สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยจีน

รังสรรค์ หลิง นักศึกษาจีน เอกภาษาไทย ปีที่ 3
ณ. มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง
30 มิถุนายน 2543

แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยแผนงานความร่วมมือในศตวรรษที่ 21
ระหว่างราชอาณาจักรไทย กับสาธารณรัฐประชาชนจีน

นับตั้งแต่ราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ.1975 เป็นต้นมา ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมมือกันอย่างราบรื่นทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ การค้า การทหาร การศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และด้านอื่น ๆ บนพื้นฐานของ มิตรภาพ ความเสมอภาค การเอื้อประโยชน์และการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ผู้นำระดับสูงสุด ผู้นำรัฐบาล และประชาชนของทั้งสองประเทศได้แสดงบทบาทอย่างสำคัญต่อการสืบสานและ พัฒนาความสัมพันธ์นี้โดยไม่หยุดยั้ง จนกลายเป็นแบบอย่างของการอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว และสมานฉันท์ระหว่างประเทศที่มีระบอบสังคมที่แตกต่างกัน ความร่วมมืออันดีระหว่างสองฝ่าย ไม่เพียงแต่จะเกื้อกูลต่อผลประโยชน์โดยพื้นฐานของประเทศทั้งสองเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ ต่อสันติภาพและการพัฒนาของเอเชียและของโลกด้วย

ในขณะที่ศตวรรษที่ 21 กำลังใกล้จะมาถึงนี้ ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นพ้องกันว่า ควรจะขยายความสัมพันธ์และความร่วมมือโดยรอบด้าน ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่ไว้ใจซึ่งกันและกันให้ก้าวหน้าต่อไป บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันและความสัมพันธ์ฉันมิตรที่พัฒนามากว่า 20 ปี เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน พัฒนาไปสู่ระดับใหม่ ในการนี้ ทั้งสองฝ่ายจึง ออกแถลงการณ์เพื่อให้เป็นกรอบและแนวทาง สำหรับการดำเนินการปฏิบัติตามของทั้งฝ่ายดังนี้

1. ทั้งสองฝ่ายยึดถือหลักการตามกฎบัตรสหประชาชาติ หลักการ 5 ประการแห่งการอยู่ร่วมกัน อย่างสันติ สนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ หลักกฎหมายระหว่างประเที่ศอันเป็นที่ยอมรับในสากล เป็นบรรทัดฐานในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ

2. ทั้งสองฝ่ายจะรักษาไว้ซึ่งการติดต่อ และการไปมาหาสู่ที่ใกล้ชิดระหว่างผู้นำของประเทศทั้งสอง ส่งเสริมการติดต่อแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอระหว่างข้าราชการทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าราชการระดับสูงของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ เพื่อผลักดันให้ความสัมพันธ์ระหว่าง ไทย-จีน พัฒนาไปโดยรอบด้านอย่างมั่นคง และยั่งยืน

3. ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะรักษาไว้ซึ่งกลไกการปรึกษาหารือประจำปี ระหว่างข้าราชการระดับสูง ของกระทรวงการต่างประเทศของประเทศทั้งสอง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างกัน ในประเด็นทางการเมือง ทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี โดยจะผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ โดย จะติดตามการดำเนินการตามแผนงานนี้ในระดับนโยบาย และหน่วยงานทางการทูตของทั้งสอง ประเทศจะใช้โอกาสต่าง ๆ อย่างเต็มที่ในการติดต่อและหารือกันอย่างสม่ำเสมอ

4. ทั้งสองฝ่ายตกลงกันที่จะกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคง โดยอาศัยมาตรการเพื่อการสร้าง ความไว้เนื้อเชื่อใจกันต่าง ๆ เช่น ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานศึกษาวิจัยด้านยุทธศาสตร์ และความมั่งคง ส่งเสริมให้ฝ่ายทหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ มีการปรึกษา หารือกันมากขึ้นในกิจการด้านความมั่นคง การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างทหารของทั้งสองฝ่ายในการช่วยเหลือและกู้ภัยเพื่อนมนุษย์ และการลดโอกาสของภัยพิบัติ รวมทั้งการแลกเปลี่ยน ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการทหาร ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านต่าง ๆ

5. ทั้งสองฝ่ายจะขยายความร่วมมือฉันมิตรบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกันและการเอื้อประโยชน์ ซึ่งกันและกันในด้านการค้า การลงทุน เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การพาณิชย์นาวี วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี

  1. ทั้งสองฝ่ายเห็นความจำเป็นที่จะต้องประสานซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิด ในด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านนโยบายการเงิน ผ่านการปรึกษาหารือกันและการร่วมมือทางด้านวิชาการอย่างใกล้ชิด
  2. ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ในการส่งเสริมและขยายการค้าระหว่างกัน การขจัดข้อกีดกันทางการค้า การป้องกันการทุ่มตลาดซึ่งจะส่งผลเสียหายอย่างมาก ให้กับเศรษฐกิจของอีกฝ่ายหนึ่ง ปรับปรุงกระบวนการทางการผลิตและมาตรฐาน การผลิต และจะให้การพิจารณาต่อสินค้าส่งออกของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นพิเศษเท่าที่จะ กระทำได้
  3. ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้น และจะปฏิบัติ ตามพันธกรณีตามความตกลงที่เกี่ยวกับการลงทุนที่มีอยู่
  4. ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมและขยายการแลกเปลี่ยนด้านเทคนิคและเทคโนโลยี เพื่อ ยกระดับคุณภาพ มาตรฐานการผลิต และการเพิ่มมูลค่าแก่สินค้าเกษตร รวมทั้งทำให้ กฏระเบียบ และกระบวนการตรวจสอบคุณภาพให้ได้มาตรฐาน เพื่อส่งเสริมการส่งออก ระหว่างกัน
  5. ในด้านอุตสาหกรรม ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในด้าน ความรู้ทางเทคโนโลยี การใช้วัตถุดิบและเทคโนโลยี ที่ทั้งสองฝ่ายมีอยู่ เพื่อการผลิตร่วม การพัฒนานิคมอุตสาหกรรม การพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรม ตลอดจนการพัฒนา ทรัพยากรมนุษย์ โดยจะให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม
  6. ทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง จะสนับสนุนความร่วมมือด้าน การพัฒนากองเรือพาณิชย์นาวี และกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยร่วมมือกัน ในด้านวิชาการและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
  7. ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมการแลกเปลี่ยน ทางด้านวิชาการและเทคนิค โดยจะทำการวิจัยและพัฒนาร่วมเพื่อนำผลงาน ทางวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จไปใช้ในเชิงพาณิชย์

ในการนี้ ทั้งสองฝ่ายจะให้การสนับสนุนกลไกคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือ ด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการ และคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจการค้า เพื่อการประสานความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้า และด้านวิทยาศาสตร์ และวิชาการในการขยายมิติของความร่วมมือด้านใหม่ ๆ และการแก้ไขปัญหาอันอาจเกิดขึ้นจาก การดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือระหว่างกัน พร้อมทั้งจะสนับสนุนและส่งเสริมการแลกเปลี่ยน ด้านเศรษฐกิจ และการค้าระหว่างภาคธุรกิจของประเทศทั้งสอง และความร่วมมือด้านนี้ระหว่าง สองฝ่ายในประเทศที่สาม รวมทั้งอำนวยความสะดวกแก่วิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง

6. ทั้งสองฝ่ายจะให้ความสำคัญและสนับสนุนมากยิ่งขึ้นต่อความร่วมมือสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (ไทย จีน ลาว และพม่า) รวมทั้งความร่วมมือในอนุภูมิภาคภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ในลุ่มแม่น้ำโขง (ไทย จีน ลาว พม่า เวียดนาม และกัมพูชา) ซึ่งเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของ ทั้งสองประเทศตลอดจนประเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคในระยะยาว ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญ อย่างมากต่อการเปิดเส้นทางทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างจีนกับไทย โดยจะอำนวยความสะดวกซึ่งกันและกัน และแก่ประเทศที่เกี่ยวข้องในการใช้เส้นทางดังกล่าว เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การขนส่ง การบริการ การพลังงาน การสื่อสาร และการท่องเที่ยว

7. ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การศึกษา การสาธารณสุข การกีฬา การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และจะกระชับความร่วมมือตลอดจนการประสานงานภายใต้ กรอบความร่วมมือขององค์กรการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) กองทุนสงเคราะห์เด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) และองค์การความร่วมมือ ทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APEC) ตลอดจนองค์กรความร่วมมืออื่น ๆ ทั้งในระดับ ภูมิภาคและโลก ในด้านสาธารณสุขนั้น ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัย ทางการแพทย์ การผลิตเวชภัณฑ์ การคุ้มครองผู้บริโภค การป้องกันและควบคุมโรงติดต่อ

8. ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวอย่างแข็งขัน และขจัดปัญหาอันเกิดจาก การท่องเที่ยว นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวจากประเทศที่สาม เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศทั้งสองด้วย

9. ทั้งสองฝ่ายพร้อมจะร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้างการติดต่อด้านตุลาการอย่างใกล้ชิด โดยการ แลกเปลี่ยนข้อมูลและข่าวสารซึ่งกันและกัน จะกระชับความร่วมมือในด้านการบังคับใช้กฎหมาย ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อปราบปรามกระบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ การค้ายาเสพติด การลักลอบ ขนสินค้าหนีภาษี การก่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจ และการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ตลอดจนการก่ออาชญากรรมประเภทอื่น ๆ

10. ทั้งสองฝ่ายจะให้การเคารพต่อระบบกฎหมายของอีกฝ่ายหนึ่ง และจะให้หลักประกันว่า เมื่อมีเรื่องเกี่ยวพันถึงการฟ้องร้องโดยคนชาติของอีกฝ่ายหนึ่ง ควรให้หลักประกันว่า ปัญหาดังกล่าวจะได้รับการแก้ไขอย่างเป็นธรรมตามครรลองของกระบวนการยุติธรรมที่เหมาะสม

11. ทั้งสองฝ่ายจะกระชับความร่วมมือและการปรึกษาหารือระหว่างกันในเรื่องของภูมิภาค และประเด็นระหว่างประเทศที่เป็นที่สนใจร่วมกันในเวทีพหุภาคี เช่น ASEAN, ARF, APEC, ASEM รวมทั้ง UN และ WTO เป็นต้น เพื่อส่งเสริมสันติภาพและการพัฒนาของภูมิภาคและโลก

12. ฝ่ายจีนให้การเคารพต่ออิสรภาพ อธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศไทย ฝ่ายไทย ยืนยันการยอมรับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนว่า จีนมีเพียงจีนเดียว และไต้หวันเป็นดินแดน ส่วนหนึ่งของจีนที่มิอาจแบ่งแยกได้

13. ทั้งสองฝ่ายมีความพอใจต่อพัฒนาการของความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างจีนกับองค์กรอาเซียน และกับประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ และเชื่อว่า ความร่วมมือระหว่างไทยกับจีน เป็นปัจจัย ที่ ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียนในทุกด้าน ฝ่ายจีนชื่นชมต่อบทบาทของฝ่ายไทย ในการกระชับความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างจีนกับอาเซียน ฝ่ายไทยยืนยันที่จะแสดงบทบาทอย่างแข็งขัน ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างจีนกับอาเซียนให้พัฒนาต่อไป

14. ทั้งสองฝ่ายเห็นว่า แม้จะยังคงมีภาวะเสี่ยงภัยและสิ่งท้าทายต่าง ๆ ดำรงอยู่ แต่การแสวงหา สันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ และความร่วมมือ ยังคงเป็นกระแสหลักของสถานการณ์ต่าง ๆ ในภูมิภาคของตนในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะประเทศในเอเชียตะวันออกนั้น ภายหลังจากการปรับตัวตามความจำเป็นแล้ว จะสามารถเอาชนะความยากลำบากชั่วคราว อันเกิดจากกระแสวิกฤตทางการเงินได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป และจะกลายเป็นภูมิภาคที่มีพลวัตรและมีความหวังทางเศรษฐกิจสูงสุดแห่งหนึ่งในโลกต่อไป

15. ทั้งสองฝ่ายได้ตระหนักว่า ระบบหลายขั้วอำนาจกำลังเป็นแนวโน้มและกระแสของโลกและ พลังแห่งสันติภาพก็กำลังเข้มแข็งยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงเป็นความจำเป็นของยุคสมัยนี้ และ กระแสทางประวัติศาสตร์ที่ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ ที่จะต้องสถาปนาระเบียบความสัมพันธ์ของโลกใหม่ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ที่มีสันติภาพ เสถียรภาพ ความยุติธรรม และสมเหตุสมผล และทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะใช้ความพยายามร่วมกันอย่างแข็งขัน เพื่อพัฒนาส่งเสริมความสัมพันธ์ ทวิภาคีต่อไปโดยไม่หยุดยั้ง และเพื่อส่งเสริมเสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค และของโลกโดยส่วนรวม

แผนงานข้างต้นจะได้รับการทบทวนร่วมกันโดย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ของประเทศทั้งสองต่อไป
ที่กรุงเทพฯ วันที่ 5 เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2542

ผู้แทนราชอาณาจักรไทย
สุรินทร์ พิศสุวรรณ
(นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนสาธารณรัฐประชาชนจีน
ถัง เจียสวน
(นายถัง เจียสวน)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ความสัมพันธ์ด้านการเมืองระหว่างไทยกับจีน
การแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง
ความร่วมมือไทย-จีนในศตวรรษที่ 21
ความร่วมมือไทย-จีนว่าด้วยด้านยาเสพติด
สัมพันธภาพระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีนในด้านอื่นๆ
บทสุนทรพจน์ในวาระการครบรอบ 25 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีน-ไทย

อ้างอิง : ศูนย์จีนศึกษา.2546. ความสัมพันธ์ระหว่างไทยจีนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย