ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
ผัสสะ 6
ผัสสะ ในทางพระพุทธศาสนา หมายถึง สัมผัส การกระทบ การถูกต้องที่ให้เกิดความรู้สึก ผัสสะ เป็น ความประจวบกันแห่งสามสิ่ง คือ อายตนะภายใน(ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) อายตนะภายนอก(รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์) และวิญญาณสัมผัส หรือ ผัสสะ มี 6อย่าง คือ
- จักขุสัมผัส หมายถึง ความกระทบทางตา คือ ตา+รูป+จักขุวิญญาณ
- โสตสัมผัส หมายถึง ความกระทบทางหู คือ หู+เสียง+โสตวิญญาณ
- ฆานสัมผัส หมายถึง ความกระทบทางจมูก คือ จมูก+กลิ่น+ฆานวิญญาณ
- ชิวหาสัมผัส หมายถึง ความกระทบทางลิ้น คือ ลิ้น+รส+ชิวหาวิญญาณ
- กายสัมผัส หมายถึง ความกระทบทางกาย คือ กาย+โผฏฐัพพะ(เช่น ร้อน เย็น อ่อน แข็ง)+กายวิญญาณ
- มโนสัมผัส หมายถึง ความกระทบทางใจ คือ ใจ+ธรรมารมณ์(สิ่งที่ใจนึกคิด)+มโนวิญญาณ
ผัสสเจตสิก ในคัมภีร์พระอภิธรรม มีการกล่าวถึงผัสสะ ในลักษณะที่เป็นเจตสิก(คือ ธรรมชาติที่อาศัยจิตเกิด) เรียกว่า ผัสสเจตสิก เป็นธรรมชาติที่กระทบถูกต้องอารมณ์ ลักษณะเฉพาะตัวของ ผัสสเจตสิก มีอยู่สี่ประการคือ
- มีการกระทบ เป็นลักษณะ
- มีการประสาน (อารมณ์+วัตถุ+วิญญาณ) เป็นกิจ
- มีการประชุมพร้อมกัน เป็นผลปรากฏ
- มีอารมณ์ที่ปรากฏเฉพาะหน้า เป็นเหตุใกล้
ผัสสะเป็นสิ่งประสานจิตกับอารมณ์ เกิดการประชุมพร้อมกันแห่ง สภาวะธรรมสามประการ คือ อารมณ์+วัตถุ+วิญญาณ