็นไม้ชัยพฤกษ์ที่ได้มาจากอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เป็นเสาไม้สูง
3 เมตร วัดโดยรอบเสาได้ 1 เมตร ทำพิธียกเสาหลักเมืองและสมโภช เมื่อวันที่ 15 มีนาคม
2517
วนอุทยานพนมสวาย
เป็นภูเขาเตี้ยๆ มียอดเขาอยู่ 3 ยอด ยอดที่ 1
มีชื่อว่ายอดเขาชาย (พนมเปราะ) สูง 210 เมตร เป็นที่ตั้งของวัดพนมสวาย
มีบันไดขึ้นถึงวัด มีสระน้ำกว้างใหญ่และร่มรื่นด้วยต้นไม้
เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสุรินทรมงคลปางประทานพร ภปร. ยอดที่ 2 มีชื่อว่ายอดเขาหญิง
(พนมสรัย) สูงระดับ 228 เมตร ทางวัดได้จัดสร้างพระพุทธรูปองค์ขนาดกลางประดิษฐานไว้
ยอดที่ 3 มีชื่อว่าเขาคอก (พนมกรอล)
พุทธสมาคมจังหวัดสุรินทร์ได้จัดสร้างศาลาอัฏฐะมุข เป็นอนุสรณ์ฉลองครบรอบ 200 ปี
แห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เพื่อประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง
จากยอดเขาชายมาประดิษฐานไว้ในศาลา
บรรพบุรุษชาวสุรินทร์ถือว่าเป็นสถานที่แสวงบุญ โดยการเดินทางไปขึ้นยอดเขาในวันขึ้น
1 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งเป็นวันหยุดงานตามประเพณีของชาวจังหวัดสุรินทร์มาแต่โบราณกาล
ปราสาทเมืองที
ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดจอมสุทธาวาส
ปราสาทเมืองทีเป็นปราสาทแบบเขมร
ที่ได้รับการดัดแปลงในสมัยหลังเช่นเดียวกับปราสาทศรีขรภูมิ ปราสาทก่อด้วยอิฐฉาบปูน
มี 5 หลัง สร้างรวมกันเป็นหมู่บนฐานเดียวกัน ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 3
หลังซึ่งมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุมไม้สิบสอง หลังกลางมีขนาดใหญ่สุด
มีบันไดทางขึ้นทั้งสี่ด้าน ตัวเรือนธาตุตันทึบไม่มีประตู เนื่องจากการดัดแปลง
ส่วนหลังคาทำเป็นชั้นมี 3 ชั้นเลียนแบบตัวเรือนธาตุ ส่วนยอดบนหักหาย
นับเป็นโบราณสถานเขมรอีกแบบหนึ่งที่นิยมสร้าง คือ
มีปราสาทหลังกลางเทียบเท่าเขาพระสุเมรุ
และมีปรางค์มุมทั้งสี่ตามความเชื่อในลัทธิศาสนาพราหมณ์
วัดบูรพาราม
ตั้งอยู่ที่ถนนกรุงศรีใน ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป
หลวงพ่อพระชีว์ (หลวงพ่อประจี) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างพร้อมกับวัดบูรพาราม
ห้วยเสนง
เป็นอ่างเก็บน้ำของโครงการชลประทาน
เป็นอ่างเก็บน้ำที่มีสันเขื่อนสูง บนสันเขื่อนเป็นถนนลาดยาง
ภายในที่ทำการชลประทานมีพระตำหนักที่ประทับ ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ปราสาทบ้านไพล
ตั้งอยู่ที่ตำบลไพล ตัวปราสาทมีลักษณะเป็นปรางค์
3 องค์ สร้างด้วยอิฐขัดตั้งเรียงเป็นแนวเดียวกัน มีคูน้ำล้อมรอบ
ยกเว้นทางเข้าด้านทิศตะวันออก ศิวลึงค์และทับหลังบางส่วนหายไป
สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16
ปราสาทหินบ้านพลวง
ตั้งอยู่ที่บ้านพลวง
เป็นปราสาทหินขนาดเล็กแต่ฝีมือการสลักหินประณีตงดงามมาก
ลักษณะของปราสาทหินองค์นี้เป็นปรางค์องค์เดียว
ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
มีประตูทางเข้าด้านหน้าเพียงด้านเดียวส่วนด้านอื่นอีกสามด้านทำเป็นประตูหลอก
องค์ปรางค์ก่อด้วยศิลาแลง หินทราย และมีอิฐเป็นวัสดุร่วมก่อสร้างในส่วนบนของปราสาท
โบราณสถานแห่งนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมจำหลักลายงดงามมาก
แต่องค์ปรางค์เหลือเพียงครึ่งเดียว ส่วนยอดหักหายไป มีคูน้ำเป็นรูปตัวยูล้อมรอบ
ถัดจากคูน้ำเป็นบาราย (สระน้ำขนาดใหญ่) ที่เห็นเป็นคันดิน
เดิมเป็นที่ตั้งของแหล่งชุมชนมาก่อน
ปราสาทตาเมือน
ที่พักคนเดินทางแห่งหนึ่งใน 17 แห่งที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7
มหาราชองค์สุดท้ายแห่งเมืองพระนครโปรดให้สร้างขึ้นจากเมืองยโสธรปุระ
เมืองหลวงของอาณาจักรขอมโบราณ ไปยังเมืองพิมาย
ปราสาทตาเมือนสร้างด้วยศิลาแลงเช่นเดียวกับโบราณสถานสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ที่พบในดินแดนประเทศไทย
มีลักษณะเป็นปรางค์องค์เดียวมีห้อยยาวเชื่อมต่อมาทางด้านหน้า ผนังด้านหนึ่งปิดทึบ
แต่สลักเป็นหน้าต่างหลอก ส่วนอีกด้านมีหน้าต่างเรียงกันโดยตลอด
ปราสาทตาเมือนโต๊ด
เป็นอโรคยาศาล สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18
ยังคงสภาพเกือบจะสมบูรณ์
ประกอบด้วยปรางค์ประธานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีมุขยื่นทางด้านหน้า
ก่อด้วยศิลาแลงและหินทราย มีบรรณาลัยอยู่ทางด้านหน้าเยื้องไปทางขวาขององค์ปรางค์
ล้อมรอบด้วยกำแพงก่อศิลาแลงเช่นเดียวกัน มีซุ้มประตู (โคปุระ) อยู่ด้านหน้า คือ
ด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว นอกกำแพงด้านหน้ามีสระน้ำเช่นเดียวกับ
อโรคยาศาลแห่งอื่น ๆ ตรงห้องกลางของโคปุระได้พบศิลาจารึก 1 หลัก
จารึกด้วยอักษรขอมภาษาสันสกฤต เป็นจารึกซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
โปรดให้สร้างไว้ประจำอโรคยาศาลแห่งนี้
ปราสาทตาเมือนธม
อยู่ถัดจากปราสาทตาเมือนโต๊ด
เป็นปราสาทขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มปราสาทตาเมือน บนแนวเทือกเขาบรรทัด
ประกอบด้วยปรางค์สามองค์ มีปรางค์ประธานขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ตรงกลาง
ปรางค์อีกสององค์อยู่ถัดไปด้านหลังทางด้านขวาและซ้าย
ปรางค์ทั้งสามองค์สร้างด้วยหินทรายหันหน้าไปทางทิศใต้
ที่ปรางค์ประธานมีลวดลายจำหลักที่งดงาม
แม้ว่าจะถูกลักลอบทำลายและทรุดโทรมไปตามกาลเวลา
ทางด้านตะวันออกและตะวันตก มีวิหารสองหลังสร้างด้วยศิลาแลง
อาคารทั้งหมดมีระเบียงคดซึ่งสร้างด้วยหินทรายล้อมรอบ
มีโคปุระทั้งสี่ด้าน
โคปุระด้านใต้มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีบันไดทางขึ้นจากเชิงเขาด้านนั้น
นอกระเบียงคดทางด้านทิศเหนือมีสระน้ำและที่ลานริมระเบียงคดทางมุขด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้มีศิลาจารึกภาษาขอม
กล่าวถึงชื่อ พระกัลปกฤษณะ จึงสันนิษฐานได้ว่า
โบราณสถานแห่งนี้คงจะสร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพราหมณ์
สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16
ซึ่งเก่าแก่กว่าโบราณสถานอีกสองแห่งในกลุ่มปราสาทตาเมือน
ปราสาทศรีขรภูมิ
ตั้งอยู่ที่ตำบลระแงง ประกอบด้วยปรางค์อิฐ 5 องค์
องค์กลางเป็นปรางค์ประธาน
มีปรางค์บริวารล้อมรอบอยู่ที่มุมทั้งสี่บนฐานเดียวกัน
ก่อด้วยหินทรายและศิลาแลง ปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
มีบันไดทางขึ้นและประตูทางเข้าเพียงด้านเดียวคือด้านทิศตะวันออก
ปรางค์ทั้งห้าองค์มีลักษณะเหมือนกัน คือ องค์ปรางค์ไม่มีมุข
มีชิ้นส่วนประดับทำจากหินทรายสลักเป็นลวดลายต่าง ๆ
ทั้งส่วนที่เป็นทับหลังและเสาประดับกรอบประตู เสาติดผนัง
และกลีบขนุนปรางค์ ส่วนหน้าบันเป็นอิฐประดับลวดลายปูนปั้น
องค์ปรางค์ประธานมีทับหลังสลักเป็นรูปศิวนาฏราช (พระอิศวรกำลังฟ้อนรำ)
บนแท่น มีหงส์แบก 3 ตัวอยู่เหนือเศียรเกียรติมุข มีรูปพระคเนศ พระพรหม
พระวิษณุ และนางปารพตี (นางอุมา) อยู่ด้านล่าง
เสาประตูสลักเป็นลวดลายเทพธิดาลายก้ามปูและรูปทวารบาล
ส่วนปรางค์บริวารพบทับหลัง 2 ชิ้น ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย เป็นภาพกฤษณาวตาร ทั้งสองชิ้น
ชิ้นหนึ่งเป็นภาพกฤษณะฆ่าช้างและคชสีห์
ส่วนอีกชิ้นหนึ่งเป็นภาพพระกฤษณะฆ่าคชสีห์
จากลวดลายที่เสาและทับหลังขององค์ปรางค์
มีลักษณะปนกันระหว่างรูปแบบศิลปะขอมแบบบาปวน และแบบนครวัด
ปราสาทตะเปียงเตีย
ตั้งอยู่ตำบลโชกเหนือ ภายในบริเวณวัดปราสาทเทพนิมิตร
ลักษณะปราสาทเป็นรูปสี่เหลี่ยม มียอดปราสาท 5 ยอด เป็นรูปบัวตูม
ตัวปราสาทก่อด้วยอิฐ ลักษณะการก่อสร้างเป็นสถาปัตยกรรมแบบลาว
สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
ปราสาทภูมิโปน
ตั้งอยู่ที่บ้านภูมิโปน ประกอบด้วยโบราณสถาน 4 หลัง คือ
ปราสาทก่ออิฐ 3 หลัง และก่อศิลาแลง 1 หลัง
มีอายุการก่อสร้างอย่างน้อยสองสมัย
ปราสาทก่ออิฐหลังใหญ่และหลังทางทิศเหนือสุด
นับเป็นปราสาทแบบศิลปะเขมรที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
คือราวพุทธศตวรรษที่ 13
ส่วนปราสาทอิฐหลังเล็กที่ตั้งตรงกลางและปราสาทที่มีฐานศิลาแลงทางด้านทิศใต้นั้นสร้างขึ้นในสมัยหลัง
ปราสาทภูมิโปนคงสร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดูไศวนิกาย
เช่นเดียวกับศาสนสถานแห่งอื่นในรุ่นเดียวกัน
ปราสาทยายเหงา
ตั้งอยู่ที่บ้านสังขะ เป็นศาสนสถานแบบขอมที่ประกอบด้วยปรางค์
2 องค์ ตั้งอยู่เรียงกันในแนวทิศเหนือ-ใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก
องค์ปรางค์ก่อด้วยอิฐ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง
มีการแกะสลักอิฐเป็นลวดลายเช่นที่กรอบหน้าบัน เป็นรูปมกร
(สัตว์ผสมระหว่างสิงห์ ช้าง และปลา) คาบนาคห้าเศียร
จากลักษณะแผนผังของอาคารน่าจะประกอบด้วยปราสาท 3 องค์ตั้งเรียงกัน
แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 2 องค์ บริเวณปราสาทพบกลีบขนุนยอดปรางค์
เสาประดับกรอบประตู แกะสลักจากหินทราย
ปราสาทจอมพระ
ตั้งอยู่ตำบลจอมพระ มีลักษณะของสิ่งก่อสร้างที่เรียกว่า
อโรคยศาล มีโครงสร้างที่ยังสมบูรณ์อยู่มาก อาคารต่าง ๆ
ก่อด้วยศิลาแลงและใช้หินทรายประกอบ
หันหน้าไปทางทิศตะวันออกมีส่วนประกอบหลัก 4 ส่วน
ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะแบบอโรคยศาลดังที่พบในที่อื่น คือ
ปรางค์ประธานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีมุขหน้า
บรรณาลัยหรืออาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งอยู่ทางด้านหน้า
มีกำแพงล้อมรอบพร้อมซุ้มประตูรูปกากบาทและสระน้ำนอกกำแพง
โบราณวัตถุสำคัญที่พบได้แก่ เศียรพระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวร 1 เศียร
และรูปพระวัชรสัตว์ 1 องค์เช่นเดียวกับที่พบที่อโรคยศาลในอำเภอ
พิมายและที่พระปรางค์วัดกู่แก้ว จังหวัดขอนแก่น
โบราณวัตถุเหล่านี้เป็นรูปเคารพในพุทธศาสนา ลัทธิมหายาน
มีลักษณะตรงกับศิลปะขอมแบบบายน
เป็นแบบศิลปะที่เจริญอยู่ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอม
จังหวัด » กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ บึงกาฬ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุบลราชธานี