ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
อธิปไตยตามหลักธรรม
โดย พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน
อธิปไตยในทางศาสนาพุทธ มีอยู่ ๓ ประการ
๑. อัตตาธิปไตย การปรารภตนเป็นใหญ่
๒. โลกาธิปไตย ปรารภโลกเป็นใหญ่
๓. ธรรมาธิปไตย ปรารภธรรมเป็นใหญ่
อัตตาธิปไตย
ถ้าเป็นตัวบุคคลก็เป็นบุคคลที่เชื่อมั่นในตนเองมากเกินไป โดยไม่ยอมฟังความคิดเห็นของคนอื่น เอาแต่ใจตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ สิ่งใดที่เราได้ทำตามใจตัวเอง เรามีความสบายใจเพราะการกระทำของเรา แต่สิ่งนั้นอาจกระทบกระเทือนถึงประโยชน์และชีวิตของผู้อื่น คนที่เป็นอัตตาธิปไตยไม่ได้คำนึงถึงข้อนี้ตนคิดว่าจะทำอะไรก็ทำลงไป ไม่ได้พิจารณาว่า มันจะกระทบกระเทือนคนอื่นไหม จะทำให้คนอื่นเดือดร้อนไหมจะทำให้เราเดือดร้อนไหม ถ้าจะว่าโดยกฎหมายปกครองบ้านเมืองคนพวกนี้เป็นหัวเผด็จการอันนี้คือลักษณะของอัตตาธิปไตย
โลกาธิปไตย
ถือโลกเป็นใหญ่ อะไรที่ชาวโลกเขานิยมชมชอบ แม้จะเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายหรือศีลธรรมก็ตาม ก็ทำไปตามความคิดเห็นของโลก หรือความคิดเห็นของชาวบ้าน ซึ่งบางทีก็ทำให้ตัวเองต้องกลายเป็นคนอ่อนแอ หรือในบางครั้งเราอาจจะเห็นว่า เมื่อมติของคนส่วนมากมีความคิดเห็นอย่างนี้ แม้ว่าสิ่งนั้นมันอาจเป็นการทำลายผลประโยชน์ของคนอื่น หรือเป็นการลบหลู่เกียรติและชื่อเสียงของคนใดคนหนึ่งก็ตาม เรารวมหัวกันทำ ทำแบบชาวโลกที่เขานิยมชมชอบกัน อันนี้เป็นลักษณะของบุคคลที่ไม่เป็นตัวของตัวเอง หนักๆ เข้ากลายเป็นคนอ่อนแอ
ธรรมาธิปไตย
อาศัยธรรมเป็นใหญ่ ธรรมที่ทำให้คนเป็นธรรมาธิปไตย ก็คือ รัฐธรรมนูญ
ในเมื่อสมาชิกรัฐสภาร่วมใจกันตรากฎหมายอันใดออกมา เป็นกฎหมายปกครองบ้านเมือง
เราเคารพต่อมติของเขาเหล่านั้น
เพราะเขาปรึกษาหารือกันแล้วเห็นสมควรจะออกกฎหมายมาตรานั้นๆ ออกมาบังคับ
เพื่อให้สังคมของเรามีความประพฤติปฏิบัติสม่ำเสมอกัน ซึ่งเราเรียกว่า
รัฐธรรมนูญปกครองบ้านเมือง
"หลักธรรมาธิปไตยของชาวบ้าน ก็คือ รัฐธรรมนูญ หลักธรรมาธิปไตยของศาสนา ก็คือ ศีล ๕"
ศีล ๕ ข้อนี่ พระพุทธเจ้าท่านสอนให้มนุษย์มีความรัก ความเมตตาปรานี เพราะขึ้นต้นท่านก็บอกว่า อย่าฆ่ากัน อย่าเบียดเบียนกัน อย่าข่มเหงกัน อย่ารังแกกัน อย่าอิจฉาตาร้อนกัน ผู้ใดมาเคารพศีล ๕ เป็นหลักยึดในจิตในใจของตน บุคคลผู้นั้นได้ชื่อว่าถือธรรมเป็นใหญ่ เมื่อถือธรรมเป็นใหญ่ เราก็จะมีแต่ความรัก ความเคารพความเมตตาปรานี ศีล ๕ เป็นมูลฐานให้เกิดการปกครองระบอบประชาธิปไตย
หน้าถัดไป >>