สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

กบฎไพร่ สมัยอยุธยา

กบฎญาณพิเชียร
กบฎธรรมเถียร
กบฏบุญกว้าง

กบฎธรรมเถียร

เกิดขึ้นในรัชกาลพระเพทราชา ( พ.ศ. 2231 - 2246 ) ผู้นำกบฎครั้งนี้เป็นข้าหลวงเดิมของเจ้าฟ้าอภัยทศ (บางฉบับเรียกพระขวัญ ) พระอนุชาสมเด็จพระนารายณ์ หัวหน้ากบฎกระทำการโกหกปลอมตัวเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศหลอกลวงชาวชนบทให้เข้าเป็นพวกกบฎครั้งนี้เกิดขึ้นในแขวงนครนายก แต่ก็กินบริเวณถึงสระบุรี ลพบุรีด้วย

ในชั้นต้นผู้นำกบฎคือ ธรรมเถียรพยายามชักจูงให้พระพรหม ณ วัดปากคลองช้างพระอาจารย์ที่เจ้าฟ้าอภัยทศเคยนับถือให้เข้าร่วมการกบฎด้วยแต่กลับถูกพระภิกษุรูปนั้นปฎิเสธ โดยอ้างว่าธรรมเถียรกระทำการโกหกเป็นเหตุให้กองกำลังส่วนหนึ่งของธรรมเถียรถอนตัวออกไป

เดิมทีนั้นธรรมเถียรตั้งทัพอยู่ ณ พระตำหนักนครหลวง แต่เมื่อการนิมนต์พระพรหมไม่ประสบความสำเร็จธรรมเถียรได้เคลื่อนกองทัพลงมาตีกรุงศรีอยุธยา

ภาพสะท้อนที่ได้จากพงศาวดารแสดงให้เห็นว่า ทัพของธรรมเถียรต่างกับทัพของญาณพิเชียรมาก ถึงแม้ว่ากองกำลังของธรรมเถียรบางส่วนจะมีพวกขุนนางซึ่งเข้าใจว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับราชวงศ์บ้านพลูหลวงปะปนอยู่ แต่กำลังส่วนใหญ่เป็นพวกชาวไร่ชาวนาไม่ใช่ไพร่ทหารที่ชำนาญการรบ

“ต่างคนก็ถือเครื่องศัสตราวุธต่าง ๆ ตามมี ที่ไม่มีอาวุธสิ่งใดก็ถือพร้าบ้าง บ้างก็ได้ปะฎักและเคียว แห่ห้อมล้อมช้างธรรมเถียรมาเป็นอันมาก” ทั้งยังเป็นทัพที่ขาดระเบียบและการกำหนดแผนการโจมตีอย่างเป็นระบบ เห็นได้จากความตอนหนึ่งในพงศาวดารว่า

“เห็นพันชัยธุชอันธรรมเถียรตั้งไว้ให้ถือธง ขี่กระบือนำหน้าพลมาก่อน ตำรวจจับเอาตัวได้มาถวายกรมพระราชวัง"

ถึงแม้ว่ากองทัพของธรรมเถียรจะประกอบด้วยกำลังคนเป็นจำนวนมาก แต่ก็เป็นกองทัพที่ขาดประสิทธิภาพอย่างยิ่งเช่นกัน ผลของการกบฎลงเอยเช่นเดียวกับกบฎญาณพิเชียร คือถูกกองทัพของอยุธยาใช้อาวุธที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าทำลายล้าง

ในด้านผู้นำกบฎครั้งนี้ธรรมเถียรไม่ใช่เป็นคนที่สร้างบารมีมาก่อนในท้องถิ่นที่ตนซ่องสุมผู้คนเช่นญาณพิเชียร เป็นเหตุให้ธรรมเถียรต้องอาศัยบารมีของผู้อื่นมาเป็นข้ออ้างในการหาสมัครพรรคพวกการอ้างตนเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศแสดงว่าธรรมเถียรยังขาดบารมี ส่วนการอ้างตัวเองเป็นผู้มีบุญของธรรมเถียรนั้นทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่าตนเป็นผู้วิเศษที่ฆ่าไม่ตาย อีกประการหนึ่งเป็นการอ้างตนในทำนอง “ผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่” โดยเน้นชาติกำเนิดเป็นหลัก

 

"และประกาศแก่คนทั้งหลายว่า ตัวกูคือเจ้าฟ้าอภัยทศ จะยกลงไปตีเอาราชสมบัติคืนให้จงได้”

กล่าวได้ว่ากบฎธรรมเถียรนั้นถึงแม้ตัวธรรมเถียรเองจะเป็นข้าหลวงเก่า แต่ก็ไม่ได้มีความชำนาญพิเศษในการทำสงครามแต่อย่างใด กองกำลังของธรรมเถียรส่วนใหญ่เป็นชาวชนบทที่เข้ามารวมกลุ่มกันอย่างไร้ระเบียบ เมื่อฝ่ายปกครองสืบทราบแน่ชัดว่าผู้นำกบฎไม่ใช่เจ้าฟ้าอภัยทศจริงความวิตกกังวลก็ลดน้อยลง และกบฎก็ถูกปราบลงอย่างง่ายดาย

สาเหตุอันนำซึ่งการกบฎครั้งนี้เป็นสาเหตุทางการเมืองสืบเนื่องจากการขึ้นครองราชย์ของพระเพทราชาซึ่งถึงแม้ว่าในปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ พระเพทราชาจะเป็นขุนนางผู้ใหญ่ที่คุมกำลังไพร่พลจำนวนไม่น้อยแต่ในขณะนั้น ก็ยังมีผู้เหมาะสมและมีสิทธิในการขึ้นครองราชสมบัติอยู่อีกหลายคน เช่นพระปีย์ซึ่งมีฐานกำลังอยู่ทางตอนเหนือ หรือเจ้าฟ้าอภัยทศซึ่งเป็นพระอนุชาของพระนารายณ์ พระเพทราชาเองก็ตระหนักในปัญหานี้จึงได้หาทางกำจัดบุคคลทั้งสองเสียก่อนจะขึ้นครองราชย์ กระนั้นก็ตีความชอบธรรมที่พระเพทราชาจะพึงมีต่อการสถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์สืบต่อจากพระนารายณ์นั้นยังดูไม่มั่นคงและพร้อมจะถูกท้าทายได้จากบุคคลหลายฝ่าย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดได้แก่การแข็งข้อของขุนนางระดับท้องถิ่นเช่นจากพระยายมราชสังข์เจ้าเมืองนครราชสีมา และจากพระยารามเดโชเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชเป็นต้น

ความจำกัดตัวและความสับสนของเหตุการณ์ปลายรัชกาลพระนารายณ์ประกอบกับปัญหาความชอบธรรมของพระเพทราชาในการสืบราชสมบัติเปิดช่องว่างให้คนอย่างธรรมเถียร สามารถอ้างตนเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศและชักจูงชาวชนบทที่ไม่รู้ซึ้งถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหรือไม่ก็ทราบแต่เพียงข่าวกระเส็นกระสายจากปากสู่ปากให้ร่วมในการกบฎครั้งนี้ด้วย เป็นที่น่าสนใจว่ามีชาวชนบทจำนวนไม่น้อยเข้าร่วมในการกบฎครั้งนี้ ซึ่งสาเหตุสำคัญประการหนึ่งควรสืบเนื่องจากลักษณะหลักบางประการที่เอื้อในการเลื่อนฐานะทางการเมืองของไพร่สมัยอยุธยาตอนปลาย

ดังจะเห็นได้ว่า จากรัชสมัยของพระเจ้าปราสาททองเป็นต้นมา การเลื่อนฐานะของสามัญชนขึ้นมาเป็นขุนนางจะเกิดขึ้นเสมอ เมื่อเกิดการแย่งชิงราชสมบัติกันขึ้นระหว่างกษัตริย์และขุนนาง ฐานอำนาจของฝ่ายที่ได้รับชัยชนะ มักจะได้รับการปูนบำเหน็จในลักษณะต่าง ๆ นอกเหนือจากนี้ความพยายามของกษัตริย์ในอันที่จะลดทอนอำนาจของขุนนางฝ่ายปกครอง ก็ช่วยเปิดโอกาสให้ขุนนางระดับต่ำซึ่งก็มีบ้างที่เคยเป็นไพร่มาก่อนได้รับการเลื่อนฐานะทางสังคให้ขุนนางผู้ใหญ่ดังปรากฎใน

บันทึกของฟานฟลีตว่า“พวกไพร่จำนวนมากกลับกลายเป็นเสนาบดี และพวกที่มีอำนาจที่สุดในราชสำนัก” ภาวะการเลื่อนฐานะทางสังคมจากสามัญชนขึ้นมาเป็นขุนนางได้ปลูกฝังความหวังให้กับชนชั้นไพร่และชาวชนบท ว่าหากตนได้เข้าร่วมเป็นกำลังให้กับเจ้าฟ้าอภัยทศแล้วก็ย่อมจะได้รับการปูนบำเหน็จรางวัลในภายหลังซึ่งนั่นหมายถึงการเลื่อนฐานครั้งใหญ่ทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม ธรรมเถียรเองก็เข้าใจถึงความต้องการนี้เป็นอย่างดี จึงได้แต่งตั้งตำแหน่งหน้าที่ให้กับผู้เข้าร่วมการกบฎครั้งนี้ตามความชอบ การจัดตั้งตำแหน่งต่าง ๆ ในกองทัพไม่ว่าจะถูกต้องตามรูปแบบที่เป็นทางการหรือไม่ก็ตาม เท่ากับเป็นการเลื่อนฐานะของชาวชนบทให้สูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เป็นการทำให้ความหวังที่ชาวชนบทมีอยู่นั้นดูใกล้เคียงความจริงยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดีถึงแม้ว่ากบฎธรรมเถียรจะได้รับการสนับสนุนจากชาวชนบทก็ยากจะสรุปได้ว่ากบฎนี้เป็นกบฎไพร่เพราะปรากฎเป็นที่แน่ชัดว่า ผู้นำการกบฎครั้งนี้เป็นข้าหลวงเก่าของเจ้าฟ้าอภัยทศซึ่งมีฐานะเป็นขุนนาง จุดมุ่งหมายหลักของผู้นำการกบฎก็มุ่งที่การเลื่อนฐานะตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ไม่ใช่ต้องการล้มล้างหรือปฎิรูประบบไพร่ให้ดีขึ้น ส่วนพวกชาวชนบทที่เข้าร่วมกับธรรมเถียรก็มีความต้องการที่จะได้มาซึ่งบำเหน็จรางวัล

ถึงแม้ว่าการเข้าร่วมในการกบฎของชาวชนบทจะสะท้อนถึงความไม่พอใจในสภาวะที่เป็นอยู่และต้องการจะเลื่อนฐานะความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นแต่กบฎครั้งนี้ก็ยังไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นกบฎของชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง โดยวัดเอาง่าย ๆ จากจำนวนผู้เข้าร่วมในการกบฎส่วนใหญ่ว่าเป็นไพร่ เพราะหากจะวัดกันด้วยมาตรฐานดังกล่าวนี้กบฎทุกครั้งในสมัยอยุธยาก็จะเป็นกบฎไพร่ทั้งสิ้น เพราะไม่เคยปรากฎว่ามีกบฎใดที่ไม่ใช่กำลังไพร่เป็นหลัก

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย