สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

หน่อไม้ฝรั่ง

ประเด็นเทคโนโลยีที่ควรถ่ายทอด

  1. การผลิตหน่อไม้ฝรั่งที่ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง
  2. การผลิตหน่อไม้ฝรั่งให้ได้คุณภาพตามมาตรฐาน

การผลิตหน่อไม้ฝรั่งที่ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง

การผลิตหน่อไม้ฝรั่งที่ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง
การป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพื่อให้ได้ผลผลิตปลอดภัยจากสารพิษ ควรใช้หลายๆ วิธีผสมผสานกัน ได้แก่

- การป้องกันกำจัดโดยวิธีกล ตัวอย่างเช่น

  1. การใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลือง คือ การใช้กับดักที่มีสีเหลือง เช่น กระป๋องน้ำมันเครื่อง

    แผ่นพลาสติก ถุงพลาสติก ซึ่งมีสีเหลืองจะช่วยดึงดูดแมลงตัวเต็มวัยต่างๆ เข้ามา และเมื่อทากาวเหนียวไว้รอบๆ กับดักสีเหลืองก็จะทำให้แมลงตัวเต็มวัยที่ออกมาให้เห็นในเวลากลางวัน เช่น เพลี้ยไฟ แมลงวันเจาะผล แมลงวันหนอนชอนใบ ผีเสื้อชนิดต่างๆ เช่น ผีเสื้อหนอนใยผัก หนอนกระทู้หอม หนอนคืบและหนอนกินใบ บินเข้ามาติดกับดักและก็ตายไป
  2. การใช้กับดักแสงไฟ สามารถดักจับผีเสื้อกลางคืน เช่น ผีเสื้อหนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้ผัก หนอนคืบกะหล่ำ แสงไฟที่เหมาะสามารถล่อแมลงควรใช้แสงไฟสีม่วงหรือแสงสีน้ำทะเล แต่เกษตรกรสามารถใช้แสงไฟจากหลอดนีออนได้ ในการวางกับดักแสงไฟควรวางห่างจากพื้นดินประมาณ 150 ซม. มีภาชนะใส่น้ำรองรับอยู่ข้างใต้ห่างจากหลอดไฟประมาณ 30 ซม.

- การป้องกันโดยอาศัยศัตรูธรรมชาติ การใช้สารชีวินทรีย์ เป็นการควบคุมศัตรูพืชโดยใช้สิ่งมีชีวิต ได้แก่ เชื้อไวรัส เช่น Nuclear Polyhedrosis Virus (NPV) เชื้อแบคทีเรีย Bacillus thuringiensis (BT) ไส้เดือนฝอย เช่น Steinernema carpocapsae Weiser เชื้อรา เช่น Trichoderma spp.หรือศัตรูธรรมชาติอื่นๆ เช่นแมลงตัวห้ำ ตัวเบียน เป็นต้น
- การป้องกันกำจัดโดยใช้สารสกัดจากพืช เช่น สะเดา เป็นพืชที่มีประโยชน์ใช้เป็นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้หลายชนิด เช่น หนอนใยผัก หนอนหนังเหนียวหนอนกระทู้ชนิดต่างๆ หนอนเจาะยอด หนอนชอนใบ เป็นต้น
- การป้องกันกำจัดโดยใช้สารเคมี การใช้สารเคมี ควรใช้ให้ถูกต้องตามชนิดของศัตรูพืช อัตราการใช้และทิ้งช่วงของระยะการเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อให้สารเคมีสลายตัว ไม่มีสารเคมีตกค้างในผลผลิต

การใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร

การใช้สารเคมีที่ถูกต้อง ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช เช่น

  • ให้เลือกใช้ในชนิด อัตรา และระยะเวลาตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
  • สารเคมีที่ถูกต้องตามกฎหมายมีเลขทะเบียนวัตถุอันตราย และมีคำแนะนำบนฉลากว่าให้ใช้กับหน่อไม้ฝรั่งหรือพืชผัก
  • ต้องไม่ใช้สารเคมีที่เป็นวัตถุอันตรายที่ห้ามใช้ทางการเกษตร ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
  • ห้ามใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ประเทศคู่ค้าห้ามใช้
  • ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำที่ระบุในฉลากของสารเคมีที่ใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องหยุดใช้สารเคมีก่อนการเก็บเกี่ยวตามเวลาที่ระบุไว้อย่างเคร่งครัด
  • บันทึกการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชไว้เป็นหลักฐานทุกครั้ง

ผลิตหน่อไม้ฝรั่งที่ปลอดจากศัตรูพืช ปราศจากตำหนิจากการเข้าทำลายของศัตรูพืชและ

สาเหตุอื่น ปฏิบัติดังนี้

  1. ตรวจสอบและคัดแยกต้นหน่อไม้ฝรั่งที่มีผลผลิต (หน่อ)ถูกทำลายจากศัตรูพืช และหรือพบศัตรูพืชติดอยู่ที่หน่อ โดยอาจจะทำเครื่องหมายเพื่อคัดแยกต้นที่หน่อมีร่องรอยการเข้าทำลายของศัตรูพืช และแยกเก็บเกี่ยว
  2. ตรวจสอบและคัดแยกทุกหน่อหลังเก็บเกี่ยว
  3. อุปกรณ์ที่ใช้เก็บเกี่ยว คัดแยก ต้องสะอาด ภาชนะบรรจุภายในควรมีวัสดุป้องกันการเกิดรอยตำหนิ การขูดข่วน

การผลิตหน่อไม้ฝรั่งให้ได้คุณภาพ ปฏิบัติดังนี้

การเพาะกล้า

1) เริ่มตั้งแต่การใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดี จากแหล่งที่เชื่อถือได้
2) อายุกล้าที่เหมาะสมในการย้ายปลูก คือ 4 เดือน ต้นกล้าที่มีลักษณะดีซึ่งจะให้หน่อใหญ่และ

ผลผลิตสูงมีลักษณะดังนี้

- มีรากสะสมอาหารจำนวนมากและมีรากใหญ่
- มีลำต้นเหนือดินมาก
- มีตาขนาดใหญ่เป็นจำนวนมากอยาติดกับตอที่อยู่ใต้ดิน

การจัดการปุ๋ย

ปุ๋ยอินทรีย์มีความจำเป็นสำหรับการปลูกหน่อไม้ฝรั่ง นอกจากช่วยปรับปรุงคุณสมบัติของดินให้ดีขึ้นแล้วยังช่วยในเรื่องการเจริญของราก การใส่ปุ๋ยเคมีควรมีฟอสฟอรัสและโปแตสเซียมอย่างเพียงพอในบริเวณราก ควรมีการวิเคราะห์ดินเพื่อตรวจสอบธาตุอาหารในดิน เพื่อเป็นแนวทางในการใส่ปุ๋ย

การพักต้น

หน่อไม้ฝรั่งที่ปลูกในเขตร้อนเช่นประเทศไทย สามารถเก็บได้ตลอดไม่มีการพักตัว แต่ควรให้หน่อไม้ฝรั่งมีการพักเพื่อให้มีอาหารสำรองพอเพียงสำหรับการเจริญของหน่อใหม่ โดยพิจารณาจากหน่อไม้ฝรั่งให้หน่อที่มีขนาดเล็กลง เว้นระยะเก็บเกี่ยว ตัดแต่งกิ่งก้านและลำต้น ถอนต้นแก่และต้นที่เป็นโรคทิ้ง โดยเฉพาะควรทำในต้นฤดูฝน และต้นฤดูหนาว ไม่ควรตัดแต่งต้นที่ยังอ่อน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย