สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>
ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเภสัชกรรม
จรรยาเภสัช
ผู้ที่จะเป็นเภสัชกรนอกจากจะต้องศึกษาถึงหลักเภสัชกรรมแล้ว ยังจะต้องมีคุณธรรม คือ ต้องมีจรรยาที่ดีงาม ซึ่งจะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวให้ประพฤติดี ปฏิบัติในทางที่ถูกที่ควรและชอบธรรมเป็นทางนำความสุขความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ตน จรรยาเภสัช 5 ประการ มีดังนี้
- ต้องมีความขยันหมั่นเพียร หมั่นเอาใจใส่ศึกษาวิชาการแพทย์เพิ่มเติม ให้เหมาะแก่กาลสมัยอยู่เสมอ โดยไม่เกียจคร้าน
- ต้องพิจาณาหาเหตุผลในการปฏิบัติงานด้วยความสะอาด ประณีต ไม่ประมาท ไม่มักง่าย
- ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต และมีเมตตาจิตแก่ผู้ใช้ยา ไม่โลภเห็นแก่ลาภ โดยหวังผลกำไรมากเกินควร
- ต้องละอายต่อบาป ไม่กล่าวเท็จหรือกล่าวโอ้อวด ให้ผู้อื่นหลงเชื่อในความรู้ ความสามารถอันเหลวไหลของตน
- ต้องปรึกษาผู้ชำนาญ เมื่อเกิดการสงสัยในตัวยาชนิดใด หรือวิธีปรุงยา โดยไม่ปิดบังความเขลาของตน
ความสำคัญของจรรยาเภสัชนี้ เพื่อให้เภสัชกรระลึกอยู่เสมอว่าการปรุงยา หรือผสมยา หรือการประดิษฐ์วัตถุใดๆ ขึ้น เป็นยาสำหรับมนุษย์ ต้องมีความรับผิดชอบต่อชีวิตมนุษย์ จะต้องมีความสะอาด ประณีต รอบคอบ นึกถึงอยู่เสมอว่าเป็นสิ่งที่บำบัดโรคภัยไข้เจ็บต่อชีวิตมนุษย์ มิใช่เป็นยาทำลายชีวิตมนุษย์ ฉะนั้น เภสัชกรจึงต้องมีจิตใจบริสุทธิ์ยึดหลักจรรยาเภสัชเปรียบเหมือนศีล 5 เป็นข้อยึดเหนี่ยวหรือเป็นกฎข้อบังคับเตือนใจเตือนสติให้ผู้เป็นเภสัชกร ประพฤติปฏิบัติไปในทางที่ถูกที่ควรเป็นทางนำไปสู่คุณงามความดี และนำความเจริญก้าวหน้าแห่งวิชาชีพสืบต่อไปชั่วกาลนาน
»» จรรยาเภสัช
»»
หลักเภสัช 4 ประการ
»»
ประวัติยาเบญจกูล