ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »

ประเทศไทย 77 จังหวัด

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

จังหวัด » กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ บึงกาฬ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุบลราชธานี

» หน้าถัดไป

ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา

พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นที่ราบสูง มีอากาศร้อนจัด และหนาวจัด พื้นดินไม่เก็บน้ำจึงมีสภาพแห้งแล้ง พื้นที่อันกว้างขวางจึงเป็นป่าดงและทุ่งหญ้า อย่างไรก็ตามในระยะต่อมาเมื่อได้มีโครงการชลประทานเพิ่มมากขึ้น ทำให้ภาคนี้กลับกลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำแหล่งที่สองรองจากภาคกลาง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ในวงกระหนาบของประเทศลาวและเขมร การติดต่อกับประเทศลาวทำได้สะดวกตลอดแนวชายแดน เพราะมีเพียงลำน้ำโขงกั้นอยู่ และประชาชนเป็นชนเผ่าเดียวกันกับไทย ส่วนทางเขมรนั้น ทิวเขาพนมดงรักกั้นอยู่อย่างค่อนข้างสมบูรณ์   การติดต่อถูกจำกัดอยู่ตามช่องทางต่าง ๆ ผ่านเขาที่สูงชัน และเป็นแนวยาวตลอด

ที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีลักษณะคล้ายปากปล่องภูเขาไฟขนาดใหญ่ โดยมีทิวเขาเลยอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทิวเขาเพชรบูรณ์ ทิวเขาดงพระยาเย็น และทิวเขาสันกำแพงอยู่ทางด้านทิศตะวันตก ทิวเขาพนมดงรักอยู่ทางด้านทิศใต้ มีภูเก้าและภูพานอยู่ทางด้านทิศเหนือ และเชื่อมต่อกับทิวเขาเลยมามาพบทิวเขาพนมดงรัก พื้นที่โดยทั่วไปสูงเหนือระดับน้ำทะเล ประมาณ 140 - 200 เมตร พื้นที่ส่วนใหญ่ลาดเอียงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 50 เมตร ลักษณะพื้นที่เป็นลูกคลื่นน้อย ๆ เนื้อดินเป็นดินปนทราย และเกือบไม่มีดินตะกอนอยู่เลย

ภูมิประเทศ ทั้งภาคยกตัวสูงเป็นขอบแยกตัวออกจากภาคกลางอย่างชัดเจน ประกอบด้วยเทือกเขาสูงทางทิศตะวันตกและทิศใต้ เทือกเขาทิศตะวันตกมีความสูงเฉลี่ย 500-1,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล มียอดเขาที่สูงที่สุดในภาคอีสานคือ ยอดภูหลวง มีความสูง 1,571 เมตร และภูกระดึงสูง 1,325 เมตร เป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำหลายสาย ได้แก่ แม่น้ำพอง แม่น้ำเลย แม่น้ำพรม แม่น้ำชี และลำตะคอง

ทางด้านทิศใต้มีเทือกเขาสันกำแพง และเทือกเขาพนมดงรัก กั้นระหว่างภาคอีสานของไทย กับกัมพูชา และลาว มีความสูงเฉลี่ย 400-700 เมตร ยอดเขาเขียวเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดอยู่ทางตอนใต้ สูงประมาณ 1,292 เมตร

ส่วนตอนกลางของภาคมีเทือกเขาภูพานทอดตัวจากเหนือลงสู่ทิศใต้ แบ่งภาคอีสานออกเป็น 2 ส่วน คือ แอ่งโคราช คือ บริเวณแถบลุ่มแม่น้ำชี และแม่น้ำมูล มีพื้นที่ 3 ใน 4 ของภาคอีสานทั้งหมด แอ่งสกลนคร คือบริเวณตอนเหนือของเทือกเขาภูพาน และบริเวณที่ราบลุ่มน้ำโขง

การค้นพบโครงกระดูก และรอยเท้าไดโนเสาร์บนแผ่นหินทรายที่อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย และอำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ หรือแม้แต่ภาพเขียนของมนุษย์โบราณตามผนังถ้ำ รวมทั้งวัฒนธรรมบ้านเชียง และซากโบราณวัตถุมากมาย ทำให้การขุดค้นหาร่องรอยอารยธรรมในอดีตของดินแดนอันมั่งคั่งแห่งนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นดินแดนที่มีผู้คนอยู่อาศัยมาตั้งแต่อดีต ชุมชนต่าง ๆ ได้มีพัฒนาการต่อเนื่องจนเกิดเป็นรัฐ โดยมีแหล่งชุมชนโบราณจำนวนมากกระจายอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำชีและลุ่มแม่น้ำมูล โดยแบ่งเป็นกลุ่มวัฒนธรรมทวารวดีซึ่งนิยมทำคูน้ำคันดินเป็นวงรี หรือวงกลมรอบเมือง นิยมตั้งเมืองใกล้แหล่งน้ำเพื่อสะดวกในการชักน้ำเข้ามาเก็บในคูเมือง และกลุ่มวัฒนธรรมขอม ที่ผังเมืองมักจะเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีการขุดบารายไว้เป็นแหล่งน้ำในเมือง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นที่ราบใหญ่ตอนใจกลางของแหลมทอง หรืออินโดแปซิฟิค มีทิวเขาเป็นกรอบล้อมรอบพื้นที่อยู่เกือบทุกด้าน จึงมีสภาพเป็นที่ราบสูง พื้นที่แยกออกจากภาคกลาง และภาคตะวันออกโดยมีทิวเขา และป่าใหญ่กั้นไว้ มีลำน้ำโขงกั้นอยู่ทางเหนือและทางตะวันออก และเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับลาว

ประวัติศาสตร์ ในสมัยโบราณภาคนี้เคยเป็นอาณาจักรขอมก่อนที่จะตกมาเป็นของไทย ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีชนชาวเขมร และส่วยปะปนอยู่กับชนชาติไทยทางตอนใต้ของภาค ส่วนทางตอนเหนือและตะวันออก มีชนชาวเวียตนามเข้ามาปะปนอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสงครามมหาเอเซียบูรพา ได้มีชาวเวียตนามอพยพเข้ามาอยู่อีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีชนชาติอยู่ทั่วไปทั้งที่เป็นจีนแท้ และลูกผสม

เมื่อประมาณ พ.ศ. 1100 พวกละว้าเสื่อมอำนาจลง ขอมเข้ามามีอำนาจแทนและตั้งอาณาจักรเจินละ หรืออิศานปุระ ส่วนพวกละว้าก็ถอยร่นไปทางทิศเหนือ   เมื่อขอมแผ่อิทธิพลและมีอำนาจครอบครองดินแดนเดิมของละว้าแล้ว ขอมได้แบ่งการปกครองออกเป็น 3 ภาค โดยตั้งเมืองศูนย์กลางการปกครองบังคับบัญชาขึ้น 3 เมือง คือ เมืองละโว้ (ลพบุรี) เมืองพิมาย (อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา) และเมืองสกลนคร แต่ละเมืองมีฐานะเป็นเมืองประเทศราชเท่าเทียมกัน และปกครองบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนครวัด อันเป็นราชธานีของขอม ซึ่งอยู่ในดินแดนเขมร

อิทธิพลของวัฒนธรรมทวารวดีที่แพร่ขยายครอบคลุม ดินแดนอีสานในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 - 14 หลังจากนั้นอาณาจักรขอมได้ขยายอิทธิพลเข้ามาสู่ดินแดนอีสาน โดยมีอิทธิพลสูงมากในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16 - 18

» หน้าถัดไป

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย