ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
ปัญญา
ปัญญา แปลได้หลายอย่าง เช่น ความรอบรู้เหตุผล รู้ชัด รู้ทัน รู้ประจักษ์ และรู้ถึงทั้งภายในและภายนอก เป็นต้น ปัญญาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ โลกิยปัญญา เป็นปัญญาของโลกิยชน และโลกุตตรปัญญา เป็นปัญญาของพระอริยบุคคล ปัญญามีไว้สำหรับปราบปรามกิเลสอย่างละเอียด คือ อวิชชา (ความหลง ความไม่รู้เท่า ความเห็นผิดว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง สิ่งทั้งหลายเป็นสุข)
ปัญญาต่างกับวิญญาณ คือ
วิญญาณนั้น เพียงแต่รู้ความกระทบ จากอาตตนะภายนอก เช่น ตาเห็นรูป เกิดจากวิญญาณ (รู้ทางตา) เป็นหน้าที่ต้องรับรู้ไว้ทั้งหมด ทั้งรูปดีและรูปไม่ดี จะเลือกแบ่งรูปแต่ส่วนที่ดี ที่ใจชอบอย่างเดียวไม่ได้ แต่มีความรู้สึกชอบไม่ชอบ ไม่มีความฉลาดรู้เท่าทันว่าดีหรือชั่ว ส่วนปัญญานั้น รู้เท่าทันว่า
- ขันธ์ 5 นั้นเป็นทุกข์ ความอยากนั้นเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ดับความอยากเสียได้ ก็ดับความทุกข์ได้ มรรคมีองค์ 8 เป็นทางแห่งการดับทุกข์
- อัธยาศัยที่มัวเมาในกาม, อยากเป็นนั่นเป็นนี่ โดยความไม่รู้เท่า เป็นอาสวะ ดับความหลงนี้โดยมรรคมีองค์ 8
- รู้เท่าทันว่า สังขารทั้งหมดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
เราจะมีเพียงสมาธิเท่านั้นยังไม่พอ เพราะสมาธิระงับกิเลสได้ชั่วคราว เฉพาะเวลาที่สมาธิเกิดขึ้นเท่านั้น ถ้าจะเปรียบเป็นเพียง ยารักษาโรคชั่วคราว หรือเปรียบเสมือน เอาก้อนหินทับหญ้าไว้ พอยกก้อนหินขึ้น หญ้าได้น้ำ ได้ฝน ก็งอกงามขึ้นอีกอย่างเดิม