ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>

นักคิด นักเขียน

จิตร ภูมิศักดิ์ 
กุหลาบ สายประดิษฐ์
อัศนี พลจันทร์
ปรีดี พนมยงค์
ป๋วย อึ้งภากรณ์

ป๋วย อึ้งภากรณ์

ป๋วย  อึ้งภากรณ์เกิดเมื่อวันที่ 9   มีนาคม  พ.ศ.2459   ที่บ้านตรอกโรงสูบน้ำ   ตลาดน้อย เป็นบุตรของนางเซาะเซ็ง   แซ่เตียวและนายซา   แซ่อึ้ง ชื่อของ "ป๋วย" นั้น เตี่ยของป๋วยตั้งให้เป็น ชื่อตัว (ซึ่งต่างจากชื่อสกุลและชื่อรุ่นคือ generation ตามธรรมเนียมจีน-ชื่อสกุลของป๋วย คือ "อึ้ง"  ชื่อรุ่นคือ "เคียม" อ่านทั้งสามตัวตามลำดับ ประเพณีจีน สำเนียงแต้จิ๋วจะเป็น "อึ้ง ป้วย เคียม" แต่ถ้าอ่านโดดๆวรรณยุกต์จะเปลี่ยนไป ชื่อสกุลเป็น "อึ้ง" และชื่อตัวเป็น "ป๋วย" ) คำว่า "ป๋วย" แปลตรงตัวได้ว่า "พูนดินที่โคนต้นไม้" เพราะตัวประกอบในอักษรระบุไว้เช่นนั้น   แต่มีความหมายกว้างออกไปอีกคือ "บำรุง" "หล่อเลี้ยง" "เพาะเลี้ยง"และ"เสริมกำลัง"

        มารดาของป๋วยเป็นบุตรสาวคนแรกของเจ้าของร้านขายผ้าที่สำเพ็งอยู่ใกล้ตรอก โรงโคม ส่วนบิดาเป็นคนจีน ทำงานช่วยพี่ชายที่แพปลาแถวปากคลองวัดปทุมคงคา ทั้งสองสามีภรรยาไม่ค่อยมีรายได้มากนัก แต่ก็มีตั้งใจส่ง ลูกชายเข้าเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก   แผนกภาษาฝรั่งเศส   ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีค่าเล่าเรียนแพง (ปีละ 70 บาท)    เมื่อเด็กชายป๋วยอายุได้เก้าขวบ บิดาของป๋วยก็เสียชีวิตโดยไม่มีทรัพย์สินเงินทองทิ้งไว้ให้   ลุงเป็นคนรับอุปการะ ส่งเสียเงินให้เป็นรายเดือน   แม้ว่าจะมีปัญหาด้านการเงิน มารดาของป๋วยก็สนับสนุนให้เรียนหนังสือที่เดิมจนสำเร็จ การศึกษา ขณะอายุได้ 18 ปี ป๋วยได้มาเป็นมาสเตอร์หรือครูที่โรงเรียนอัสสัมชัญ   สอนวิชาคำนวณและภาษาฝรั่งเศส   มีรายได้เดือนละ 40 บาท แบ่งให้แม่ 30 บาท

          ต่อมาในปี พ.ศ.2477 ป๋วยได้สมัครเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นนักศึกษารุ่นแรก ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีการบังคับให้เข้าชั้นเรียน   ทางมหาวิทยาลัยได้จัดพิมพ์คำบรรยายออกจำหน่ายในราคาถูก วิชาละประมาณ 2 บาท เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนที่กำลังทำงานอยู่สามารถศึกษาเองได้   ป๋วยใช้เวลาในตอนค่ำและ วันหยุด   ป๋วยใช้เวลาเรียนอยู่ 4 ปีก็สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทางกฎหมายและการเมืองในปี พ.ศ.2480  หลังจากนั้น ป๋วยก็ลาออกจากโรงเรียนอัสสัมชัญ มาทำงานเป็นล่ามภาษาฝรั่งเศส ให้แก่อาจารย์ชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งที่มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์และการเมือง 

          ในเดือนเมษายน   พ.ศ.2481 ป๋วยได้รับทุนรัฐบาลที่สอบชิงทุนได้   ไปเรียนระดับ ปริญญาตรี สาขาวิชา เศรษฐศาสตร์และการคลังที่ London School of Enconomic & Political Science   มหาวิทยาลัยลอนดอน แต่หลังจากนั้นอีก 6 เดือนมารดาของ ป๋วยก็ เสียชีวิตลง

          ป๋วยใช้เวลาสามปีก็สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี   ป๋วยเป็นนักเรียนดีเด่นและเป็น ศิษย์เอกของ ศาสตราจารย์เฟรเดอริก  ฮาเย็ก(ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี พ.ศ.2517)  ป๋วยเป็น คนไทยคนเดียว ในมหาวิทยาลัยนี้ที่สอบได้คะแนนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาเกียรตินิยม อันดับหนึ่งด้วยกันในปี พ.ศ.2485   ได้เกรดเอแปดวิชา   และเกรดบีหนึ่งวิชา    จากผลการเรียนอันดีเด่นของป๋วย ทำให้ได้รับทุนลีเวอร์ฮูล์ม   สามารถ ศึกษาต่อระดับปริญญาเอกได้ทันที    แต่ในระหว่างนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น  ทำให้ป๋วยตัดสินใจ ทำงาน เพื่อชาติ

 

          วันที่ 8 ธันวาคม  พ.ศ.2484 กองทัพญี่ปุ่นบุกประเทศไทย    รัฐบาลไทยในสมัยนั้น มีจอมพล ป.  พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีประกาศสงครามเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น และ ต่อมาก็ประกาศสงครามกับประเทศอังกฤษและ สหรัฐอเมริกา    รัฐบาลไทยเรียกตัวคนไทย ในอังกฤษและสหรัฐอเมริกาให้เดินทางกลับ   โดยขู่ว่าผู้ที่ไม่เดินทางกลับจะถูกถอดสัญชาติ ไทย   ปรากฏว่าคนไทยจำนวนหนึ่งได้จัดตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นขึ้นทั้งในและนอก ประเทศในนามของขบวนการ "เสรีไทย" ภายในประเทศมีนายปรีดี  พนมยงค์   ผู้สำเร็จ ราชการ เป็นหัวหน้า ส่วนในสหรัฐอเมริกามี ม.ร.ว.เสนีย์   ปราโมช อัคราชทูตไทยในเป็น หัวหน้า   เสรีไทยปฏิเสธการประกาศสงครามของรัฐบาลไทย ซึ่งทำให้สหรัฐอเมริกา ประกาศรับรองฐานะของเสรีไทย

          ส่วนทางด้านประเทศอังกฤษ ปรากฏว่าอัครราชทูตไทยยอมเดินทางกลับประเทศตามคำสั่งของรัฐบาล   แต่ป๋วย และคนไทยจำนวนหนึ่งไม่ยอมกลับประเทศ   ได้ร่วมกันก่อตั้งคณะเสรีไทยขึ้นในประเทศอังกฤษเพื่อประกาศ ไม่ยอม อยู่ใต้อาณัติรัฐบาลไทยที่ยอมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น   เสรีไทยจำนวน 36 คนสมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพบก อังกฤษ   เสรีไทยกลุ่มนี้มีฉายาว่า "ช้างเผือก"(White Elephants) ในช่วงแรกป๋วยได้รับยศเป็นร้อยเอกแห่งกองทัพบก อังกฤษ มีชื่อจัดตั้งว่า "นายเข้ม เย็นยิ่ง"

          นายเข้ม   เย็นยิ่งต่อมาได้รับคำสั่งให้ลงเรือบรรทุกทหารจากลิเวอร์พูล เล่นเรืออ้อมทวีปแอฟริกามาขึ้นฝั่ง ที่ประเทศอินเดีย   ได้มาฝึกหลักสูตรนักรบแบบกองโจรและการจารกรรมที่เมืองปูนา   มีการฝึกการใช้อาวุธและวิธีการ ต่อสู้ต่างๆเป็นเวลาครึ่งปี   ในเดือนกันยายน  พ.ศ.2486 นายเข้มเป็นทหารฝ่ายสัมพันธมิตรชุดแรกที่ได้รับคำสั่งให้ เข้ามาติดต่อกับขบวนการเสรีไทยในประเทศไทย ที่มี "รูธ" หรือนายปรีดี พนมยงค์เป็นหัวหน้า เพื่อหาทางตั้งสถานี วิทยุติดต่อระหว่างกองทัพอังกฤษในอินเดียกับคณะเสรีไทย

          พฤศจิกายน พ.ศ.2486 ร้อยตรีเข้มได้เดินทางด้วยเรือดำน้ำของราชนาวีอังกฤษพร้อมสหายอีกสองคนจาก ลังกา    โดยมีเป้าหมายจะขึ้นฝั่งที่ตะกั่วป่า   จังหวัดพังงาเมื่อมาถึงที่หมายเรือดำน้ำจอดซุ่มรอนอกฝั่งหนึ่งสัปดาห์ แต่ไม่มีคนมารับจึงยกเลิกภาระกิจ   จึงกลับสู่ศรีลังกา    ต่อมาอีกหนึ่งสัปดาห์ร้อยตรีเข้มได้รับมอบภาระกิจอีกครั้ง ให้ลักลอบเข้าแผ่นดินไทย โดยการกระโดดร่มพร้อมอุปกรณ์เครื่องรับส่งวิทยุ   จึงได้เดินทางไปฝึกซ้อมกระโดดร่ม ในต้นเดือนกุมภาพันธ์  พ.ศ.2487 ที่แคว้นปัญจาบ  พอวันที่ 6 มีนาคม ร.ต.เข้มและเสรีไทยอีกสองคนมาขึ้นเครื่อง บินบี 24 ที่กัลตัตตา ประเทศอินเดีย มุ่งมาสู่แผ่นดินไทย   เป็นการกระโดดร่มแบบสุ่ม ไม่มีคนมารับที่ภาคพื้นดิน แต่สภาพอากาศไม่อำนวยเครื่องบินจึงเดินทางกลับไปกัลกัตตา   อีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมาเสรีไทยทั้งสามคนก็ขึ้น เครื่องบินอีก เพื่อปฏิบัติภาระกิจเดิม   โดยเข้ามาทางจังหวัดชัยนาท   เสรีไทยทั้งสามคนกระโดดร่มลง แต่ร.ต.เข้มถูก เจ้าหน้าที่ไทยและชาวบ้านช่วยกันล้อมจับกุมตัวไว้ได้   ถูกตั้งข้อหาว่าทรยศต่อชาติและทำจารกรรม   ถูกซ้อม และผลักเข้าสู่กอหนามโดยมีเจ้าหน้าที่เอาปืนจ่อข้างหลัง   และถูกนำมาขังล่ามโซ่ไว้บนศาลาวัดวังน้ำขาว   อำเภอ วัดสิงห์เป็นเวลาหลายวันจึงถูกส่งตัวมาลงเรือยนต์ล่องลำน้ำเจ้าพระยาเข้ามาที่ตึกสันติบาลในกรุงเทพฯ

          ด้วยความช่วยเหลือของตำรวจที่เป็นเสรีไทย ร.ต.เข้มจึงมีโอกาสเข้าพบกับนายปรีดี   พนมยงค์  ทำให้ฝ่าย เสรีไทยเริ่มเริ่มส่งวิทยุไปยังกองทัพอังกฤษที่อินเดียได้สำเร็จเป็นครั้งแรก   ทำให้หน่วยทหารจากอังกฤษและสหรัฐฯ สามารถเล็ดลอดเข้ามาปฏิบัติงานในแผ่นดินไทยได้สะดวกขึ้น   ในการทิ้งระเบิดของอังกฤษนายป๋วยได้ประสานติดต่อ กับอังกฤษแจ้งพิกัดไม่ให้เครื่องบินมาทิ้งระเบิดรพระบรมมหาราชวัง   ตลอดจนวังต่างๆ ทางอังกฤษก็ได้ตอบรับ ทำให้สถานที่สำคัญเหล่านี้สามารถอยู่รอดปลอดภัยมาจนทุกวันนี้

          ปลายสงครามโลกครั้งที่สองนายปรีดีส่งนายป๋วยกลับไปอังกฤษอีกครั้งหนึ่งเพื่อไปเจรจาให้รัฐบาลอังกฤษ ยอมรับว่าขบวนการเสรีไทยเป็นรัฐบาลอันชอบธรรมของไทย   ทำนองเดียวกับที่สหรัฐได้รับรองมาก่อนแล้ว   และ เจรจาให้อังกฤษยอมปล่อยเงินตราสำรองที่รัฐบาลไทยฝากไว้ที่ธนาคารกลางอังกฤษ

          เมื่อสงครามโลกยุติ   นายป๋วยได้รับยศพันตรีแห่งกองทัพบกอังกฤษ   ได้เป็นหนึ่งในผู้แทนไทยเดินทางไป เจรจาทางการทหารและการเมืองกับ ฝ่ายอังกฤษที่นครแคนดี ประเทศศรีลังกา    ได้ร่วมกับเสรีไทยจากอเมริกาอารักขา แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและพระอนุชาที่กัลกัตตา   จากนั้น นายป๋วยก็คืนยศทหารแก่กองทัพ อังกฤษ แล้วกลับไปแต่งงานกับมาร์กาเร็ต    สมิทในปี พ.ศ.2489 และเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยลอนดอน

          ปี พ.ศ.2491 ป๋วยได้เรียนสำเร็จปริญญาเอกโดยใช้เวลาสามปีทำวิทยานิพนธ์ "เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการ ควบคุมดีบุก" แต่เนื่องจากสถานการณ์ภายในประเทศไทย นายปรีดี   พนมยงค์ถูกทหารทำรัฐประหาร   ทำให้ สถานการณ์ไม่ปลอดภัย   ทางญาติของให้ป๋วยยังไม่ต้องรีบกลับมา

        ปี พ.ศ.2492 ดร.ป๋วยก็เดินทางกลับประเทศไทย บริษัทห้างร้านต่างๆจำนวนมากทั้งในและนอกประเทศ ต้องการตัวดร.ป๋วยไปทำงานโดยเสนอให้เงินเดือนสูงๆ แต่ในที่สุด ด.ร.ป๋วยก็เลือกที่จะรับราชการ เนื่องจากถือว่า ตนเองนอกจากจะเกิดเมืองไทย   กินข้าวไทยแล้ว ยังได้รับทุนเล่าเรียนรัฐบาลไทย   คือเงินของชาวนาชาวเมืองไทย ไปเมืองนอกแล้วผูกพันใจว่าจะรับราชการไทยด้วย    

          ดร.ป๋วยเข้ารับราชการครั้งแรกในตำแหน่งเศรษฐกร   กรมบัญชีกลาง   กระทรวงการคลัง ได้รับเงินเดือน ประมาณ 1,600 บาท สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังอยู่ในสภาพฟื้นตัว   ต่อมาในปี พ.ศ.2495 ดร.ป๋วยได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยฝ่ายวิชาการของปลัดกระทรวงการคลัง   และกรรมการธนาคารแห่ง ประเทศไทย จนถึงปี พ.ศ.2496 ดร.ป๋วยก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรง ตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีส่วนทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ต่างประเทศซึ่งมีปัญหามากในสมัยนั้น   กลับมีเสถียรภาพมากขึ้น   นักธุรกิจ มั่นใจค่าของ เงินบาทเมื่อเทียบกับเงินตราต่างประเทศ   ทำให้ราคาสินค้าลดลงและเงินสำรอง ระหว่างประเทศก็ขยาย ตัวเพิ่มมากขึ้น  

          วันที่ 25 ธันวาคม ปี พ.ศ.2496 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ดร.ป๋วยพ้นจากตำแหน่ง รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ ไทยไปรับราชการเป็นผู้เชียวชาญการคลัง กระทรวง การคลังเนื่องจากดร.ป๋วยปฏิเสธการที่จอมพลสฤษดิ์   ธนะรัชต์ ต้องการซื้อสหธนาคาร   กรุงเทพจำกัด แต่เนื่องจากธนาคารแห่งนั้นกระทำผิดระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย และกำลังถูกปรับเป็นเงินหลายล้านบาท   จอมพลสฤษดิ์ขอให้ดร.ป๋วยยกเลิกการปรับ   แต่ดร.ป๋วยปฏิเสธและยืนกราน ให้คณะรัฐมนตรีปรับธนาคารแห่งนั้น   ในที่สุดคณะรัฐมนตรีก็ปฏิบัติตามข้อเสนอของดร.ป๋วย

          ต่อมาพลตำรวจเอกเผ่า   ศรียานนท์อธิบดีกรมตำรวจและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก็พยายาม เสนอให้บริษัทแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาซึ่งตนเองมีผลประโยชน์อยู่ด้วย   เป็นผู้จัดพิมพ์ธนบัตรไทยแทนบริษัทโทมัส เดอลารู   คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ดร.ป๋วยเป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้    ดร.ป๋วยตรวจพบว่าา บริษัทดังกล่าวฝีมือไม่ดี ปลอมง่ายและมีชื่อเสียงในการวิ่งเต้น   จึงไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอให้เป็นผู้จัดพิมพ์ธนบัตร   จึงทำรายงานเสนอ ให้ใช้บริษัทโทมัส   เดอลารูตามเดิม   แต่ถ้าหากจะตัดสินใจให้บริษัทอเมริกันเป็นผู้พิมพ์ธนบัตรก็จะออกจากราชการ คณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของดร.ป๋วย   เหตุการณ์ครั้งนี้สร้างความไม่พอใจให้แก่พลตำรวจเอกเผ่า   ศรียานนท์เป็นอย่างมาก   ผู้มีอำนาจในประเทศขณะนั้นต่างไม่พอใจดร.ป๋วย   เพื่อความปลอดภัยพระบริภัณฑ์ยุทธกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงได้ให้ดร.ป๋วยไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจการคลังประจำสถานเอกอัคร ราชทูตไทยในอังกฤษ ในปี พ.ศ.2499   และยังได้เป็นผู้แทนไทยประจำคณะมนตรีดีบุกระหว่างประเทศ   มีผลทำให้ ไทยสามารถขายแร่ดีบุกเป็นสินค้าออกสำคัญของประเทศได้มากขึ้น

          ปี พ.ศ.2502 จอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง   จอมพลสฤษดิ์มีชื่อเสียไม่ดีหลายด้านแต่ ข้อเด่นคือ การเลือกใช้คน   จอมพลสฤษดิ์ได้ให้ดร.ป๋วยกลับเมืองไทยเข้ามาช่วยงาน   ต่อมาเมื่อนายโชติ  คุณะเกษม ลาอกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง   จอมพลสฤษดิ์ได้โทรเลขไปถึง ดร.ป๋วยซึ่งกำลัง ประชุมคณะรัฐมนตรีดีบุก โลกที่กรุงลอนดอน   เสนอให้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การคลัง  แต่ดร.ป๋วยปฏิเสธไปว่า ไม่ขอรับตำแหน่งนี้ เพราะเมื่อตอนเข้าเป็นเสรีไทย ได้สาบานไว้ว่า จะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ   จนกว่าจะเกษียณอายุราชการ   เพื่อ พิสูจน์ว่าไม่ได้หวังแสวงหาผลประโยชน์จากการเป็นเสรีไทย   เมื่อดร.ป๋วยกลับจากอังกฤษ จอมพลสฤษดิ์ก็แต่งตั้ง ให้ดร.ป๋วยเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย   ต่อมาได้รับ แต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง อีกตำแหน่งหนึ่ง  ดร.ป๋วยจึง ควบคุมทั้งนโยบายด้านการเงิน   การคลังและงบประมาณของประเทศ ในขณะที่อายุได้ เพียง 43 ปี    นอกจากนั้นดร.ป๋วยยังมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการสภาพัฒน์   เป็นกรรมการสภาการศึกษาแห่งชาติ

         แม้ว่าดร.ป๋วยจะมีตำแหน่งที่สูง แต่ก็ใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย   ชอบนุ่งกางเกงเวสต์ปอยต์มาทำงาน ไม่มีชุดดินเนอร์แจ็กเกตเป็นของตนเอง   ชอบกินก๋วยเตี๋ยว   ข้าวต้มกุ๊ย และเต้าฮวย

         ดร.ป๋วย   อึ้งภากรณ์ดำรงตำแหน่งงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเวลา 12 ปี นับเป็นผู้ว่าการที่อยู่ใน ตำแหน่งนานที่สุด    ตลอดสมัยที่ดร.ป๋วยเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยถือได้ว่าเป็นสมัยที่ธนาคารแห่ง ประเทศไทยปลอดจากการเมืองมากที่สุด และเป็นยุคที่สามารถรักษาเสถียรภาพเงินตราไว้ได้อย่างแข็งแกร่ง เงินบาท ได้รับได้รับความเชื่อมั่นจากทั้งในและนอกประเทศ   ทำให้มีการค้าขายและการลงทุนเพิ่มขึ้น   นอกจากนั้นเงินทุน สำรองระหว่างประเทศก็เพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์   ธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มขยายสาขาออกไปสู่ภูมิภาค สามารถจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรได้สำเร็จ   ไม่จำเป็นต้องไปพิมพ์ธนบัตรในต่างประเทศ มีการอออกพระราชบัญญัติ ธนาคารพาณิชย์ปี พ.ศ.2505   ซึงถือเป็นแม่บทของธนาคารพาณิชย์ตลอดจนนำเทคนิคนโยบายทางการเงินที่ สำคัญๆ เช่น อัตราเงินสดสำรองอัตราส่วนลดมาใช้ และชักจูงให้ธนาคารปฏิบัติตามกฎระเบียบ อันจำเป็นต่อการ เสริมสร้างความมั่นคงในระบบการธนาคาร และอนุมัติให้ธนาคารพาณิชย์เปิดสาขามากขึ้นและขยายไปทั่ว ราชอาณาจักร ทำให้กิจการธนาคารพาณิชย์ต่างๆเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว

          ปี พ.ศ.2507 ดร.ป๋วยเข้ารับตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์   มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และจะลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแต่ถูกนายกรัฐมนตรียับยั้งไว้   ขณะนั้นคณะเศรษฐศาสตร์ มีอาจารย์ประจำเพียงสี่คน   อาจารย์ป๋วยจึงเร่งผลิตอาจารย์โดยประกาศรับสมัครคนรุ่นใหม่ แล้วหาทุนส่งไปเรียน ต่างประเทศ ทำให้คณะเศรษฐศาสตร์เติบโตขึ้น ภายในเวลาเพียงสิบปี มีอาจารย์เพิ่มนับร้อยคน ส่วนใหญ่จบ การศึกษาระดับปริญญาโทและเอก

          สิงหาคม พ.ศ.2508 ดร.ป๋วยได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ในคำประกาศเกียรติประวัติ มีข้อความตอนหนึ่งว่า  "บุคคลสำคัญผู้แสดงบทบาทอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของธนาคารแห่งประเทศไทยในการ ขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยมีเสถียรภาพการเงินควบคู่กันไป   นายธนาคารระหว่างประเทศยกย่องว่านายป๋วยเป็น ผู้ว่าการธนาคารกลางที่มีความสามารถดีเด่นคนหนึ่งของโลก ... การกระทำของนายป๋วยยังเป็นแรงบันดาลใจ สำหรับข้าราชการผู้ขยันขันแข็ง   นายป๋วยผู้ถือได้ว่า ความเรียบง่ายคือความงามและความชื่อสัตย์สุจริต คือคุณความดีสูงสุดของชีวิตข้าราชการ เป็นหลักรประจำในซึ่งยึดถือมาช้านาน และได้เผยแพร่กับเพื่อนร่วมงาน ด้วยว่า ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ผู้แสวงหาความจริงและผู้ใช้วิชาชีพ จะต้องไม่เป็นเพียงผู้ที่คอยเรียนรู้อยู่เสมอและ ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น   หากยังต้องมีความชื่อสัตย์สุจริต และต้องแสดงให้ปรากฏออกมาถึง ความชื่อสัตย์สุจริตนั้นอย่างเพียงพอที่จะเรียกร้องให้ผู้อื่นมีความชื่อสัตย์สุจริตด้วย

อ่านต่อ >>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย