สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

โรคสัตว์สู่คน

สัตวแพทย์หญิงทัศนีย์ ไหลมา
หน่วยสัตว์ทดลอง คณะแพทยศาสตร์ มช.

โรคสัตว์สู่คน (ZOONOSES) มีบทบาทสำคัญต่อมนุษย์และสัตว์ ตราบใดที่เรายังมีการคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว นก ปลา และสัตว์ทดลองต่างๆ หรือพวกสัตว์เศรษฐกิจ เช่น วัว ควาย ม้า สุกร เป็ด ไก่ โอกาสติดโรคระบายกันจะมีอยู่ตลอดเวลา

บางชนิดจะแพร่กระจายในหมู่สัตว์ด้วยกัน แต่บางชนิดก็แพร่กระจายมาสู่คนได้ไม่ว่าจะเป็นทางผิวหนังบาดแผล, การกิน และการหายใจ โรคต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นปัญหาต่อวงการสาธารณสุขของบ้านเรา ที่ชัดเจนคือโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) ซึ่งจัดอยู่ใน 19 โรคติดต่อทางสาธารณสุข ส่วนในสัตว์ก็จัดอยู่ในกลุ่มโรคติดต่อในพระราชบัญญัติสัตว์ด้วย

Zoonoses หมายถึงโรคติดต่อจากสัตว์เลี้ยงมาสู่คน ต่อมาภายหลังผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกได้ให้คำจำกัดความของ ZOONOSES ว่า หมายถึง Those diseases and infection which are naturally transmitted between vertebrate animals and man. (โรคทั้งหลาย และการติดเชื้อที่มีการติดต่อตามธรรมชาติระหว่างสัตว์มีกระดูกสันหลัง และคน)

โรคติดต่อระหว่างคนและสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า การติดต่ออาจติดต่อจากสัตว์มายังคน หรือจากคนไปยังสัตว์ก็ได้ แต่การติดต่อนั้นต้องเป็นไปโดยธรรมชาติ

การติดต่อจากสัตว์ไปสู่คน

การติดเชื้อโรคจากสัตว์มาสู่คนนั้นเกิดขึ้นได้หลายทาง พอจะยกตัวอย่างได้ดังนี้

1. โดยการสัมผัสกับสัตว์ป่วยโดยตรง เช่น โรค Leptospirosis ที่เกิดจากเชื้อ Leptospira เชื้อนี้จะไชเข้าสู่ร่างกายคนจากบาดแผลทางผิวหนังได้

2. โดยการกิน จะเป็นการกินเนื้อ, อวัยวะบางส่วนซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ที่เป็นโรค เช่นกินเนื้อสัตว์ที่เป็นโรค Trichinosis ที่มีตัวอ่อนของพยาธิในกล้ามเนื้อ หรือกินเนื้อสัตว์ที่เป็นโรค Anthrax หรือดื่มนมจากแม่วัวที่ป่วยเป็นวัณโรค เป็นต้น

3. โดยการหายใจเอาเชื้อหรือ spore ของเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรค เช่น โรค Anthrax, Cryptococcosis, Aspergillosis เป็นต้น

4. โดยการถูกแมลงที่เป็นพาหะของโรคกัด เช่น ยุงที่นำเชื้อ Japanese encephalitis หมัดหนูนำเชื้อกาฬโรคไปสู่คน

5. โดยการถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัด เช่น โรคพิษสุนัขบ้า เชื้อจะอยู่ในน้ำลายของสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า และเชื้อจะเข้าทางบาดแผลที่ถูกกัดนั้น เป็นต้น

การจำแนกโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน

การจำแนกกลุ่มของโรคทำได้หลายแบบ เช่น การจำแนกตามแบบแผนของวงจรชีวิตของเชื้อโรค การจำแนกตามธรรมชาติของ host ที่เป็น reservoir ของโรค เป็นต้น
ในที่นี้ จะจำแนกกลุ่มของโรคติดต่อ ระหว่างสัตว์ และคน ตามชนิดของเชื้อที่ทำให้เกิดโรค ซึ่งพอจะแยกได้ดังนี้

  • โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น Anthrax, Brucellosis, Leptospirosis, Plague, Melliodiosis, glanders, Clostridial food poisoning, Vibrio parahaemolyticus, food-born infection, Salmonellosis, Shigellosis and E.coli infection, Staphy lococcus food poisoning, Tuberculosis, Listeriosis, Erysipelothrix infection and Campy lobacteriosis เป็นต้น

  • โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น Rabies, Japanese encephalitis, Food and Mouth disease เป็นต้น

  • โรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่น Aspergillosis, Cryptococcosis, Histoplasmosis, Dermatophytosis เป็นต้น

  • โรคที่เกิดจากปาราสิต เช่น Trichinosis, Filariasis, Angiostrongyliasis, Gnathostomiasis, Thelajiasis, Opisthorchiasis, Fasciolopsiasis, Schistosomiasis, Paragonimiasis, Tacniasis and Cysticercosis, Toxoplasmosis เป็นต้น

การควบคุมโรค Zoonoses

1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่วย หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่วย
2. กำจัดหรือทำลายซากสัตว์ป่วย เช่น การฝังดินลึกๆ หรือเผาทำลาย
3. ควบคุมกำจัดพาหะของโรค
4. ฉีดวัคซีนให้กับสัตว์เพื่อป้องกันการระบาดของโรค และฉีดวัคซีนให้กับบุคคลที่มีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคสูง
5. ทำลายเชื้อที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ เช่น นมที่ดื่มต้องผ่านการฆ่าเชื้อ (Pasteurization) หรือถ้าเป็นเนื้อสัตว์ เครื่องใน ก็ควรทำให้สุขก่อน
6. เมื่อมีการระบาดของโรคต้องรีบรายงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เป็นต้น

โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย

โรคติดต่อระหว่างสัตว์กับคนเนื่องจากสาเหตุการติดเชื้อแบคทีเรียนั้นมีมากมาย ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะโรคที่พบบ่อยในประเทศไทย ที่มีผลต่อเศรษฐกิจ และก่อปัญหาสาธารณสุขในบ้านเราเท่านั้น

 โรคแอนแทรกซ์
 โรควัณโรค
 โรคแท้งติดต่อ
 โรคบาดทะยัก
 โรคเลปโตสไปโรซีส
 โรคลิสเตอริโอซีส
 โรคไฟลามทุ่ง

อ้างอิง

  • D.L.Croghan, Ira M.G.Gourley.G.L. Von Hoosier, Lr.,William R.Snifer.Current Veterinary Therapy 4, 650,611,663,666

  • Lecture notes of Zoonoses of Medical Importance (SIMI 603) คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล, 1982

  • ศ. เชื้อ ว่องสงสาร คู่มือบำบัดโรคสัตว์ โรคติดต่อในพระราชบัญญัติ

  • เอกสารจากสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข

  • เอกสารจากสถานเสาวภา สภากาชาไทย

  • ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ เกี่ยวกับการควบคุมโรคแอนแทรกซ์

  • Goedon, L.E. Control of Communicable Discases in man.

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย