ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »
จังหวัดประจวบคีรีขันธุ์
ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก
ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา จังหวัดประจวบคีรีขันธุ์(2)
ในอดีตบริเวณเมืองประจวบ ฯ ปรากฎที่ตั้งของเมืองต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของนักเดินเรือต่างชาติ จากจดหมายเหตุของ วันวลิต (van valiet) ชาวฮอลันดา ซึ่งเดินทางเข้ามาค้าขายกับอาณาจักรอยุธยาในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง ระหว่างปี พ.ศ.2176 - 2185 ได้บันทึกเรื่องราวของ ท้าวอู่ทอง ที่เกี่ยวข้องกับเมืองกุยว่า โอรสพระเจ้ากรุงจีน นามว่า เจ้าอุยถูกพระบิดาเนรเทศลงเรือสำเภาพร้อมด้วยบริวารได้แล่นเรือมาถึงบริเวณแหลมลายู ได้สร้างเมืองขึ้นหลายแห่งเช่น เมืองลังกาสุกะ เมืองนคร (ligor) และเมืองกุย (Guii) โดยเจ้าอุย อยู่ที่เมืองกุย ต่อมาก็ได้นามว่า ท้าวอู่ทอง
จากแผนที่การเดินเรือของชาวต่างชาติ ปรากฎสถานที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับเมืองประจวบ ฯ เช่น แผนที่เดินเรือของกองเรือจีน ในบังคับบัญชาของเช็งโห หัวหน้าขันทีซึ่งพระเจ้ายุงโล้ แห่งราชวงศ์เหม็ง ให้ออกไปสำรวจดินแดนทางตะวันตก เพื่อหาซื้อสิ่งของที่แปลกและหายากประเภทเพชรพลอย ไม้หอมและเครื่องเทศ ในระหว่างปี พ.ศ.1974 - 1975 ได้กล่าวถึงสถานที่แห่งหนึ่งที่แปลว่า เขาสามยอด สันนิษฐานว่า เป็นตำบลหนึ่งในบริเวณเมืองประจวบ ฯ ซึ่งน่าจะอยู่บริเวณเขาสามร้อยยอด นอกจากนี้แผนที่เดินเรือของชาวอาหรับยังปรากฎชื่อเมือง Kui หรือ Kuwi เหมือนกับแผนที่ของชาวโปรตุเกส ที่ปรากฎชื่อเมือง Cure ซึ่งน่าจะหมายถึงเมืองกุยเช่นกัน
ในปี พ.ศ.1893 สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี บรรดาเมืองต่าง ๆ ในบริเวณเมืองประจวบคีรีขันธ์ ก็ได้รวมอยู่ในปกครองของกรุงศรีอยุธยาด้วย จากหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า กล่าวถึงชื่อของเมืองกุย เมืองปราณ เมืองนารัง เมืองบางตะพาน เมืองสิงคอง (สิงขร) เมืองคลองวัน (คลองวาฬ) และะเมืองบางตะพานน้อย ว่าอยู่ในลำดับหัวเมืองปักษ์ใต้
ในปี พ.ศ.2133 ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระองค์ได้เสด็จ ฯ พร้อมสมเด็จพระเอกาทศรถ มาประทับที่เมืองเพชรบุรี จากนั้นได้เสด็จ ฯ ทางชลมารคถึงบริเวณตำบลสามร้อยยอด โปรดให้สร้างพระตำหนักที่ริมทะเล ทั้งสองพระองค์ประทับและเสด็จ ฯ ประพาสทางทะเลแถบนี้อยู่ 14 วัน
ในปี พ.ศ.2146 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เมืองตะนาวศรีมีหนังสือแแจ้งมายังกรุงศรีอยุธยาว่า กองทัพพม่าและมอญยกมาล้อมเมืองขอพระราชทานกองทัพไปช่วย สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาพิชัยสงครามเป็นแม่ทัพยกไปช่วย แต่เมื่อเดินทางไปถึงด่านสิงขรได้รับใบบอกว่า เมืองตะนาวศรีเสียแก่พม่าแล้ว
พ.ศ.2246 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ พระองค์ได้เสด็จ ฯ ประพาสเมืองเพชรบุรี จากนั้นได้เสด็จ ฯ ทางชลมารคมาประทับที่พระตำหนักสามร้อยยอดเป็นเวลา 15 วัน
พ.ศ.2290 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เจ้าเมืองกุยบุรีได้มีใบบอกมายังกรุงศรีอยุธยาว่า พบทองคำที่ตำบลบางสะพาน แขวงเมืองกุยบุรี พระองค์จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ไพร่พลไปขุดและร่อนทองคำ ได้ทองคำมา 90 ชั่งเศษ
พ.ศ.2302 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ พระเจ้าอลองพญากษัตริย์พม่ายกกองทัพมาตีเมืองทวาย และเมืองมะริด ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของกรุงศรีอยุธยา พระองค์จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกกำลังไปต้านข้าศึกสองกองทัพคือ กองทัพของพระยายมราช ยกไปทางด่านสิงขรไปป้องกันเมืองมะริด ส่วนกองทัพของพระยารัตนาธิเบศร ตั้งทัพอยู่ที่เมืองกุยบุรี ในครั้งนี้กองทหารอาทมาต จากเมืองวิเศษชัยชาญ จำนวน 400 นาย โดยการนำของขุนรองปลัดชู ได้ออกมาคอยตั้งรับข้าศึกอยู่บริเวณตำบลอ่าวหว้าขาว ปากทางด่านสิงขร กองทหารอาทมาตได้เข้าขับไล่พม่า แต่ฝ่ายพม่ามีกำลังมากกว่า กองทัพของพระยารัตนาธิเบศรมาช่วยไม่ทัน เมื่อทราบว่ากองทหารอาทมาตพ่ายแพ้แล้ว จึงได้ถอยกองทัพไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองเพชรบุรี
พ.ศ.2307 กองทัพพม่าที่ติดตาม หุยตองจาเจ้าเมืองทวาย ได้ถือโอกาสเข้าตีหัวเมืองปักษ์ใต้หลายเมือง รวมทั้งเมืองกำเนิดนพคุณ เมืองคลองวาฬ เมืองกุย และเมืองปราณ จนกระทั่งถึงเมืองเพชรบุรี แต่ถูกกองทัพพระยาพิพัฒนโกษา กับพระยาตากสินเข้าสกัดไว้ จึงถอยกำลังกลับไปเมืองทวายทางด่านสิงขร
พ.ศ.2310 เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้ว เมืองต่าง ๆ ในบริเวณนี้คงจะกลายเป็นเมืองร้างไปชั่วระยะหนึ่ง เนื่องจากผู้คนพากันหลบหนีกองทัพพม่าที่เข้ามาปล้นสดมภ์ โดยผ่านเข้ามาตามช่องทางที่มีอยู่หลายช่องทาง โดยเฉพาะช่องด่านสิงขร
ในปี พ.ศ.2317 ได้มีใบบอกจากเมืองคลองวาฬว่า มีกองทัพพม่าจำนวน 500 คน ยกกำลังเข้ามาทางด่านสิงขร เข้าปล้นบ้านทับสะแก แขวงเมืองกำเนิดนพคุณ เกรงว่าจะขึ้นมาตีเมืองคลองวาฬขอให้ส่งกำลังไปช่วย แต่ขณะนั้นทางกรุงธนบุรีกำลังมีศึกติดพันอยู่ที่เมืองราชบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ จึงมีรับสั่งให้เมืองกุย และเมืองคลองวาฬ ทำลายแหล่งน้ำกินน้ำใช้ ตามระยะทางที่จะขึ้นมายังเมืองเพชรบุรีทุกแห่ง ต่อมากองทัพพม่าตีได้บ้านทับสะแก และเผาเมืองกำเนิดนพคุณ จากนั้นได้เข้าตีเมืองปะทิวมาตามลำดับ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์ได้มีพระราชดำริที่จะแบ่งหัวเมืองปักษ์ใต้ฝั่งตะวันตก ซึ่งเดิมขึ้นกับกรมท่า จำนวน 19 หัวเมือง และจากมหาดไทยอีกหนึ่งหัวเมือง รวมเป็น 20 หัวเมือง ให้ไปขึ้นกับกรมพระยากลาโหม ในบรรดาเมืองดังกล่าวมี เมืองคลองวาฬ เมืองกุย และเมืองปราณ รวมอยู่ด้วย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งเมืองบางนางรม ขึ้นที่บริเวณปากคลองบางนางรม แต่เนื่องจากพื้นที่ไม่เหมาะที่จะทำการเกษตรกรรม เจ้าเมืองจึงย้ายที่ว่าการเมืองไปตั้งอยู่ที่เมืองกุย ซึ่งเป็นเมืองเก่า มีชุมชนอยู่หนาแน่นกว่า และพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ เมื่อย้ายมาแล้วยังคงใช้ชื่อว่า เมืองบางนางรม เช่นเดิม
ในปี พ.ศ.2398 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้รวมเมืองบางนางรม เมืองกุยบุรี และเมืองคลองวาฬเข้าด้วยกัน แล้วพระราชทานนามว่า เมืองประจวบคีรีขันธ์ คู่กับเมืองประจันตคีรีเขต ซึ่งพระราชทานให้เป็นนามของเกาะกง (ปัจจุบันอยู่ในกัมพูชา) พร้อมทั้งพระราชทานนามแก่เจ้าเมืองใหม่ว่า พระพิไชยชลสินธุ์
จังหวัด » กรุงเทพฯ กาญจนบุรี ชัยนาท นครนายก นครปฐม นนทบุรี ประจวบฯ ปทุมธานี เพชรบุรี ราชบุรี ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อยุธยา อ่างทอง อุทัยธานี