สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

การปฐมพยาบาล

เรวดี ก่อสกุล
พยาบาลชำนาญการ 8

การปฐมพยาบาล เป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยในทันทีทันใดที่ได้รับอันตรายจากอุบัติเหตุ หรือ การเจ็บป่วยซึ่งอาจจะรุนแรงจนอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โดยใช้เครื่องมือเท่าที่พอจะหาได้ในขณะนั้น เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีอันตรายน้อยลง ก่อนที่จะนำส่งโรงพยาบาลต่อไป การให้การปฐมพยาบาลที่ถูกต้องจะช่วยลดอาการเจ็บป่วยและอาการแทรกซ้อนให้น้อยลง ช่วยป้องกันความพิการบางอย่างมิให้เกิดขึ้น และช่วยในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยให้หายเร็วขึ้น

การเป็นลม (Fainting)

คนเป็นลมหน้ามืด เป็นผลเนื่องมาจากเลือดไปสู่สมองน้อยไปชั่วคราว สาเหตุอาจเนื่องมาจาก ร่างกายอ่อนเพลีย อยู่ในที่แออัดอากาศถ่ายเทไม่สะดวก การออกแรงหรือกำลังมากเกินไป อากาศร้อน อบอ้าว ตื่นเต้น ตกใจ เสียใจมากเกินไป

อาการ

จะมีอาการวิงเวียน หน้ามืด ตามัว ใจสั่น ใบหน้าซีดเซียว มีเหงื่อออกชุ่มตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า และหน้าผาก อาจล้มลงและหมดสติ ชีพจรเบา หายใจหอบถี่

การปฐมพยาบาล

1. ขยายเสื้อผ้าให้หลวม
2. ห้ามคนมุงดูรอบๆ
3. เมื่อหมดสติ ให้ผู้ป่วยนอนลง ให้ศีรษะต่ำกว่าตัวเล็กน้อยหรือนอนราบก็ได้
4. ให้ดมแอมโมเนีย
5. เช็ดเหงื่อตามฝ่ามือ ฝ่าเท้าและหน้าผาก
6. ถ้ายังไม่รู้สึกตัว ควรให้ความอบอุ่น ทำการผายปอดและรีบส่งโรงพยาบาล

การเป็นลมนั้นมีหลายสาเหตุ แบ่งออกเป็น

1. เป็นลมธรรมดา (Fainting)

เป็นอาการที่เนื่องมาจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอชั่วคราว จึงทำให้ ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวไปชั่วขณะหนึ่ง สาเหตุ อาจเนื่องมาจาก

1. ร่างกายอ่อนเพลียมาก เช่น อดนอน หรือตรากตรำทำงานมากเกินไป
2. ขาดอากาศบริสุทธิ์ เช่น ทำงานอยู่ในที่ที่มีคนอยู่หนาแน่น ในห้องที่มีอากาศไม่เพียงพอ หรือ อากาศร้อนจัดเกินไป
3. จากอารมณ์ เช่น การตื่นเต้น ตกใจกลัวมากเกินไป

อาการ ผู้ป่วยจะหน้ามืด เวียนศีรษะ ใจสั่น หน้าซีด มือเย็น เหงื่อออกตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า และบริเวณหน้าผาก ชีพจรเบาและเร็ว อาจจะล้มลงและหมดสติ แต่มักไม่มีอาการชัก

การปฐมพยาบาล

1. เมื่อรู้สึกเวียนศีรษะ หน้ามืด ให้ผู้ป่วยนั่งลงสูดหายใจยาวๆ
2. เมื่อหมดสติ

• ให้ผู้ป่วยนอนราบ ศีรษะต่ำกว่าตัวเล็กน้อย
• ขยายเสื้อผ้าให้หลวมๆ
• พัดให้ผู้ป่วย
• ห้ามคนมุงดู
• ให้ดมแอมโมเนีย
• เช็ดเหงื่อตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า และหน้าผาก
• ถ้าไม่ฟื้น ควรให้ความอบอุ่น ทำการผายปอด นำส่งโรงพยาบาล

2. ลมแดด (Sun – Stroke หรือ Heat Stroke)

สาเหตุ ลมแดดเกิดขึ้นได้เนื่องจากการอยู่กลางแจ้ง ได้รับแสงแดดกล้าอยู่เป็นเวลานานๆ ทำให้ศูนย์การควบคุมความร้อนในร่างกายไม่สามารถควบคุมได้ตามปกติ การขับเหงื่อลดลง ในขณะที่การสร้างความร้อนของร่างกายเกิดตามปกติเป็นผลทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ

อาการ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อึดอัด คลื่นไส้ อาเจียน กระหายน้ำ หน้าแดง ผิวหนังแห้ง แต่ไม่มีเหงื่อออก ชีพจรเต้นแรงเร็ว หายใจลึกเร็ว อุณหภูมิ 105°- 110° F

การปฐมพยาบาล

1. นำผู้ป่วยเข้าที่ร่ม มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
2. เปลื้องหรือคลายเสื้อผ้า สิ่งที่รัดออกให้หลวม ถอดผ้าหนาๆ ออก เพื่อให้ความร้อนระบายออกจาก ร่างกายได้ง่าย และให้นอนหงายศีรษะสูง
3. เช็ดตัวด้วยน้ำเย็น วางกระเป๋าน้ำแข็งบนศีรษะ เพื่อช่วยลดอุณหภูมิให้กลับไปอยู่ในระดับปกติโดยเร็ว
4. ไม่ควรดื่มน้ำร้อน ชา กาแฟ เหล้า ฯลฯ
5. ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาล

3. ลมร้อน

สาเหตุ เนื่องจากมีการสูญเสียน้ำและเกลือออกจากร่างกายมาก เพราะอยู่ในที่ที่มีความร้อนสูงมาก และร่างกายมีความอ่อนเพลียร่วมด้วย เช่น ในโรงกลึง โรงหล่อ โรงทำขนมปัง เป็นต้น
อาการ ปวดศีรษะ วิงเวียน อ่อนเพลีย คลื่นไส้ หน้าซีด ชีพจรเต้นเบาเร็ว อุณหภูมิต่ำกว่าปกติเล็กน้อย บางคนอาจหมดสติไป

การปฐมพยาบาล

1. ปลดหรือคลายสิ่งที่รัดร่างกายให้หลวม เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสบายขึ้น
2. รีบนำผู้ป่วยเข้าอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
3. ให้นอนหงาย ยกเท้าสูงกว่าศีรษะ
4. ถ้าผู้ป่วยรู้สึกตัวดี ให้ดื่มน้ำอุ่นผสมเกลือ ¼ - ½ ช้อนกาแฟ ต่อน้ำ 1 ถ้วย เพื่อเป็นการทดแทน เกลือแร่ที่สูญเสียออกจากร่างกายทางเหงื่อ
5. ถ้าผู้ป่วยรู้สึกตัวดี อาจให้ดื่ม น้ำชา กาแฟ เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิต ให้ดีขึ้น แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ก็ไม่ควรให้
6. ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบส่งโรงพยาบาล

4. ลมบ้าหมู (Epilepsy)

สาเหตุ ผู้ที่เป็นลมชักหรือลมบ้าหมู มักเคยมีประวัติชักมาก่อน ในบางคนอาจไม่ถึงกับชัก เพียงแต่หมดสติไปชั่วครู่แล้วก็หายไป แต่บางคนอาจมีอาการรุนแรงถึงกับชักและหมดสติได้

อาการ

1. เมื่อมีอาการก็จะหมดความรู้สึกแล้วล้มลง บางคนอาจร้อง
2. ตัวแข็งเกร็ง มือกำแน่น เท้าเหยียดแข็ง ขากรรไกรขบกัน และเคลื่อนไปมา
3. หยุดหายใจ หน้าจะแดงจัด และบวม
4. ต่อมาจะชักกระตุกทั้งตัว ใบหน้าเขียวคล้ำ น้ำลายฟูมปาก
5. บางครั้งกล้ามเนื้อหน้าอาจเกร็งและหายใจลำบาก
6. อาจปัสสาวะราด
7. ต่อมากล้ามเนื้อจะคลายตัว จะกินเวลาทั้งหมดประมาณ 1 นาที
8. ต่อมาจะหมดสติ อาจเป็นนาทีถึงหลายชั่วโมง
9. อาจสับสน และอาจมีพฤติกรรมแปลกๆ หลังจากการชัก

การปฐมพยาบาล

1. ควรจับผู้ป่วยนอนราบกับพื้น ไม่ควรให้นอนบนเตียงเพราะอาจชักกระตุก ตกเตียงได้
2 ระวังผู้ป่วยจะกัดลิ้น ป้องกันโดยใช้ไม้แบนๆ หรือด้ามช้อนพันผ้าสอดใส่ในปากระหว่างฟันบนกับฟันล่าง (อย่าใส่นิ้วเข้าไปในปากผู้ป่วย) และระวังอย่าให้ศีรษะหรือหน้ากระแทกกับพื้น ใช้ผ้าหรือหมอนหนุนศีรษะ
3. ป้องกันผู้ป่วยไม่ให้มีอันตรายจากสิ่งกีดขวางต่างๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ หม้อน้ำร้อน ควรเลื่อนออกไปให้ห่างผู้ป่วย เพื่อกันศีรษะหรือแขนขาไปกระแทก
4. ตรวจดูกระเป๋าของผู้ป่วย ซึ่งอาจมีข้อมูลอะไรที่จะช่วยบอกโรคประจำตัวของผู้ป่วยได้
5. อยู่กับผู้ป่วยตลอดเวลา ถ้าชักนานเกิน 1 – 2 นาที ให้รีบนำส่งโรงพยาบาล
6. เมื่อหยุดชัก จับผู้ป่วยให้อยู่ในท่าพักฟื้น ถ้าผู้ป่วยหลับเกิน 15 นาที ให้รีบนำส่งโรงพยาบาล

การช่วยผู้ป่วยชัก

สาเหตุของการชักมีได้หลายสาเหตุ เช่น เด็กตัวร้อน ไข้สูง ไข้สมองอักเสบหรือมีความผิดปกติอย่างอื่น หรือได้รับอุบัติเหตุที่สมอง ลมบ้าหมู เป็นต้น เมื่อพบคนชัก ให้ทำการช่วยเหลือดังนี้

1. ให้ความช่วยเหลือคล้ายกับผู้ป่วยชักจากล้มบ้าหมู
2. ต้องระวังการกัดลิ้นหรือทางเดินหายใจอุดตัน
3. รีบนำส่งโรงพยาบาล

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย