เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

ข้อมูลการเกษตร

พืชไร่

ข้าวฟ่าง

กรมส่งเสริมการเกษตร

แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

ข้าวฟ่างลูกผสม

มีลักษณะดีเด่นหลายประการคือ ให้ผลผลิตสูงออกดอกเร็ว อายุเก็บเกี่ยวสั้น ต้นเตี้ยเก็บเกี่ยวได้ง่ายต้านทานโรค-แมลงได้ดี แต่เมล็ดพันธุ์มีราคาแพง และไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในฤดูต่อไป ได้แก่ พันธุ์เคยู 8501 และพันธุ์จากบริษัทเอกชนอีกหลายพันธุ์

ข้าวฟ่างพันธุ์แท้

เป็นข้าวฟ่างที่มีความคงตัว คือรุ่นลูกจะมีลักษณะคล้ายรุ่นพ่อ-แม่ ในธรรมชาติแล้ว ข้าวฟ่างจะเป็นพันธุ์แท้เกือบทั้งหมด ข้าวฟ่างพันธุ์แท้ที่ดีให้ผลผลิตสูง ต้านทานต่อโรคและแมลงได้ดี มีทั้งพันธุ์หนักและพันธุ์เบา

พันธุ์ที่ศูนย์วิจัยข้าวโพด-ข้าวฟ่างแห่งชาติแนะนำทั้งพันธุ์แท้และลูกผสมมีดังนี้

พันธุ์อู่ทอง 1 (ดีเอ 80)

เป็นพันธุ์แท้ เมล็ดสีขาวเป็นมัน เมล็ดค่อนข้างใหญ่ ได้จากการคัดเลือกพันธุ์โดยกรมวิชาการเกษตร ลักษณะเด่น คือ ลำต้นเตี้ย อายุออกดอกและอายุเก็บเกี่ยวสั้นเป็นพันธุ์เบา ช่อค่อนข้างเปิด เมล็ดโต คุณภาพแป้งดี มีปริมาณสารแทนนินต่ำไม่ไวต่อช่วงแสง แต่ไม่เหมาะที่จะปลูกในช่วงต้นฤดูฝน เพราะจะสุกแก่ในช่วงปลายฤดูฝน ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหาย อันเนื่องมาจากโรคราบนช่อข้าวฟ่างได้เมื่อมีความชื้นสูง

พันธุ์สุพรรณบุรี 60

เป็นพันธุ์แท้ เมล็ดสีแดง เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดไว้ทำพันธุ์ได้ลักษณะเด่น คือ ลำต้นเตี้ย ออกดอกเร็ว อายุการเก็บเกี่ยวสั้น ช่อรูปทรงกรวยค่อนข้างกลมแต่เปิดบานออก ไม่ไวต่อช่วงแสง ข้อเสีย คือ ลำต้นหักล้มง่าย

เคยู 439

เป็นพันธุ์แท้ เมล็ดสีขาว โครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวฟ่าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ส่งเสริมให้ปลูกตั้งแต่ พ.ศ. 2526 เป็นต้นมา
ลักษณะเด่น คือ ลำต้นแข็งแรง ต้านทานต่อโรคทางใบ ให้ผลผลิตสูง ช่อทรงกระบอกค่อนข้างแน่น เมล็ดโต เป็นพันธุ์หนักอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 110 วัน

เคยู 630

เป็นพันธุ์แท้ เมล็ดสีแดง เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดไว้ทำพันธุ์ได้ โครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวฟ่าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ส่งเสริมให้ปลูกตั้งแต่ พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา
ลักษณะเด่น คือ อายุเก็บเกี่ยวสั้นประมาณ 90 วัน ผลผลิตสูง มีลำต้นสูงปานกลาง มีสารเทนนินในเมล็ดต่ำประมาณ 0.16% เมล็ดกระเทาะออกจากรวงได้ง่าย และไม่มีเปลือกติดเมล็ด

เคยู 8501

เป็นพันธุ์ลูกผสม เมล็ดสีแดง โครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวฟ่าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ส่งเสริมได้ปลูกตั้งแต่ พ.ศ. 2528 เป็นต้นมา
ลักษณะเด่น คือ ให้ผลผลิตสูง เมล็ดโต ต้นเตี้ย เป็นพันธุ์หนัก อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 115 วัน


การเปรียบเทียบลักษณะของข้าวฟ่างพันธุ์แท้ต่าง ๆ ณ ศูนย์วิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ

หมายเหตุ
พันธุ์แท้ที่แนะนำทั้งหมดนี้ถึงแม้จะไม่ต้านทานต่อการทำลายของหนอนแมลงวันเจาะยอดข้าวฟ่าง แต่ก็ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์เฮการี่ทุกระดับของการทำลาย

ข้าวฟ่างลูกผสมของบริษัทเอกชน

ส่วนใหญ่จะเป็นข้าวฟ่างแดงต้นเตี้ยออกดอกเร็ว และมีอายุเก็บเกี่ยวสั้น ข้าวฟ่างลูกผสมจะมีความแข็งแรงของต้นกล้าดีมากเจริญเติบโตเร็วและให้ผลผลิตสูง แต่ไม่สามารถเก็บไว้ปลูกในฤดูถัดไป เพราะจะมีการกลายพันธุ์


ลักษณะของข้าวฟ่างลูกผสมบางพันธุ์ของบริษัทเอกชนที่ทดสอบ
ณ ศูนย์วิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ เมื่อเทียบกับพันธุ์เคยู 8501

» ฤดูปลูก
» การเตรียมดิน
» วิธีปลูก
» การกำจัดวัชพืช
» การดูแลรักษา
» แมลงศัตรูข้างฟ่าง
» การเก็บเกี่ยว

บรรณานุกรม :

  • แผ่นปลิวเผยแพร่ เรื่อง การปลูกข้าวฟ่าง ของศูนย์วิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างแห่ง ชาติ. ม.ป.ป. นครราชสีมา. : เฉลิมชัยการพิมพ์. ปากช่อง,นครราชสีมา.
  • คำแนะนำเรื่อง พันธุ์ข้าวฟ่าง ของศูนย์วิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ. ม.ป.ป. นครราชสีมา. : เฉลิมชัยการพิมพ์. ปากช่อง,นครราชสีมา.
  • คำแนะนำที่ 36 เรื่อง การปลูกข้าวฟ่าง. 2528. กรมส่งเสริมการเกษตร. (พิมพ์ครั้งที่ 6)
  • เอกสารคำแนะนำ การปลูกข้าวฟ่าง. ม.ป.ป. สถาบันวิจัยพืชไร่, กรมวิชาการเกษตร

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย