สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยากับกฎหมายการค้ามนุษย์

      ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาเป็นทฤษฎีทางนิติปรัชญาที่เน้นบทบาทความสัมพันธ์ของกฎหมายต่อสังคม เป็นการพิจารณาถึงบทบาทหน้าที่ของกฎหมายยิ่งกว่าการพิจารณาแต่เนื้อหาของกฎหมายซึ่งเป็นนามธรรม และที่สำคัญเป็นการเน้นบทบาทของกฎหมายไปในทางที่จะมุ่งสร้างกฎหมายให้เป็นกลไกของการปกป้องผลประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนบุคคล

รูดอล์ฟ ฟอน เยียริ่ง (Rodolf Von Ihering) นักนิติศาสตร์ชาวเยอรมันซึ่งเป็นก่อตั้งทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาได้วางหลักพื้นฐานทฤษฎีนี้ว่า กฎหมายเป็นเพียงกลไกหรือวิธีการ (mean) ที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ (end) โดยกฎหมายต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของสังคม และกลไกของกฎหมายมีบทบาทในการสร้างความสมดุล หรือการจัดลำดับชั้นความสำคัญระหว่างประโยชน์ของเอกชนกับประโยชน์ของสังคม

ต่อมา ลีออง ดิวกี (Leon Duguit) นักนิติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส และ รอสโก พาวด์ (Ronscoe Pound) ได้วางทฤษฎีอื่นเสริมทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดย Pound สร้างทฤษฎีวิศวกรรมสังคม (Social Engineering Theory) ขึ้นจากการพิจารณาว่ากฎหมายเป็นกลไกหรือเครื่องมือที่สร้างขึ้นเพื่อคานผลประโยชน์ต่างๆ ในสังคมเพื่อให้เกิดความสมดุล เสมือนเป็นการก่อสร้างหรือกระทำวิศวกรรมสังคม และผลของการพิจารณาบทบาทของกฎหมายเช่นนี้ ทำให้มีการสร้างหรือตรากฎหมายในลักษณะเข้าไปแทรกแซงการจัดระเบียบทางเศรษฐกิจหรือถ่วงดุลผลประโยชน์ต่างๆ ในสังคมให้มีความเสมอภาค หรือเป็นธรรมมากขึ้น

ดังนี้ เราอาจมองทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาได้ 2 ประการ คือ

  1. ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาเป็นทฤษฎีในแง่ต้นกำเนิด (origin) ของกฎหมายซึ่งมองว่ากฎหมายเป็นผลิตผลของสังคม และ
  2. ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา พิเคราะห์อิทธิพลของกฎหมายที่มีต่อสังคม และกฎหมายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการควบคุมพฤติกรรมของสังคมหรือเป็นวิศวกรรมสังคมหรือเป็นทฤษฎีที่ใช้ในการจัดระเบียบสังคม

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ที่มีผลใช้บังคับแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่ามีผลมาจากทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา ที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการควบคุมพฤติกรรมของสังคมหรือเป็นวิศวกรรมสังคมหรือเป็นทฤษฎีที่ใช้ในการจัดระเบียบสังคม กล่าวคือ ในประเทศไทย มีปัญหาการค้ามนุษย์มานานในรูปของการตกเขียว การบังคับค้าประเวณี หรือบังคับขอทาน โดยเฉพาะในปี 2546 มีผู้หญิงและเด็กตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ทั้งที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน และถูกส่งออกไปต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และปัจจุบันการค้ามนุษย์ ยังเปลี่ยนแปลงรูปแบบซับซ้อนมากขึ้น รวมถึงการถ่ายรูปอนาจาร หรือหลอกให้ไปแต่งงานกับชาวต่างชาติ แต่เมื่อเดินทางไปถึงประเทศปลายทางก็ถูกบังคับให้ค้าประเวณี หรือใช้แรงงานเยี่ยงทาส ทั้งปัญหายังรุนแรงถึงขนาดเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติไปแล้ว ประกอบกับประเทศไทยได้ลงนามในข้อตกลงเรื่องความร่วมมือในการต่อต้านการค้ามนุษย์ (Anti Human Trafficking) จึงเป็นมูลเหตุให้มีกฎหมายการค้ามนุษย์เกิดขึ้น เพื่อใช้ควบคุมพฤติกรรมของสังคมหรือเป็นวิศวกรรมสังคมหรือใช้ในการจัดระเบียบสังคมตามทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาดังกล่าวแล้ว


แม้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 จะมีที่มาจากข้อตกลงเรื่องความร่วมมือในการต่อต้านการค้ามนุษย์ (Anti Human Trafficking) แต่ก่อนหน้านี้กฎหมายการค้ามนุษย์ของไทย คือ พระราชบัญญัติมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 หรือ Trafficking in Woman and Children ซึ่งเป็นอนุสัญญาข้อตกลงระหว่างประเทศ และเปลี่ยนเป็น Trafficking in Person (TIP) กับในปัจจุบันเป็น Human Trafficking สาระสำคัญของกฎหมายเดิมจึงมุ่งแก้ปัญหาที่ต้องการขจัดการค้าหญิงและเด็ก โดยเฉพาะผู้ถูกกระทำทางเพศ หรือ Trafficking for Sexual Exploitation อีกทั้งกฎหมายก็ไม่ได้มีการกำหนดคำนิยามเกี่ยวกับเรื่องการค้าหญิงและเด็กไว้โดยชัดเจน โดยใช้เป็นองค์ประกอบความผิดมากกว่า ทำให้มีปัญหาในการตีความว่า กรณีอย่างไรถือว่าเป็นกรณีของเหยื่อจากการค้าหญิงและเด็ก และอย่างไรจึงจะถือว่าเป็นอาชญากรหรือเป็นผู้กระทำผิด ทั้งการดำเนินคดีก็เป็นการดำเนินคดีแต่ละคดีแม้ว่าผู้กระทำความผิดมีมากกว่า 1 คน และมีลักษณะเป็นเครือข่ายโย่งใยเชื่อมโยงกัน ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้แก้ไขไว้ในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 แล้ว ดังนี้

  1. ขยายความเหยื่อหรือผู้เสียหายจากผู้หญิงและเด็ก เป็นบุคคลโดยไม่จำกัดเพศและอายุ สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในสังคมที่ไม่เฉพาะเพศหญิงเท่านั้นที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ แต่เพศชายก็เป็นเหยื่อได้เช่นกัน
  2. กำหนดนิยามคำว่าค้ามนุษย์ไว้อย่างกว้างขวาง สอดคล้องกับการกระทำผิดที่เกิดขึ้นจริงในสังคม
  3. กำหนดให้ผู้กระทำการค้ามนุษย์เป็นขบวนการในลักษณะองค์กรอาชญากรรม มีความผิด แม้สมาชิกองค์กรอาชญากรรมนั้นไม่ได้ลงมือกระทำผิดเอง สอดคล้องกับสภาพของการสื่อสารไร้พรมแดน ที่สมาชิกองค์กรอาชญากรรมร่วมมือกันค้ามนุษย์ในระหว่างประเทศต้นทางกับประเทศปลายทาง

อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ยังปัญหาหลายประการ ดังนี้

  1. ปัญหาด้านกฎหมาย กรณีตัดอวัยวะเพื่อการค้าโดยบุคคลที่เป็นเจ้าของอวัยวะยินยอม (ตามมาตรา 4) แม้บุคคลนั้นจะถือว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ แต่ก็อาจทำให้บุคคลนั้นอาจตกเป็นผู้กระทำผิดในฐานะผู้สนับสนุนได้ (ตามมาตรา 7 (1)) ปัญหาว่า กรณีอย่างไรถือว่าเป็นกรณีของเหยื่อจากการค้ามนุษย์ และอย่างไรจึงจะถือว่าเป็นอาชญากรหรือเป็นผู้กระทำผิดจึงยังคงมีอยู่เช่นเดียวกับกฎหมายเดิม และการให้บุคคลที่ขายอวัยวะโดยสมัครใจตกเป็นผู้กระทำผิดด้วยน่าจะไม่ใช่การคุมครองหรือปกป้องผลประโยชน์ของสังคม
  2. ปัญหาด้านการบังคับใช้กฎหมาย ผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์อาจถูกส่งตัวไปดูแลในสถานแรกรับตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี สถานแรกรับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก หรือสถานสงเคราะห์อื่นของรัฐหรือเอกชน (ตามมาตรา 33 วรรคสอง) หรือในกรณีผู้เสียหายนั้นเป็นคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองซึ่งจะต้องถูกส่งตัวกลับประเทศที่เป็นถิ่นที่อยู่หรือภูมิลำเนา (ตามมาตรา 38) แม้จะมีความผิดตามกฎหมายคนเข้าเมือง ก็อาจทำให้สังคมเข้าใจว่า ผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ คือผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ด้วย
  3. แม้ผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์อาจถูกเรียกค่าสินไหมทดแทน (ตามมาตรา 35) ให้แก่ผู้เสียหาย แต่ก็อาจเป็นจำนวนเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับประโยชน์หรือผลกำไรที่ผู้กระทำความผิดได้มาจากการค้ามนุษย์ ในขณะเดียวกันการช่วยเหลือผู้เสียหายในเรื่องอาหาร ที่พัก การรักษาพยาบาล การบำบัดฟื้นฟูทางร่างกายและจิตใจ การให้การศึกษา การฝึกการอบรมฯ (ตามมาตรา 33) การคุ้มครองความปลอดภัยแก่ผู้เสียหาย (ตามมาตรา 36) และการช่วยเหลือผู้เสียหายในต่างประเทศให้เดินทางกลับประเทศ (ตามมาตรา 39) กลับเป็นเงินทุน เงินอุดหนุนจากงบประมาณ และเงินที่มีผู้บริจาค ซึ่งเสมือนกับรัฐและผู้บริจาคเงินถูกลงโทษด้วย ผู้กระทำความผิดหาได้รับผิดชอบในส่วนนี้แต่อย่างใด เท่ากับว่าผู้กระทำความผิดเบียดบังเอาผลประโยชน์ของสังคมหรือผลประโยชน์ของผู้กระทำความผิดอยู่เหนือผลประโยชน์ของสังคม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย