เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>
เทคนิคการเก็บเกี่ยว
และแช่ฟอกปอแก้วไทย
กรมส่งเสริมการเกษตร
ปอแก้วไทยที่ทางราชการแนะนำให้เกษตรกรปลูกนั้นพันธุ์ต้นเขียว เหมาะสำหรับทำปอฟอก ในรูปของเส้นใย พันธุ์เขียวใหญ่ เหมาะสำหรับตัดเป็นต้นแห้ง ส่งโรงงานทำเยื่อกระดาษ
ส่วนพันธุ์โนนสูง 2 นั้น กรมวิชาการเกษตรรับรองพันธุ์ และให้ใช้เป็นพันธุ์ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกตั้งแต่ พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา ซึ่งมีลักษณะเด่นดังนี้
- ในสภาพไร่ของเกษตรกรให้ผลผลิต 377 กิโลกรัม/ไร่ สูงกว่าพันธุ์ต้นเขียวและเขียวใหญ่ 21 และ19 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ
- ทนทานต่อโรคโคนเน่าปานกลาง คือเป็นโรคโคนเน่าน้อยกว่า พันธุ์ต้นเขียวและเขียใหญ่
ปอแก้วไทยพันธุ์โนนสูง 2 นี้ ปลูกได้ตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์-พฤษภาคม แต่ช่วงที่เหมาะสมที่สุดคือ พฤษภาคม เพราะจะได้ผลผลิตและเส้นใยดีกว่าเดือนอื่น ๆ แต่ถ้าปลูกเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ควรปลูกเดือนกรกฎาคมจะได้ผลผลิตของเมล็ดพันธุ์สูงสุด
การตัดปอ
ควรตัดในระยะต้นปอออกดอกประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์
จะทำให้ได้ผลผลิตสูงและเส้นใยมีคุณภาพดี
วิธีตัด
ควรใช้มีดคมที่สุด ตัดให้ชิดดินจะได้เส้นใยมาก
ต้นที่เป็นโรคโคนเน่าต้องตัดเหนือระดับที่เป็นโรค
การมัด
เลือกต้นที่มีขนาดลำต้นและความยาวใกล้เคียงกันนำมามัดรวมกัน
ขนาดของแต่ละมัดมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 30 เซนติเมตร ไม่ควรใหญ่กว่านี้
เพราะจะทำให้ลำบากต่อการขนไปแช่
ไม่ควรมัดให้แน่นมากนัก เพราะจะทำให้ลำต้นปอเปื่อยไม่ทั่วถึงกัน
แล้วปล่อยทิ้งไว้ในแปลง 3-4 วัน เพื่อให้ใบปอร่วง จะทำให้ขนย้ายสะดวก
เพราะน้ำหนักลดลงและแช่ฟอกได้ง่ายขึ้น
การแช่ฟอก
คุณภาพของเส้นใยจะขึ้นอยู่กับวิธีการฟอก, น้ำที่แช่และวัตถุที่นำมาทับมัดปอ
ดังนั้น ควรวางมัดปอให้โคนและยอดสลับกัน ทับกันไม่เกิน 3 ชั้น ในน้ำ
อย่าใช้ดินกดทับโดยตรงเพราะเส้นใยจะคล้ำ ให้ใช้แกนปอหรือหญ้ารองก่อนใช้ดินทับ
การวางมัดปอ ควรให้มัดปอชั้นบนจมอยู่ใต้น้ำไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร
หากส่วนใดโผล่พ้นน้ำจะทำให้เปื่อยไม่พร้อมกัน
การวางมัดปอไม่ควรให้มัดปอชั้นล่างอยู่ชิดดิน หรือลึกเกินกว่า 150 เซนติเมตร
เพราะถ้าจมอยู่ในดินโคลนจะทำให้เส้นใยสีคล้ำ
และต้นปอที่อยู่ใต้ดินลึกเกินไปจะเปื่อยช้า
ระยะในการแช่ฟอก
แช่ในน้ำนิ่งประมาณ 2 สัปดาห์ แล้วลอกเส้นใยดู
หากลอกง่ายและเส้นใยเกาะเป็นรูปคล้ายเส้นใยแมงมุม แสดงว่าใช้ได้แล้ว
ถ้าแช่ไม่ได้ระยะเวลาที่เหมาะสมจะลอกยากและเส้นใยจะเกาะเป็นแผ่น
การลอก
ควรวางต้นปอบนพื้นเรียงให้ชิดกัน ใช้ท่อนไม้ตีตรงโคนต้น จะทำให้ลอกง่ายขึ้น
และเมื่อลอกได้ประมาณหนึ่งกำมือ ให้นำมามัดรวมกันเพื่อเตรียมนำไปล้างต่อไป
การล้างเส้นใย
ต้องฟาดกับน้ำ และล้างหลาย ๆ ครั้ง เพื่อให้เส้นใยสะอาดเป็นมันวาว
หากจะให้สะอาดเร็วขึ้นควรฟาดกับขอนไม้หรือก้อนหินพร้อมกับล้างเส้นใยในน้ำ
การตากเส้นใย
นำเส้นใยปอที่ได้มาตากบนราวไม้ อย่าให้ห้อยติดพื้นดิน ให้เส้นใยโดนแดดทั่วถึงกัน
จัดระดับโคนเส้นใยปอให้เป็นแนวสม่ำเสมอกัน
เพราะจะทำให้สะดวกและรวดเร็วในการเข้าเข็ดและมัดปอ ตากจนแห้งสนิทจริงๆ
จึงเก็บเส้นใยไปมัด
การคัดแยกมาตราฐานและการมัดปอฟอก
ก่อนมัดควรคัดแยกมัดตามมาตรฐานปอแก้วฟอก ของสมาคมอุตสาหกรรมทอกระสอบไทย
เมื่อคัดแยกแล้ว นำปอมาวางเรียงกันบนเชือกปอพับส่วนโคนและปลายเข้าหากัน
ม้วนเป็นรูปทรงกลมคล้ายกลอง แล้วมัดให้แน่น 2-3 เปลาะ น้ำหนักประมาณ 100-110
กิโลกรัมต่อมัด
เพื่อให้การจำหน่ายเส้นใยปอได้ราคาสูง
จะต้องพิจารณาคัดเลือกเอาสิ่งเจือปนออกจากเส้นใย ดังนี้
- เปลือกบริเวณโคนต้นส่วนี่ติดกับราก ซึ่งมีลักษณะกระด้าง ไม่เปื่อยง่าย เป็นแผ่นแห้งแข็งติดกับแกนปอ
- เส้นใยส่วนที่เป็นจุดปมแข็ง เช่น บริเวณกลางต้นที่เป็นตาหรือบริเวณที่เป็นโรค มีสีดำกระด้าง
- เส้นใยที่ติดกับแกนปอ ไม่เน่าเปื่อย ฟอกไม่ออกหรือเส้นใยที่ติดกับแกนปอที่แช่ไม่จมน้ำ ถูกแสงแดดแห้งนำไปฟอกไม่สะอาดและแข็ง
- เส้นใยเก่าค้างปี หรือปอค้างปี
หรือเส้นใยที่ได้จากการแช่น้ำนานจนเปราะและเปื่อย
นอกจากนี้ก่อนนำปอไปขายไม่ควรใส่สิ่งเจือปนอื่น เช่น ทราย หรือพรมน้ำก่อน จะทำให้ปอมีคุณภาพไม่ดีมีผลให้การซื้อขายปอในตลาดต่างประเทศตกต่ำลงในอนาคต เนื่องจากสินค้ามีคุณภาพต่ำ ไม่เป็นที่ไว้วางใจของผู้ซื้อ