เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

ข้อมูลการเกษตร

พืชไร่

ข้าวโพด

เรียบเรียงโดย : นายสุฤชัย คล้ายเชียงราก ศูนย์สารสนเทศ

ข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วง

ข้าวโพดข้าวเหนียวอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่กำลังเป็นที่นิยมของผู้บริโภคในขณะนี้ คือ ข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วง ซึ่งปัจจุบันสามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามท้องตลาด หลายท่านคงเคยพบเห็นกันมาบ้างแล้ว แต่อาจจะสงสัยอยู่ว่าข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วงนี้มาจากไหน และมีประโยชน์อย่างไรบ้าง จึงได้รวบรวมข้อมูลมานำเสนอ ดังนี้

พันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วง เป็นการพัฒนาจากพันธุ์ข้าวโพดสีม่วงและพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียวของบริษัทเอกชน ผลผลิตที่ได้ทำให้ได้ข้าวโพดข้าวเหนียว สีม่วงที่มีฝักใหญ่รสชาตินุ่มลิ้นหวานและเหนียว

สารสีม่วง

สำหรับสีม่วงเข้มในเมล็ดข้าวโพดนั้น เป็นสารแอนโทไซยานินซึ่งมีคุณสมบัติในการต่อต้านอนุมูลอิสระได้ในระดับสูงช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคมะเร็ง ชนิดเนื้องอก เสริมความคุ้มกันให้ร่างกายต่อต้านเชื้อโรค สมานแผล เพิ่มการทำงานของเม็ดเลือดแดง ชะลอการเกิดไขมันอุดตันในหลอดเลือด ลดภาวะ การเป็นโรคหัวใจ ชะลอความเสื่อมของดวงตา ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลและชะลอความแก่

การปลูกข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วง

สำหรับเกษตรกรที่สนใจจะปลูกข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วง ควรให้ความสำคัญกับดิน เพื่อให้ได้จำนวนต้นต่อไร และผลผลิตต่อไร่สูง

เริ่มจากการไถดะและตากดินไว้ 3-5 วัน แล้วจึงใส่ปุ๋ยคอกอัตรา 1 ตันต่อไร่ เพื่อเป็นการปรับปรุงโครงสร้างของดิน ให้สามารถอุ้มน้ำได้นาน และเพิ่มธาตุอาหารให้กับข้าวโพดจากนั้นไถแปรเพื่อย่อยดินให้แตกละเอียดเหมาะกับการงอกของเมล็ด

เกษตรกรสามารถปลูกข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วงได้ 2 วิธี คือ ปลูกแบบแถวเดี่ยว โดยเว้นระยะห่างระหว่างแถว 75 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างต้น 20-25 เซนติเมตร ปลูกหลุมละ 1 ต้น หรือ ปลูกแบบแถวคู่ ต้องยกร่องสูง โดยมีระยะห่างระหว่างร่อง 120 เซนติเมตร ปลูกเป็น 2 แถวข้างร่อง ห่างกัน 30 เมตร และมีระยะห่างระหว่างต้น 25-30 เซนติเมตร ปลูกหลุมละ 1 ต้น ทั้ง 2 วิธีจะได้จำนวนต้นประมาณ 7,000-8,500 ต้นต่อไร่ และใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 2-3 กิโลกรัมต่อไร่

เมื่อปลูกได้ 7 วัน ข้าวโพดอยู่ในระยะกำลังงอก ควรระมัดระวังเรื่องการให้น้ำ เพราะหากขาดน้ำในระยะนี้ จะทำให้การงอกไม่ได้ จำนวนต้นต่อพื้นที่จะน้อยลง ส่งผลต่อจำนวนผลผลิตและอีกระยะหนึ่งที่ขาดน้ำไม่ได้คือระยะออกดอกเพราะจะทำให้เกสรไม่สมบูรณ์ การติดเมล็ดจะไม่ดีติดเมล็ดไม่เต็มถึงส่วนปลาย หรือติดเป็น บางส่วน ฝักที่ได้จะขายได้ราคาต่ำ ใน 2 ระยะนี้ควรให้น้ำถี่กว่าช่วงอื่นๆ ที่ตามปกติแล้วจะให้น้ำทุก 3-5 วัน ขึ้นกับสภาพต้นข้าวโพดและสภาพอากาศ

เมื่อข้าวโพดมีอายุ 40-45 วันหลังปลูก ถ้ามีอาการเหลืองหรือไม่สมบูรณ์ควรใส่ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ โรยด้านข้างต้นข้าวโพด ในขณะที่ดินมีความชื้นหรือให้น้ำตาม เพื่อเป็นการบำรุงให้ต้นข้าวโพดสมบูรณ์แข็งแรง

โดยปกติแล้วเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวข้าวโพดเมื่อมีอายุประมาณ 60-70 วันหลังปลูก แต่ระยะการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมที่สุด คือ ระยะ 18-20 วันหลังข้าวโพด ออกไหม 50% (หมายถึงข้าวโพด 100 ต้น ออกไหม 50 ต้น) แต่หากในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นอายุการเก็บเกี่ยวก็จะยืดออกไปอีก

สำหรับวิธีการดูแลรักษา หากแปลงปลูกมีวัชพืชขึ้นมาก จะส่งผลให้ข้าวโพดไม่สมบูรณ์ ผลผลิตลดลง ควรกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก โดยใช้อลาคลอร์ ฉีดพ่นลงดินหลักจากปลูก ก่อนที่วัชพืชจะงอก ควรฉีดพ่นในขณะที่ดินต้องมีความชื้นเพื่อทำให้ยามีประสิทธิภาพดีขึ้น สำหรับช่วงที่ฝนตกชุก ต้นข้าวโพด มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคราน้ำค้างได้ง่าย ควรใช้สารเคมีป้องกันโรคราน้ำค้างสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

การนึ่งข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วงให้อร่อย เริ่มจากเตรียมหม้อนึ่ง ต้มน้ำให้เดือด ระหว่างนี้ปลอกเปลือกหุ้มฝักออกโดยปลอกให้เหลือเปลือกหุ้มประมาณ 2-3 ชั้น เพื่อเป็นการรักษาสารแอนโทไซยานินให้อยู่ในเมล็ด ทำให้เมล็ดเต่งตึงน่ารับประทาน จากนั้นนำฝักข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วงที่ปอกแล้ววางเรียงลงในหม้อนึ่ง ที่น้ำเดือดแล้ว ปิดฝา ใช้เวลาในการนึ่งประมาณ 25-30 นาที ควรปล่อยให้ฝักข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วงที่นึ่ง เย็นลงในระดับอุ่นๆ ก่อนรับประทาน จะทำให้สีม่วงไม่ติดมือเวลารับประทาน รวมถึงรสชาติและคุณค่าทางอาหารยังคงเดิม

การเลือกที่จะปลูกหรือขายข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วง เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น อาจจะเรียกได้ว่า “กำลังอยู่ในกระแส” โดยเฉพาะ ในผู้ที่รักสุขภาพและผู้ที่ชอบความแปลกใหม่ เนื่องจากรูปลักษณ์ที่ดึงดูดความสนใจแล้ว ด้วยรสชาติที่มีความหวาน หอม เหนียวนุ่มของข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วง ยังทำให้หลายคนติดอกติดใจ พร้อมทั้งคุณประโยชน์อันหลากหลายที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

ข้าวโพดเป็นธัญพืชที่นิยมนำมาแปรรูปเป็นอาหารนานาชนิด เนื่องจากเป็นพืชที่ให้พลังงานสูง ในเมล็ดข้าวโพด 100 กรัมนั้น ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต 802 กรัม โปรตีน 11.1 กรัม เกลือแร่ 1.7 กรัม ไขมัน 4.9 กรัม และเส้นใยหยาบอีก 2.1 กรัม และยังมีวิตามินที่มีประโยชน์อีกมากมาย เช่น วิตามินซี วิตามินเอ ในรูปเบต้าแคโรทีน วิตามินอี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความเสื่อมของเซลล์ รวมถึงลูทีนและซีแซนทิน ซึ่งเป็นสารคาโรตีนอยด์ ช่วยป้องกันตาเสื่อมสภาพ

ในส่วนของสรรพคุณทางยา ที่คนโบราณค้นพบและนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ เมล็ดของข้าวโพดใช้ทานเพื่อบำรุงร่างกาย หัวใจ ปอด ขับปัสสาวะ นำมาบดพอกรักษาแผล นอกเหนือจากนี้ยังใช้ซังข้าวโพดต้มน้ำนำมาดื่มแก้บิด ท้องร่วง ขับปัสสาวะ ต้น ราก และไหมข้าวโพด รสจืดหวาน ต้มเอาน้ำดื่มเพื่อขับปัสสาวะ ได้เป็นอย่างดี

เพื่อสุขภาพที่ดี ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินมากๆ หรือพึ่งอาหารเสริมราคาแพงๆ เพียงแค่เราเลือกรับประทาน ศึกษาข้อมูล สารอาหาร ประโยชน์ของอาหารชนิดนั้นๆ เพียงเท่านี้เราก็จะทราบว่าอาหารที่มีคุณประโยชน์ชนิดนั้นๆ เพียงเท่านี้เราก็จะทราบว่าอาหารที่มีคุณประโยชน์ไม่ได้อยู่ไกลเลย อยู่แค่ที่ตลาดใกล้ๆ บ้านเราเอง

ข้อมูลจาก : จดหมายข่าวผลิใบ ปีที่ 14 ฉบับที่ 11 ประจำเดือนธันวาคม 2554 กรมวิชาการเกษตร

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย