ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »
จังหวัดอุทัยธานี
ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก
ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา จังหวัดอุทัยธานี
จากหลักฐานทางโบราณคดีหลายสิ่งแสดงว่า พื้นที่ในเขตจังหวัดอุทัยธานี เคยเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และมีการพัฒนาเป็นชุมชนขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับหลายจังหวัดในภาคกลางเช่น จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดชัยนาท จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดสุพรรณบุรี
บริเวณที่ราบภาคกลางรวมทั้งบริเวณจังหวัดอุทัยธานี เป็นแหล่งอารยธรรมของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดังหลักฐานที่พบได้แก่ ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ที่เขาปลาร้า อำเภอลานสัก โครงกระดูกมนุษย์ ภาชนะดินเผา ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหินสีต่าง ๆ ที่บ้านหลุมเข้า อำเภอหนองขาหย่าง โครงกระดูกมนุษย์ ภาชนะดินเผา เครื่องมือที่ทำจากหินที่เขานาค อำเภอทัพทัน ชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์ ภาชนะดินเผา หินขัดที่เขาปฐวี อำเภอทัพทัน
ต่อมาชุมชนเหล่านี้ได้พัฒนาขึ้นเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีการจัดรูปแบบเมืองเป็นแบบมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ มีการกักน้ำไว้ใช้เพื่อการบริโภคและการเกษตร รู้จักการทำเครื่องมือเครื่องใช้ทั้งจากวัสดุธรรมชาติและจากการหล่อโลหะ รู้จักการทอผ้า ต่อมารู้จักสร้างอาคารประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะอาคารที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
สมัยทวารวดี ดินแดนในประเทศไทยได้รับวัฒนธรรมจากอินเดียเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของท้องถิ่น เกิดการพัฒนารูปแบบทางวัฒนธรรมของตนเองขึ้นเรียกว่า วัฒนธรรมทวารวดี มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 - 16 ชุมชนเหล่านี้ได้พัฒนาลักษณะการปกครอง เข้าสู่ยุคสังคมเมือง ก่อนจะพัฒนาไปสู่ความเจริญสูงสุดแบบนครรัฐ
จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า มีชุมชนลักษณะเมืองเกิดขึ้นหลายแห่ง มีคูน้ำคันดินล้อมรอบคล้ายวงกลม มีศาสนสถานอยู่ทั้งภายในและภายนอก เช่น เมืองการุ้ง บ้านด้าย บ้านคูเมือง บึงคอกช้าง เป็นต้น
แหล่งโบราณคดีที่โคกไม้เคน และบ้านจันเสน เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดีที่มีอาณาเขต และลักษณะใกล้เคียง กับแหล่งโบราณคดี ในเขตจังหวัดอุทัยธานีมากที่สุด
สมัยทวาราวดี ในพุทธศตวรรษที่ 11-16 นั้น ได้มีการรวมตัวกันเป็นชุมชนเล็ก และรับเอาวัฒนธรรมจากอินเดียมาจัดตั้งเป็นบ้านเมืองบนดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ดังนั้นเมืองโบราณสมัยนี้จึงเกิดขึ้นในเขตจังหวัดนครสวรรค์ สุพรรณบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี และอุทัยธานี เป็นต้น ส่วนมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ สมัยโลหะตอนปลายก็ได้รับเอาความเจริญ และคงจะพากันอพยพ เข้ารวมกลุ่มในอารยะธรรมศิลปทวาราวดีบนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และมีบางส่วนที่อพยพเข้าไปอาศัยอยู่ในที่ห่างไกล
จังหวัดอุทัยธานี ปรากฏว่าได้มีการสำรวจพบหลายแหล่งในท้องที่เขตอำเภอต่างๆ คือ
1. เมืองโบราณบ้านด้ายหรือบ้านใต้ อยู่ในท้องที่ตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอเมือง อุทัยธานี ตัวเมืองตั้งอยู่ริมแควตากแดด ลักษณะตัวเมือง เกือบจะเป็นรูปวงรี ด้านทิศเหนือใช้ลำน้ำตากแดดเป็นคูเมือง ส่วนด้านอื่นๆ เป็นคูและกำแพงดิน ตัวคูเมืองกว้างประมาณ 30 เมตร กำแพงดินหนาประมาณ 20 เมตร สูงราว 5 เมตร แนวโบราณสถานรอบยาว 865 เมตร ส่วนรอบนอกยาว 1,270 เมตร วัดตั้งแต่ลำน้ำตากแดดเข้าไป แล้วอ้อมออกลำน้ำตากแดดตอนล่างแนวโบราณสถานนี้ กว้าง 170 เมตร ห่างด้านละประมาณ 20 เมตร กำแพงดินส่วนที่ใกล้ลำน้ำถูกตัดเป็นทางเดินมีเศษภาชนะดินเผาติดปะปนอยู่ในเนื้อดิน กลางเมืองมีสระน้ำขนาดกว้าง 87 เมตร ยาว 110 เมตร ลึกเข้าไปด้านละประมาณ 20 เมตร จะเป็นตัวสระรูปวงรี เนื้อที่ของเมืองโบราณแห่งนี้มีประมาณ 100 ไร่ 99 ตารางวา มีซากโบราณสถานอยู่ 1 แห่ง ที่เชิงเขานาคนอกคูเมืองด้านทิศตะวันตกทางทิศใต้ของกำแพงดิน มีซากเจดีย์ รูปสี่เหลี่ยมขนาด 33 เมตร ฐานก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ ส่วนบนถูกทำลายหักพังไม่เป็นชิ้นดี มุมกำแพงด้านทิศเหนือ พบระฆังหินสีเทากว้าง 78 เซนติเมตร ยาว 150 เซนติเมตร หักเป็นสองท่อน กับมีผู้เคยพบพระพุทธรูปสำริดฝังอยู่ริมลำน้ำตากแดด พระพิมพ์ดินเผาปางสมาธิ ฐานเป็นรูปบัว เศียรหักไปส่วนหนึ่ง ตุ้มหูสำริด กำไลหิน เป็นต้น
2. เมืองโบราณบ้านคูเมือง อยู่ในท้องที่ตำบลดงขวาง อำเภอหนองขาหย่าง ตัวเมืองถูกแปรสภาพเป็นไร่นา ลักษณะตัวเมือง เป็นรูปวงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 800 เมตร คูเมืองกว้างประมาณ 30 เมตร กำแพงดินกว้างประมาณ 20 เมตร ตอนกลางลาดเป็นแอ่งคล้ายท้อง กะทะ ถูกปรับเป็นที่นาไปเกือบหมด รวมเนื้อที่ประมาณ 140 ไร่ เมืองนี้มีทางเข้า 3 แห่ง อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ และทิศเหนือ โบราณวัตถุที่เคยพบมีลูกปัดสีต่างๆ เป็นจำนวนมาก เครื่องปั้นดินเผาก้อนตะกั่ว ตราดินเผา รูปดอกไม้กับรูปสิงห์ ลักษณะเลือนลางมาก แท่งหินบดยา แว ถ้วยหรือตระกรันดินเผา ขวานหินขัดทำด้วยหินทราย ก้อนแร่เหล็กพระพิมพ์ดินเผา เป็นต้นนอกจากนี้พบระฆังหินแบบเจาะรู 2 รู และรูเดียวขนาดใหญ่ 2x5 ศอก จากทางเข้าทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีร่องรอยเจดีย์เล็ก ๆ เรียงรายห่างกันประมาณ 20 เมตร ยาวเกือบ 2 กิโลเมตร จนถึงองค์เจดีย์ใหญ่ ที่ดงหนองสระ หรือดงเจดีย์ราย เข้าใจว่าจะเป็นโบราณสถานที่สำคัญ และชาวเมืองออกมาทำบุญกันที่นี่ทุกวันพระ บนเขาระแหงที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองโบราณแห่งนี้ ชาวบ้านเล่าว่ามีเจดีย์เก่าแก่อยู่ด้วย
3. เมืองโบราณเมืองการุ้ง อยู่ในท้องที่ตำบลวังหิน อำเภอบ้านไร่ ตัวเมืองตั้งอยู่ริมถนนสายหนองฉาง-บ้านไร่ ตรงกิโลเมตรที่ 40 เดิมเป็นพื้นที่ป่าทึบ ปัจจุบันได้แปรสภาพเป็นไร่นา ลักษณะของตัวเมืองเป็นวงกลมรี เส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 800 เมตร ประกอบด้วยคูเมือง กว้างประมาณ 20 เมตร ลึกประมาณ 2 เมตร มีกำแพงดินล้อมรอบ คูเมืองบางตอนถูกเกลื่อนลง คูเมืองยาวตลอดเป็นระยะทางประมาณ 800 เมตร บางแห่งตื้นกว่าระดับเดิม และมีการขุดลอกคูเมืองใหม่ ภายในบริเวณเมืองมีซากเจดีย์หักพังอยู่ค่อนไปตรงกลาง ตัวเมืองด้านในอยู่ติดกับทิวเขาอีกด้านหนึ่งอยู่ติดกับถนนที่ตัดผ่านในระยะหลัง ภายในเมืองมีสระน้ำอยู่ค่อนไปทางทิศเหนือ และที่นอกกำแพงดินด้านทิศใต้มีสระโบราณอีกแห่งหนึ่ง โบราณวัตถุที่พบนั้น มีพระพุทธรูปปางเสด็จดาวดึงส์และสิ่งอื่นๆ เช่นเดียวกับเมืองสมัยทวาราวดีทั่วๆ ไป
4. เมืองโบราณบึงคอกช้าง อยู่ในท้องที่ตำบลไผ่เขียว อำเภอสว่างอารมณ์ ตัวเมืองตั้งอยู่ในป่า ซึ่งได้ทำการสำรวจและขุดตรวจ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2514 ถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2514 ปรากฏว่า คูเมืองกว้างประมาณ 20 เมตร กำแพงดินสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 6-7 เมตร มีประตูเข้าเมืองทั้ง 4 ทิศ และริมประตูเมืองทั้ง 4 มีสระน้ำเฉพาะด้านทิศตะวันออก มีคันคูอีกชั้นหนึ่งซึ่งเข้าใจว่า ขุดเพื่อเชื่อมโยงกับลำห้วยทางด้านตะวันออก เพื่อให้น้ำเข้าไปหล่อเลี้ยงในคูเมือง เนื่องจากเมืองอยู่ในป่าทึบจึงมีซากวัชพืชทับถมผิวดินหนามาก ไม่อาจพบเศษเครื่องปั้นดินเผาได้ โบราณสถานที่สำรวจมีอยู่ 5 แห่ง คือ ภายในตัวเมือง 1 แห่ง ตั้งอยู่ใกล้คูเมืองด้านทิศใต้ ลักษณะเป็นเนินศิลาแลง ขนาดของเนินมีเส้นฝ่าศูนย์กลางประมาณ 10 เมตร ตอนกลางถูกขุดเป็นโพรง นอกคูเมืองมีโบราณสถานก่อด้วยอิฐอีก 3 แห่ง มีขนาดกว้าง 14 เซนติเมตร ยาว 37 เซนติเมตร และหนา 7-8 เซนติเมตร มีแกลบผสมมาก ขนาดของเนินที่ใหญ่ที่สุด กว้างด้านประมาณ 10 เมตร สูงประมาณ 3 เมตร ส่วนอีก 2 แห่ง เป็นเนินขนาดเล็กกว้างประมาณ 6-7 เมตร สูงประมาณ 1/2 เมตร
นอกจากนี้ ยังพบซากโบราณสถานอยู่บนยอดเขาทางทิศตะวันออกของตัวเมืองอีก 1 แห่ง ซึ่งก่อสร้างด้วยอิฐที่เผาแกร่งและมีสีแดงเข้ม มีส่วนผสมกับทรายมากกว่าแกลบและมีน้ำหนักอิฐขนาดกว้าง 12 เซนติเมตร ยาว 24 เซนติเมตร และหนา 6 เซนติเมตร โบราณสถานแห่งนี้ อยู่ในสภาพถูกทำลาย ที่บริเวณเมืองนี้ พบหลักฐานที่สำคัญมาก คือ ศิลาจารึกอักษรโบราณ 3 หลัก เป็นอักษรปัลลวะ ภาษามอญ แปลเป็นความว่า
1. สมัยที่ปรัชญาเป็นเลิศ
2. บุญย่อมส่งเสริมนักพรต
3. จงเลือกไปทางนี้
|| อ่านต่อ >>>
จังหวัด » กรุงเทพฯ กาญจนบุรี ชัยนาท นครนายก นครปฐม นนทบุรี ประจวบฯ ปทุมธานี เพชรบุรี ราชบุรี ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อยุธยา อ่างทอง อุทัยธานี