สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

สู่ความเป็นสากล

ระพี สาคริก

สัจธรรมได้ชี้ไว้อย่างชัดเจนว่า ทุกสิ่งมองได้สองด้าน และรู้ได้ว่าด้านไหนคือพื้นฐานของอีกด้านหนึ่ง หากบุคคลใดมุ่งมองด้านเดียว โดยมองข้ามด้านที่เป็นพื้นฐาน ย่อมรู้ได้ว่า บุคคลผู้มองเป็นผู้ที่มีจิตใจคับแคบและเห็นแก่ตัว

การนำเอาเรื่อง ”การก้าวไปสู่ความเป็นสากล” มาพิจารณาค้นหาความจริงจึงควรเดินทางสายกลาง จึงจะสามารถมองได้สองด้าน อีกทั้งหวนกลับมาถามตนเองก่อนว่า ก้าวไปทำไม ? และ ก้าวไปแล้วได้รับผลได้ผลเสียอย่างไร ? ซึ่งแน่นอนที่สุด ทุกคนผู้ที่มีใจกว้างย่อมเลือกที่จะก้าวไปสู่เส้นทางที่ก่อให้เกิดผลดีแก่ตนเองและสังคมร่วมกัน

มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาสู่โลก ย่อมยืนอยู่บนแผ่นดินของโลกใบเดียวกัน อีกทั้งยังใช้พื้นดินเป็นสื่อความรักและความรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ว่าจะต่างชาติต่างภาษาหรือต่างศาสนา และไม่ว่าความคิดจะแตกต่างกันอย่างไร

คนเห็นแก่ตัวหรือคนลืมตัว คนประเภทนี้อ่านความจริงที่อยู่ในใจได้จาก การรู้สึกรังเกียจพื้นดิน และหลงอยู่กับความสบายในด้านวัตถุเป็นนิสัย

นอกจากนั้นหลังจากมีใครชี้แนะให้ชีวิตเดินไปสู่ทิศทางซึ่งจำต้องเผชิญกับความยากลำบาก เพื่อฝึกฝนจิตใจให้เป็นคนรู้จักต่อสู้ หรือจำเป็นจะต้องสูญเสีย เพื่อให้ได้รับสิ่งที่ดีมีคุณค่ามากกว่า มักมีข้ออ้างต่างๆ นาๆ ที่จะปฏิเสธ ปรากฏให้อ่านใจได้ไม่ยาก แทนที่จะคิดต่อสู้กับใจตนเองเพื่อนำไปสู่การรู้สัจธรรม

คนลักษณะดังกล่าว มักหวนกลับมาทบทวนตัวเองได้ยาก คงเน้นความสำคัญอยู่ที่ความเจริญก้าวหน้าด้านเดียว และมักนำตนไปเปรียบเทียบกับคนอื่นในด้านที่คิดว่าตนพึงได้รับ แทนที่จะมั่นคงอยู่กับความจริงซึ่งอยู่ในรากฐานจิตใจ และถือปฏิบัติจากรากฐานตัวเองอย่างอิสระ

เมื่อกล่าวถึง “ ก้าวไปสู่ความเป็นสากล ” ยุคหลังๆ เรามักพูดกันถึงเรื่อง โลกาภิวัตน์ ซึ่งคนส่วนใหญ่มักมุ่งเน้นความเข้าใจ ไปยังการที่มนุษย์ที่เดินทางถึงกันทั่วโลก อีกทั้งเข้าใจว่าการก้าวไปสู่ความเป็นสากลควรเอื้ออำนวยให้แก่การสร้างความรู้ความเข้าใจซึ่งกันและกันอย่างกว้างขวางเพียงด้านเดียว โดยมองไม่เห็นว่าธรรมชาติของมนุษย์ย่อมมีความเห็นแก่ตัว น่าจะมุ่งเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกันด้วยวิธีการต่างๆมากกว่า

ดังที่กล่าวแล้วว่า คนเห็นแก่ตัว มักมองเห็นความจริงที่อยู่ในรากฐานจิตใจตัวเองได้ยาก คงมุ่งมองออกไปสู่ด้านนอกด้านเดียวเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งคนประเภทนี้มักมีแนวโน้มขาดความรักแผ่นดินอันเป็นถิ่นเกิดของตัวเอง คงเอาแต่สร้างวัตถุ จนกระทั่งบางครั้งพูดถึงความรักแผ่นดินมักไม่เข้าใจ

กระจกเงาบานใหญ่ ที่สะท้อนให้อ่านได้ถึงความจริงเรื่องนี้ น่าจะได้แก่การเกษตร ซึ่งเป็นงานที่ต้องพึ่งพาพื้นดินโดยตรง สังคมใดคนตกอยู่ในสภาพที่เห็นพื้นดินเป็นเพียงพื้นฐานการประกอบอาชีพ หรือเห็นพื้นดินเป็นวัตถุที่ซื้อขายกันในราคาแพง แทนที่จะเห็นความสำคัญอีกด้านหนึ่งโดยการระลึกถึงคุณค่าของพื้นดิน ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวในการพัฒนาเกษตรกรรม

เหตุการณ์ดังกล่าว หากเกิดขึ้นในยุคใด คนรุ่นหลัง ผู้ได้รับมรดกตกทอดย่อมนำพื้นดินไปขายและทิ้งถิ่นฐานบ้านช่องหนีเข้าเมือง อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้คนมีเงินกว้านซื้อที่ดินไปใช้เป็นเครื่องมือผลิตวัตถุ โดยเข้าใจความหมายการเกษตรได้เพียงแต่ว่าเป็นวัตถุลักษณะหนึ่ง จึงละทิ้งไปแสวงหาสิ่งที่สะดวกสบายกว่า คนเหล่านี้ยากที่จะเห็นได้ลึกซึ้งว่าการเกษตรสร้างบรรยากาศที่หล่อหลอมจิตใจคน ให้รักพื้นดินซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดของชีวิตทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ ส่วนคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเกษตรมักใช้ชีวิตแบบรังเกียจพื้นดิน

สังคมดังกล่าวมีผลทำให้การปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร จำต้องประสบกับความล้มเหลว เพราะคนมีนิสัยมองเห็นความสำคัญของที่ดินเพียงด้านวัตถุจึงคิดเอาไปใช้รองรับวัตถุสิ่งก่อสร้าง โดยที่คิดว่าจะได้เงินมากกว่า สังคมที่ตกอยู่ในสภาพดังกล่าวจำต้องพบกับความสูญเสียอย่างหนัก

มนุษย์มีจิตใจเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดของชีวิต ส่วนกายเป็นเพียงสื่อระหว่างสิ่งแวดล้อมภายนอกกับจิตใจเท่านั้น ร่างกายจึงทำหน้าที่ให้โอกาสมนุษย์ได้เรียนรู้ความจริงจากภายนอก ดังนั้นวิญญาณความรักพื้นดินควรถือเป็นคุณสมบัติอันสำคัญที่สุดของชีวิตมนุษย์ทุกคน ส่วนร่างกายเป็นเพียงวัตถุ มนุษย์จึงไม่ควรนำเอาความสะดวกสบายของร่างกายมาเสพโดยที่คิดว่าคือความสุขพื้นฐานของชีวิต สังคมใดคนในสังคมนั้นนำเอาร่างกายมาเสพความสุขจากความสะดวกสบายเป็นส่วนใหญ่ สังคมนั้นย่อมมุ่งไปสู่ความหายนะได้ไม่ยาก

เมื่อกล่าวถึงโลกาภิวัตน์ แทนที่จะมุ่งให้ความสำคัญแก่โลกภายนอกซึ่งมนุษย์จะเดินทางถึงกันโดยอาศัยวัตถุเป็นเครื่องมือ หากมนุษย์มีความรับผิดชอบต่อความสงบสุขของโลกภายนอกจริง ย่อมนึกถึงโลกที่อยู่ภายในรากฐานจิตใจตนเอง และใช้สิ่งนี้เป็นพื้นฐาน การดำเนินชีวิต

การศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนารากฐานจิตใจคน ให้เป็นผู้รู้จักรับผิดชอบต่อโลกที่ตนอยู่ ร่วมกับความสงบสุขของเพื่อนมนุษย์ทุกคน แต่การจัดการศึกษาทุกวันนี้กลับหล่อหลอมจิตใจคนให้มุ่งทิศทางสู่โลกภายนอกด้านเดียว ดังจะพบความจริงว่า แต่ละคนต่างเบ่งตัวเองให้เป็นคนระดับโลก แทนที่จะเป็นไปตามธรรมชาติ

มนุษย์จึงเกิดโรคร้ายที่สุด และแพร่ระบาดไปทั่ว โรคนี้ไม่ใช่โรคที่ผู้มีนิสัยมองออกนอกตนเองแล้วเห็นได้เข้าใจกัน แต่เป็นโรคที่เกิดขึ้นในจิตใจ สามารถแพร่ระบาดไปทั่ว เครื่องมือชนิดใดก็ตามแม้กล้องจุลทรรศน์ที่เรียกว่ามีพลังขยายแรงที่สุดก็ไม่สามารถขยายให้เห็นได้ โรคนี้เป็นโรคการเอาแบบอย่างกันและกันในด้านการทำลายล้าง สำหรับคนที่หลงอยู่กับความสบายทางกาย สามารถแพร่ระบาดไปได้อย่างรวดเร็ว ระบบอะไรก็ควบคุมไม่ได้ ถ้ามนุษย์ไม่สามารถควบคุมจิตใจตนเองให้เข้มแข็งอยู่กับความจริง



สิ่งที่แพร่กระจายอยู่ในการจัดการศึกษาก็คือการเผยแพร่ระบบการสอนภาษาไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น จีน ฯลฯ โดยที่เชื่อว่าจะนำไปสู่ความเป็นสากล ดังที่ปรากฎความจริงอยู่ในสถาบันการศึกษาทุกวันนี้ ซึ่งแท้จริงแล้วก็คือ “ภาวะครอบงำโดยวัฒนธรรมทางภาษา” ซึ่งแพร่ระบาดอยู่ในชาติที่ด้อยความเจริญทางวัตถุกว่า แทนที่จะใช้ภาษาจากใจที่เป็นรากฐานของตัวเอง

คำว่านานาชาติก็มองได้สองด้านเช่นกัน ด้านหนึ่งมุ่งไปสู่ความเป็นนานาชาติบนพื้นฐานที่อิสระ อีกด้านหนึ่งมุ่งไปสู่ความเป็นทาสของคนหลายชาติหลายภาษา ดูเหมือนสังคมไทยกำลังมุ่งไปสู่ความเป็นทาสนานาชาติมากกว่า โดยเหตุที่ เราตกอยู่ภายใต้อิทธิพลวัฒนธรรมต่างชาติ ดังเช่นสถาบันอุดมศึกษาต่างๆที่มีนโยบายมุ่งเน้นไปสู่ความเป็นนานาชาติ โดยเอาภาษาต่างชาติหลายชาติมาทำการสอนเยาวชน หากมองอีกด้านหนึ่งจะพบความจริงว่า ภาษาของชาติต่างๆ คือวัฒนธรรมของชาติเหล่านั้น ดังนั้นคนที่เราผลิตออกไปจึงมุ่งออกไปทำงานรับใช้กลุ่มบุคคลซึ่งพูดภาษาที่ตนเรียนมา แม้สื่อโทรทัศน์ซึ่งเป็นของราชการ มีการเปิดรายการภาคภาษาต่างประเทศ โดยเอาคนไทยมาพูดภาษาอังกฤษกัน สิ่งที่เห็นได้ชัด ได้แก่ คนไทยด้วยกันเองแทนที่จะพูดภาษาไทยกันกลับเอาภาษาต่างชาติมาพูดกัน ซึ่งบุคคลยุคก่อนเรียกกันว่า ดัดจริต

ครั้งหนึ่งคนจัดรายการดังกล่าวมาขอสัมภาษณ์ผู้เขียนโดยขอให้พูดเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งตนพูดได้แต่ไม่พูดเพราะขัดกับความเป็นจริงที่มีอยู่ในใจ ผู้เขียนไม่ใช่คนชาตินิยม โดยที่ตนรู้ดีว่าในใจไม่นิยมเงื่อนไขอะไรทั้งนั้น รู้แต่เพียงว่าตนเป็นใครจึงไม่ยอมทำในสิ่งที่ขัดกับความจริง

อนึ่ง หากมองโรงเรียนนานาชาติที่เข้ามาเปิดสอนในเมืองไทย ผู้ที่มองได้ลึกซึ้งรู้ความจริงได้ว่า โรงเรียนเหล่านี้ให้บริการแก่ลูกหลานคนต่างชาติที่เข้ามาทำงานในเมืองไทย และมีเจตนารมณ์เผยแพร่วัฒนธรรมต่างชาติร่วมด้วย หรือไม่ก็คนไทยที่นิยมต่างชาติ ซึ่งแท้จริงแล้วก็คือการแพร่อิทธิพลวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามาถือครองจิตใจคนไทย

หากมองนานาชาติเป็นสากลในภาพรวมของโลกได้อย่างลึกซึ้ง น่าจะรู้ความจริงว่า อยู่บนพื้นฐานความหลากหลาย ถ้าต้องการพัฒนาคนในชาติให้เป็นสากลจริงๆควรเน้นพัฒนาคนให้รากฐานจิตใจอิสระ ทำให้เปิดกว้าง ครอบคลุมความหลากหลายเอาไว้ทั้งหมดด้วยการยอมรับและเข้าใจได้ถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม อีกทั้งรู้เท่าทันคนทุกชาติภาษา และให้ความสำคัญแก่ภาษาประจำชาติเพื่อรักษาความซื่อสัตย์ต่อตนเองเอาไว้ให้มั่นคงอยู่ได้ สิ่งนี้น่าจะเป็นวิถีทางที่เป็นนานาชาติได้อย่างเท่าเทียมกันหมด

ตามหลักความจริงแล้วบุคคลใดก็ตามที่มีรากฐานจิตใจเปิดกว้าง การปฏิบัติของบุคคลผู้นั้น ย่อมได้รับการยอมรับและศรัทธาจากคนทุกชาติทุกภาษาได้ไม่ยาก แม้จะพูดภาษาไม่ได้ หากพฤติกรรมการปฏิบัติให้ใจแก่กันและกัน ย่อมสามารถสื่อถึงกันได้ไม่ยาก

มนุษย์ที่เกิดมาสู่โลก ควรอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข การสื่อถึงกันทางใจจึงเป็นสิ่งสำคัญเหนืออื่นใดทั้งหมด ช่วงหลังๆ ทิศทางการปฏิบัติของมนุษย์เริ่มห่างจากตัวเองมากขึ้น จนกระทั่งหวนกลับมาสู่ธรรมชาติในใจตนเองได้ยาก สภาพดังกล่าวทำให้มนุษย์ลืมตัวหรืออีกนัยหนึ่งคือลืมความจริงจากธรรมชาติที่อยู่ในจิตใจตนเอง

ทุกวันนี้มนุษย์ยึดติดอยู่กับสื่อที่เป็นเพียงสิ่งประดิษฐ์ แม้กระทั่งภาษาซึ่งลึกๆก็คือสิ่งที่มนุษย์แต่ละชาติประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อความเข้าใจกัน ไม่ว่าจะมีความเป็นมายาวนานแค่ไหน ก็ยังยึดติดอยู่กับภาษาพูดและตัวหนังสือจนกระทั่งลืมภาษาที่อยู่ในใจตนเอง

มนุษย์ผู้ลืมภาษาซึ่งเป็นธรรมชาติ อันหมายถึงการแสดงออกจากใจที่ละเอียดอ่อนให้สามารถรู้ได้สัมผัสจากใจของแต่ละคน ซึ่งภาษาที่กล่าวถึงนี้ไม่เพียงเป็นสื่อข้อมูลเท่านั้น หากยังเป็นสื่อที่สร้างความรักความเข้าใจและความศรัทธาให้เกิดขึ้นแก่ใจผู้ที่มีโอกาสสัมผัสให้รู้สึกได้ หากบุคคลใดมีคุณสมบัติดังที่กล่าวมาแล้ว ไม่ว่าจะสัมผัสกับคนชาติไหนภาษาไหนย่อมได้รับการยอมรับได้ไม่ยาก ประเด็นนี้ผู้เขียนสามารถกล่าวได้ด้วยความมั่นใจ เพราะเรียนมาจากประสบการณ์ชีวิตจริงทั้งหมด

มาถึงช่วงนี้ มองดูคนในสังคมไทยครั้งใด ทำให้รู้สึกได้ถึงความจริงว่า เราไม่ได้เป็นนานาชาติแต่ตกเป็นทาสคนต่างชาติ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2546 รายการโทรทัศน์เสนอข่าวอย่างชัดเจนโดยรายงานว่า รองนายกรัฐมนตรีของไทยคนหนึ่งชี้แจงว่า จะเร่งให้สถาบันอุดมศึกษาผลิตคนออกมาให้ทันรองรับการมาลงทุนของต่างชาติในอนาคต จึงขอแถมท้ายด้วยคำถามว่า ถ้าต้องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น แต่ชีวิตคนไทย้องตกเป็นทาสต่างชาติ เราจะเลือกเอาด้านไหน แต่ก็ไม่แน่ เพราะทุกวันนี้คนที่รักศักดิ์ศรีความเป็นไทแก่ตนเอง ยังคงมีอยู่ไม่มากนัก ดังจะเห็นได้จากคำปรารภซึ่งได้ยินกันบ่อยๆว่า ทุกวันนี้เงินซื้อได้ทุกอย่าง

สิ่งที่กล่าวมานี้เป็นประจักษ์พยานอย่างดีว่า นโยบายการบริหารประเทศในด้านการศึกษา เราผลิตคนออกมาเป็นทาสรับใช้คนต่างชาติอย่างชัดเจนแล้ว จึงไม่แปลกอะไรที่กำลังคิดว่า คนไทยซึ่งรากฐานจิตใจยังเป็นไทแก่ตนเองจะมีหลงเหลืออยู่บนแผ่นดินผืนนี้อีกมากน้อยแค่ไหน

30 พฤษภาคม 2546

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย