ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
ความเชื่อในเรื่องกรรม
ความหมายและชนิดของกรรม
กรรม 12 ประเภท
การให้ผลของกรรม
กฎแห่งกรรม
ความหมายและชนิดของกรรม
คนส่วนมากเข้าใจว่ากรรมคือการกระทำ ความเข้าใจนี้ไม่ผิด
แต่เป็นความเข้าใจที่ยังไม่รัดกุมและถูกต้องทั้งหมด
เพราะมีการกระทำบางอย่างที่ไม่นับว่าเป็นกรรม กรรมแท้จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 2
ประการ คือ ผู้ทำมีเจตนา และการกระทำนั้นจะต้องให้ผลเป็นบุญหรือเป็นบาป
ที่ว่าผู้ทำมีเจตนา มีหลักการที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ไว้ใน นิพเพธิกปริยายสูตร
ฉักกนิมาต อังคุตตรนิกายว่า เจตนาหัง ภิกขเว กัมมัง วทามิ แปลว่า
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าเจตนาเป็นกรรม
เจตนาก็ได้แก่ ความตั้งใจหรือความรับรู้ ซึ่งแบ่งไว้เป็น 3 อย่างคือ
- บุรพเจตนา เจตนาก่อนทำ
- มุญจนเจตนา เจตนาในเวลาทำ
- อปราปรเจตนา เจตนาเมื่อได้ทำไปแล้ว
การกระทำโดยมีเจตนาเกิดขึ้นในตอนใดตอนหนึ่งถือว่าเป็นกรรมทั้งสิ้น
ส่วนการกระทำที่ไม่มีเจตนา คือใจไม่ได้สั่งให้ทำ ไม่จัดว่าเป็นกรรม
เช่นคนเจ็บซึ่งมีไข้สูง เกิดเพ้อคลั่ง แม้จะพูดคำหยาบออกมา
เอามือหรือเท้าไปถูกใครเข้าก็ไม่เป็นกรรม
ในทางวินัยก็ยกเว้นให้พระที่วิกลจริตซึ่งล่วงเกินสิกขาวินัยไม่ต้องอาบัติ
ทั้งนี้ก็โดยหลักเกณฑ์ที่ว่า ถ้าผู้ทำไม่มีเจตนา
กระทำแล้วการกระทำนั้นก็ไม่เป็นกรรม
ส่วนหลักเกณฑ์ข้อที่ 2 ที่ว่า
การกระทำนั้นจะต้องให้ผลเป็นบุญหรือเป็นบาป
ก็เพื่อแยกการกระทำของพระอรหันต์ออกจากการกระทำของปุถุชน
เนื่องจากพระอรหันต์เป็นผู้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ไม่มีความยึดถือในตัวตน
การกระทำเรียกว่า อัพยากฤต ไม่นับว่าเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว บุญและบาปก็ไม่มี
การกระทำของพระอรหันต์จึงไม่เรียกว่า กรรม แต่เรียกว่า กิริยา
ส่วนปุถุชนยังมีความยึดมั่นในตัวตนอยู่ จะทำอะไรก็ยังยึดถือว่าตนเป็นผู้กระทำ
การกระทำของปุถุชนจึงเป็นกรรม ย่อมจะก่อให้เกิดวิบากหรือผลเสมอ
กรรมดีก็ก่อให้เกิดบุญ ส่วนกรรมชั่วก็ก่อให้เกิดบาป
คนบางคนเข้าใจว่ากรรมหมายถึง สิ่งไม่ดีคู่กับเวร หรือบาป
เช่นที่เรียกว่า เวรกรรม หรือ บาปกรรม ตรงกันข้ามกับฝ่ายข้างดีซึ่งเรียกว่าบุญ
ทั้งนี้เพราะเราได้ใช้คำว่ากรรมในความหมายที่ไม่ดี
เช่นเมื่อเห็นใครต้องประสบเคราะห์ร้ายและถูกลงโทษ เราก็พูดว่ามันเป็นเวรกรรมของเขา
หรือเขาต้องรับบาปกรรมที่เขาทำไว้ แต่ความจริงคำว่ากรรมเป็นคำกลาง ๆ
หมายถึงการกระทำตามที่กล่าวมาแล้ว จะมุ่งไปในทางดีก็ได้ ทางชั่วก็ได้ ถ้าเป็นกรรมดี
เราก็เรียกว่า กุศลกรรม ถ้าเป็นกรรมชั่ว เราก็เรียกว่า อกุศลกรรม
กรรมอาจจะจำแนกออกได้เป็นหลายประเภท หากแบ่งตามทางที่ทำก็แบ่งเป็น 3 ทาง
ได้แก่
- กายกรรม กรรมที่ทำทางกาย
- วจีกรรม กรรมแสดงออกทางวาจา
- มโนกรรม กรรมทางใจ
ในกรรมบถ 10 แบ่งกรรม 3 ทางนั้นเป็นฝ่ายกุศลและฝ่ายอกุศล
แต่ละฝ่ายมีรายละเอียดของกรรมหรือการกระทำดังนี้
กายกรรมหรือกรรมทางกาย แบ่งเป็นฝ่ายละ 3 คือ
- ฝ่ายอกุศล ได้แก่ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ และผิดประเวณี
- ฝ่ายกุศล คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ และเว้นจากการผิดประเวณี
วจีกรรม แบ่งเป็นฝ่ายละ 4 คือ
- ฝ่ายอกุศล ได้แก่ พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ และพูดเพ้อเจ้อ
- ฝ่ายกุศล ได้แก่ เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดคำหยาบ และเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
มโนกรรม แบ่งเป็นฝ่ายละ 3 คือ
- ฝ่ายอกุศล ได้แก่ เพ่งเล็งทรัพย์ผู้อื่น ปองร้าย และเห็นผิดจากคลองธรรม
- ฝ่ายกุศล ได้แก่ ไม่เพ่งเล็งทรัพย์ผู้อื่น ไม่ปองร้าย และเห็นชอบตามคลองธรรม
ตามที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าแม้แต่การนึกคิดก็จัดว่าเป็นกรรมแล้ว เช่นเราคิดจะลักทรัพย์หรือทำร้ายคนอื่น แม้จะยังไม่ลงมือทำก็ถือเป็นกรรมชั่วแล้ว ซึ่งจะต้องมีผลตอบแทนแล้ว ผิดกับการลงโทษตามกฎหมายอาญา ซึ่งจะลงโทษได้ก็ต่อเมื่อผู้กระทำ ได้เตรียมการหรือลงมือกระทำแล้วเท่านั้น ลำพังความคิดที่จะกระทำความผิดยังหามีโทษไม่ ตามที่กฎหมายอาญาไม่เอาโทษการคิดที่จะกระทำความผิด ก็เพราะเป็นการยากที่จะพิสูจน์ความนึกคิดของบุคคล และเห็นว่ายังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น แต่หลักของกรรม ถือความคิดชั่วเป็นความผิด ก็เนื่องจากว่าแม้ว่าคนอื่นยังไม่เสียหาย ผู้คิดเองก็เสียหาย ฉะนั้นจึงต้องมีวิบากติดตามมา จะเห็นได้ว่า การสนองผลของกรรมมีขอบเขตกว้างขวางกว่าการลงโทษของกฎหมายบ้านเมืองมาก