ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »
จังหวัดตาก
ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก
ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา จังหวัดตาก
ตากเป็นเมืองที่สร้างขึ้นก่อนสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เมืองเดิมตั้งอยู่บนดอยเล็ก ๆ ลูกหนึ่ง อยู่เหนือที่ว่าการอำเภอบ้านตากในปัจจุบันนี้ไปประมาณ 4 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากแม่น้ำปิงไปทางทิศตะวันตก 400 เมตร ที่หมู่บ้านท่าพระธาตุ ตำบลเกาะตะเภาอำเภอบ้านตาก สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า เดิมเป็นเมืองที่พวกมอญมาสร้างขึ้นไว้ เพราะอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิงและอยู่ตรงปากน้ำวังทางไปเมืองนครลำปางออกลำน้ำปิง เป็นเส้นทางสำคัญในทางคมนาคมในสมัยนั้น แต่เนื่องจากยังไม่มีผู้ใดเคยทำการสำรวจโดยละเอียด และกรมศิลปากรก็ยังไม่เคยทำการขุดค้น จึงไม่ปรากฏร่องรอยในทางโบราณคดี อันจะแสดงให้เห็นว่าเป็นเมืองของมอญแต่อย่างใด
แต่มีข้อที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งว่า ถ้าเมืองตากเป็นเมืองที่พวกมอญมาสร้างไว้จริง ก็เป็นเรื่องก่อนสมัยกรุงสุโขทัย เพราะปรากฏว่าในปี พ.ศ. 1800 มอญก็มิได้ครอบครองเมืองนี้แล้ว จะเห็นได้ว่าเมื่อพ่อขุนบางกลางท่าวและพ่อขุนผาเมืองยึดอำนาจจากขอมและประกาศตั้งกรุงสุโขทัยขึ้นเป็นอิสระ เมืองต่าง ๆ ที่มีคนไทยเป็นเจ้าเมืองก็ยอมรวมกับอาณาจักรสุโขทัยทั้งหมด และโดยเฉพาะเมืองตากนี้ปรากฏว่า ได้รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสุโขทัยแต่โดยดีตั้งแต่ต้น ถ้าเป็นเมืองที่มีชนชาติอื่นที่ไม่ใช่ไทยปกครองอยู่ เห็นจะไม่ยินยอมร่วมมือกันโดยง่ายดายเช่นนั้น
นอกจากนี้ในหนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทย ของพระบริหารเทพธานี ได้กล่าวถึงความสำคัญของเมืองตากว่า เดิมเคยเป็นเมืองราชธานีของแคว้นเหนือมาก่อน ต่อมาในสมัยพระยากาฬ- วรรณดิส ได้ย้ายจากเมืองตากไปครองเมืองละโว้แทน เมืองตากจำถูกทิ้งให้เป็นเมืองร้าง ต่อมาเมื่อพระนางจามเทวี เสด็จขึ้นไปครองเมืองหริภุญไชย ในราว พ.ศ. 1200 พระนางได้บูรณะเมืองตาก ขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงน่าที่จะช่วยยืนยันว่าเมืองตากเป็นเมืองที่มีมาก่อนสมัยกรุงสุโขทัยได้อีกทางหนึ่ง
หลังจากที่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ประกาศตั้งกรุงสุโขทัยขึ้นเป็นอิสระ เมื่อ พ.ศ. 1800 จากนั้น ในราว พ.ศ. 1805 ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับเมืองตากขึ้น ครั้งหนึ่งคือ ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด (อยู่ในอำเภอแม่สอดปัจจุบัน) ยกทัพมาตีเมืองตาก ซึ่งเป็นเมืองชายแดนของกรุงสุโขทัย พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จึงยกกองทัพมาช่วยป้องกันเมืองตากและได้ปะทะกันที่เชิงดอย นอกเมืองตากออกไปประมาณสักกิโลเมตรเศษ แต่เนื่องจากภูมิประเทศของเมืองตากเป็นป่าเขาโดยมาก การซุ่มซ่อนพลจึงกระทำได้อย่างสะดวกสบาย ดังปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงว่า เมื่อพ่อขุนศรีอินทรา-ทิตย์ต้อนพลเข้าไปทางซ้ายเพื่อหวังจะโอบล้อมกองทัพของขุนสามชน แต่ขุนสามชน คงรู้ทีจึงขับพลเลี่ยงเข้ามาทางขวาเข้าโอบล้อมกองทัพของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เสียก่อนไพร่พลในกองทัพของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ไม่นึกว่าเหตุการณ์ จะกลับตรงกันข้ามเช่นนั้น ก็เสียกำลังใจถอยร่นลงมา ขณะนั้นราช-โอรสองค์เล็กของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ซึ่งมีพระชนมายุได้ 19 พรรษา ได้ติดตามมาด้วยเห็นว่าถ้าขืนปล่อยให้ไพร่พล ในกองทัพถอยร่นลงมาเรื่อยเช่นนั้น ผลสุดท้ายต้องพ่ายแพ้อย่างแน่นอน จึงทรงขับช้างต้อนพลให้เข้าต่อตีกองทัพของขุนสามชนอีกครั้งหนึ่ง แล้วทรงไสช้างบุกเข้าไปจนถึงตัวขุนสามชน ซึ่งกำลังต้อนพลรุกไล่กองทัพของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เข้ามาพ่อขุนรามคำแหงทรงปะทะช้างกับขุนสามชนจนได้กระทำยุทธหัตถีกัน ขุนสามชนสู้ไม่ได้ก็พ่ายหนีไป เมืองตากจึงรอดพ้นจากการรุกรานของ ขุนสามชน และตลอดสมัยของกรุงสุโขทัยไม่ปรากฏในศิลาจารึกหรือจดหมายใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องราวของเมืองตากนี้อีกเลย
|| อ่านต่อ >>>
จังหวัด » กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์