สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

โรคต้องห้ามในแรงงานต่างด้าว

คนต่างด้าวที่มีลักษณะเป็น โรคต้องห้ามมิให้เข้ามาในราชอาณาจักรหรือสงสัยว่าเป็นโรคต้องห้ามให้ทำบันทึกแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

1. คนต่างด้าวที่เป็นโรคต้องห้ามมิให้เข้ามาในราชอาณาจักร ตามกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 14 (พ.ศ.2535) ออกตามแนวพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ข้อที่ 2 โรคตามมาตรา 12 (4) คือ

- โรคเรื้อน
- วัณโรคในระยะอันตราย
- โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
- โรคยาเสพติดให้โทษ
- โรคซิฟิลิสในระยะที่ 3

2. คนต่างด้าวที่เป็นโรคต้องห้ามเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ตามกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 14 (พ.ศ.2535) ออกตามแนวพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ข้อที่ 3 โรคตามมาตรา44 (2) คือ

- โรคเรื้อน
- วัณโรคในระยะอันตราย
- โรคเท้าช้าง
- โรคยาเสพติดให้โทษ
- โรคพิษสุราเรื้อรัง
- โรคซิฟิลิสในระยะที่ 3

หากตรวจพบโรคต้องห้ามในการทำงาน อาทิ โรคซิฟิลิสระยะที่ 3 วัณโรคระยะแพร่เชื้อ ติดสารเสพติด จิตฟั่นเฟือน เป็นต้น ต้องประสานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ให้ส่งกลับประเทศ

ทั้งนี้จากรายงานการเฝ้าระวังโรคในชาวต่างชาติ ของสำนักระบาดวิทยา (รง.506) ซึ่งมีการกำหนดประเภทผู้ป่วยชาวต่างชาติ เป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) แรงงานต่างชาติและครอบครัว (migrant worker) 2)นักท่องเที่ยวต่างชาติ (tourist) และ 3) ชาวต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามารับการรักษาในประเทศไทย รวมทั้งที่อยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว (cross border) 9 แห่ง ซึ่งในปี 2556 ที่ผ่านมา สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานผู้ป่วยชาวต่างชาติจาก 75 จังหวัด จำนวน 48,181 ร้อยละ 1.92 ของผู้ป่วยที่ได้รับรายงานทั้งหมด 2,507,918 ราย เสียชีวิต 31 ราย มีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุดนักตั้งแต่มีการรายงานมาและเพิ่มจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 7.8 จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยคือ จังหวัดบึงกาฬและอำนาจเจริญ

จากรายงานผู้ป่วยต่างชาติทุกประเภท พบผู้ป่วยเพศหญิงน้อยกว่าเพศชาย พบผู้ป่วยมากในกลุ่มอายุ 0-4 ปี 25-34 ปี 15-24 ปี และ 35-44 ปี ร้อยละ 23.94 21.54 19.73 และ 10.98 ตามลำดับ โดยกลุ่มอายุ 0-4 ปี มีสัดส่วนลดลงเมื่อเทียบกับปี 2555 สำหรับกลุ่มอายุ 15-24 ปี และ 25-34 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา

จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยชาวต่างชาติมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดเชียงราย ตาก เชียงใหม่ ภูเก็ต กรุงเทพ ระยอง แม่ฮ่องสอน ชลบุรี สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี ผู้ป่วยต่างชาติส่วนใหญ่เป็นประเภท 1 ยกเว้นจังหวัด เชียงราย พะเยา น่าน และสุรินทร์ พบผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นประเภท 3 สำหรับจังหวัดที่มีรายงานจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเทียบกับปี พ.ศ. 2555 ทั้งหมด 42 จังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี และขอนแก่นมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากที่สุดกว่า 1 เท่า

ส่วนโรคที่มีรายงานจำนวนผู้ป่วยมากและเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาใน 5 อันดับแรก ได้แก่ ไข้ไม่ทราบสาเหตุ ไข้เลือดออก อาหารเป็นพิษ โรคมือ เท้า ปาก และสครับไทฟัส สำหรับโรคปอดอักเสบ มาลาเรีย โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไข้หวัดใหญ่ และวัณโรค มีจำนวนลดลง

โดยสรุปนั้น จากรายงานโรคกลุ่มชาวต่างชาติที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังคงเป้นกลุ่มแรงงานต่างชาติและครอบครัว ในพื้นที่จังหวัดชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เมืองท่องเที่ยวและจังหวัดที่มีผู้ใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ป่วยไข้เลือดออก และมือ เท้า ปาก ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น เมื่อทียบกับปีที่ผ่านมา สำหรับโรคติดต่อที่สำคัญอื่น ได้แก่ วัณโรค และมาลาเรีย มีรายงานจำวนผู้ป่วยลดลง

คำแนะนำสำหรับแรงงานต่างด้าว ในการดูแลสุขภาพตนเองและการรับการรักษา

แรงงานต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นจำนวนมากทั้งที่เข้ามาแบบถูกกฎหมายและลักลอบเข้าเมืองมา มีผลต่อก่อการเกิดปัญหาทางด้านสาธารณสุข และอาจเป็นพาหะนำโรค โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่อาจแฝงมากับแรงงานต่างด้าวโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นการเฝ้าระวังแรงงานต่างด้าวที่มีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค การป้องกัน หมั่นสังเกตอาการ จึงเป็นสิ่งจำเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้น

สำหรับแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายแรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้จะต้องเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพ ตามระบบสาธารณสุขของไทย แต่อย่างไรก็ตามยังมีแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองมาทำให้ไม่สามารถตรวจ ติดตามสถานการณ์ด้านสุขภาพของคนกลุ่มนี้ได้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง แม้ว่าจะพยายามในการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว และรณรงค์ให้มีการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวแล้ว แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะพบโรคต้องห้ามในแรงงานต่างด้าวที่ไม่ผ่านการตรวจสุขภาพ เช่น โรควัณโรค โรคซิฟิลิส โรคเท้าช้าง เป็นต้น

โรควัณโรค

มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย ไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) หรือ TB ติดต่อจากการแพร่กระจายขณะไอ จาม การพูดคุย จากน้ำลายหรือละอองเสมหะที่ลอยอยู่ในอากาศ เมื่อเราหายใจเอาเชื้อเข้าไปจะทำให้มีโอกาสติดเชื้อโรคและมีอาการอ่อนเพลีย มีไข้ต่ำๆ ไม่มีแรง น้ำหนักลด เบื่ออาหาร หนาวสั่นและมีเหงื่อออกตอนกลางคืน และมีอาการไอแห้งๆ ในช่วงแรกๆ ต่อมาจะไอแบบมีเสมหะ ไอติดต่อกันเป็นเวลานาน และหากไอติดต่อกันเกิน 3 สัปดาห์ต้องรีบพบแพทย์โดยด่วนเพราะอาจเกิดแผลในปอดจนทำให้เสียชีวิต

โรคซิฟิลิส (Syphilis)

สาเหตุมาจากเชื้อ Treponema pallidum จากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน นอกจากนี้สามารถติดโรคผ่านการสัมผัส เช่น ทางผิวหนัง เยื่อบุตา หรือสัมผัสสารคัดหลั่ง เกิดได้ทั้งชายและหญิง อาการที่สำคัญ มี 3 ระยะ โดยในระยะแรกสังเกตได้จากความผิดปกติจากการมีแผลทั้งแผลเดี่ยวและหลายแผลซึ่งพบมากบริเวณอวัยวะเพศทั้งชายและหญิง เมื่อร่างกายรับเชื้อ แผลที่เกิดขึ้นจะเป็นวงกลมขนาดเล็ก นิ่ม ไม่เจ็บ ขอบแผลจะนูนแข็ง ในช่วงแรกหากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันเวลาสามารถหายได้ แต่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็จะ เข้าสู่ระยะต่อไปซึ่งอันตรายมากขึ้น

โรคเท้าช้าง (Elephantiasis)

เกิดจากหนอนพยาธิตัวกลมฟิลาเรีย ซึ่งมียุงเป็นพาหะนำโรค เมื่อยุงกัดและดูดเลือดคนที่มีพยาธิตัวอ่อนก็จะรับเชื้อเข้าไป ระยะแรกจะไม่มีอาการใดๆ แต่ต่อมาอาจเกิดอาการเฉียบพลัน เช่น การอักเสบของต่อมและทางเดินน้ำเหลือง ต่อมน้ำเหลืองบวมโต ปวด มีไข้ และรู้สึกไม่สบายร่วมด้วย ต่อมาช่วงที่อาการเรื้อรังจะมีอาการบวมของน้ำเหลือง เมื่อกดจะเกิดรอยบุ๋ม บวมมากขึ้น กดไม่บุ๋ม จนในที่สุดเกิดเป็นภาวะเท้าช้างเมื่อพยาธิเข้าไปอุดที่ต่อมน้ำเหลือง ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นภายหลังจากติดเชื้อพยาธิแล้วประมาณ 5 -10 ปี

นอกจากนี้ปัญหาด้านสาธารณสุขของแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศไทยยังส่งผลเสียต่องบประมาณในการป้องกันและรักษาโรคเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการทางสุขภาพของแรงงานต่างด้าวและครอบครัวของแรงงานต่างด้าว รวมถึงปัญหาความเสี่ยงของโรคและอุบัติเหตุจากการทำงาน และการไม่มีกองทุนหรือสวัสดิการในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ซึ่งสาเหตุของการจำกัดการเข้าถึงบริการทางสุขภาพส่วนใหญ่เกิดจากภาษาในการสื่อสารระหว่างแรงงานต่างด้าวกับเจ้าหน้าที่ ความเชื่อในการเกิดโรค และการรักษาโรค ความห่างไกลของที่อยู่อาศัย ค่าใช้จ่ายในการรักษา การเปิดให้บริการ ไม่สอดคล้องกับช่วงเวลาทำงานของแรงงานต่างด้าว ซึ่งสามารถแก้ปัญหาการเข้าถึงบริการทางสุขภาพเพื่อป้องกันการเกิดโรคระบาด ได้ด้วยการ มีล่ามภาษาให้แรงงานต่างด้าว เพิ่มจำนวนพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว (พสต.) อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) การเพิ่มช่องทางสื่อสารทางสาธารณสุข การดูแลผู้ป่วยเฉพาะกลุ่ม บัตรประกันสุขภาพของคนต่างด้าว การจัดบริการอาชีวอนามัย สำหรับกลุ่มแรงงานต่างด้าว

ทั้งนี้แรงงานต่างด้าวและผู้จ้างงานที่สนใจให้แรงงานต่างด้าวเข้ารับการตรวจสุขภาพสามารถศึกษารายละเอียดอัตราค่าบริการการตรวจสุขภาพและค่าประกันสุขภาพได้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว โดยมีอัตราค่าบริการ ดังนี้

1) แรงงานต่างด้าวสัญชาติลาว กัมพูชา เมียนม่าร์ รวมผู้ติดตามซึ่งอยู่ในประเทศไทยทุกคน บัตรราคา 2,100 บาท มีอายุการคุ้มครอง 1 ปี
- ค่าตรวจสุขภาพ คนละ 500 บาท
- ค่าประกันสุขภาพ คนละ 1,600 บาท
2)กลุ่มเด็กอายุไม่เกิน 7 ปีบริบูรณ์ บัตรราคา 365 บาท มีอายุการคุ้มครอง 1 ปี
3)กลุ่มอื่นๆตามที่คณะกรรมการบริหารจัดการกองทุนประกันสุขภาพคนต่างด้าวกำหนดเพิ่มเติม

และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว เพิ่มเติมกรณีการได้รับใบอนุญาตอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว แรงงานต่างด้าวสัญชาติลาว กัมพูชา เมียนม่าร์ รวมผู้ติดตามซึ่งอยู่ในประเทศไทยกรณีการได้รับใบอนุญาตอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว โดยมีอัตราค่าบริหาร ดังนี้
1) อัตราค่าบริการ 1,000 บาท มีอายุการคุ้มครอง 3 เดือน แบ่งเป็น
- ค่าตรวจสุขภาพ คนละ 500 บาท
- ค่าประกันสุขภาพ คนละ 500 บาท
2) อัตราค่าบริการ 1,400 บาท มีอายุการคุ้มครอง 6 เดือน แบ่งเป็น
- ค่าตรวจสุขภาพ คนละ 500 บาท
- ค่าประกันสุขภาพ คนละ 900 บาท

โดย : กลุ่มสื่อสารสาธารณะและภาคีเครือข่าย
สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค
โทร. 02-590-3183 โทรสาร. 02-951-0918

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย