สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

รอยต่อพัฒนาการ

พื้นที่รอยต่อพัฒนาการ (Zone of Proximal Development) เป็นหนึ่งในมโนทัศน์ของ เลฟ เซเมโนวิช ไวก็อตสกี้ (Lev Semenovich Vygotsky) ที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก ซึ่งอธิบายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการเรียนรู้และพัฒนาการ และเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในวงการการศึกษาของเด็กปฐมวัยและพัฒนาการเด็ก ว่าเด็กเรียนรู้และพัฒนาความคิดความเข้าใจตนเองได้อย่างไร

ไวก็อตสกี้เป็นนักจิตวิทยาชาวรัสเซีย เชื้อสายยิว เกิดในปี ค.ศ. 1896 ปีเดียวกันกับเพียเจต์ (Jean Piaget) นักจิตวิทยาชาวสวิส จากการมีประสบการณ์การทำงานเป็นนักจิตวิทยาเพียงแค่ 10 ปี ในช่วงเวลานั้นนักพัฒนาการชาวรัสเซียท่านนี้ได้สร้างความตื่นตัวให้แก่วงการการศึกษาในช่วงปี ค.ศ. 1920 ถึง 1930 อันเป็นช่วงเดียวกันกับที่เพียเจต์กำลังสร้างทฤษฎีของเขาขึ้นมา ในช่วงบรรยากาศหลังการปฏิวัติสหภาพโซเวียต เป้าหมายของไวก็อตสกี้คือการสร้างแนวคิดทางจิตวิทยาขึ้นมาใหม่ตามแนวทางมาร์กซิสต์ และประยุกต์ใช้จิตวิทยาโดยเฉพาะในสาขาจิตวิทยาการศึกษา เพื่อเผชิญกับปัญหาของประชาชนในสภาพการณ์ฉุกเฉิน

ในช่วงเวลานั้นเขาได้ท่องเที่ยวไปยังที่ต่างๆ มากมาย และทำงานวิจัย รวมทั้งมีส่วนช่วยในการฝึกอบรมครู โดยการสอนและช่วยเหลือในการวางรากฐานสถาบันฝึกอบรมครูแห่งใหม่ ชีวิตเขาค่อนข้างยากจน เขาไม่มีอพาร์ทเมนท์ส่วนตัวอยู่หลายปี แต่พักอาศัยอยู่ในห้องใต้ถุนตึกในสถาบันจิตวิทยาขณะที่อยู่ในมอสโคว มีหลักฐานยืนยันว่าเขาสร้างงานเขียนขึ้นมาภายใต้สภาพแวดล้อมเช่นนี้ แต่ผลงานของเขากลับถูกคำสั่งของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ยุคสตาลินห้ามเผยแพร่ ตราบจนกระทั่งสตาลินถึงแก่อนิจกรรมในปี ค.ศ. 1953 ผลงานของเขาจึงได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในโลกตะวันตก

ในปี ค.ศ. 1962 ได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือของเขาในรูปแบบฉบับย่อ ชื่อ Myshlenie i rech' (ความคิดและการพูด) ภายใต้ชื่อเรื่องการคิดและภาษา (Thought and Language) โดย Jerome Bruner นักจิตวิทยาแนวพุทธิปัญญาเป็นผู้เขียนคำนำให้ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาได้มีการแปลงานของไวก็อตสกี้นำมาใช้ประโยชน์มากขึ้น เช่น “Developmental of the Higher Mental Functions” (1966) “Play and its role in the Mental Development of the Child” (1967) “Mind in Society” (1978) เป็นต้น

โชคร้ายที่ไวก็อตสกี้เสียชีวิตก่อนถึงเวลาอันควรด้วยวัยเพียง 38 ปีเท่านั้น ก่อนที่งานของเขาจะบรรลุความสำเร็จ จากการป่วยเป็นโรควัณโรค (Daniels. 1996:1-4) อย่างไรก็ดี ผลงานที่ไวก็อตสกีสร้างสรรค์ออกมาล้วนมีคุณค่าต่อวงการการศึกษาและจิตวิทยาอย่างมาก ในปี 1978 เทาล์มิน (Stephen Toulmin) ได้อ่านและวิจารณ์หนังสือของไวก็อตสกี้ ชื่อ “Mind in Society” จึงให้ฉายาแก่ไวก็อตสกี้ว่า "The Mozart of Psychology"

พื้นที่รอยต่อพัฒนาการ
การเรียนรู้ในพื้นที่รอยต่อพัฒนาการ
การเสริมต่อการเรียนรู้
ข้อเสนอแนะในการเสริมต่อการเรียนรู้
บทสรุป

บรรณานุกรม

  • ประสิทธิ์ ศรีเรืองฤทธิ์. (2549). การใช้แนวคิดเรื่อง พื้นที่รอยต่อพัฒนาการ (Zone of Proximal Development) ของวิก็อตสกี้ เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนการเขียนภาษาอังกฤษสำหรับนักศึกษาระดับอุดมศึกษา. วิทยานิพนธ์ ศษ.ด. (หลักสูตรและการสอน). ขอนแก่น : มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
  • Bransford, J., Brown, A.; & Cocking, R. (2000). How People Learn : Brain, Mind, and Experience &
    School. Washington, DC: National Academy Press.
  • Daniels, H. (1996). An introduction to Vygotsky. London:Routledge.
  • Dixon-Krauss, L. (1996). Vygotsky in the classroom : Mediated literacy instruction and assessment. New York:Longman.
  • Raymond, E. (2000). Cognitive Characteristics. Learners with Mild Disabilities. Needham Heights, MA: Allyn & Bacon, A Pearson Education Company.
  • Shaffer, D. (1999). Developmental psychology:childhood & adolescence. (5th edition). Pacific Grove:Brooks/Cole.
  • Vygotsky, L. (1978). Mind in society:The developmental of higher psychological process.Cambridge, MA:Harvard University Press.
  • Wing, J.; & Putney, L. (2002). A vision of Vygotsky. Boston:Allyn & Bacon.
  • Wood, D.; Bruner, J.; & Ross, G. (1976). The role of tutoring in problem-solving. Journal of Child Psychology and Psychiatry. 17(2):89-100.

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย