ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »

ประเทศไทย 77 จังหวัด

การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล ยุคล่าอาณานิคม ข้อแนะนำในการท่องเที่ยว « สาระน่าอ่าน

ประเทศไทยในยุคล่าอาณานิคม(2)

ฝรั่งเศสกล่าวหาว่าไทยใช้มีดแทงด้านหลัง   ในขณะที่ฝรั่งเศสปราชัย   ฝ่ายฝรั่งเศสใช้ถ้อยคำรุนแรง   โดยกล่าวว่ายกดินแดนไทยให้ญี่ปุ่นดีกว่าที่จะคืนให้แก่ประเทศไทย

หนังสือพิมพ์ของทั้งสองฝ่ายต่างโจมตีกันอย่างหนัก   ฝ่ายฝรั่งเศสได้ระดมทหาร เข้ารักษาพื้นที่ตามชายแดน และได้ยิงปืนข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งไทย   พร้อมทั้งส่งเครื่องบินข้ามแดนเข้ามา เป็นทำนองท้าทายอยู่ตลอดเวลา สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นตามลำดับ   รัฐบาลจึงเตรียมพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับฝรั่งเศส
เพื่อแก้ปัญหาเรื่องดินแดนให้เด็ดขาด

ในที่สุดนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการเมืองซึ่งเป็นยุวชน นายทหาร ได้ตั้งผู้แทนไปพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ   ขอร้องเดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืน   ซึ่งทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้วางหลักไว้เป็นบรรทัดฐานที่จะไม่ให้พระสงฆ์องค์เจ้า  และนักเรียนนิสิตนักศึกษา ที่อยู่ในวัยศึกษา   เข้าเกี่ยวข้องกับการเมืองเรื่องลัทธิและเรื่องพรรค ฯลฯ

แต่ในกรณีนี้เห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักชาติอันเป็นสิทธิและหน้าที่ของประชาชน    จึงไม่มีอำนาจที่จะห้ามได้   เมื่อได้ปรึกษากับอธิบดีกรมตำรวจแล้ว   มีความเห็นสอดคล้องกัน   จึงได้รับทราบไว้    และตักเตือนไม่ให้ล่วงเกินสถานทูต หรือคนสัญชาติฝรั่งเศส    ส่วนข้อความบนแผ่นป้ายต่าง ๆ   ก็ไม่ให้ใช้คำพูดที่หยาบคายก้าวร้าว

การเดินขบวนได้เริ่มขึ้น เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2483 ประชาชนนับหมื่นทุกเพศทุกวัย พากันมาจากทุกสารทิศ คนเฒ่าคนแก่ อุ้มลูกจูงหลาน ร้องไห้ฟูมฟายด้วยความเคียดแค้นที่ไทยต้องเสียดินแดนไป ความรู้สึกนี้ได้แผ่ขยายไปทั่วประเทศ เป็นการแสดงมติมหาชนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั้งชาติ

ขบวนการเรียกร้องดินแดนคืนของยุวชนนายทหาร ไหลหลากมาเต็มหน้าพระลานและท้องสนามหลวง และได้มาหยุดชุมนุมกันหน้ากระทรวงกลาโหม พลตรี หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พันเอก หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต รองผู้บัญชาการทหารบก เจ้ากรมยุวชนทหาร และรองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มาต้อนรับที่หน้ากระทรวงกลาโหม ผู้แทนของมหาวิทยาลัยทั้งสองในเครื่องแบบยุวชนทหาร ได้เรียนเสนอการเรียกร้องดินแดนคืนต่อ พลตรี หลวงพิบูลสงคราม ขอให้เป็นผู้นำกองทัพของชาติ เข้ายึดเอาดินแดนของไทยกลับคืนมา ให้พี่น้องชาวไทยที่อยู่ในดินแดนดังกล่าว ได้กลับมาร่วมเป็นบ้านพี่เมืองน้องของไทยตามเดิม และยุวชนนายทหาร ทั้งสองมหาวิทยาลัย จะมอบชีวิตไว้เป็นชาติพลี

พลตรี หลวงพิบูลสงคราม ได้กล่าวปราศรัยต้อนรับ และสรรเสริญสดุดีในความรักชาติ ความสามัคคี และความเสียสละ เพื่อประเทศชาติของชาวไทยทั้งมวล และได้ร่วมกันกล่าวปฏิญาณตน หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จบแล้วได้กล่าวอวยชัยให้พร ไชโยสามครั้ง เป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ซาบซึ้งตรึงใจเป็นที่สุด

การเตรียมกำลังตามแผนยุทธศาสตร์   ได้ดำเนินไปตามลำดับ ฝ่ายฝรั่งเศสได้เคลื่อนกำลังเข้าประชิดแดนไทย ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2483 ในที่สุดกองทัพไทย เคลื่อนกำลังเข้าสู่ดินแดนเดิมของเราเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2483 ทางด้านอำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี

ในการนี้ ทางรัฐบาลไทยได้ส่งทูตไปเจรจากับรัฐบาลเยอรมัน เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2483 เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง และความจำเป็น ที่ประเทศไทยต้องทำสงครามกับฝรั่งเศส ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในความยึดครองของประเทศเยอรมัน โดยคณะทูตที่ไปเป็นนายทหารบก 2 นาย กับนายทหารเรือ 1 นาย คณะทูตได้เข้าพบ จอมพล เกอริง โดยการประสานงานของพระยาพหล ฯ ซึ่งเป็นนักเรียนร่วมรุ่นกับ จอมพล เกอริง ในโรงเรียนนายร้อยเยอรมัน จึงได้รับความสะดวก และความร่วมมืออย่างดีทุกประการ จอมพล เกอริง มีความกังวลว่า การพิพาทกับฝรั่งเศสในอินโดจีน จะบานปลาย เป็นการเปิดแนวรบที่สองขึ้นในตะวันออก และรับรองยินดีสนับสนุน การเรียกร้องดินแดนคืนของประเทศไทย แต่ขอให้เป็นดินแดนเดิมของไทย จะได้ไม่เป็นปัญหาสู้รบกันต่อไปไม่จบสิ้น จากนั้น ได้ติดต่อให้ไปเจรจากับรัฐมนตรีต่างประเทศ การเจรจาเป็นไปด้วยดี โดยทางเยอรมัน ยินดีช่วยเหลือเรื่องการคืนดินแดนที่สูญเสียไปโดยไม่เป็นธรรม ไม่เฉพาะแต่ด้านอินโดจีนฝรั่งเศส แม้ทางด้านพม่า และมลายู ของอังกฤษ มีเมืองมะริด ทวาย ก็ยินดีสนับสนุน

จากนั้นได้จัดเป็นคณะทูตพิเศษ ประกอบด้วยนายทหารบก 3 นาย และนายทหารเรือ 3 นาย ออกเดินทางไปประเทศฝรั่งเศส เข้าพบผู้บัญชาการทหารที่ยึดครองกรุงปารีส ซึ่งก็ได้สั่งการไปยังรัฐบาลวิซี่ของฝรั่งเศส ให้ยับยั้งการสู้รบ คณะทูตไทยได้ถือโอกาสเยี่ยมชมป้อมมายิโนต์ อันมีชื่อเสียงของฝรั่งเศส ที่ถูกเยอรมันตีแตกในเวลาเพียง 2 สัปดาห์   และได้พบกับคณะนายทหารญี่ปุ่น ที่มาชมป้อมนี้เหมือนกัน จึงได้ทราบว่าญี่ปุ่นมีแผนที่จะบุกอาเซียอาคเนย์ ในอนาคตอันใกล้

กองทัพไทย มีชัยชนะกองทัพฝรั่งเศสในทุกด้าน ดังนี้

  • กองพลพายัพ ยึดได้แคว้นหลวงพระบาง ฝั่งขวาห้วยทราย ตรงข้ามเชียงแสน มีเมืองปากลาย หงสา และเชียงฮ่อน
  • กองทัพอิสาน กองพลอุบลยึดได้แคว้นนครจัมปาศักดิ์   กองพลสุรินทร์ ยึดได้เมืองสำโรงจงกัล ทางจังหวัดเสียมราฐ
  • กองทัพบูรพา ยึดได้พื้นที่ทางทิศตะวันตกของศรีโสภณ กองพลจันทบุรี ยึดได้บ้านกุบเรียง และบ้านห้วยเขมร ทางด้านทิศตะวันตกของบ่อไพลิน และพระตะบอง
  • กองทัพเรือ ได้มีการรบที่เกาะช้าง เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2484 ซึ่งมีรายละเอียดอยู่แล้วโดยเฉพาะ
  • กองทัพอากาศ ได้ทำการรบจนมีชัยทางอากาศ และได้ไปทำลายสถานที่สำคัญทางทหาร ในอินโดจีนอีกหลายแห่ง

ในช่วงแรกของการรบ   ญี่ปุ่นซึ่งมีฐานทัพอยู่ในอินโดจีนได้เฝ้าดูอยู่    โดยยังมิได้มีปฏิกิริยาใด ๆ แต่เมื่อรบกันไปได้ไม่นาน   ก็เห็นว่ากองทัพไทยมีทีท่าว่า จะตีกองทัพฝรั่งเศสตกทะเลในไม่ช้า    ถ้าไม่มีชาติใดมาหยุดยั้งเสียก่อน ญี่ปุ่นเห็นว่าชัยชนะของกองทัพไทย กำลังจะเป็นอันตรายต่อแผนการของตน ที่จะรุกรานลงทางใต้   จึงได้เสนอตนต่อรัฐบาลไทย และรัฐบาลฝรั่งเศสขอเป็นคนกลาง    เพื่อไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทนี้   เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2484 ทั้งสองฝ่ายจึงได้ตั้งคณะผู้แทนขึ้นสองคณะ คณะหนึ่งไปเจรจาทำความตกลงพักรบที่ไซ่ง่อน อีกคณะหนึ่งไปเจรจาสันติภาพ ณ กรุงโตเกียว ไทย และฝรั่งเศส ได้หยุดยิงตั้งแต่ เวลา 10.00 น เป็นต้นไป

ประเทศไทยได้ส่งคณะผู้แทนไปเจรจาพักรบที่ไซ่ง่อน มีทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนร่วมกัน เดินทางจากพระนคร เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2484 การเจรจาใช้เวลา 3 วัน ก็ได้ลงนามพักรบบนเรือลาดตระเวณญี่ปุ่น ชื่อ นาโตริ ซึ่งจอดอยู่หน้าเมืองไซ่ง่อน เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2484 ข้อกำหนดพักรบมีกำหนด 15 วัน

ต่อจากนั้นรัฐบาลได้ส่งคณะผู้แทนอีกคณะหนึ่ง มีพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร เป็นประธาน   พร้อมด้วยข้าราชการทหารและพลเรือน เดินทางไปยังกรุงโตเกียว เพื่อเจรจาสันติภาพและปรับปรุงเขตแดน การประชุมเริ่มเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2484 โดยมีรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น เป็นประธานฝ่ายญี่ปุ่น เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำกรุงโตเกียว เป็นประธานฝ่ายฝรั่งเศส

การเจรจาตกลงกันได้ในสาระสำคัญ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2484 ฝ่ายไทย และฝ่ายฝรั่งเศส ตกลงยอมรับแผนการไกล่เกลี่ยของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2484 โดยฝ่ายฝรั่งเศส ยอมยกดินแดนแขวงหลวงพระบางฝั่งขวาแม่น้ำโขง แคว้นจัมปาศักดิ์ และแคว้นเขมร ให้แก่ไทย ความตกลงข้อนี้เป็นที่พอใจของฝ่ายไทยทุกประการ ในการนี้รัฐบาลไทยได้ประกาศให้หยุดราชการในวันที่ 12 มีนาคม 2484 และได้ประดับธงชาติไทยคู่กับธงชาติญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกมีกำหนด 3 วัน กับได้มีการสวนสนามฉลองชัยชนะที่พระนคร เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2484

อ่านต่อ » « ย้อนกลับ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย