สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

สตรีไทยทรงดำ อำนาจ และราชสำนักสยาม

กฤษณะ ทองแก้ว
สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์

สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามมีกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 54 ชาติพันธุ์ บางครั้งการนำเอาความสวยงามของสตรีมาเปรียบเทียบก็เป็นวิถีธรรมดาของผู้คนทั่วไป ชาวเวียดนามในปัจจุบันยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า สตรีของชนเผ่าไท หรือไทยทรงดำ นั้นมีความสวยงามมากที่สุด คือ สัดส่วนได้ขนาด สูง ผิวขาว ตากลม ผมดำ และกริยาเรียบร้อย และมีความสวยงามกว่าชาวเวียดที่ขาดรากฐานทางมารยาทและวัฒนธรรมเพราะการทำลายของชาวตะวันตก ดังนั้นสตรีของชนเผ่าไทก็เป็นความใฝ่ฝันเล็กๆ น้อยๆ ของหนุ่มชาวเวียดนาม

ผมได้มีโอกาสเดินทางไปสัมผัสชนเผ่าไทที่ บ้านหนองใหญ่ เมืองเดียนเบียนฟู (เมืองแถง) เมืองเจียงรุ่ง สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน เมืองหลวงพระบาง เมืองหลวงเวียงจันทน์ ใน สปป.ลาว และถิ่นฐานของชนเผ่าไทยดำในเมืองไทย ความประทับใจที่มีต่อชนเผ่าไทยทรงดำนั้นคือ กริยาอาการของชนเผ่าไทยทรงดำที่มีอยู่เหมือนกันก็คือ ความอ่อนหวาน อ่อนโยน ซึ่งกลุ่มคนในชาติพันธุ์อื่นสู้ไม่ได้ โดยเฉพาะรอยยิ้มครับ ยิ้มเหมือนกันทุกภูมิภาค ไม่ว่าจีนตอนใต้ เวียดนามตอนเหนือ ลาวตอนเหนือตอนกลาง และอีสานของไทย แต่กระนั้นก็ตามความอ่อนโยน ความสวยงามและรอยยิ้มเหล่านี้ไม่สามารถชักลากให้สตรีของชนเผ่าไทยทรงดำเข้ามามีบทบาทในราชสำนักสยามได้ มีพรรคพวกบ้างคนโต้แย้งว่าก็ไทยทรงดำเพิ่งอพยพเข้ามาสยามในสมัยกรุงธนบุรีและมาอย่างเชลยศึก หรือผู้มีวัฒนธรรมด้อยกว่า ตรงนี้ผมแย้งกลับไปว่าในดินแดนสิบสองจุไทนั้น ไทยทรงดำมีวัฒนธรรมที่โดดเด่นที่สุดจวบจนปัจจุบัน แต่ทำไมสตรีเหล่านี้ถึงไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับราชสำนักสยาม เฉกเช่น ลูกหลานจากสายสกุลสุลต่าน สุลัยมาน ชาวมอญ ลาว เขมร จีน แต่อย่างไร ทั้งๆที่ต่างตั้งอยู่บนชาติพันธุ์เดียวกัน ถ้าจะมองในเชิงพื้นที่การตั้งหลักแหล่งก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะปัจจุบันชาวไทยทรงดำกระจายตัวอยู่ในสังคมไทยกว่า 40 จังหวัด และที่สำคัญทุกวันนี้ก็มีลูกหลานชาวไทยทรงดำเข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานีทุกวัน แต่ถ้าอาจารย์อยากทราบต้องถามเขาว่า พ่อแม่ชาติพันธุ์อะไร เพราะถ้าเริ่มจากคำถามที่ตัวเขา นักศึกษาจะบอกเต็มปากว่าเป็นคนไทยครับ

ถ้าหากเปรียบเทียบความงามของสตรีไทยทรงดำกับสตรีชาวมอญแล้ว ผมพนันได้เลยว่ากินกันไม่ขาด เผลอๆ สาวไทยทรงดำมีภาษีมากกว่าครับ เพราะด้วยสิ่งแวดล้อมถิ่นที่อยู่ของไทยทรงดำนั้นโอบล้อมด้วยเทือกทิวเขาที่ทอดตัวสุดลูกหูลูกตา เต็มด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี ทุ่งนาที่ทอดตัวยาวไกลสุดสายตา ดังนั้นผิวพรรณ สภาพจิตใจ อารมณ์ ย่อมดีกว่าสาวชาวมอญที่ตั้งอยู่ลุ่มแม่น้ำอิรวดีภายใต้การปกครองของชาวพม่า

แต่อย่างไรก็ตามความแตกต่างประการสำคัญก็คือชาวไทยทรงดำนับถือผีตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวพื้นเมืองในอุษาคเนย์อย่างเคร่งครัด ส่วนชาวมอญก็นับถือศาสนาพุทธอย่างเข้มแข็งเช่นกัน อาจจะด้วยความเชื่อดั้งเดิมกระมัง ราชสำนักสยามจึงคิดว่ากลุ่มคนชาติพันธุ์ไทยทรงดำมีความล่าหลังทางศาสนา ซึ่งความเชื่อดั้งเดิมนี้ไม่สามารถนำมารับมือกับปรากฏการณ์ใหม่ของชาวตะวันตกได้ และศาสนาผีดูไม่เป็นอารยะ (เหมือนอินเดีย พม่า จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน)ที่ต่างก็มีศาสนาพุทธซึ่งอย่างน้อยก็เป็นการยอมรับในวงกว้างและดูดีมีสกุล

เมื่อชาวไทยทรงดำไม่มีบทบาทความสำคัญที่จะแก้ปัญหาหรือรับมือกับชาวตะวันตกอย่างใด ความสำคัญก็มีอยู่ในระดับหนึ่ง คือ เป็นแค่ขุนนางที่ถูกแต่งตั้งเพื่อให้ปกครองกันเอง ดังนั้นสตรีไทยทรงดำก็เลยถูกเลี้ยงดูอย่างปุถุชนเพราะไม่ต้องเข้าไปเป็นข้ารับใช้ในราชสำนักตามหลักการปกครองสมัยจารีต พื้นที่ในประวัติศาสตร์ อาทิ พงศาวดาร ใบบอก บันทึกราชสำนัก จึงไม่มีพื้นที่ให้กับชาวไทยทรงดำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำมาสู่การรับรู้ของสังคมในปัจจุบันด้วย จากปรากฏการณ์ดังกล่าวมันให้ข้อคิดได้ว่า สตรีทีมีบทบาทอยู่ราชสำนักราชสยามนั้น ต้องมีองค์ประกอบสำคัญ คือ วัฒนธรรม ศาสนา ภาษา กองกำลัง เป็นพื้นฐานด้วย เพราะนอกเหนือจากภาษาคืออำนาจดั่งคำของฟูโกต์แล้ว ศาสนา วัฒนธรรม กองกำลังก็เป็นปฐมเหตุในการเข้าสู่พื้นที่ทางสังคมเช่นกัน

นี่คือวิธีการรวบรวม เลือกเฟ้นกองกำลังของราชสำนักสยามในการสร้างรัฐกษัตริย์ (King State) ซึ่งจากการสร้างบ้านแปลงเมืองลักษณะนี้ มันจึงเป็นที่มาของการให้อำนาจของกลุ่มอำนาจต่างๆ ด้วยนามสกุล อาทิ ณ พัทลุง, ณ นคร, ณ เชียงใหม่ และ ณ อยุธยา เป็นต้น เพราะการรวบรวมต่างต้องมีการตอบแทนกัน ดังนั้นการทำความเข้าใจการเมืองไทยจึงต้องเข้าใจกระบวนการสร้างรัฐชาติของสยามด้วย เพราะถ้าหากเรายึดเอาวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นวันเปลี่ยนสังคมไทย โดยแกล้งลืมความสำคัญของกระบวนการสร้างรัฐกษัตริย์ ก็เป็นการสำคัญผิดอย่างร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สยาม

เพราะในวันที่เรารับเอารูปแบบประชาธิปไตยมานั้น โครงสร้างสังคมสยามมีความเข้มแข้งเพียงพอแล้ว ซึ่งตรงนี้พิจารณาได้จากการปรับตัวของชนชั้นสูงของราชสำนักปลายอยุธยาที่รับเอาวรรณกรรมจากอิหร่าน วรรณกรรมชาวบ้าน และวรรณกรรมเพื่อนบ้าน แล้วนำมาแต่งตัวใหม่ด้วยกลวิธีที่เคร่งครัดขึ้นแล้วจึงปรับมาเป็นของราชสำนัก ครั้นสมัยรัชกาลที่ 1 มีการแปลวรรณกรรมสำคัญจากจีนถึง 4 เล่มคือ เลียดก๊ก สามก๊ก ความรักในหอแดง และไซฮั่น ครั้นในแผ่นดินรัชกาลที่สามสยามก็มีเรือสำเภาสยามลูกจ้างเจ๊กล่องอยู่ในน่านน้ำสากลแล้ว ในรัชกาลที่ 4 เรามีการรับความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ และเริ่มมีการตระหนักแล้วว่า วิทยาศาสตร์คือภัยร้ายที่สุดสำหรับอาณาจักรที่กษัตริย์เปรียบเสมือนสมมุติเทพที่เคยมีบทบาทในการอธิบายความรู้ต่างๆ จากความเชื่อแบบจารีต แต่ครั้นความรู้แบบวิทยาศาสตร์เข้ามามันสามารถอธิบายปรากฏการณ์อย่างเดียวกันได้ด้วยชุดความรู้ที่กระโดดข้ามเวลาและพื้นที่ คือ ฝนตกเพราะความชื้นถึงจุดอิ่มตัว ไม่ใช่เพราะกบมันร้อง หรือการเกิดสุริยุปราคาที่สามารถอธิบายด้วยชุดความรู้เดียวกันไม่ว่ามันจะเกิดที่บ้านหว้ากอ ราชสำนักบักกิ้งแฮมล์ หรือพระราชวังต้องห้ามของจีน ซึ่งขัดแย้งกับชุดความรู้ที่กษัตริย์และพราหมณ์ทำหน้าที่อธิบายว่ามันเกิดจากราหูอมจันทร์ ดังนั้นเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปราชสำนักสยามก็ต้องการกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อช่วยปกป้องรัฐร่วมกัน แต่ด้วยความเชื่อเรื่องผีที่มีความเหนี่ยวแน่นของชนเผ่าไทยทรงดำที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักทางวิทยาศาสตร์อีกต่อไป และราชสำนักก็ไม่รู้จะเอาคำอธิบายเรื่องความเชื่อไปอธิบายสถานการณ์ต่างๆ และพระเจ้าซาร์ได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้ชนเผ่าไทยทรงดำจึงไม่ได้เข้าร่วมปกป้องผืนแผ่นดินสยามร่วมกับชาติพันธุ์ในเชิงความรู้สมัยใหม่

ราชสำนักสยามยังคงปรับตัวอย่างต่อเนื่องในการปกป้องรัฐกษัตริย์ด้วยการเดินทางประพาสยุโรปถึงสองครั้งสองคราวในสมัยรัชกาลที่ 5 การส่งบุตรหลานไปรับความรู้วิทยาศาสตร์ในโลกตะวันตก เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้นับเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมสยาม ดังนั้นการจะมองสังคมไทยในปัจจุบันนั้น ต้องอย่าแกล้งลืมกระบวนการสร้างของรัฐสยามไว้ข้างทางอย่างเด็ดขาด ส่วนการมองแบบคนสมัยใหม่ ที่มีบรรพบุรุษเป็นคนพื้นเมือง เท้าเดินบนคาบสมุทร ทานข้าวจากคนพื้นเมือง แต่ทำตัวเยินยอชาวตะวันตก นับเป็นการมองโลกของคนที่มีสำนึกผิดพลาด (False Consciences) ของชนชั้นตามแนวคิดของ Karl Mark ซึ่งมันเกิดจากการครอบงำทางความคิด Hegemony ตามแนวคิดของ Antonio Gramsci จนเกิดเป็นโครงสร้างที่เข้ามาครอบงำพฤติกรรม วิถีชีวิต แบบแผนของโครงสร้าง-ผู้กระทำการ ที่ต้องผลิตซ้ำเพื่อสร้างโครงสร้างใหม่ขึ้นเสมอ ตามแนวคิดของ Anthony Giddens ซึ่งการครอบงำเหล่านี้เริ่มต้นจากระบบอาณานิคม Colonial ต่อมาด้วยแนวคิดรัฐชาติ เศรษฐกิจแบบทุนนิยม และแนวคิดการส่งเสริมให้คนแยกกันอยู่ด้วยปัจเจกบุคคล Individual สุดท้ายตอกฝาโลงด้วยคำว่า สิทธิมนุษยชน Human Right โดยไม่เคยมีการรณรงค์สนับสนุนให้ชาวพื้นเมืองอย่างเราสำนึกในแนวคิดหน้าที่นิยมแต่อย่างไร

นี่คือความคิดก้าวหน้าของราชสำนักสยามในกระบวนการรับมือกับภัยตะวันตก การรักษารัฐ และคงเป็นคำตอบส่วนหนึ่งว่าทำไมสตรีไทยทรงดำ จึงไม่มีความเกี่ยวพันกับราชสำนักสยามทั้งๆ ที่เรายืนอยู่บนชาติพันธุ์เดียวกัน

อ้างอิง

  • ชวน เพชรแก้ว. (2524). การศึกษาวรรณคดีไทย. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2527). ปากไก่และใบเรือ รวมความเรียงว่าด้วยวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: อัมรินทร์
  • สุภางค์ จันทวานิช. (2551). ทฤษฎีสังคมวิทยา. กรุงเทพฯ: จุฬาลกรณ์มหาวิทยาลัย. อองค์ บรรจุน. (2550). หญิงมอญ อำนาจ และราชสำนัก. กรุงเทพฯ: มติชน

ไทยทรงดำ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย