สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
ภาค 4
ข้อ 28
1. ให้จัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนขึ้นคณะหนึ่ง (ซึ่งต่อไปในกติกานี้เรียกว่าคณะกรรมการ) คณะกรรมการนี้ประกอบด้วยกรรมการสิบแปดคน และปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ต่อไปนี้
2. คณะกรรมการจะประกอบด้วยคนชาติของรัฐภาคีแห่งกติกานี้ซึ่งเป็นผู้มีศีลธรรมสูง และมีความสามารถเป็นที่ยอมรับในด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงประโยชน์ของการมีกรรมการบางคนผู้มีประสบการณ์ทางกฎหมายร่วมอยู่ด้วย
3. กรรมการของคณะกรรมการนี้จะได้รับเลือกตั้ง และปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเฉพาะตัว
ข้อ 29
1. กรรมการของคณะกรรมการนี้จะได้รับเลือกตั้งโดยวิธีลงคะแนนลับจากรายนามบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติดังที่ระบุไว้ในข้อ 28 และได้รับการเสนอนามเพื่อการนี้โดยรัฐภาคีแห่งกติกานี้
2. รัฐภาคีแห่งกติกานี้แต่ละรัฐอาจเสนอนามบุคคลได้ไม่เกินสองคน บุคคลเหล่านี้จะต้องเป็นคนชาติของรัฐที่เสนอนาม
3. บุคคลมีสิทธิได้รับการเสนอนามซ้ำอีกได้
ข้อ 30
1. การเลือกตั้งครั้งแรกจะมีขึ้นไม่ช้ากว่าหกเดือน นับแต่วันถัดจากวันที่กติกานี้มีผลใช้บังคับ
2. นอกเหนือจากการเลือกตั้งเพื่อแทนตำแหน่งว่างตามข้อ 34 เลขาธิการสหประชาชาติต้องส่งคำเชิญเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังรัฐภาคีแห่งกติกานี้อย่างน้อยที่สุดสี่เดือนก่อนวันเลือกตั้งคณะกรรมการแต่ละครั้ง เพื่อให้รัฐภาคีเสนอรายนามกรรมการภายในสามเดือน
3. เลขาธิการสหประชาชาติต้องจัดทำรายนามบุคคลทุกคนซึ่งได้รับการเสนอนามตามลำดับอักษร พร้อมทั้งระบุรัฐภาคีที่เสนอนามเหล่านั้น และต้องเสนอรายนามดังกล่าวไปยังรัฐภาคีแห่งกติกานี้ไม่ช้ากว่าหนึ่งเดือนก่อนวันเลือกตั้งแต่ละครั้ง
4. การเลือกตั้งกรรมการของคณะกรรมการนี้จะกระทำในการประชุมรัฐภาคีแห่งกติกานี้ซึ่งเรียกประชุมโดยเลขาธิการสหประชาชาติ และกระทำ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ โดยในการประชุมดังกล่าวซึ่งประกอบด้วยรัฐภาคีแห่งกติกานี้จำนวนสองในสามเป็นองค์ประชุม บุคคลซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการจะต้องเป็นผู้ได้รับการเสนอนามซึ่งได้รับคะแนนเสียงจำนวนสูงที่สุดและเป็นเสียงข้างมากโดยเด็ดขาดของคะแนนเสียงจากผู้แทนรัฐภาคีที่เข้าประชุมและใช้สิทธิออกเสียง
ข้อ 31
1. คณะกรรมการจะมีคนชาติจากรัฐเดียวกันเกินกว่าหนึ่งคนไม่ได้
2. ในการเลือกตั้งคณะกรรมการ ให้คำนึงถึงการกระจายสัดส่วนจำนวนกรรมการตามเขตภูมิศาสตร์อย่างทัดเทียมกันของสมาชิกภาพและการเป็นตัวแทนของรูปแบบที่แตกต่างกันของอารธรรมและระบบกฎหมายหลัก
ข้อ 32
1. กรรมการของคณะกรรมการนี้จะได้รับเลือกตั้งให้อยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี และมีสิทธิได้รับเลือกตั้งใหม่ได้ หากได้รับการเสนอนามซ้ำอีก อย่างไรก็ตาม วาระของกรรมการเก้าคนซึ่งได้รับเลือกในการเลือกตั้งครั้งแรกจะสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดสองปี โดยประธานในที่ประชุมตามที่อ้างถึงในข้อ 30 วรรค 4 จะเป็นผู้คัดเลือกโดยการจับสลากรายนามกรรมการทั้งเก้าคนนี้ทันทีหลังการเลือกตั้งครั้งแรก
2. การเลือกตั้งเมื่อสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่ง ให้เป็นไปตามข้อก่อน ๆ ในภาคนี้ของกติกานี้
ข้อ 33
1. หากในความเห็นเป็นเอกฉันท์ของกรรมการอื่น กรรมการผู้หนึ่งผู้ใดในคณะกรรมการนี้ได้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ของตนไม่ว่าด้วยสาเหตุใด นอกเหนือจากการขาดการปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะชั่วคราว ประธานคณะกรรมการจะต้องแจ้งเลขาธิการสหประชาชาติซึ่งจะเป็นผู้ประกาศให้ทราบโดยทั่วกันต่อไปว่าตำแหน่งของกรรมผู้นั้นว่าง
2. ในกรณีที่กรรมการผู้หนึ่งผู้ใดของคณะกรรมการนี้ตายหรือลาออก ประธานจะต้องแจ้งโดยทันทีไปยังเลขาธิการสหประชาชาติซึ่งจะเป็นผู้ประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่าตำแหน่งดังกล่าวว่างนับแต่วันที่กรรมการผู้นั้นตายหรือวันที่การลาออกมีผล
ข้อ 34
1. เมื่อมีการประกาศตำแหน่งว่างตามข้อ 33 และถ้าวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการซึ่งจะถูกแทนที่ยังไม่สิ้นสุดลงภายในหกเดือนนับจากการประกาศตำแหน่งว่าง เลขาธิการสหประชาชาติต้องแจ้งไปยังรัฐภาคีแห่งกติกานี้แต่ละรัฐซึ่งแต่ละรัฐนั้นอาจยื่นรายนามผู้ได้รับการเสนอนามภายในสองเดือนตามข้อ 29 เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดหาผู้เข้าแทนตำแหน่งที่ว่าง
2. เลขาธิการสหประชาชาติต้องจัดทำรายนามบุคคลทุกคนซึ่งได้รับการเสนอนามตามลำดับอักษร และต้องเสนอรายนามดังกล่าวไปยังรัฐภาคีแห่งกติกานี้ จากนั้นให้มีการเลือกตั้งเพื่อแทนตำแหน่งที่ว่างตามบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องในภาคนี้ของกติกานี้
3. กรรมการของคณะกรรมการนี้ที่ได้รับเลือกเพื่อแทนตำแหน่งที่ว่างดังที่ประกาศไว้ตามข้อ 33 จะอยู่ในตำแหน่งเพียงเท่าวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามบทบัญญัติในข้อนั้น
ข้อ 35
โดยความเห็นชอบของสมัชชาสหประชาชาติ กรรมการของคณะกรรมการนี้ย่อมได้รับค่าตอบแทนจากแหล่งการเงินของสหประชาชาติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขซึ่งสมัชชาสหประชาชาติพิจารณากำหนดโดยคำนึงถึงความสำคัญของภาระรับผิดชอบของคณะกรรมการ
ข้อ 36
เลขาธิการสหประชาชาติจะจัดเจ้าหน้าที่และสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตามกติกานี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อ 37
1. เลขาธิการสหประชาชาติจะเรียกประชุมคณะกรรมการเป็นครั้งแรก ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ
2. ภายหลังการประชุมครั้งแรก คณะกรรมการต้องประชุมตามเวลาที่กำหนดในระเบียบข้อบังคับการประชุม
3. โดยปกติคณะกรรมการจะประชุมกัน ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ หรือ สำนักงานสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา
ข้อ 38
ก่อนเริ่มการปฏิบัติหน้าที่ กรรมการทุกคนของคณะกรรมการนี้จะต้องปฏิญาณตนต่อที่ประชุมอันเปิดเผยของคณะกรรมการว่า ตนจะปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ลำเอียงและโดยมีมโนธรรม
ข้อ 39
1. คณะกรรมการจะเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ของคณะกรรมการ โดยมีวาระคราวละสองปี เจ้าหน้าที่ดังกล่าวอาจได้รับเลือกตั้งซ้ำได้
2. คณะกรรมการจะกำหนดระเบียบข้อบังคับการประชุมของตน แต่ระเบียบข้อบังคับการประชุมเหล่านี้ นอกเหนือจากประการอื่นแล้ว จะต้องกำหนดว่า
(ก) กรรมการสิบสองคนจะประกอบเป็นองค์ประชุม
(ข) การตัดสินใจต่าง ๆ ของคณะกรรมการให้กระทำโดยเสียงข้างมากของกรรมการที่เข้าประชุม
ข้อ 40
1. รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับที่จะเสนอรายงานว่าด้วยมาตรการต่าง ๆ ซึ่งรัฐนั้น ๆ ได้รับไว้ในอันที่จะทำให้สิทธิที่ได้รับรองไว้ในกติกานี้เป็นผลจริง และว่าด้วยความก้าวหน้าในการอุปโภคสิทธิเหล่านั้น
(ก) ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่กติกานี้มีผลใช้บังคับสำหรับรัฐภาคีที่เกี่ยวข้องนั้น ๆ
(ข) ภายหลังจากนั้น เมื่อใดก็ตามที่คณะกรรมการร้องขอ
2. ให้ส่งรายงานทั้งปวงต่อเลขาการสหประชาชาติผู้ซึ่งจะนำส่งต่อไปให้คณะกรรมการพิจารณา รายงานนั้นให้ระบุปัจจัยปละอุปสรรคต่าง ๆ ซึ่งกระทบต่อการปฏิบัติตามกติกานี้ หากมี
3. ภายหลังจากที่ได้หารือกับคณะกรรมการแล้ว เลขาธิการสหประชาชาติอาจนำส่งสำเนารายงานบางส่วนเท่าที่อยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของทบวงการชำนัญพิเศษใดไปยังทบวงการชำนัญพิเศษที่เกี่ยวข้องนั้น
4. ให้คณะกรรมการศึกษารายงานที่รัฐภาคีแห่งกติกานี้ได้เสนอ คณะกรรมการจะจัดส่งรายงานของตนและความเห็นทั่วไปตามที่เห็นสมควรไปยังรัฐภาคีนั้น ๆ คณะกรรมการอาจส่งความเห็นดังกล่าวพร้อมด้วยสำเนารายงานที่ได้รับจากรัฐภาคีแห่งกติกานี้ไปยังคณะมนตรีเศรษฐกิจ และสังคมด้วย
5. รัฐภาคีแห่งกติกานี้อาจเสนอข้อสังเกตต่อความเห็นที่ได้ให้ไว้ตามวรรค 4 ของข้อนี้ต่อคณะกรรมการ
ข้อ 41
1. รัฐภาคีแห่งกติกานี้อาจประกาศตามบทบัญญัติในข้อนี้ ในเวลาใด ๆ ว่าตนยอมรับอำนาจของคณะกรรมการในอันที่จะรับและพิจารณาคำแจ้งที่มีผลว่ารัฐภาคีหนึ่งกล่าวอ้างว่ารัฐภาคีอีกรัฐหนึ่งไม่ได้ปฏิบัติตามพันธกรณีของตนตามกติกานี้ การรับและพิจารณาคำแจ้งตามข้อนี้จะกระทำได้ต่อเมื่อเป็นคำแจ้งซึ่งได้เสนอโดยรัฐภาคีซึ่งได้ประกาศยอมรับอำนาจของคณะกรรมการแล้ว คณะกรรมการจะไม่รับคำแจ้งใด ๆ หากคำแจ้งนั้นเกี่ยวข้องกับรัฐภาคีซึ่งมิได้ทำคำประกาศเช่นว่านั้น การพิจารณาคำแจ้งที่ได้รับตามข้อนี้ให้เป็นไปตามวิธีพิจารณาต่อไปนี้
(ก) ถ้ารัฐภาคีหนึ่งแห่งกติกานี้พิจารณาเห็นว่ารัฐภาคีอีกรัฐหนึ่งมิได้ทำให้บทบัญญัติแห่งกติกานี้มีผลจริง รัฐนั้นอาจทำคำแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังรัฐภาคีอีกรัฐหนึ่งนั้น ภายในเวลาสามเดือนนับแต่วันที่ได้รับคำแจ้ง ให้รัฐที่ได้รับแจ้งตอบรัฐที่ส่งคำแจ้งโดยทำเป็นคำอธิบายหรือคำแถลงอื่นเป็นลายลักษณ์อักษรชี้แจงรายละเอียดของเรื่องซึ่งควรรวมถึงการอ้างอิงกระบวนการภายในของรัฐนั้นและการเยียวยาที่ได้ดำเนินการไป หรือที่อยู่ระหว่างดำเนินการ หรือที่มีอยู่ ทั้งนี้เท่าที่เกี่ยวข้องและเป็นไปได้
(ข) ถ้ากรณีที่เกิดขึ้นยังไม่ได้รับการปรับแก้ให้เป็นที่พอใจแก่รัฐภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่ายภายในหกเดือนนับแต่วันที่รัฐผู้รับได้รับคำร้องเรียนครั้งแรก รัฐใดรัฐหนึ่งย่อมมีสิทธิที่จะเสนอกรณีดังกล่าวต่อคณะกรรมการ โดยแจ้งให้คณะกรรมการและอีกรัฐหนึ่งทราบ
(ค) คณะกรรมการจะดำเนินการกับกรณีที่เสนอมาได้ก็ต่อเมื่อเป็นที่แน่ใจแก่คณะกรรมการแล้วว่า การเยียวยาภายในประเทศได้นำมาใช้โดยถึงที่สุดแล้วโดยสอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป หลักเกณฑ์นี้ไม่ใช้บังคับ ในกรณีที่การเยียวยาจะเนิ่นนานออกไปอย่างไม่มีเหตุผลอันสมควร
(ง) ให้คณะกรรมการจัดประชุมลับ เมื่อมีการพิจารณาคำร้องเรียนตามข้อนี้
(จ) ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของอนุวรรค (ค) คณะกรรมการจะช่วยเป็นสื่อกลางให้แก่รัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง เพื่อการหาข้อยุติฉันเพื่อนบนพื้นฐานแห่งความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นมูลฐานที่ได้รับรองไว้ในกติกานี้
(ฉ) คณะกรรมการอาจร้องขอให้รัฐภาคีที่เกี่ยวข้องตามที่อ้างถึงในอนุวรรค (ข) จัดส่งข้อมูลใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่เสนอมาสู่การพิจารณานั้น
(ช) รัฐภาคีที่เกี่ยวข้องตามที่อ้างถึงในอนุวรรค (ข) ย่อมมีสิทธิที่จะมีผู้แทนเข้าชี้แจงในขณะที่เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาในคณะกรรมการ และมีสิทธิที่จะเสนอคำแถลงด้วยวาจาและ/หรือเป็นลายลักษณ์อักษร
(ซ) ภายในสิบสองเดือนนับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับแจ้งตามอนุวรรค (ข) คณะกรรมการจะเสนอรายงาน
(1) ถ้ามีการบรรลุข้อยุติตามที่ระบุไว้ในอนุวรรค (จ) คณะกรรมการจะจำกัดขอบเขตของรายงานของตนให้เป็นเพียงคำแถลงโดยย่อในข้อเท็จจริงและข้อยุติที่บรรลุผล
(2) ถ้าไม่มีการบรรลุข้อยุติตามที่ระบุไว้ในอนุวรรค (จ) คณะกรรมการจะจำกัดขอบเขตของรายงานของตนให้เป็นเพียงคำแถลงโดยย่อในข้อเท็จจริง ทั้งนี้ให้แนบคำแถลงเป็นลายลักษณ์อักษรและบันทึกคำแถลงด้วยวาจาซึ่งกระทำโดยรัฐภาคีที่เกี่ยวข้องไปกับรายงานนั้นด้วย
ในทุกกรณี ให้ส่งรายงานดังกล่าวไปยังรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง
2. บทบัญญัติของข้อนี้จะมีผลใช้บังคับเมื่อรัฐภาคีแห่งกติกานี้สิบรัฐได้ทำคำประกาศตามวรรค 1 ของข้อนี้ รัฐภาคีจะมอบคำประกาศไว้กับเลขาธิการสหประชาชาติซึ่งจะส่งสำเนาคำประกาศนั้น ๆ ไปยังรัฐภาคีอื่น ๆ คำประกาศอาจถูกถอนเมื่อใดก็ได้ โดยการแจ้งไปยังเลขาธิการฯ การถอนคำประกาศย่อมไม่กระทบกระเทือนการพิจารณากรณีใด ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้รับการแจ้งซึ่งได้จัดส่งไว้แล้วตามข้อนี้ คณะกรรมการจะไม่รับคำแจ้งจากรัฐภาคีอีกต่อไปหลังจากที่มีการแจ้งการถอนคำประกาศซึ่งรับไว้โดยเลขาธิการฯ เว้นแต่รัฐภาคีที่เกี่ยวข้องได้ทำคำประกาศใหม่แล้ว
ข้อ 42
1.
(ก) ถ้ากรณีที่ได้เสนอต่อคณะกรรมการตามข้อ 41 ไม่ได้รับการแก้ไขให้เป็นที่พอใจแก่รัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการโดยความยินยอมจากรัฐภาคีที่เกี่ยวข้องอาจแต่งตั้งคณะกรรมาธิการประนีประนอมเฉพาะกิจขึ้น ( ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า คณะกรรมาธิการ ) คณะกรรมาธิการจะช่วยเป็นสื่อกลางแก่รัฐภาคีที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อยุติฉันมิตรบนพื้นฐานแห่งความเคารพต่อกติกานี้
(ข) คณะกรรมาธิการจะประกอบด้วยบุคคลห้าคนซึ่งเป็นที่ยอมรับของรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง ถ้ารัฐภาคีที่เกี่ยวข้องไม่สามารถตกลงกันในเรื่ององค์ประกอบทั้งหมดหรือบางส่วนของคณะกรรมาธิการภายในสามเดือน ให้เลือกตั้งกรรมาธิการที่ไม่สามารถตกลงกันได้นั้นโดยการลงคะแนนลับ โดยอาศัยคะแนนเสียงข้างมากสองในสามของคณะกรรมการ
2. กรรมาธิการของคณะกรรมาธิการดำรงตำแหน่งในฐานะเฉพาะตัว กรรมาธิการต้องไม่เป็นคนชาติของรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง หรือของรัฐที่มิได้เป็นภาคีแห่งกติกานี้ หรือของรัฐภาคีที่มิได้ทำคำประกาศตามข้อ 41
3. คณะกรรมาธิการจะเลือกประธาน และกำหนดระเบียบข้อบังคับการประชุมของตนเอง
4. การประชุมของคณะกรรมาธิการ ตามปกติจะกระทำที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ หรือสำนักงานสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา อย่างไรก็ตามอาจจัดประชุมขึ้น ณ สถานที่อื่นที่เหมาะสมตามที่คณะกรรมาธิการอาจกำหนด โดยการปรึกษากับเลขาธิการสหประชาชาติและรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง
5. ฝ่ายเลขานุการตามข้อ 36 จะปฏิบัติงานให้คณะกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นตามข้อนี้ด้วย
6. ข้อมูลที่คณะกรรมการได้รับและรวบรวมไว้จะต้องให้แก่คณะกรรมาธิการด้วย และคณะกรรมาธิการอาจขอให้รัฐภาคีที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องได้
7. เมื่อคณะกรรมาธิการได้พิจารณากรณีนั้นอย่างเต็มที่แล้ว ให้เสนอรายงานต่อประธานคณะกรรมการเพื่อส่งต่อไปยังรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง แต่ทั้งนี้ต้องไม่ช้ากว่าสิบสองเดือนนับแต่วันที่ได้รับเรื่องไว้
(ก) ถ้าคณะกรรมาธิการไม่อาจพิจารณาให้เสร็จสิ้นได้ภายในสิบสองเดือน ให้จำกัดขอบเขตของรายงานของตนให้เป็นเพียงคำแถลงโดยย่อ สรุปสถานะของการพิจารณากรณีนั้น ๆ
(ข) ถ้าการหาข้อยุติฉันมิตรสำหรับกรณีนั้นบนพื้นฐานแห่งความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนที่ได้รับรองไว้ในกติกานี้บรรลุผล ให้คณะกรรมาธิการจำกัดขอบเขตของรายงานของตนให้เป็นเพียงคำแถลงโดยย่อในข้อเท็จจริงและข้อยุติที่บรรลุผล
(ค) ถ้าการหาข้อยุติตามที่ระบุไว้ในอนุวรรค (ข) ไม่บรรลุผล รายงานของคณะกรรมาธิการ จะต้องประกอบด้วยผลการตรวจสอบในปัญหาข้อเท็จจริงทั้งปวงที่เกี่ยวกับประเด็นระหว่างรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง และความเห็นของคณะกรรมาธิการเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการหาข้อยุติฉันมิตรสำหรับกรณีนั้นรายงานนี้ต้องบรรจุคำแถลงเป็นลายลักษณ์อักษรและบันทึกคำแถลงด้วยวาจาซึ่งกระทำโดยรัฐภาคีที่เกี่ยวข้องด้วย
(ง) ถ้าคณะกรรมาธิการได้เสนอรายงานตามอนุวรรค (ค) รัฐภาคีที่เกี่ยวข้องจะต้องแจ้งให้ประธานคณะกรรมการทราบว่า รัฐภาคีนั้น ๆ จะรับเนื้อหาสาระรายงานของคณะกรรมาธิการหรือไม่ภายในสามเดือนนับแต่ที่รับรายงานนั้น
8. บทบัญญัติของข้อนี้ไม่กระทบกระเทือนต่อความรับผิดชอบของคณะกรรมการตามข้อ 41
9. รัฐภาคีที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมรับผิดชอบเท่ากันในค่าใช้จ่ายทั้งปวงของคณะกรรมาธิการตามที่ได้ประมาณการไว้โดยเลขาธิการสหประชาชาติ
10. เลขาธิการสหประชาชาติมีอำนาจทดรองค่าใช้จ่ายของคณะกรรมาธิการหากจำเป็นก่อนที่จะได้รับชดใช้คืนจากรัฐภาคีที่เกี่ยวข้องตามวรรค 9 ของข้อนี้
ข้อ 43
กรรมการของคณะกรรมการและกรรมาธิการของคณะกรรมาธิการประนีประนอมเฉพาะกิจซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามข้อ 42 ย่อมมีสิทธิได้รับการอำนวยความสะดวก เอกสิทธิ และความคุ้มกันสำหรับผู้เชี่ยวชาญที่ปฏิบัติภารกิจเพื่อสหประชาชาติตามที่กำหนดในมาตราที่เกี่ยวข้องของอนุสัญญาว่าด้วยเอกสิทธิและความคุ้มกันของสหประชาชาติ
ข้อ 44
บทบัญญัติเพื่อการปฏิบัติตามกติกานี้ต้องนำมาใช้โดยไม่กระทบกระเทือนต่อวิธีการที่ได้ระบุไว้ในด้านสิทธิมนุษยชนโดยหรือภายใต้บรรดาตราสารก่อตั้ง และอนุสัญญาของสหประชาชาติ และทบวงการชำนัญพิเศษ และไม่ตัดสิทธิรัฐภาคีแห่งกติกานี้ ในอันที่จะใช้วิธีการอื่นเพื่อระงับข้อพิพาทตามความตกลงระหว่างประเทศที่ทำขึ้นเป็นการทั่วไปหรือเป็นการเฉพาะที่ใช้บังคับอยู่ระหว่างกัน
ข้อ 45
คณะกรรมการจะเสนอรายงานประจำปีว่าด้วยกิจกรรมของตนไปยังสมัชชาสหประชาชาติโดยผ่านทางคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม
ภาค 1
ภาค 2
ภาค 3
ภาค 4
ภาค 5
ภาค 6
ที่มา : คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ
แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ
The Human Rights Sub-Committee on Ethnic Minorities,
Stateless, Migrant Workers and Displaced Persons, The Lawyers Council of
Thailand