ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>
ลูกเสือไทย
การจัดตั้งกองเสือป่าและกองลูกเสือ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระผู้ทรงสถาปนากิจการลูกเสือไทย เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเมื่อปีพ.ศ. 2453 นั้น
ประเทศสยามตกอยู่ในภาวะที่วิกฤตตอนหนึ่ง เพราะก่อนที่จะขึ้นครองราชสมบัตินั้น
พระองค์ทรงจำเป็นต้องเสด็จออกไปรับการศึกษาในกลุ่มของประเทศภาคพื้นยุโรป
ซึ่งขณะนั้นกำลังเป็นสมัยที่นิยมของการล่าเมืองขึ้นกันอยู่ทั่วไป
โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มภาคพื้นบูรพาอาคเนย์นั้นมีประเทศต่าง ๆ อันได้แก่ อินเดีย
พม่า ลาว มาเลเซีย กัมพูชา เวียตนาม กำลังเป็นอาณานิคมของชาติมหาอำนาจทั้งนั้น
ด้วยพระปรีชาญาณของอดีตพระมหากษัตราธิราชของไทย
เราได้ทรงเล็งเห็นอันตรายอันใหญ่หลวงจึงทรงออมชอม
ยอมสละแผ่นดินให้แก่ชาติมหาอำนาจตามภาวะความจำเป็นหลายครั้งหลายหนโดยเสียแผ่นดินไป
1,206,377 ตารางกิโลเมตร คงเหลืออยู่ 514,000 ตารางกิโลเมตร
คือเท่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงพระเยาว์อยู่ได้ทรงทราบวิเทโศบายในทำนองนี้ดี
จึงได้สู้ทนเสด็จออกไปศึกษาอยู่ในยุโรปถึง 9 ปี
เมื่อเสด็จกลับมาแล้วก็ได้ทรงตระเตรียมแผนการณ์ต่าง ๆ อย่างเงียบ ๆ ตลอดมา
ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ซึ่งทรงรู้ซึ้งถึง
ที่จะนำประเทศไทยให้พ้นมหันตภัยทางการเมืองให้ลุล่วงไป
พระองค์ทรงวางแผนตั้งกองเสือป่าและลูกเสือขึ้น
จุดมุ่งหมายในการก่อตั้ง
ไม่ว่าจะทำกิจการอะไรเป็นการใหญ่ ย่อมมีความจำเป็นที่จะชี้แจงจุดมุ่งหมายให้คนทั้งหลายทราบ การจัดตั้งกองเสือป่าและลูกเสือก็เป็นเช่นเดียวกัน การตั้งกองเสือป่านั้นมีประกาศเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2454 แต่พอวันที่ 1 กรกฎาคมปีเดียวกันก็ประกาศตั้งกองลูกเสือตามหลังมาอีก แสดงว่ากองลูกเสือตั้งภายหลังกองเสือป่าเป็นเวลาห่างกันชั่ว 2 เดือนเท่านั้นในการเริ่มจัดตั้งกองเสือป่า นั้น มีประกาศเป็นพระราชปรารภซึ่งลงไว้ในบันทึกจดหมายเหตุเสือป่าว่า เนื่องมาจากในเวลานั้นมีพลเรือนบางคนทั้งที่เป็นข้าราชการและที่เป็นพ่อค้าคหบดีมีความปรารถนาที่จะได้รับการฝึกหัดอบรมอย่างทหาร แต่ก็ยังมิได้มีโอกาสฝึกหัด เพราะบางคนติดหน้าที่ราชการทางพลเรือนเสียบ้าง บางคนที่เป็นพ่อค้าคหบดี หากมีเวลาพอจะสละได้บ้าง โอกาสที่จะเข้าฝึกหัดอบรมอย่างทหารก็ทำไม่ได้ เพราะจะกลายเป็นความเข้าใจผิดไปในทางคิดมิชอบต่อแผ่นดิน พระองค์ตระหนักพระทัยแน่ว่า การฝึกหัดอบรมพลเรือนให้มีวิชาทหารนั้นเป็นประโยชน์อย่างเหลือล้นให้เกิดขึ้นในแผ่นดินไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำให้บุคคลที่ได้รับการฝึกฝนเช่นนั้นเป็นพลเมืองที่ดียิ่งขึ้นกล่าวคือทำให้กำลังกาย และกำลังความคิด แก่กล้าในทางที่เป็นประโยชน์ และเป็นธรรมดาของคนเราอย่างหนึ่งซึ่งถ้าไม่มีผู้ใดหรือสิ่งใดมาคอยบังคับใช้ให้เกิดกำลังและเกิดกำลังความคิดแล้ว บุคคลเหล่านั้นก็มักจะกลายเป็นคนอ่อนแอไป
อีกประการหนึ่งการที่บุคคลได้รับการฝึกหัดอบรมอย่างทหารนั้น เป็นการทำให้คนรู้จักวินัย คือ การฝึกหัดคนให้เป็นผู้ที่เข้าอยู่ในใต้บังคับบัญชาของผู้ที่เป็นหัวหน้าหรือนายเหนือตน ซึ่งจะนำ ประโยชน์นั้นมาให้แก่ตัวเองเป็นอันมาก เพราะคนเรานั้น ถ้ารู้จักเป็นผู้อยู่ในบังคับบัญชาของคนอื่นได้ดี จะเป็นรายที่รู้จักน้ำใจผู้น้อย ทั้งเป็นทางสั่งสอนอย่างหนึ่งให้คนมีความยำเกรงตั้งอยู่ในพระราชกำหนดกฎหมายของบ้านเมือง ทั้งจะปลุกใจคนให้มีความรู้สึกรักพระเจ้าแผ่นดินประเทศชาติและศาสนาของตนได้
ประโยชน์ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือเป็นการเริ่มต้นการส่งเสริมความสามัคคีปรองดอง ต่อกันและกันในหมู่พลเมือง ทั้งนี้ เพราะถ้ามีการร่วมจิตใจกันในหมู่ประชาชนหรือบ้านเมืองใดแล้ว ประชาชนและประเทศนั้นก็จะแข็งแรงมั่นคงเป็นที่ยำเกรงต่อข้าศึกศัตรูทั้งปวง และจะทำการสิ่งใด ก็อาจจะสำเร็จสมประสงค์ทุกอย่าง ก็เมื่อจะให้ประชาชนอยู่ดี ประเทศชาติบ้านเมืองก็ดี มีความสามัคคีพร้อมกันได้นั้น ต้องอาศัยที่มีหัวหน้าเป็นผู้รวบรวมต่าง ๆ และเป็นผู้บัญญัติข้อบังคับแบบแผนต่าง ๆ ขึ้นให้ประพฤติตนและต้องร่วมกันรักษาสัตย์ที่จะยอมประพฤติตามบัญญัตินั้นด้วย กล่าวคือเป็นผู้มีระเบียบวินัย ดังเช่นหลักในพระพุทธศาสนาซึ่งพระพุทธองค์ทรงวางระเบียบวินัยของพระสงฆ์ไว้เพื่อเป็นแนวปฏิบัติ จึงได้ถาวรรุ่งเรืองอยู่นับเป็นเวลาหลายพันปี ส่วนในทางฆราวาสนั้นเล่า ทหารก็รวบรวมกันได้ เพราะการมียุทธวินัยเป็นหลัก จึงควบคุมให้พรักพร้อมกันอยู่ได้ ฉะนั้น เพื่อจะให้ประชาชนคนไทยทั่ว ๆ ไปที่รวมกันมาจากชุมชนต่าง ๆควบคุมกันอยู่ได้โดยพรักพร้อมมือ ก็ต้องเดินแนวอย่างทหาร คือจัดเป็นวินัยของชุมชนขึ้น เรียกว่า "วินัยเสือป่า" โดยมีพระองค์ท่านรับเป็นองค์ประมุขเสียเอง กิจการจึงดำเนินไปโดยความเรียบร้อย
ความคิดอันนี้พระองค์ทรงพระราชดำริมาแล้วก่อนที่จะก่อตั้งกองเสือป่าขึ้นมาถึง 3 ปี คือตั้งแต่ครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็นพระบรมโอรสาธิราช อยู่ ฉะนั้น เมื่อโอกาสมาถึง คือ พระองค์มีพระราชอำนาจอันสมบูรณ์แล้ว อันเป็นวันหลังจากเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเพียง 6 เดือน กับ 7 วันเท่านั้น พระองค์ก็เริ่มการจัดตั้งกองเสือป่าขึ้นทันที พระองค์ทรงเห็นว่าจะให้ผู้อื่นริเริ่มแทนพระองค์นั้นย่อมทำไม่ได้ เพราะอาจจะเกิดเป็นความเข้าใจผิดไปว่าเป็นการที่คิดมิชอบต่อแผ่นดินไป ครั้นจะปล่อยให้เวลาเนิ่นนานไปอีก ความจำเป็นแห่งสถานการณ์ของโลกในเวลานั้น บรรดาประเทศมหาอำนาจก็กำลังนิยมการล่าเมืองขึ้นอยู่โดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยนั้นตกอยู่ในระหว่างคีมอันใหญ่ที่กำลังจะบีบให้แฟบลงไปทุกที พระองค์จึงรีบฉวยโอกาสตั้งกองเสือป่าขึ้น แต่ถึงกระนั่นก็ดีความไม่ราบรื่นภายในก็เกิดขึ้นตามมา เพราะมีบุคคลที่ยังไม่ซาบซึ้งในนโยบายอันสุขุมของพระองค์พอ เกิดมีความไม่พอใจโดยเข้าใจผิดไปว่า การที่พระองค์ทรงสนพระทัยในกิจการเสือป่ามากนั้น เป็นเพราะทรงลำเอียงรักแต่สมาชิกเสือป่าที่เป็นพวกพ้องส่วนพระองค์ จนลืมเหล่าทหารหาญซึ่งเป็นหลักสำคัญของประเทศชาติ โดยหาคิดไม่ว่า องค์การเสือป่านั้นเป็นองค์การที่เกิดขึ้นใหม่ จำเป็นจะต้องทำนุบำรุงและดำเนินงานอย่างเต็มสติกำลังด้วย การทรงเสียสละอย่างสูง เพื่อจะให้กิจการนั้นได้รับความนิยมและสำเร็จออกมาอย่างดีสมพระราชประสงค์ ส่วนกิจการทหารนั้น ความจริงได้วางรูปการไว้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว อันความเข้าใจผิดนั้นห้ามกันไม่ได้ ฉะนั้นเมื่อมีผู้ก่อไฟขึ้น ผลสุดท้ายก็เกิดลุกโพลงขึ้นจริง ๆ
นั่นคือหลังจากการตั้งกองเสือป่าผ่านพ้นไปได้เพียงเวลา 8 เดือนกับ 27 วันเท่านั้น ก็มีเหตุการณ์ของคณะปฏิวัติ ร.ศ.130 ขึ้น ซึ่งจะเห็นหลักฐานยืนยันได้ว่า เนื่องมาจากการตั้งกองเสือป่า เพราะตามหนังสือที่คณะนี้พิมพ์แจกในงานศพของหัวหน้าคณะมีข้อความบ่งชัดว่า "การตั้งกองเสือป่าขึ้น ไม่ใช่กองลูกเสือเป็นกิจการอีกประเภทหนึ่งของประเทศ ที่ตั้งซ้ำกับการทหาร และก็ทำงานแข่งดีกับทหารของชาติ ย่อมทำความมั่นคงของชาติเสื่อมสลายลงเป็นอันมาก" เพราะความไม่เข้าใจในพระบรมราโชบายดังกล่าวนี้ พอตอนเช้า 09.00 น. ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2454 นั่นเอง คณะก่อการปฏิวัติคณะแรกของเมืองไทยที่เรียกกันว่า คณะ ร.ศ.130ก็ถูกจับและถูกเปิดเผยว่าเป็นคณะนายทหารหนุ่มของชาติกำลังก่อนการปฏิวัติขึ้นทั้งที่ขณะนั้นพระองค์ท่านก็ยังมิได้เสด็จกลับจากการซ้อมรบเสือป่าที่พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม แต่ด้วยน้ำพระทัยอันมั่นคงของพระองค์ มิได้ทรงมีพระอารมณ์ไหวหวั่นแต่ประการใด กลับทรงเห็นความสำคัญของชาติเป็นใหญ่ ไม่ทรงถือเอาความพยาบาทอาฆาตเป็นที่ตั้ง
ทรงเห็นว่า เขาเหล่านั้นทำไปเพราะความรักชาติ แต่รักไปในทางที่ผิด เป็นความไม่รู้เท่าทันอุดมคติของพระองค์ท่าน ทั้ง ๆ ที่คณะกรรมการพิจารณาโทษเสนอความเห็นให้ประหารชีวิต ก็กลับพระราชทานอภัยโทษให้เป็นเพียงจำคุกอย่างเดียว โดยมีพระราชประสงค์จะลงโทษให้พอเข็ดหลาบไว้ก่อน เพราะทรงเห็นว่า บุคคลคณะนี้เป็นบุคคลที่มีความรักชาติอย่างแก่กล้า และยอมเสียสละแม้ชีวิต ฉะนั้นต่อไปในข้างหน้าเขาเหล่านั้นก็จะเป็นนักการเมืองที่เป็นกำลังของชาติได้บ้าง จึงมิได้ลงพระราชอาญารุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต ซึ่งเขาเหล่านั้นกลับระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณประดุจตายแล้วเกิดใหม่อยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ ตั้งแต่นั้นมาพระองค์ยิ่งทรงมานะที่จะฟันฝ่าอุปสรรคให้คนทั้งหลายเห็นว่า กิจการเสือป่าจะนำประโยชน์อันแท้จริงมาสู่ประชาชนชาวไทย โดยไม่ทรงหวั่นเกรงเลยว่าจะมีใครปฏิวัติกันอีกเป็นละลอกที่ 2 เพราะทรงถือว่าความจริงย่อมหนีความจริงไปไม่พ้น แม้จะปรากฏว่า ได้เคยมีผู้เข้าใจผิดก็ตามพระองค์ก็มิได้สิ้นความพยายามไปแต่ประการใดเลย ได้ทรงชักจูงให้พลเรือนสมัครเป็นสมาชิกมากยิ่งขึ้นทุกที การเข้าเป็นสมาชิกเสือป่าจะต้องเสียสละทั้งเวลาและความสุขส่วนตัว และต้องเสียทรัพย์บ้าง พอสมควร ทรงพยายามประกาศความดีและความชั่วของแต่ละคนลงในจดหมายเหตุเสือป่า อันเป็นนิตยสารพิเศษขององค์การเสือป่า ผู้ใดทำความดีอะไรบ้างก็นำลงไว้เรียกว่า จารึกชื่อในแผ่นทอง ผู้ใดประพฤติผิดคิดร้ายก็จารึกลงในแผ่นหนังสุวาน แล้วนิตยสารนี้ก็ออกประกาศความดีความชั่วให้รู้แพร่หลายทั่วกัน อันเป็นวิธีการอันหนึ่งที่ต้อนคนให้กระทำแต่ความดี ในการนี้ต้องสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ไปเพื่อกิจการเสือป่ามากยิ่งเสียกว่าเพื่อความผาสุกในส่วนพระองค์ ดังเช่นที่ต้องจับจ่ายในการซ้อมรบมากมายสักเพียงใด ก็มิได้เคยเบิกเงินแผ่นดินมาใช้สอยเลย เป็นผลให้กิจการเสือป่าขยายตัวแผ่ไพศาลกว้างขวางออกไปอย่างรวดเร็ว ตามต่างจังหวัดก็พากันตื่นตัวที่จะรีบจัดการตั้งกองเสือป่า เพื่อเป็นกองรักษาดินแดนของตนขึ้น ประโยชน์ที่ได้มากที่สุดก็คือกองเสือป่าที่อยู่ตามชายแดน ซึ่งปกติจะมีแต่กำลังตำรวจที่ไม่เพียงพอ ส่วนกองเสือป่ามีกำลังอาวุธพร้อมอยู่ในมือ มีการฝึกอบรมเยี่ยงทหาร มีเครื่องแบบให้เห็นได้ชัดเจน มีสโมสรตั้งขึ้นเป็นหลักฐานเพื่อใช้เป็นที่ชุมนุม สโมสรเหล่านี้ยังคงเหลืออยู่เป็นอนุสรณ์ของเสือป่าตามต่างจังหวัดอีกหลายแห่ง ประโยชน์ที่ได้จากกองเสือป่าในเวลาสงบศึกก็คือ
- เสือป่าเป็นหน่วยหนึ่งที่เคยช่วยราชการตำรวจอยู่เป็นประจำ เช่น เหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ได้ช่วยกันจับกุมผู้ร้าย สำหรับเหตุใหญ่ ๆ นั้นได้ช่วยทำการปราบปราม เช่น ปราบจลาจลภายในมณฑลภูเก็ตซึ่งเกิดจากคณะอั้งยี่ยกพวกเข้าตีกัน เป็นต้น
- เป็นแนวทางให้เกิดความสามัคคีขึ้นในระหว่างข้าราชการด้วยกันเอง และระหว่างพ่อค้ากับ ข้าราชการซึ่งตามปกติต่างคนก็ต่างอยู่
- ได้ช่วยฝึกหัดอบรมให้ประพฤติตนเป็นผู้มีความประพฤติไปในทางที่ดี
- ทำให้ข้าราชการและประชาชน ที่เข้ามาเป็นสมาชิกแต่งกายสง่างามเป็นระเบียบเรียบร้อยเป็นเกียรติประวัติแก่ชาติและชาวไทย
ในสมัยนั้น การเคลื่อนไหวทางต่างประเทศซึ่งเป็นไปในแนวเดียวกับพระองค์ก็เช่นกัน ทั้งนี้เพราะการตระเตรียมกำลังพลของแต่ละประเทศไว้เต็มที่ ก็เป็นความจำเป็นแม้จะเป็นไปในยามสงบศึก ก็ตาม เพราะการที่จะมีทหารประจำการไว้จำนวนมาก ๆ เช่นนั้น ย่อมกระทบกระเทือนผลประโยชน์ของประเทศ โดยเฉพาะงบประมาณแผ่นดินเพื่อกิจการทหาร แต่อีกส่วนหนึ่งได้แก่ ต้องเรียกเอาบุคคลเหล่านี้เข้าเป็นทหารในกองประจำการเสียหมด ฉะนั้นในบางประเทศจึงมีนโยบายที่จะแบ่งพลเมืองไว้ให้ทำประโยชน์ในการกสิกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และข้าราชการซึ่งรับการฝึกหัดอบรมอย่างทหารเตรียมไว้ด้วย โดยที่เวลามีศึกสงครามเกิดขึ้นบุคคลประเภทนี้ก็สามารถจะจับอาวุธเข้าต่อสู้ข้าศึกได้โดยกะทันหัน ประดุจต่อแตนหรือมดแดงที่สามัคคีกันต่อสู้ด้วยความหวงแหนรวงรัง และถิ่นที่อยู่ของมันฉันนั้น เมื่อเช่นนี้จำนวนพลเมืองที่จะต้องเข้าประจำการทหารนั้นก็สามารถลดจำนวนลงได้ จึงเป็นการประหยัดงบประมาณแผ่นใดในยามปกติลงได้เป็นอันมาก อนึ่ง การปกครองพลเรือนก็สามารถที่จะทำการสอดคล้องให้ราบรื่นประสานกันกับทหารได้อย่างดียิ่งด้วยวิธีการฝึกหัดพลเมืองแบบทาง
อ้อมนี้ สมัยนั้นประเทศอังกฤษก็กำลังกระทำอยู่เรียกว่า "Boy Scouts Movement" ส่วนผลในการ ให้พลเมืองเป็นทหารทางอ้อมเช่นนี้มีอย่างไรนั้น ก็จะเห็นได้เมื่ออังกฤษทำสงครามกับพวกบัวส์ นอกจากนั้นประเทศสวิตเซอร์แลนด์และประเทศสหรัฐอเมริกาครั้งกระโน้นก็ทำกันอยู่เช่นเดียวกัน ยิ่งกว่านั้น การที่ทรงได้รับการศึกษาฝึกฝนมาอย่างพิเศษพร้อมที่จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินโดยสมบูรณ์ ประกอบกับประเทศไทยก็มีราชศัตรูกำลังจ้องมองหาโอกาสอยู่รอบด้านประดุจพยัคฆ์ร้ายที่กำลังมันเขี้ยว กำลังคอยที่จะขย้ำอยู่ทุกขณะ และบทเรียนที่เคยเจ็บซ้ำน้ำใจมาจากพระบรมชนกนาถ รัชกาลที่ 5 ซึ่งถูกเชือดเฉือนแผ่นใดไปทีละชิ้นมาหลายครั้งหลายหน พระองค์จึงยิ่งทรงมานะในกิจการเสือป่านี้เป็นประการสำคัญยิ่งในสมัยนั้น จนถึงกับทรงพระราชนิพนธ์เป็นบทสุภาษิตไว้ให้แก่กองเสือป่าว่า
"แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ์ ศัตรูกล้ามาประจัน ก็อาจสู้ริปูสลาย"
อนึ่ง ขออัญเชิญพระราชดำรัสบางตอนมาเป็นตัวอย่างดังนี้คือ "ถ้าเราดูในประวัติศาสตร์ของชาติไทยเราแล้ว คราวใดที่ไทยเรามิได้เตรียมพร้อมเพื่อต่อสู้ข้าศึกแม้ในยามสงบ คราวนั้นก็มักพลาดท่าเสียทีแก่ข้าศึกทุกครั้งไป ฉะนั้นเสือป่าทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอเตือนว่า อย่าเผลอตัวมัวหลงว่าบ้านเมืองสงบราบคาบอยู่ จะไม่ต้องกระตือรือร้นเตรียมตัว เราต้องเตรียมไว้ให้พร้อมเสมอ การไม่พร้อมเหมือนหนึ่งชวนศัตรูให้มาย่ำยี ธรรมดาศัตรูที่จะคิดตีเมืองใดต้องเลือกหาเวลาที่ระส่ำระสาย ในพระราชพงศาวดารกรุงเทพทวาราวดี ถ้าอ่านดูก็จะเห็นได้ว่า พระเจ้าหงษาวดียกมาทีไรก็เลือกเวลาที่คาดว่าไทยเรามิได้เตรียมตัวไว้ให้พร้อมแล้วทุกครั้ง ส่วนพระยาละแวทก็มักคอยรอจนศึกหงษาวดีมาติดกรุงศรีอยุธยาเสียก่อน จึงจะยกมาซ้ำเติม นี่ก็คือเลือกเวลาที่ไทยเราจะมิได้เตรียมต่อสู้ทางด้านเขมรนั้นเอง ยกมาอ้างเท่านี้แลเห็นได้แล้วว่า การเตรียมตัวเป็นการจำเป็นต้องทำล่วงหน้าไว้ ตั้งแต่เวลาที่บ้านเมืองราบคาบ เมื่อประเทศอื่นเห็นว่า เราเตรียมตัวไว้พร้อมที่จะต่อสู้ ชะดีชะร้ายก็เลยงดความคิดที่จะตี เพราะเป็นธรรมดาการที่จะยกไปย่ำยีชาติใดเมืองใด ถ้าคนชาตินั้นเตรียมพร้อมที่จะต่อสู้จนสุดกำลังแล้วก็คงจะตีได้โดยยาก เพราะต้องเปลืองกำลังคนและกำลังทรัพย์มาก ประโยชน์ที่จะได้ไปไม่เพียงพอกับที่เสีย
นอกจากจะได้ทรงกล่าวในที่ชุมนุมของกองทหารบ้าง กองเสือป่าบ้าง ก็ยังได้ทรงประพันธ์ไว้เป็นคำกลอน และพระราชทานให้เป็นบทร้องตามโรงเรียน เช่น โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ในกองลูกเสือป่าสมัยนั้น เรียกว่าบทชวนรักชาติ ซึ่งผู้เขียนขออัญเชิญมารวบรวมไว้ในที่นี่เพื่อมิให้ สูญสิ้นไป ดังต่อไปนี้
บทร้องทำนอง พัดชา
เรานี้เกิดมาแล้วชาติหนึ่ง ควรคำนึงถึงชาติศาสนา
ไม่ควรเสียทีที่เกิดมา
ในหมู่ประชาชาวไทย
แม้ใครตั้งจิตต์คิดรักตัว จะมัวนอนนิ่งอยู่ไฉน
ควรจะร้อนอกร้อนใจ เพื่อให้พรั่งพร้อมทั่วตน
ชาติใดไร้รักสมัครสมาน
จะทำการสิ่งใดก็ไร้ผล
แม้ชาติย่อยยับอับจน บุคคลจะสุขอยู่อย่างไร
ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง คงจะต้องบังคับขับใส
เคี่ยวเข็ญเย็นค่ำกรำไป ตามวิสัยเชิงเช่นผู้เป็นนาย
เขาจะเห็นแก่หน้าค่าชื่อ จะนับถือพงศ์พันธ์นั้นอย่าหมาย
ไหนจะต้องเหนื่อยยากลำบากกาย ไหนจะอายทั่วทั้งโลกา
บทร้องทำนอง ฝรั่งรำเท้า
เพราะฉะนั้นชวนกันสวามิภักดิ์ จงรักร่วมชาติศาสนา
ยอมตายไม่เสียดายชีวา เพื่อรักษาอิสระ
คณะไทย สมานสามัคคีให้ดีอยู่ จะสู้ศึกศัตรูทั้งหลายได้
ควรคิดจำนงจงใจ เป็นไทยจนสิ้นดินฟ้า
***เสร็จแล้วร้องเพลงส่งท้ายด้วยบทอำนวยพร
บทร้องทำนอง บรเทศ
พุทธานุภาพนำผล เกิดสรรพมงคลน้อยใหญ่
เทวาอารักษ์ทั่วไป ขอให้เป็นสุขสวัสดี
ธรรมานุภาพนำผล เกิดสรรพมงคลเฉลิมศรี
เทพช่วยรักษาปราณี
ให้สุขสวัสดีทั่วกัน
สังฆานุภาพนำผล เกิดสรรพมงคลแม่นมั่น
เทเวศร์คุ้มครองป้องกัน
สุขสวัสดีสันติทั่วไป
พึงจะเห็นได้ในถ้อยคำของบทร้องที่ยกมานี้ ยกเว้นบทอำนวยพรต่อท้ายเป็นบทที่รำพึงรำพรรณเพื่อให้เกิดอุดมคติในการเตรียมตัวเพื่อความเป็นอยู่ของชาติทั้งสิ้น ทั้งทรงหวังที่จะใช้เป็นคำเตือนใจอยู่ได้เนิ่นนานผิดกันกับพระบรมราโชวาทของพระองค์แม้จะได้กล่าวในที่ชุมชนก็ได้ประโยชน์ให้เตือนใจผู้ฟังได้ครั้งหนึ่ง ๆ ผิดกับทรงพระราชนิพนธ์ไว้เป็นคำกลอนย่อมเตือนใจแก่ผู้ที่ได้ยินได้ฟังอยู่เสมอตลอดกาล แม้พระองค์จะล่วงลับไปแล้วนานนับสิบปี คำกลอนเหล่านี้ก็ยังเป็นบทที่จับใจอยู่มิรู้ลืม
นอกจากบทกลอนที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น ก็ยังได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เป็นคำโคลง ทรงให้ชื่อว่า
"สยามานุสติ"
หากสยามยังอยู่ยั้ง ยืนยง
เราก็เหมือนอยู่คง ชีพด้วย
หากสยามพินาศลง ไทยอยู่ ได้ฤา
เราก็เหมือนมอดม้วย หมดสิ้นสกุลไทย
ใครรานใครรุกด้าว แดนไทย
ไทยรบจนสุดใจ ขาดดิ้น
เสียเนื้อเลือดหลั่งไหล ยอมสละ สิ้นแล
เสียชีพไป่เสียสิ้น ชื่อก้องเกียรติงาม
คำโคลงนี้เป็นพยานให้เห็นว่า พระองค์ทรงมีเจตน์จำนงที่จะปลุกใจให้คนไทยสมัยนั้นตื่นจากหลับ แม้ว่าขณะนั้นเมืองไทยก็คงมีกองทัพไทยที่มีขุนกองที่แกว่นกล้าพร้อมพรั่งอยู่หลายคน เช่น ในด้านกองทัพบกก็มี สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ พระเจ้าพี่ยาเธอกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช พระเจ้าน้องยาเธอสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์พินิต ด้านทัพเรือมี สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์อยู่แล้วก็ตาม พระองค์ก็หาวางพระทัยลงไม่ พระองค์จึงหันมาเตรียมทางด้านพลเรือนโดยทรงขะมักเขม้นในองค์การเสือป่าดังได้กล่าวมาแล้วแต่ต้น
มีสิ่งหนึ่งที่เป็นคำขวัญของเสือป่าในสมัยที่ทุกคนลืมเสียมิได้ เพราะคำขวัญนี้มีจารึกอยู่ในที่ ทั่วไป เช่น ที่ธงประจำกองทั่วทุกเหล่า และที่ใต้แผ่นโลหะรูปหน้าเสือติดหมวกของเสือป่าและลูกเสือว่า
"เสียชีพอย่าเสียสัตย์"
การดำเนินงานจัดตั้งกองเสือป่าและลูกเสือ
วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2454
เป็นวันที่เริ่มประกาศและชักชวนให้มีการจัดตั้งกองอาสาสมัครเสือป่านั้น
เมื่อรวบรวมสมาชิกได้เพียงเล็กน้อยแล้ว ก็ทรงกระทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
เป็นประเดิมก่อน คือ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 อันเป็นเวลาล่วงลับไปเพียง 6
วัน จนกระทั่งเวลาต่อมาอีก 2 เดือน คือวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454
จึงได้ประกาศตั้งกองลูกเสือขึ้นอีก โดยที่ทรง
พระราชปรารถในการจัดตั้งกองลูกเสือขึ้นไว้ว่า
"กองเสือป่าก็ได้ตั้งขึ้นแล้วเป็นหลักฐานพอจะเป็นที่หวังได้ว่าจะเป็นผลดี
แต่ผู้ที่เป็นเสือป่านับว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว ฝ่ายเด็กนั้นยังอยู่ในปฐมวัย
แต่ก็เป็นผู้ที่ควรจะได้รับการฝึกฝนทั้งในส่วนจิตใจและร่างกายโดยเช่นกัน
เมื่อเติบใหญ่ขึ้นจะได้รู้จักหน้าที่ซึ่งผู้ชาย
ทุกคนควรจะประพฤติให้เป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตน"
สำหรับประโยชน์ที่เกิดขึ้นโดยตรงได้แก่ตัวเด็กนั้น ก็คือการหัดเด็กให้มีไหวพริบ
อดทน รู้จักช่วยตนเองอย่างง่าย ๆ เช่น รู้จักการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
นอกจากนั้นก็ฝึกหัดอบรมให้เด็กมีใจกว้าง รู้จักการกระทำประโยชน์ช่วยเหลือผู้อื่น
ฉะนั้น จึงได้ทรงจัดตั้งกองลูกเสือขึ้น
เมื่อกองเสือป่าและกองลูกเสือได้จัดตั้งขึ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ความจำเป็นอีกประการหนึ่งที่ต้องมีไว้ก็คือ สโมสรอันเป็นสถานที่ทำการฝึกหัดอบรม
จึงพระราชทานที่ดินที่เป็นสนามแข่งม้า เดิมให้เป็นที่ชุมนุมเสือป่าและลูกเสือ
สนามนี้เดิมตั้งอยู่ทางด้านซ้ายมือของพระบรมรูปทรงม้าอยู่ในลาน พระบรมรูปทรงม้า
ด้านทิศใต้จดถนนข้างวัดเบญจมบพิตร ส่วนด้านตะวันออกติดคลองเปรมประชา
ส่วนสนามม้านั้นย้ายไปตั้งที่ใหม่ตอนหน้าวัดเบญจมบพิตรที่เป็นสนามราชตฤณามัยอยู่ขณะนี้
พร้อมกันนั้นก็ได้จัดการปลูกอาคารหลังยาวชั้นเดียวหลังคามุงจากเป็นแนวยาว
ทางด้านริมถนนวัดเบญจมบพิตร ซึ่งสามารถชุมนุมสมาชิกได้หลายพันคน
เมื่อสโมสรทำเสร็จแล้วจึงทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2454
จนเวลาล่วงต่อมาถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454
ทรงเห็นว่ามีสมาชิกเสือป่าเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากพอสมควรในเวลานั้น
และได้มีโอกาสจัดเป็นหมู่เป็นกองวางระเบียบวินัยเป็นที่ลงรูปงานดีแล้ว
จึงให้เสือป่าทั้งหมดไปทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามอีกครั้งหนึ่ง
และก็น่าจะเป็นการอัศจรรย์ที่บังเอิญ วัน 25 พฤศจิกายน
นั้นก็เป็นวันที่ตรงกับวันสวรรคตของ พระองค์เองใน 14 ปีต่อมา
ประโยชน์ของการลูกเสือ
จากการที่องค์พระผู้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทยได้ไปทรงศึกษาอยู่ในต่างประเทศเป็นเวลายาวนาน
และได้ทรงพิจารณาเห็นคุณประโยชน์ของกิจการลูกเสือมานับประการ
ตลอดจนในระยะสงครามโลกครั้งที่ 1
คณะลูกเสืออังกฤษและฝรั่งเศสได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างกล้าหาญ
และได้ประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นอย่างมากนั้น
ทำให้พระองค์ได้ทรงเล็งเห็นความสำคัญและได้ทรงวางพระบรม
ราโชบายเพื่อให้เยาวชนของไทยได้สร้างประโยชน์เท่าที่จะสามารถทำได้ไว้ถึง 7 ประการ
คือ
1. ช่วยเป็นหูเป็นตาในการส่งข่าวคราวให้บ้านเมืองทราบ
2. ช่วยเป็นคนนำสาร และส่งข่าวให้แก่หน่วยทหารได้
3. ช่วยสะกดรอยติดตามพวกผู้ก่อการร้าย
4. ช่วยระวังรักษา และบอกเหตุถึงการก่อวินาศกรรมของผู้ก่อการร้าย
5. ช่วยลำเลียงเสบียงอาหารให้แก่กองทหาร
6. ช่วยรักษาความสงบเรียบร้อยภายในบ้านเมือง ในยามบ้านเมืองเกิดวิกฤติ
7. ถ้าหากมีคนป่วย เจ็บก็สามารถเป็นผู้ช่วยเหลือพยาบาล ทำบาดแผลและช่วยเหลือ
อื่น ๆ ได้
แนวทางต่าง ๆ ข้างต้นที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ
ได้ทรงกำหนดไว้ก็เพื่อว่าหวังที่จะพัฒนาเยาวชนให้เป็นลูกเสือที่ดีตลอดจนเป็นการเตรียมลู่ทางให้เป็นทหารที่ดีของชาติเมื่อเวลามาถึงและเพื่อให้เขาเหล่านั้นรักชอบวิชานักรบ
(การทหาร) ด้วยความสมัครใจเพราะเป็นหน้าที่ของลูกผู้ชาย
อีกประการหนึ่งคนส่วนมากมักจะมองข้ามความสำคัญของเด็กไปเสีย
จึงเป็นโอกาสอันดีที่เด็กอาจจะทำงานดังที่พระองค์ได้ทรงวางแนวทางดังกล่าวได้
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้เคยพระราชดำรัสไว้ว่า
"ลูกเสือคนใดได้ทำหน้าที่ช่วยชาติดังหัวข้อที่กล่าวมาแล้ว
จะได้ชื่อว่าท่านได้ทำหน้าที่ ลูกเสือของท่าน
สมกับที่เกิดมาเป็นลูกผู้ชายและเกิดมาเป็นคนไทย
ท่านจะได้รับความขอบคุณจากวงการลูกเสือ
สมควรจะได้รับการจารึกชื่อไว้บนแผ่นทองตามข้อกำหนดของลูกเสือ"
» ลูกเสือไทย
» พระราชบัญญัติ ลูกเสือ พ.ศ. 2507
» เพลงลูกเสือ-เนตรนารี
» เพลงประกอบท่าทาง
» เกมลูกเสือ