สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

กินอย่างไร เมื่อเป็นตับแข็ง

ฝ่ายโภชนาการ โรงพยาบาลศรีธัญญา

ตับแข็งเป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้เกิดการสูญเสียโครงสร้างของตับ จากปกติเนื้อตับจะนุ่ม แต่ถ้ามีอาการ อักเสบหรืออันตรายต่อตับ เนื้อตับจะถูกทำลายกลายเป็นพังผืดลักษณะคล้ายแผล ทำให้เลือดไปเลี้ยงตับน้อยลง ทำให้เนื้อตับที่ดีถูกทำลายจนกลายเป็น ตับแข็ง มีผลทำให้สมรรถภาพการทำงานของตับลดลง ซึ่งนำมาสู่ภาวะสุขภาพร่างกายที่แย่ลงด้วย

สาเหตุที่เซลล์ตับถูกทำลาย ส่วนใหญ่เกิดจากการดื่มสุราติดต่อกันเป็นเวลานาน จนทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ และเรื้อรังจนเป็นโรคตับแข็ง รวมถึงการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี และพิษของยาหรือสารเคมี

อาหารสำหรับโรคตับแข็ง

โรคตับแข็งในระยะเริ่มแรก สมรรถภาพการทำงานของตับยังทำงานได้ดี อาจมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ คล้ายอาหารไม่ย่อย ต่อมาจะรู้สึกอ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร บางครั้งน้ำหนักลดลง แต่เมื่อเข้าสู่ระยะเรื้อรังสมรรถภาพการทำงานของตับผิดปกติไป ทำให้มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องบวม ขาบวม ซึมลง มีอาการผิดปกติทางสมอง การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ มักพบภาวะทุพโภชนาการขาดสารอาหารร่วมด้วย

ข้อแนะนำในการรับประทานอาหาร

  1. รับประทานอาหารให้หลากหลาย และครบหมวดหมู่ ได้แก่ ข้าว แป้ง ผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์เป็นประจำทุกวัน

  2. เลือกรับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ที่มีกากใยอาหาร เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท ถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ เผือก มัน ฟักทอง

  3. เลือกรับประทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่าย เช่น ปลา ไข่ นม

  4. รับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ หลีกเลี่ยง เนื้อสัตว์ติดมัน เครื่องในสัตว์ ของทอดต่างๆ กะทิ

  5. ใช้ไขมันจากพืช เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลืองในการปรุงอาหารถ้าร่างกายมีปัญหาการย่อยไขมัน ควรเลือกใช้ไขมันที่มีห่วงโซ่ขนาดกลาง (MCT = Medium chain triglyceride) ซึ่งพบมากในน้ำมันมะพร้าว ในการประกอบอาหาร

  6. รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ สะอาด หลีกเลี่ยงอาหารทะเลสุกๆ ดิบๆ อาหารหมักดอง และอาหารที่อาจปนเปื้อนสารอัลฟาท็อกซิน เช่น ถั่วสิสงป่น พริกป่น

  7. หลีกเลี่ยงอาหารพลังงานสูงจากน้ำตาล เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม

  8. หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด อาหารแปรรูปต่างๆ เช่น กุนเชียง หมูยอ ไส้กรอก และขนมขบเคี้ยวต่างๆ

  9. เนื่องจากผู้ป่วยโรคตับจะมีการเผาผลาญพลังงานสูงกว่าปกติ และมักพบปัญหาท้องบวม ท้องอืด อาหารไม่ย่อยร่วมด้วย เพื่อให้ในแต่ละวันได้พลังงานและสารอาหารเพียงพอ และป้องกันภาวะการสลายกล้ามเนื้อมาใช้เป็นพลังงาน ควรแบ่งมื้ออาหารรับประทานย่อยๆ วันละ 4 - 7 มื้อ และแนะนำให้รับประทานอาหารก่อนเข้านอน ยกเว้นผู้ป่วยที่ภาวะโรคเบาหวานร่วมด้วย

  10. ในผู้ป่วยที่มีอาการทางสมองร่วมด้วย (Hepatic Encephalopathy) ควรลดอาหารประเภทโปรตีนเหลือวันละ 2 – 3 ช้อนกินข้าว แนะนำให้รับประทานโปรตีนจากพืช ทดแทนโปรตีนจากสัตว์ เช่น ถั่วเหลือง เต้าหู้ นม

  11. ถ้ามีอาการท้องบวม เท้าบวมควรควบคุมปริมาณน้ำ ประมาณวันละ 6 แก้ว

  12. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่

  13. พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเบาๆ เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะๆ

  14. หลีกเลี่ยงการซื้อยารับประทานเอง

การกินยาเกินขนาด และการใช้ยาสมุนไพรต่างๆ นอกเหนือจากการดูแลของแพทย์ ถึงแม้ว่าโรคตับแข็งเป็นโรคเรื้อรังและไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การดูแลสุขภาพ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ การเลือกรับประทานอาหาร และปฏิบัติตัวที่เหมาะสม สามารถช่วยชะลอความรุนแรงของโรคได้

ที่มา
: นพ.อนุชิต จูฑะพุทธิ ภาวะโภชนาการในผู้ป่วยโรคตับ วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
: รศ.นพ.ธีระ พิรัชวิสุทธิ์ การดูแลปฏิบัติตนของผู้ป่วยที่เป็นตับแข็ง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย