สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

วัณโรค (Tuberculosis)

วัณโรคเป็นโรคติดต่อ ที่ยังเป็นปัญหาของประเทศไทยเรา และประเทศด้อยพัฒนาอีกหลายประเทศ ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมียารักษาที่มีประสิทธิภาพสูงก็ตาม แต่เมื่ออัตราการเป็นเอดส์ยังคงเพิ่มสูงขึ้น ก็ย่อมทำให้อัตราการเป็นวัณโรคเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากผู้ป่วยเอดส์มีความบกพร่องของภูมิคุ้มกันจึงติดเชื้อโรคได้ง่ายและขณะนี้กำลังมีการแพร่ระบาดของเชื้อวัณโรคที่มีความต้านทานต่อยาสูง ซึ่งมักเกิดร่วมกับการติดเชื้อโรคเอดส์

สาเหตุ

วัณโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม Tubercle bacilli ซึ่งประกอบด้วย Mycobacterium Tuberculosis, Mycobacterium Bovis, Mycobacterium Africanum ที่ทำให้เกิดโรคในคนเกือบทั้งหมด คือ Mycobaterium Tuberculosis

เชื้อวัณโรคสามารถล่องลอยอยูในอากาศได้เป็นเวลานาน ในบริเวณชื้น อับแสง เชื้อจะมีชีวิตอยู่ได้เป็นเดือน แต่ถ้าถูกแสดงแดดโดยตรง เชื้อจะตายภายใน 2 – 3 ชั่วโมง และสามารถใช้แอลกอฮอล์ 70% ฆ่าเชื้อโรคได้ภายใน 10 นาที

วิธีการติดต่อ

การติดต่อได้ง่ายที่สุดและพบได้บ่อย คือ การติดต่อโดยทางเดินหายใจ เมื่อผู้ป่วยไอจามหรือหัวเราะ จะปล่อยเชื้อออกมาล่องลอยในอากาศกับฝอยน้ำลาย เมื่อมีผู้สูดหายใจเข้าไปในถุงลมจะทำให้เกิดกระบวนการอักเสบขึ้น ส่วนการติดต่อทางการรับประทาน ทางบาดแผล และทางอวัยวะสืบพันธุ์พบน้อยมาก แหล่งแพร่เชื้อที่สำคัญคือ ผู้ป่วยวัณโรคที่ตรวจพบเชื้อในเสมหะ

อาการและอาการแสดง

อาการและอาการแสดงทั่วไปที่พบบ่อย

ผู้ป่วยอาจมีไข้สูงหรือต่ำก็ได้ และอาจเป็นตลอดวันหรือไข้ตอนกลางคืน อาการไข้มักจะเป็นเกินสองสัปดาห์ มักมีอาการไอร่วมด้วย หรือบางครั้งอาจไม่มีไอ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ซูบซีด ซึ่งมักพบในรายที่โรคเป็นระยะลุกลาม

อาการเฉพาะระบบ

อาการที่เกิดขึ้นแล้วแต่จะเกิดกับระบบใดของร่างกาย ได้แก่ เยื่อหุ้มปอด ต่อมน้ำเหลือง ทางเดินปัสสาวะ กระดูกและข้อ เยื่อหุ้มสมอง ระบบทางเดินอาหาร

สำหรับวัณโรคปอดซึ่งพบบ่อย อาการที่พบ คือ ไอเรื้อรังเกิน 3 สัปดาห์ 50-70 % มีไอเป็นเลือด ในรายที่เลือดออกมาก ๆ เกิดจากการแตกของหลอดเลือดแดง ที่อยู่บนผนังโพรงแผล ถ้าเยื้อหุ้มปอดอักเสบมักจะมีอาการเจ็บหน้าอก หรือถ้าเกิดน้ำที่ช่องเยื่อหุ้มปอดจะมีอาการแน่นหน้าอก

  • วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง มีอาการปวดศีรษะ อาเจียน ตึงต้นคอ

  • วัณโรคกระดูกสันหลัง มีอาการปวดกระดูก ปวดหลัง เป็นมากในเวลากลางคืน

  • วัณโรคระบบทางเดินอาหาร มีอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเดิน ซึ่งมักพบรอยโรคในปอดด้วย

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยโรค อาศัยลักษณะหลายอย่างประกอบด้วย ดังนี้

1. ลักษณะทางคลินิก
2. การตรวจเสมหะ
3. การตรวจโดยการเอ็กซเรย์ทรวงอก
4. การทดสอบทูเบอร์คูลิน
5. การตรวจโดยวิธีอื่น ๆ เช่น การตัดชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิ การเจาะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด และการตัดชิ้นเนื้อเยื่อหุ้มปอดตรวจ

การรักษา

หลักการรักษาที่สำคัญ มีดังนี้

1. ต้องได้รับประทานยาอย่าต่ำสองขนาน เพื่อป้องกันการดื้อยา
2. ต้องได้รับยาสม่ำเสมอ และนานพอ เพื่องป้องกันการกลับเป็นใหม่
3. รับประทานอาหารที่ดีมีคุณค่าแก่ร่างกาย ได้รับการพักผ่อนและออกกำลังกายอย่างเหมาะสม

ปัจจุบันนี้มียาหลายขนาน ซึ่งจัดออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ คือ (มาลี เซ็นเสถียร. 2535 : 88)

1. ยาหลักในการรักษามี 6 ขนาน คือ ไอโซไนอะซิค (Isoniazid) ไรแอมพิซิน (Riampicin) สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) ไพราซินาไมต์ (Pyrazinamide) มีแธมบูทอล (Ethambutal) ธัยอะเซทาโซน (Thiacetazone)

2. ยาสำรอง ใช้ในกรณีเชื้อดื้อยาหลัก ได้แก่ คานามัยซิน (Kanamycin) เอทธิโอนาไมด์ (Ethionamide) ไซโคลซีริน (Cycloserine)

การป้องกัน

ถึงแม้จะมียารักษาวัณโรคที่มีประสิทธิภาพก็ตามวัณโรคยังเป็นปัญหาสำคัญทางการสาธารณสุขของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และขณะนี้สามารถระบาดได้ในทุกสภาพภูมิประเทศทั่วโลก ไม่แต่เฉพาะที่ชื้น อับแสง และแออัดเท่านั้น

หลักการทั่วไปของการป้องกัน

1. ให้ภูมิคุ้มกัน โดยฉีดวัคซีน บี ซี จี (B C G = Bacillus Calmette - Gruerin) ควรฉีดตั้งแต่แรกเกิด ผู้ที่ได้รับวัคซีน จะมีความต้านทานโรคได้สูงกว่าคนที่ไม่ได้ฉีด ระยะเวลาคุ้มกันในร่างกายไม่แน่นอน จากการศึกษาพบหลังอายุ 10 ปี ภูมิคุ้มกันจะลดลงประมาณร้อยละ 50 ดังนั้นจึงควรฉีดวัคซีนซ้ำเมื่ออายุ 7 – 8 ปี

2. การให้ยาต้านวัณโรคในคนที่ยังไม่เคยได้รับเชื้อมาก่อน เช่ย เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีผู้ป่วยวัณโรคระยะติดต่อ แพทย์ พยาบาล และบุคคลที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคระยะติดต่อ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย