ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »
การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล ยุคล่าอาณานิคม ข้อแนะนำในการท่องเที่ยว « สาระน่าอ่าน
ประเทศไทยในยุคล่าอาณานิคม
ประเทศไทยได้เสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสรวม 5 ครั้ง เป็นพื้นที่ทั้งสิ้น 481,600 ตารางกิโลเมตร นับตั้งแต่ปลายรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โดยไทยต้องยินยอมเสียดินแดนบางส่วนไป เพื่อรักษาเอกราชและดินแดนส่วนใหญ่ไว้ ทำให้พื้นที่ประเทศไทยเหลืออยู่เพียง 513,600 ตารางกิโลเมตร
ดินแดนที่เสียไปตามลำดับมีดังนี้
- แคว้นกัมพูชา เมื่อปี พ.ศ. 2410
- แคว้นสิบสองจุไทย เมื่อปี พ.ศ. 2431 เป็นพื้นที่ 87,000 ตารางกิโลเมตร
- ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง อันได้แก่ ประเทศลาวปัจจุบัน ในพื้นที่เมืองหลวงพระบาง เมืองเวียงจันทร์ และอาณาเขตนครจัมปาศักดิ์ตะวันออก ตลอดจนบรรดาเกาะต่าง ๆ ในแม่น้ำโขง เมื่อปี พ.ศ. 2436 หรือที่รู้จักกันดีคือ ร.ศ. 112 เป็นพื้นที่ 143,000 ตารางกิโลเมตร
- ดินแดนทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง บริเวณที่อยู่ตรงข้ามเมืองหลวงพระบาง และตรงข้ามเมืองปากเซ เมื่อปี พ.ศ. 2446 เป็นพื้นที่ 62,000 ตารางกิโลเมตร เพื่อแลกกับเมืองจันทบุรี ที่ฝรั่งเศสยึดไว้เมื่อ ร.ศ. 112
- มณฑลบูรพา ได้แก่ พื้นที่เมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ เมื่อปี พ.ศ. 2449 เป็นพื้นที่ 51,000 ตารางกิโลเมตร เพื่อแลกกับเมืองตราด เกาะกง และเมืองด่านซ้าย พร้อมทั้งอำนาจศาลไทย ต่อคนในบังคับฝรั่งเศส
ต่อมาประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส ได้ทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับรัสเซีย เพื่อเตรียมรับสงครามโลกครั้งที่ 1 อังกฤษและฝรั่งเศสจึงได้ประชุมพิจารณาปรองดองกัน ในปัญหาข้อพิพาทเกี่ยวกับอาณานิคมโดยทั่วไป สำหรับประเทศไทยนั้นได้ตกลงแบ่งออกเป็น 3 ส่วน
- ส่วนที่ 1 เป็นพื้นที่ภาคตะวันออก ตั้งแต่มณฑลนครราชสีมาไปทางตะวันออกทั้งหมด เป็นเขตผลประโยชน์ของฝรั่งเศส
- ส่วนที่ 2 เป็นพื้นที่ด้านตะวันตกของมณฑลราชบุรีลงไป เป็นเขตผลประโยชน์ของอังกฤษ
- ส่วนที่ 3 คงเหลือเฉพาะพื้นที่ภาคกลางคงเป็นของไทย
สัญญานี้ทำกันเมื่อปี ค.ศ. 1911 แต่เนื่องจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 มหาประเทศคู่สงคราม ต่างพากันอ่อนกำลังลงไป นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยเข้าร่วมสงคราม โดยอยู่ทางฝ่ายพันธมิตร ซึ่งเป็นฝ่ายชนะ จึงทำให้มีฐานมั่นคงขึ้น
การเสียดินแดนครั้งนี้ ฝรั่งเศสได้ถือโอกาสที่เกิดเรื่องกระทบกระทั่งกันทางชายแดน ได้ส่งเรือรบ 2 ลำ เข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 โดยใช้เรือพาณิชย์นำร่องเข้ามาถึงพระนคร แล้วยื่นเงื่อนไขคำขาดกับไทย
ฝ่ายอังกฤษ เห็นพฤติกรรมฝรั่งเศส ที่จะยึดประเทศไทยโดยสิ้นเชิง ก็เข้าประท้วงคุมเชิงอยู่ ฝ่ายรัสเซียพระเจ้าซาร์นิโคลาส ได้มีพระราชโทรเลขไปยังรัฐบาลฝรั่งเศส ให้ยับยั้งการยึดครองประเทศไทย ฝรั่งเศสจึงยอมถอยเรือ กลับไปตามสัญญาลง 3 ธันวาคม 2435 แต่ได้ยึดครองดินแดนฝั่งแม่น้ำโขงไว้โดยสิ้นเชิง กับเรียกค่าทำขวัญอีก 3 ล้านบาท กับเงินฝรั่งเศสอีก 2 ล้านฟรังค์ พร้อมทั้งยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกัน 10 ปี รวมทั้งให้ดำเนินคดี พระยอดเมืองขวาง ที่มีกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส
ครั้นครบกำหนด 10 ปี ฝรั่งเศสไม่ยอมถอนทหารออกจากจันทบุรี แล้วกลับตั้งเงื่อนไขเรียกร้องให้ยกเขต จัมปาศักดิ์ ให้แก่ฝรั่งเศสอีก รัฐบาลไทยต้องจำยอมตามสัญญาลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2446 แต่แล้วฝรั่งเศสก็ถอยไปยึดจังหวัดตราด และเรียกร้องให้ไทยยอมยกดินแดน 4 จังหวัด เมื่อปี พ.ศ. 2449 เพื่อให้ฝรั่งเศสถอนทหารออกไปจากแผ่นดินไทย รัฐบาลไทยจึงต้องยอมยกให้ไป
ในการกระทำของฝรั่งเศสดังกล่าว ได้ใช้มองซิเออร์ ปาวี อัครราชฑูตฝรั่งเศส เป็นผู้ดำเนินการ คนผู้นี้ทางราชการได้จ้างมาทำแผนที่ประเทศไทย และเคยถูกจีนฮ่อทำร้ายที่เมืองหลวงพระบาง แต่เจ้าหน้าที่ไทยได้ช่วยชีวิตไว้
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้นในปี พ.ศ. 2482 ฝรั่งเศสมีความห่วงใย อาณานิคมของตน ในอินโดจีนเป็นอันมาก จึงได้เสนอขอทำสัญญาไม่รุกรานกันกับประเทศไทย เพื่อป้องกันไม่ให้ไทยถือโอกาสยึดดินแดนคืน
คณะรัฐมนตรีของไทยในครั้งนั้น ซึ่งมีนายพันเอกหลวงพิบูลย์สงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งที่ได้เคยไปศึกษาที่ฝรั่งเศส ต่างก็เห็นอกเห็นใจฝรั่งเศสที่ถูกรุกรานอยู่ จึงได้ตอบสนองการทำสัญญานั้นด้วยดี แต่ได้เสนอให้ฝรั่งเศสปรับปรุงดินแดนฝั่งลำน้ำโขง ที่ล้ำเข้ามาในประเทศไทยเสียใหม่ ให้เป็นการถูกต้อง ได้มีการต่อรองประวิงเวลากันมาหลายเดือน ในที่สุดก็ได้ทำสัญญาไม่รุกรานกันเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2484 อันเป็นห้วงเวลาที่กรุงปารีส ใกล้จะเสียแก่ฝ่ายเยอรมัน ดังนั้น การที่ฝ่ายฝรั่งเศสประนามว่าไทยใช้มีดทะลวงหลัง เมื่อตนเพลี่ยงพล้ำนั้นจึงไม่เป็นความจริง
สนธิสัญญาดังกล่าวยังไม่มีผลใช้บังคับ เนื่องจากยังไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันซึ่งกันและกัน ต่อมาฝรั่งเศสได้ขอให้สนธิสัญญามีผู้ใช้บังคับ โดยไม่ต้องมีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันเพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์ ของตนในอาณานิคมอินโดจีน เนื่องจากการสงครามในทวีปยุโรป ฝรั่งเศสกำลังพ่ายแพ้เยอรมัน และในทวีปอาเซียน ดินแดนส่วนใหญ่ กำลังถูกคุกคามจากญี่ปุ่น รัฐบาลไทยได้ตอบฝรั่งเศสไปว่ายินดีตกลงปฏิบัติตามสนธิสัญญา ถ้าฝรั่งเศสยอมรับข้อเสนอของไทย 3 ประการ คือ
- ขอให้มีการวางแนวเส้นเขตแดนตามลำน้ำโขงให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ โดยให้ถือร่องน้ำลึกเป็นเส้นเขตแดน
- ขอให้ปรับปรุงเส้นเขตแดนให้เป็นไปตามธรรมชาติ คือถือแม่น้ำโขงเป็นเส้นเขตแดนระหว่าง ไทยกับอินโดจีนตั้งแต่ทิศเหนือจรดทิศใต้ จนถึงเขตกัมพูชา โดยให้ฝ่ายไทยได้รับดินแดนทางฝั่งแม่น้ำโขงตรงข้ามกับหลวงพระบาง และตรงข้ามกับปากเซคืนมา
- ขอให้ฝรั่งเศสรับรองว่าถ้าไม่ได้ปกครองอินโดจีนแล้ว ฝรั่งเศสจะคืนลาวและกัมพูชาให้กับไทย
ต่อมาเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2484 วันเดียวกับที่รัฐบาลฝรั่งเศสที่เมืองวิซี่ได้ทำสัญญา ตกลงยินยอมให้ญี่ปุ่นใช้ เมืองฮานอย และเมืองไฮฟอง เป็นฐานทัพ ญี่ปุ่นได้ส่งทหารขึ้นบก ในอินโดจีนถึง 35,000 คน เป็นการเปลี่ยนสภาพอาณานิคมของฝรั่งเศสในอินโดจีนโดยสิ้นเชิง ทำให้การทำสัญญาไม่รุกรานกับไทยไร้ความหมาย เกิดปัญหาความเป็นความตาย สำหรับประเทศไทย
ประเทศไทยได้ประท้วงไปยังประเทศฝรั่งเศสอย่างรุนแรงว่า การกระทำของฝรั่งเศสนั้น เป็นอันตรายแก่ประเทศไทย ฉะนั้นเมื่อฝรั่งเศสจะรักษาอธิปไตยในอินโดจีนไว้ ประเทศไทยก็จำต้องเรียกร้องเอาดินแดนคืน เพื่อประโยชน์ในการป้องกันประเทศ และเพื่อมิให้ประชาชนชาวไทย ที่อยู่ในปกครองของฝรั่งเศส ต้องตกเป็นอยู่ในปกครองของประเทศที่ 3 ต่อไปอีก
รัฐบาลได้ส่งคณะทูตไปเจรจากับรัฐบาลฝรั่งเศสที่กรุงฮานอย การเจรจาเป็นไปอย่างเผ็ดร้อน
อ่านต่อ »