เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>
การปลูกปอกระเจาชนิดฝักยาว
กรมส่งเสริมการเกษตร
ปอกระเจาเป็นพืชเส้นใยเช่นเดียวกับปอแก้วเส้นใยได้จากเปลือกของลำต้น แต่มีคุณภาพละเอียดอ่อนนุ่มเหนียว และเป็นมันเลื่อมกว่าปอแก้ว ประโยชน์ส่วนใหญ่ใช้เส้นใยทอกระสอบ ทำพรมปูพื้น และสิ่งประดิษฐ์อื่น ๆ เนื่องจากคุณภาพของเส้นใยปอกระเจามีคุณภาพดีกว่าปอแก้วตลาดโลกจึงต้องการ และให้ราคาปอกระเจาสูงกว่าปอแก้ว ปอกระเจาปลูกมากในอินเดียและบังคลาเทศ
ปอกระเจามี 2 ชนิด
- ชนิดฝักกลม-ขึ้นได้ดีในที่ลุ่มต้องการน้ำมาก
- ชนิดฝักยาว-ขึ้นได้ดีในที่ดอนไม่ต้องการน้ำมาก แต่ต้องการดินอุดมสมบูรณ์
ในที่นี้จะขอแนะนำการปลูกปอกระเจาเฉพาะชนิดฝักยาว พันธุ์ เจ.อาร์โอ 632 และพันธุ์โนนสูง 1 หรือพันธุ์ เจ.อาร์.โอ 7835
ลักษณะทั่ว ๆ ไป ของปอกระเจาฝักยาว พันธุ์ เจ.อาร์.โอ 632 และพันธุ์โนนสูง 1 การเจริญเติบโตของปอกระเจาฝักยาว เติบโตดีในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง น้ำไม่ขังการระบายน้ำดี ลักษณะของลำต้น กลม สีเขียว ใบยาวรีสีเขียว ริมใบหยัก การแตกกิ่งก้าน หากปลูกตามฤดูจะไม่แตกกิ่งก้าน หากปลูกก่อนหรือหลังฤดู จะแตกกิ่งก้านมาก
จากการเปรียบเทียบปอกระเจาผักยาวพันธุ์ เจ.อาร์.โอ 632 และพันธุ์โนนสูง 1
จะเห็นได้ว่าปอกระเจาฝักยาวพันธุ์โนนสูง 1 ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ เจ.อาร์โอ 632
ซึ่งเป็นพันธุ์ส่งเสริมอยู่เดิมถึง 10 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการปลูก
การบำรุงดูแลรักษาตลอดจนการเก็บเกี่ยว ฯลฯ ก็ใช้วิธีเดียวกัน ตามวิธีดังนี้
ฤดูปลูก
เนื่องจากปอกระเจาฝักยาวพันธุ์นี้ เป็นปอที่มีความไวต่อแสงแดดมาก
ถ้าปลูกในเดือนเมษายน
แสงแดดจัดจะแตกกิ่งก้านมากหากจะปลูกเอาเส้นใยควรปลูกในเดือนพฤษภาคม
ซึ่งจะตัดฟอกได้ประมาณเดือนสิงหาคม
ระยะปลูกและวิธีปลูก
ควรปลูกเป็นแถว ระยะระหว่างแถว 30 เซนติเมตร ระยะระหว่างต้น 5 เซนติเมตร หลุมละ
1 ต้น วิธีปลูกเมื่อเตรียมดินดีแล้วใช้เชือกขึงหัวท้ายแปลง
แล้วใช้เมล็ดโรยตามเชือกเสร็จแล้วไม่ต้องเกลี่ยดินกลบทับอย่าปลูกลึกเหมือนกับปอแก้ว
เพราะดินจะกลบทับเวลาฝนตกทำให้ต้นอ่อนไม่สามารถจะโผล่พ้นดินได้
เมล็ดปอกระเจา 1 กก. ปลูกได้ 3 ไร่ เนื่องจากเมล็ดเล็กมาก จึงต้องใช้ทราย
หรือดินร่วนผสมกับเมล็ดอ่อนโรยปลูก จะทำให้เมล็ดงอกสม่ำเสมอดีไม่หนาแน่น
หรือบางเกินไปโดยปกติควรจะปลูกหรือโรยเมล็ดปอกระเจาหลังฝนตกแล้ว
หรือบริเวณที่จะปลูกต้องมีความชุ่มชื้นดี เมล็ดปอจะได้งอกสม่ำเสมอ
หากปลูกก่อนฝนตกหรือโรยเมล็ดในดินที่แห้งเมื่อฝนตกลงมาจะทำให้เมล็ดปอถูกฝนชะไหลไปกับน้ำฝนทำให้งอกไม่สม่ำเสมอ
การบำรุงรักษา
เมื่อปอกระเจางอกแล้วสูงประมาณ 5-10 ซม. (เมื่อปลูกแล้วประมาณ 2 สัปดาห์)
ให้ถอนต้นที่ขึ้นชิดกันมากออกให้เหลือระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 1 ฝ่ามือ หรือ 5 ซม.
กำจัดวัชพืช ควรดายหญ้า 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อต้นปอสูง 30 ซม. หรือเมื่อปออายุได้ 1
เดือน ครั้งที่ 2 เมื่อปออายุ 2 เดือน
การใส่ปุ๋ย
นอกจากปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักแล้ว ควรใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีอัตราส่วนผสมของ
เอ็น.พี.เค. สูตร 8-8-8 ในอัตราส่วน 50 กก.ต่อไร่ จะให้ผลผลิตสูง
การใส่ปุ๋ยควรใส่ปุ๋ยข้างแถวปอแล้วพรวนกลบ
การเก็บเกี่ยว
หลักสำคัญในการพิจารณาตัดต้นปอเพื่อแช่ฟอกสังเกตดูเมื่อ
1. ปอกระเจาเริ่มติดกระเปาะฝักประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์
2. ความสูงตั้งแต่ 3 เมตรขึ้นไป
3. ใบล่างเริ่มร่วง
- อย่าตัดปอกระเจาเมื่อเริ่มมีดอกเหมือนปอแก้ว เพราะอายุปอยังอ่อนจะได้เส้นใยน้อย และคุณภาพไม่ดี เส้นใยเปื่อยไม่เหนียว
การแช่
เมื่อตัดต้นปอแล้ว ควรมัดต้นปอเป็นมัด ๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 30 เซนติเมตร
มัดเป็นเปลาะ มัดละ 3 เปลาะ แล้วนำไปแช่น้ำที่มีความลึกประมาณ 100-200 เซนติเมตร
ต้องให้ปอแต่ละมัดจมอยู่ใต้น้ำจึงจะเปื่อยดี หลังจากแช่แล้วประมาณ 14-20 วัน
ปอก็จะเปื่อยพอฟอกได้ เมื่อลอกและฟอกล้างได้สะอาด แล้วควรตากแดดให้แห้งสนิทสัก 2
แดด แล้วจึงนำเข้ามัดนำส่งขายยังตลาดต่อไป
อย่า ตัดปอกระเจาทิ้งไว้ในไร่หลายวันเหมือนปอแก้วควรตัดแล้วนำไปแช่น้ำทันที
หากทิ้งไว้หลายวันจะทำให้ลอกยาก
การเก็บเมล็ดพันธุ์
เกษตรกรผู้ปลูกปอควรแบ่งแปลงปอไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์โดยเฉพาะสำหรับใช้ทำพันธุ์ปลูกในฤดูต่อไป โดยคัดเลือกเก็บเมล็ดที่แข็งแรง เจริญเติบโตสม่ำเสมอดี ไม่มีโรคและแมลงรบกวน และเก็บพันธุ์จากฝักแก่เต็มที่
ผู้เรียบเรียง วิเศษศักดิ์ ศรีสุริยะธาดา กองส่งเสริมพืชพันธ์ ,นิศากร พลับรู้การ กองเกษตรสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร