ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »

ประเทศไทย 77 จังหวัด »

จังหวัดสระแก้ว

ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก

ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา จังหวัดสระแก้ว

จากการพบโบราณวัตถุที่บ้านโคกมะกอก ตำบลเขาสามสิบ อำเภอฉกรรจ์ และที่ตำบลสระขวัญ ตำบลท่าแยก ตำบลโคกปี่ฆ้อง อำเภอเมือง ฯ โบราณวัตถุที่พบยืนยันการตั้งหลักแหล่งของชุมชนมาตั้งแต่ 2500 ปี ก่อนพุทธกาลจนถึง พ.ศ.600 คือภาชนะดินเผาเนื้อหยาบเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ โครงกระดูกมนุษย์ ขันคนโท หม้อ จาน ทำด้วยดินเผา ส่วนโบราณวัตถุที่มีอายุระหว่างพุทธกาลถึง พ.ศ.600 ที่พบได้แก่ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหินคาร์เนเลียน ที่อำเภอเขาฉกรรจ์ กำไลสำริด และเครื่องปั้นดินเผา ที่มีลายเชือกทาบ ที่อำเภอเมือง ฯโบราณวัตถุดังกล่าวมีอายุร่วมกับโบราณวัตถุ ที่พบที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี และที่บ้านโคกพนมดี อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี จึงกล่าวได้ว่าในห้วงเวลาดังกล่าว ผู้คนในเขตจังหวัดสระแก้วเริ่มต้นด้วยครอบครัวเล็ก ๆ อาศัยอยู่ในถ้ำ เช่น ถ้ำเขาสำพุง อำเภอฉกรรจ์ แล้วขยายเป็นครอบครัวใหญ่ขึ้น  พัฒนามาเป็นหมู่บ้านที่บ้านโคกมะกอก ตำบลเขาสามสิบ อำเภอเขาสกรรจ์ แล้วขยายหมู่บ้านออกไปที่ชุมชนท่าไม้แดง ตำบลสระขวัญ ชุมชนคลองขนุน ตำบลท่าแขก และชุมชนโคกชายธง ตำบลโคกปี่ฆ้อง อำเภอเมือง ฯ

พุทธศตวรรษที่ 11 - 14 มนุษย์ในยุคนี้ได้รวมตัวกันเป็นหน่วยทางการเมือง ของกลุ่มชนที่เรียกว่า ชาวกัมพู มีจุดเริ่มต้นการตั้งถิ่นฐาน เกิดเป็นชุมชนบ้านเมือง ที่เก่าแก่ที่สุดของตอนเหนือของลุ่มน้ำชี ในขณะที่ประชากรบางส่วนแถบใกล้ทะเล หรือลำน้ำใหญ่ หรือไปเส้นทางคมนาคม มีโอกาสได้รับอิทธิพลทางศิลปวัฒนธรรมทั้งจากอินเดียและจาม กลุ่มชนที่เจริญกว่าเหล่านี้ได้ถ่ายทอดอารยธรรม ซึ่งมีอิทธิพลของอินเดียและจามปนกัน แพร่ขยายเข้าสู่อีสานแถบอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว จังหวัดอุบล ฯ และบริเวณทะเลสาบเขมร บริเวณดังกล่าวได้พบจารึกสัมพันธ์กับกษัตริย์องค์สำคัญในสมัยเจนละคือ พระเจ้าจิตรเสน (มเหนทรวรมัน) และพระเจ้าอีสานวรมัน (โอรสพระเจ้าจิตรเสน)

ข้อความในจารึกช่องสระแจงเป็นการประกาศว่า พระเจ้าจิตรเสนเหมือนพระศิวะ มีบ่อน้ำไว้ใช้ ส่วนจารึกเขาน้อยกล่าวถึงบุคคลที่นับถือพระวิษณุ บูชาตามพิธีพระเวท จารึกเขารังมีเนื้อหากล่าวถึงการให้ทาส ให้สวน และสร้างวัตถุถวายให้กับวิหาร

ในพุทธศตวรรษที่ 12 เป็นต้นมาได้เกิดอาณาจักรทวารวดีขึ้น มีบริเวณแกนอำนาจอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลางของไทย วัฒนธรรมทวารวดีได้แผ่ขยายเข้ามาทางตะวันออก ผ่านเมืองดงละคร จังหวัดนครนายก เมืองพระรถ (พนัสนิคม) จังหวัดชลบุรี เมืองศรีมโหสถ (โคกปีบ) และเมืองศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี เข้าสู่อำเภอวัฒนานคร อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ลักษณะของสังคมทวารวดีมีความหลากหลายของประชากร ประกอบด้วย มอญ ไต สาม สยาม นอกเหนือจากจีน และอินเดีย มีพื้นที่ทางเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม พอเลี้ยงตัวได้ใช้วัวไถนาแทนแรงงานคน แต่ลักษณะร่วมประการสำคัญของทวารวดีคือ พุทธศาสนา

ในห้วงระยะเวลาดังกล่าว ในเขตจังหวัดสระแก้วได้พบแหล่งชุมชนโบราณ (จากภาพถ่ายดาวเทียม) อีก 17 แห่ง อยู่ที่ตำบลท่าข้าม เมืองไผ่ หันทราย อำเภออรัญประเทศ 6 แห่ง อยู่ในตำบลตาพระยา อำเภอตาพระยา 3 แห่ง อยู่ที่ตำบลโคกสูง กิ่งอำเภอโคกสูง 1 แห่ง อยู่ที่ตำบลท่าเกวียน อำเภอวัฒนานคร 3 แห่ง และที่ตำบลท่าเกษม อำเภอเมือง 4 แห่ง

ดังนั้นในห้วงเวลาดังกล่าวพื้นที่ในจังหวัดสระแก้ว ได้พัฒนาจากบ้านเป็นชุมชนเมืองขนาดย่อม รู้จักการใช้ตัวอักษรปัลลวะ เขียนภาษาสันสกฤต ภาษาบาลี ประกอบอาชีพเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม มีการนับถือศาสนาพุทธและศาสนาฮินดู

พ.ศ.1345 พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 กลับจากชวาและสถาปนากัมพูชเทศะ ด้วยการรวมเจนละบก เจนละน้ำ เข้าด้วยกันเป็นเมืองพระนคร และได้นำลัทธิเทวราชมาใช้ ยกกษัตริย์ขึ้นเป็นสมมติเทพ มีสัญลักษณ์แห่งเทวราชคือ ศิวลิงค์ กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในสมัยนี้ผู้หนึ่งคือ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (พ.ศ.1553 - 1593) พระองค์นับถือพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน แต่ศาสนาฮินดูก็ยังคงได้รับการสนับสนุนตามปกติ กษัตริย์ที่สำคัญอีกองค์หนึ่งคือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1724 - 1763) เป็นผู้สร้างพระพุทธรูปฉลองพระองค์ชื่อว่า พระชัยพุทธมหานาถ และนำไปประดิษฐานไว้ตามเมืองต่าง ๆ ในภาคกลางของดินแดนไทย เช่น ละโว้ สุพรรณบุรี เพชรบูรณ์ เป็นต้น เมื่อสิ้นสุดสมัยของพระองค์ เป็นระยะที่สุโขทัยตั้งตัวเป็นอิสระตั้งอาณาจักรขึ้น

 || อ่านต่อ >>>

จังหวัด » จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด ปราจีนบุรี ระยอง สระแก้ว

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย