ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »

ประเทศไทย 77 จังหวัด »

จังหวัดจันทบุรี

ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก

ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี จังหวัดจันทบุรี

ประเพณีชักพระบาท
จัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ณ วัดตะปอนใหญ่ อำเภอขลุง เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมากว่า 100 ปีแล้ว ภายในงานมีการรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ และมีการแข่งขันการชักเย่อเกวียน โดยมีม้วนภาพเขียนรอยพระพุทธบาทอยู่ตรงกลาง กลางคืนมีมหรสพ

งานนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง
จัดขึ้นในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 2 ช่วงเทศกาลตรุษจีนถึงเดือนมาฆบูชา (ประมาณเดือนมกราคม-มีนาคม) ณ บริเวณยอดเขาคิชฌกูฏ   ภายในงานมีการจัดบวงสรวงเทวดาอารักษ์ พิธีปิดทองรอยพระพุทธบาท การจัดเดินป่าขึ้นยอดเขาคิชฌกูฏ เป็นงานประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมานานหลายสิบปี โดยมีความเชื่อว่าจะได้บุญสูง และเป็นการฝึกจิตใจให้มีความอดทนไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก

งานของดีเมืองจันท์วันผลไม้
จัดในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี จัดที่บริเวณสนามสามเหลี่ยมทุ่งนาเชย โดยมีการประกวดรถประดับผลไม้ การประกวดธิดาชาวสวน การประกวดผลไม้ที่มีชื่อเสียงของภาคตะวันออก และการประกวดสุนัขพันธุ์ไทยหลังอาน การออกร้านจำหน่ายอัญมณี และการออกร้านของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรอื่นๆอีกมากมาย

งานตากสินรำลึก
จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม ถึงสัปดาห์แรกของเดือน มกราคม ของทุกปี ที่สนามกีฬาจังหวัด เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงกอบกู้กรุงศรีอยุธยา มีการจัดนิทรรศการของหน่วยงานราชการ และการออกร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองของจันทบุรี และการประกวดนางสาวจันทบูร

งานปิดทองพระพุทธไสยาสน์
จัดขึ้นประมาณใกล้เทศกาลตรุษจีน บริเวณวัดไผ่ล้อม มีการแสดงธรรมเทศนา และจัดแสดงมหรสพ

เทศกาลท่องเที่ยวเขาสอยดาว
จัดขึ้นในช่วงปลายปี บริเวณจุดชมวิวที่ว่าการอำเภอสอยดาวและบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว ในงานมีการนำเสนอผลผลิตทางการเกษตร สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ การแสดงศิลปวัฒนธรรม การแข่งขันสอยดาว การจำหน่ายผลไม้หลักของอำเภอ

ประเพณีการแข่งเรือวัดจันทนาราม
ทางวัดจันทนารามได้จัดให้มีการฟื้นฟูประเพณีเก่า ๆ โดยเฉพาะประเพณีการแข่งเรือ ทางวัดได้เชิญเรือจากที่ต่างๆ   มาเข้าร่วมประเพณีในการแข่งขันเรือยาว การแข่งเรือจะจัดแข่งขันในช่วงเทศกาลวันลอยกระทง ทั้งนี้นอกจากจะฟื้นฟูประเพณี เชื่อมความสามัคคีแก่หมู่คณะแล้ว ยังมีโอกาสได้ประกอบการกุศลอีกด้วย

ประเพณีการทำบุญข้าวหลามหรือการทำบุญหัวสะพาน
การทำบุญหัวสะพานของชาวหมู่บ้านหนองตาลิ่น เดิมมีจัดที่หัวสะพานจริง ๆ แต่เนื่องจากไม่สะดวกเพราะรถผ่านไปมาได้ย้ายไปจัดบริเวณศาลาพักร้อนกลางหมู่บ้าน จัดขึ้นประมาณกลางเดือนอ้าย โดยก่อนถึงวันงานคนในหมู่บ้านแทบทุกบ้าน จะทำการเผาข้าวหลามกันเป็นการใหญ่เพื่อเตรียมนำไปทำบุญในวันรุ่งขึ้น บางบ้านก็ทำข้าวต้มห่อ
โดยนำอาหารหวานคาวไป ทำบุญที่ศาลากลางหมู่บ้าน กลางคืนจะมีการแสดงละครชาตรี

ประเพณีพานฟางของชาวบ้านวันยาวล่าง จันทบุรี
ชาวนาจะนำฟ่อนข้าวมาวางเรียงซ้อน ๆ กันในลานนวด กลางลานมีเสาเกียดปักอยู่ตรงกลาง เพื่อใช้เป็นหลักมัดพรวนควาย ประมาณ 5-6 ตัว มัดเรียงกันเป็นแถว   ปลายพรวนมัดติดกับเสาเกียดไว้ ก็ใกล้ค่ำชาวนาจะนำควายที่มัดเป็นพรวนติดกับเสาเกียดย่ำลงบนฟ่อนข้าวที่วางเรียงซ้อนไว้กลางลานนวด เมื่อเม็ดข้าวร่วงจากฟ่อน จะตัดฟางที่มัดฟ่อนข้าวออก และใช้มือหอบฟ่อนข้าวขึ้นมากองรอบเสาเกียด เป็นการรื้อฟ่อนข้าวออกเอาแต่เม็ดข้าวไว้ ชาวนาจะซัดฟางข้าวโดยใช้มือหอบโยนไปที่เสาเกียดกลางลานนวด แล้วใช้ควายชุดเดิมมัดพรวนติดกับเสาเกียดอีกครั้ง ย่ำฟ่อนข้าวอีกหนให้เม็ดข้าวร่วงหล่นให้หมด หลังจากนั้นใช้ดองเกี่ยวฟางข้าวโยนออกไปนอกลาน ก็จะเหลือแต่เม็ดข้าวเปลือกไว้ ขณะที่พานฟางชาวบ้านจะต้องร้องเพลงโหงขึ้นต้นว่า โหงอ่อนเอย ร่อนลงอยู่ในดงมะไฟ หนุ่มสาวจะร้องเพลงแก้กันอย่างสนุกสนานจนหายเหนื่อย
       เสร็จพิธีพานฟางก็จะทำข้าวเหนียวน้ำกะทิเลี้ยงกันอย่างอิ่มหนำสำราญ ด้วยความสนุกสนานรักใคร่สามัคคี

การละเล่น

  • การแสดงละครเท่งตุ๊ก ( เท่งกรุ๊ก ) ที่เรียกว่า ละคร เพราะเป็นการแสดงที่เป็นเรื่องราว มีประวัติอยู่หลาย ๆ ทาง เมื่อพิจารณาแล้ว ถือว่าเป็นการแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้านอย่างหนึ่งของจังหวัดจันทบุรีที่มีมานานหลายสิบปีแล้ว ลักษณะของชื่อการแสดงที่เรียกว่าแท่งตุ๊กน่าจะมาจากเสียงกลองเท่งตุ๊ก เวลาที่ใช้ตีประกอบการแสดง ผู้แสดง ส่วนใหญ่ใช้ผู้หญิงแสดง ยกเว้นตัวตลกอาจใช้ผู้ชายแสดงก็ได้   เรื่องที่ใช้แสดง ส่วนมากนำเรื่องเกี่ยวกับนิทานพื้นบ้านหรือเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ มาแสดงในปัจจุบัน ได้เปลี่ยนเป็นเรื่องราว อิงชีวิตประจำวันเกี่ยวกับการอิจฉาริษยา ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของชาวบ้าน หรืออาจดัดแปลงเนื้อร้องให้เป็นไปตามบุคคลหรือ ตามความต้องการของผู้จัดหาไปแสดง
  • การเล่นสะบ้าล้อ
    จังหวัดจันทบุรีมีการละเล่นสะบ้าล้อกันมานาน เดิมที่นั้นนิยมเล่นกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มักเล่นกันในช่วงเทศกาลตรุษสงกรานต์ นอกจากจะเล่นเพื่อความสนุกสนานแล้ว ยังมีการแข่งขันเอาแพ้เอาชนะกันด้วย ปัจจุบันหามีผู้เล่นได้น้อยเต็มที เทศบาลเมืองจันทบุรีได้พยายามอนุรักษ์ไว้ โดยมีการจัดให้มีแข่งขันเป็นประจำทุกปี ในช่วงของเทศกาลสงกรานต์
  • การแสดงพื้นบ้าน - ยันแย่
    เป็นการแสดงของชาวชองซึ่งเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิม ที่อาศัยอยู่แถบตำบลตะเคียนทองและ ตำบลคลองพลู กิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี แต่เดิมนั้นเพลงยันแย่ จะใช้สำหรับร้องกล่อมเด็ก ผู้ร้องจะร้องเป็นภาษาของชอง เนื้อหาของบทร้องจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ การทำมาหากินพร้อมทั้งสอดแทรกข้อคิด ปรัชญา ความเชื่อถือในสิ่งศักดิ์ ไม่มีการแต่งบทร้องไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ผู้ร้องจะร้องด้นสด ๆ ตามประสบการณ์และ จินตนาการของตนเอง ใช้คำง่ายๆ ต่อมาได้มีการนำเอาทำนองเพลงยันแย่ มาแต่งบทร้องให้เป็นบทโต้ตอบ และเกี้ยวพาราสีกันของหนุ่มสาวเพื่อใช้แสดง
  • การแสดงพื้นบ้าน - อาไย
    เป็นการละเล่นพื้นบ้านของหมู่บ้านตามูล ชาวบ้านแห่งนี้ใช้ภาษาเขมรเป็นภาษาพูด ฉะนั้นการเล่นอาไยจึงมีสำเนียงเนื้อร้องเป็นภาษาเขมร การเล่นอาไยนี้มีมานานหลายปีแล้ว ซึ่งได้รับการเผยแพร่มาจากเขมรโดยทิดฮัมกับทิดบุน ได้ศึกษาร่ำเรียนวิชาการละเล่นและได้นำมาเผยแพร่ต่อ ๆ กันมาถึงทุกวันนี้ จนกลายมาเป็นการละเล่นพื้นบ้านของ ชาวตามูลล่าง หมู่ที่ 3 ตำบลทรายขาว อำเภอสอยดาว
  • การแสดงพื้นบ้าน - ระบำเก็บพริกไทย
    เนื่องจากการแสดงศิลปพื้นเมืองภาคตะวันออก ไม่ค่อยมีเด่นชัดนัก ทางคณะครูอาจารย์สายนาฏศิลป์ไทย วิทยาลัยนาฏศิลปจันทบุรี จึงได้ประดิษฐ์ชุดการแสดงขึ้นตามสภาพความเป็นอยู่ของท้องถิ่น โดยเห็นว่าพริกไทยเป็นพืชเศรษฐกิจของจันทบุรีอย่างหนึ่งและมีขั้นตอนวิธีการที่น่าสนใจ จึงได้นำขั้นตอนการผลิตพริกไทยมาประดิษฐ์เป็นท่ารำ ใช้ผู้แสดงเป็นหญิงล้วน ประมาณ 6-8 คน
  • ระบำเริงนทีบูรพา
    ระบำชุดนี้สร้างสรรค์จากจินตนาการ โดยนำรูปแบบของการดำรงชีวิตของสัตว์ทะเลประเภทต่าง ๆ เช่น กุ้ง หอยปู ปลา และปลาหมึก ที่เวียนว่ายอยู่ในท้องทะเล บางชีวิตอาจจะต้องถูกชาวประมงจับไป
  • ระบำควนคราบุรี
    แนวความคิดในการประดิษฐ์ระบำควนคราบุรี เนื่องจากจังหวัดจันทบุรีได้รับอิทธิพลทางศิลปะจากขอม มีหลักฐานทางศิลปะวัฒนธรรมของขอมเหลืออยู่ เช่น ซากกำแพงเมืองเก่า ศิลาแกะสลักเทวรูป ศิลาจารึก ภาษาขอมและภาษาขอม เป็นต้นภาษาขอม - ชื่อตำบลปัถวี อำเภอมะขาม มาจากคำเขมร " ปฐวี " แปลว่าแผ่นดิน บ้านวังสรรพรส อำเภอขลุง เพี้ยนมาจากภาษาเขมร " สปปุรส " ข.สับโปะรอะส์ หมายถึง ฆราวาส ผู้มีศรัทธาในศาสนา จึงทำให้ผู้ประดิษฐ์มีแนวคิดในการประดิษฐ์ท่ารำ การแต่งกาย ทำนองเพลง โดยใช้ศิลปะไทยผสมศิลปะของขอม ความหมายของระบำควนคราบุรี สมมุติถึงการร่ายรำของชายหญิงชาวควนคราบุรี แสดงความสนุกสนานรื่นเริงในงานนักขัตฤกษ์ต่าง โดยร่วมกลุ่มกันจับระบำรำฟ้อน
  • การแสดงพื้นบ้าน - ระบำชอง
    เป็นระบำที่แสดงถึงความสนุกสนานร่าเริงของชาวชองในจังหวัดจันทบุรี ที่มาจับกลุ่มกันในงานเทศกาลและร่วมเต้นระบำด้วยกัน ผู้แสดงเป็นหญิงล้วน จำนวน 6-8  คน ( หรือแล้วแต่โอกาส ) จุดมุ่งหมายของการแสดงเพื่อความสนุกสนานและสวยงาม

จังหวัด » จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด ปราจีนบุรี ระยอง สระแก้ว

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย