ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
ทฤษฎีการแสวงหาสารสนเทศ
ของ Leckei, Gloria J.
Leckei, Gloria J. เป็นอาจารย์ที่ Faculty of Information and Media Studies, Middlesex College, University of Western Ontario, London
ทฤษฎีของ Leckie เป็นทฤษฎีเกี่ยวกับการแสวงหาสารสนเทศของบุคคลในอาชีพ โดยมีหลักว่าบุคคลมีความต้องการสารสนเทศตามอาชีพและภาระงานของแต่ละบุคคล ซึ่งจะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมการแสวงหาสารสนเทศ โดยมีปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นตัวแปรต่อพฤติกรรมการแสวงหาสารสนเทศ ได้แก่ คุณลักษณะของความต้องการสารสนเทศ (Characteristic of information needs),
การคัดเลือกแหล่งสารสนเทศที่ต้องการ และการตระหนักรู้ในความต้องการสารสนเทศ จากนั้นก็จะดำเนินการสืบค้นสารสนเทศที่ตนเองต้องการ เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการประกอบอาชีพของตน และเมื่อได้ข้อมูลเป็นที่น่าพอใจหรือตรงตามความต้องการของตนแล้วก็จะหยุดพฤติกรรมการแสวงหาสารสนเทศนั้น แต่หากผลลัพธ์ที่ได้นั้นยังไม่ป็นที่น่าพอใจหรือไม่ตรงตามความต้องการบุคคลนั้นก็จะเริ่มพฤติกรรมการแสวงหาสารสนเทศใหม่อีกครั้ง
อาชีพเป็นตัวกำหนดให้แต่ละบุคคลนั้นมีภาระงานที่แตกต่างกัน และด้วยภาระงานนั้นๆ ก็จะส่งผลให้บุคคลมีลักษณะความต้องการสารสนเทศที่แตกต่างกันออกไปอีกเช่นกัน ดังนั้นบุคคลแต่ละคนจะรู้ถึงความต้องการว่าตนต้องการสารสนเทศอะไร รวมทั้งรู้แหล่งสารสนเทศที่ต้องการ จากนั้นก็จะดำเนินการแสวงหาสารสนเทศดังกล่าว และผลลัพธ์ที่ได้จะสามารถใช้เป็นข้อมูลย้อนกลับไปยังแหล่งข้อมูล และการตระหนักรู้ รวมทั้งการแสวงหาสารสนเทศ ของบุคคลนั้น ๆ ได้
ขั้นตอนรูปแบบพฤติกรรมการแสวงหาสารสนเทศของ Leckie มีส่วนประกอบ 6 ส่วน ดังนี้
1. อาชีพ
2. ภาระงาน
3. คุณลักษณะของความต้องการสารสนเทศ (Characteristic of information needs)
4. การตระหนักรู้ในความต้องการสารสนเทศ
5. การคัดเลือกแหล่งสารสนเทศที่ต้องการ
6. ผลลัพธ์
แบบจำลองของ Leckie นี้แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมการแสวงหาสารสนเทศเหมือนกับว่าสารสนเทศคือสิ่งที่ต้องแสวงหา และผลที่ได้จากการแสวงหาสารสนเทศ คือ ผลลัพธ์ ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กับส่วนอื่น ๆ ของโมเดล ตลอดจนเป็นผลย้อนกลับไปยังแหล่งของข้อมูล การตระหนักรู้ และการแสวงหาสารสนเทศ
ตัวอย่างงานวิจัย
งานวิจัยของ Baker (2004) ได้ทำการศึกษาพฤติกรรมสารสนเทศของเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงที่เข้าไปปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับโสเภณีในเมือง Midelwestern City ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทำหน้าที่เป็นนางนกต่อ ดังนั้นเธอจึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้สารสนเทศเพื่อประกอบการปฏิบัติงานดังกล่าว ซึ่งจากผลการวิจัยนั้นพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงต้องการสารสนเทศตลอดเวลา อย่างรวดเร็วและถูกต้อง และมีการแสวงหาสารสนเทศใหม่ ๆ ตามบริบทของสถานที่ที่ปฏิบัติงาน รวมทั้งมีแหล่งสารสนเทศได้ทุกแห่ง ทุกประเภท
ซึ่งสามารถสรุปได้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงที่ทำหน้าที่ดังกล่าวนี้มีความต้องการสารสนเทศที่สามารถทำให้ปฏิบัติงานได้สะดวกและปลอดภัยที่สุดตลอดเวลา แต่ถ้าไม่ได้สารสนเทศที่ต้องการก็จะเริ่มต้นแสวงหาสารสนเทศต่อไปจนเป็นที่พอใจ
จากผลการวิจัยอาจสรุปได้ว่า อาชีพเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมการแสวงหาสารสนเทศ ซึ่งนอกจากการไก้รับการฝึกอบรมให้เกิดความรู้ ทักษะแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงคนดังกล่าวยังจะต้องมีการแสวงหาสารสนเทศในขณะที่ปฏิบัติงานด้วย ซึ่งปัจจัยที่เป็นตัวแปรในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการแสวงหาสารสนเทสซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลา ได้แก่ ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม ซึ่งตำรวจหญิงจะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา คือ ต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับบริเวณที่ปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัยจากกับดักและอันตรายต่าง ๆ เพราะความปลอดภัยของตนเองสำคัญที่สุด
ปัจจัยด้านความรู้ในความต้องการสารสนเทศของตำรวจหญิง คือ เรียนรู้ในความเป็นอยู่ ภาษา การแต่งกายกับผู้ให้สารสนเทศ คือโสเภณี ผู้ชายที่ควบคุมโสเภณีและคนในชุมชน และข้อมูลที่ต้องการส่งให้กับทีมผู้ร่วมงานยังไม่เป็นที่พอใจ ตำรวจหญิงคนนี้ก็จะเริ่มการแสวงหาสารสนเทศใหม่
จากงานวิจัยที่กล่าวมาข้างต้นที่มีการนำทฤษฎีการแสวงหาสารสนเทศของ Leckie
มาใช้ในการทำงานวิจัยก็แสดงให้เห็นว่า
อาชีพและบทบาทมีส่วนสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมการแสวงหาสารสนเทศ
แต่ทั้งนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าโมเดลของ Leckie
นั้นจะถูกใช้จำกัดในเฉพาะสาขาที่มีความเชี่ยวชาญบางอาชีพ เช่น
กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ, นักกฎหมาย และวิศวกร เท่านั้น
บรรณานุกรม
- สมรักษ์ สหพงศ์. (2549). เค้าโครงวิทยานิพนธ์เรื่อง
บทบาทละความรู้ความสามารถของนักสารสนเทศทางการแพทย์ในกระบวนการเวชปฏิบัติเชิงประจักษ์
: Roles and
Competencies of Medical Information Professionals in Evidence-Based Medicine. หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาสารสนเทศศึกษา คณะมนุษยศสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. - Case, Donald O. (c2002). Looking for information [electronic resource] : a survey of research on information seeking, need, and behavior. Amsterdam ; New York : Academic Press.