สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>
โรคไข้เหลือง
(Yellow Fever)
สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค
เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเฉียบพลันระยะสั้นและความรุนแรงหลากหลาย ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงจะแยกไม่ออกจากโรคติดเชื้อชนิดอื่น อาการที่เป็นลักษณะชัดเจนจะมีไข้เฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดหัว ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อทั่วไป อ่อนเปลี้ยหมดเรี่ยวหมดแรง คลื่นไส้และอาเจียน ชีพจรจะช้าและอ่อนไม่เป็นสัดส่วนกับอุณหภูมิที่ขึ้นสูง (อาการ paget) จะมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง (ดีซ่าน) ปานกลางในระยะแรกและมากขึ้นในระยะต่อมา ไข่ขาวในปัสสาวะ (บางครั้งเป็นมาก) หรืออาการไม่มีน้ำปัสสาวะอาจจะเกิดขึ้นได้ เม็ดเลือดขาวขึ้นสูงตั้งแต่ระยะแรกและมากขึ้นอีกในวันที่ 5 ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นในระยะนี้ โรคอาจจะสงบอยู่หลายชั่วโมงหรือเป็นวัน
หลายรายลุกลามเป็นระยะต่อไปโดยมีอาการเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ เช่น เลือดกำเดาไหล
เลือดออกที่เหงือก (เป็นสีกาแฟหรือสีดำ) อุจจาระ ตับและไตล้มเหลว
ผู้ป่วยดีซ่านร้อยละ 20 - 50 จะเสียชีวิต
อัตราตายจากโรคโดยรวมของผู้ป่วยในพื้นที่ที่มีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่นน้อยกว่าร้อยละ
5 การวินิจฉัยจากห้องปฏิบัติการทำได้
โดยการแยกเชื้อไวรัสจากเลือดโดยการปลูกเชื้อไวรัสในลูกหนูยังไม่อดนม
ยุงหรือในเซลล์เพาะเลี้ยง (โดยเฉพาะเซลล์ของยุง) การตรวจพบแอนติเจนของไวรัสในเลือด
โดยวิธี ELISA การตรวจพบแอนติเจนของไวรัสในตับโดยใช้แอนติบอดีติดฉลากเฉพาะ
การตรวจพบ genome ของไวรัสในเลือดและในเนื้อเยื่อตับด้วยวิธี PCR หรือ
hybridization probes ส่วนวิธีวินิจฉัยทางน้ำเหลืองใช้ตรวจ IgM จำเพาะใน serum
ที่เจาะครั้งแรก หรือตรวจระดับแอนติบอดีใน serum ที่เจาะ
สองครั้งในช่วงเป็นโรคและระหว่างฟื้นไข้
การตรวจทางน้ำเหลืองอาจพบปฏิกิริยาสนองข้ามกลุ่มของ flavivirus ตัวอื่นๆ
ส่วนการติดเชื้อปัจจุบันจะแยกจากภูมคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีนได้ โดยการทดสอบ
complement fixation การวินิจฉัยจะยืนยันได้จากการตรวจพบแผลต้นแบบในตับ
เชื้อก่อโรคไวรัสเชื้อโรคไข้เหลือง อยู่ใน genus Flavirius และ
family Flaviviridae
การเกิดโรค
โรคไข้เหลืองตามธรรมชาติเกิดได้ 2 วงจร คือวงจรในป่า
(sylvatic cycle) ประกอบด้วยยุงกับลิง และวงจรในเมือง (urban cycle) ประกอบด้วยยุง
Aedes aegypti กับมนุษย์
การแพร่โรคของวงจรในป่าจะจำกัดอยู่เฉพาะเขตร้อนแถบแอฟริกาและอเมริกาใต้
มีรายงานผู้ป่วย 200 - 300 รายต่อปี
ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยรุ่นผู้ชายที่มีอาชีพทำงานอยู่ในป่าหรือบริเวณชายป่าในโบลิเวีย
บราซิล โคลัมเบีย เอกวาดอร์ และเปรู (ประมาณร้อยละ 70 - 90
เป็นผู้ป่วยรายงานจากโบลิเวียและเปรู)
ประวัติโรคไข้เหลืองในเขตเมืองมีผู้ป่วยเกิดขึ้นในหลายเมืองของทวีปอเมริกา
ส่วนปัจจุบันมีรายงานพานะนำโรคไข้เหลือง Aedes aegypti จากประเทศไนจีเรีย
ทำให้เกิดโรคไข้เหลืองเกือบ 20,000 ราย เสียชีวิตกว่า 4,000 ราย ในระหว่างปี พ.ศ.
2529 - 2534 ถ้าไม่นับการเกิดโรค 2 - 3 ราย ในประเทศทรินิแดดในปี พ.ศ. 2497
ทวีปอเมริกาจะไม่มีรายงานโรคไข้เหลืองระบาดเลยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2548
อย่างไรก็ตามเมืองใหญ่ๆในทวีปอเมริกาเริ่มมียุงลายเพิ่มจำนวนมากขึ้นทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคไข้เหลืองในอนาคต
ในทวีปแอฟริกาบริเวณที่มีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่นอยู่ระหว่างเส้นรุ้ง 15 เหนือ กับ
10 ใต้ กินพื้นที่ตั้งแต่ทะเลทรายสะฮาราลงไปจนถึงตอนเหนือของแองโกลา ซาอีร์
และแทนซาเนีย
ไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าโรคไข้เหลืองเกิดขึ้นในทวีปเอเซียหรือฝั่งทะเลตะวันออกสุดของทวีปแอฟริกา
แม้จะมีรายงานโรคไข้เหลืองในป่าจากเคนยาตะวันตกระหว่างปี พ.ศ. 2535 - 2536 ก็ตาม
แหล่งรังโรค
ในเขตเมือง มนุษย์ และยุลายคือแหล่งรังโรค ส่วนในป่า
เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังชั้นสูงที่ไม่ใช่มนุษย์ เช่น ลิง และสัตว์มีถุงหน้าทอง
และยุงป่า การแพร่โรคผ่านยุงต่างชนิดอาจทำให้โรคยังคงเกิดอยู่
แต่มนุษย์ไม่มีบทบาทสำคัญในการแพร่โรคของวงจรในป่าหรือทำให้ไวรัสยังคงวนเวียนในวงจรอยู่ตลอดเวลา
แต่สำหรับวงจรในเมืองนั้นมนุษย์เป็นหน่วยแรกที่ทำหน้าที่ขยายพันธุ์ไวรัส (primary
amplifying host)
วิธีการแพร่โรค
ในท้องที่เขตเมืองหรือชนบทบางแห่งโรคแพร่ระบาดเพราะมนุษย์ถูกยุงลายติดเชื้อกัด
ในเขตป่าของทวีปอเมริกาใต้โรคแพร่เพราะถูกยุงป่าหลายสายพันธุ์ใน Genus Haemagogus
กัด ในแถบตะวันออกของทวีปแอฟริกา ยุง Aedes africanus เป็นพาหะของประชากรลิง
ในขณะที่ยุงกึ่งป่ากึ่งบ้านชื่อ Aedes bromeliae และ Aedes simpsoni
หรืออาจจะเป็นกลุ่ม Aedes อื่นๆ เป็นพาหะนำโรคจากลิงสู่คน
ส่วนการระบาดในเอธิโอเปียทำให้ได้หลักฐานทางระบาดวิทยาว่า ยุงชื่อ Aedes simpsoni
เป็นพาหะนำโรคจากคนสู่คน ในแถบตะวันตกของทวีปแอฟริกา ยุง Aedes furcifer-taylori,
Aedes luteocephalus และสายพันธุ์อื่นๆ เป็นพาหะแพร่โรคระหว่างลิงกับมนุษย์ ยุงชื่อ
Aedes albopictus ของเอเซียที่ถูกนำเข้าประเทศบราซิลและสหรัฐอเมริกา
มีศักยภาพพอที่จะเป็นพาหะเชื่อมวงจรในป่ากับวงจรในเมืองได้ในซีกโลกตะวันตก
อย่างไรก็ตามยังไม่มีหลักฐานว่ายุงสายพันธุ์นี้เป็นพาหะแพร่เชื้อ
ระยะฟักตัวของโรค :
3 - 6 วัน
ระยะติดต่อของโรค
เลือดของผู้ป่วยก่อนมีไข้เล็กน้อยและใน 3 - 5 วันแรกที่ป่วย
จะมีเชื้อไวรัสส่งต่อไปให้ยุงที่มากัดได้
โรคจะติดต่อได้อย่างง่ายดายถ้ามีผู้ป่วยที่ไวต่อการติดเชื้อกับพาหะนำโรคอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก
โรคไม่ติดต่อโดยการสัมผัสหรือจับต้องสิ่งของ
ยุงลายที่ดูดเลือดเข้าไปแล้วไวรัสจะใช้เวลาฟักตัว 9 - 12 วัน
ในอุณหภูมิของเขตอากาศร้อนกว่าจะติดเชื้อ และเมื่อติดเชื้อแล้ว
เชื้อจะอยู่ในตัวยุงตลอดชีวิตของยุงนั้น
ความไวและความต้านทานต่อการรับเชื้อ
ผู้ป่วยที่รักษาหายจะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต
ไม่เคยพบว่าผู้ป่วยเป็นโรคไข้เหลืองซ้ำสองครั้ง
การติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการพบได้ทั่วไปในพื้นที่ที่มีโรคไข้เหลืองเป็นโรคประจำถิ่น
ทารกที่เกิดจากแม่ที่มีภูมิคุ้มกันจะมีภูมิคุ้มกันชั่วคราวนาน 6 เดือน
ส่วนการติดเชื้อตามธรรมชาติแอนติบอดีจะปรากฏในเลือดภายในสัปดาห์แรก
วิธีการควบคุมโรค
มาตรการป้องกันโรค
- เริ่มโครงการฉีดวัคซีนให้ประชากรทุกคนที่อายุ 9 ปีขึ้นไป
ที่อาศัยหรือทำงานหรือต้องเดินทางเข้าไปในเขตติดโรค
วัคซีนเชื้อไวรัสไข้เหลืองอ่อนแรงสายพันธุ์ 17D
เพาะในตัวอ่อนลูกไก่ฉีดเข้าใต้ผิวหนังครั้งเดียวมีประสิทธิผลร้อยละ 99
แอนติบอดีเกิดขึ้นภายใน 7 - 10 วันหลังฉีดและอยู่นานอย่างน้อย 30 - 35 ปี
หรืออาจจะนานกว่า แต่กฎอนามัยระหว่างประเทศแนะนำให้ฉีดกระตุ้นทุกๆ 10 ปี
ตั้งแต่ พ.ศ. 2532 องค์การอนามัยโลก แนะนำให้ประเทศที่เสี่ยงต่อการติดโรคในทวีปแอฟริกาในแนวโรคระบาด ควรให้วัคซีนกับเด็กในโครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันปกติ จนถึงเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2537 ประเทศในทวีปแอฟริกา 17 ประเทศ ดำเนินนโยบายตามโครงการดังกล่าว วัคซีนป้องกันโรคชนิดนี้ใช้ง่าย ฉีดเมื่อไรก็ได้หลังอายุ 6 เดือน และให้พร้อมกับวัคซีนชนิดอื่น เช่น วัคซีนป้องกันโรคหัด ห้ามใช้วัคซีนนี้กับทารกแรกเกิดถึง 4 เดือนแรก สำหรับทารก 4 - 9 เดือน จะพิจารณาใช้ก็ต่อเมื่อความเสี่ยงต่อการติดโรคมีมากกว่าไข้สมองอักเสบ ที่เป็นอาการข้างเคียงของวัคซีนในเด็กกลุ่มอายุนี้ ไม่ใช้วัคซีนในคนที่มีข้อห้ามการใช้วัคซีนจากเชื้อไวรัสที่ยังไม่ตาย หรือในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ นอกเสียจากได้ไตร่ตรองแล้วว่าผลดีจากการฉีดวัคซีนมีมากกว่าผลข้างเคียงอย่างไรก็ตามยังไม่พบว่าวัคซ๊น ทำให้ทารกในครรภ์เสียชีวิต แต่ seroconversion ของแม่ต่ำทำให้ต้องพิจารณาฉีดวัคซีนให้แม่ซ้ำหลังคลอดลูกแล้ว แนะนำให้ใช้วัคซีนนี้ในผู้ที่มีผล HIV เป็นบวกแต่ยังไม่มีอาการ หรือแม้แต่ผู้ที่มีอาการแล้วก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าวัคซ๊นทำให้เกิดอันตรายเช่นกัน
- ไข้เหลืองในเขตเมือง : โดยการกำจัดหรือควบคุมยุงลาย
ให้วัคซีนเมื่อมีข้อบ่งชี้
- ไข้เหลืองในเขตป่า : โรคแพร่ระบาดโดยพาหะยุง Haemagogus และสายพันธุ์ยุงลายป่าอีกหลายชนิด การควบคุมที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนซึ่งแนะนำให้ประชาชนที่อาศัยในชนบทและมีอาชีพใกล้ชิดกับป่าในเขตติดโรคไข้เหลืองฉีด และยังแนะนำให้ผู้ที่จะเดินทางเข้าไปในเขตดังกล่าวฉีดด้วย นอกจากนี้สำหรับผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนให้ใช้เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย มุ้ง ยาทากันแมลงเพื่อป้องกันยุงกัด
- การควบคุมผู้ป่วย ผู้สัมผัส และสิ่งแวดล้อม
1. การรายงานโรค : กฎอนามัยระหว่างประเทศขององค์การอนามัยโลกให้รายงานผู้ป่วยโรคนี้ class 1
2. การแยกผู้ป่วย : ระวังเรื่องเลือดและสารน้ำของผู้ป่วย อย่าให้ผู้ป่วยถูกยุงกัดอย่างน้อย 5 วันแรกหลังเกิดอาการโดยให้นอนในห้องติดมุ้งลวด ฉีดยาฆ่าแมลงที่มีฤทธิ์ตกค้างในที่พักและนอนกางมุ้ง
3. การทำลายเชื้อ : ไม่มี สำหรับบ้านของผู้ป่วยและบ้านทุกหลังในบริเวณข้างเคียงควรใช้ยาฆ่าแมลงพ่นให้ทั่ว
4. การกักกัน : ไม่มี
- การให้ภูมิคุ้มกันแก่ผู้สัมผัส :
สมาชิกในบ้านและผู้สัมผัสอื่นและเพื่อนบ้านที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนควรได้รับวัคซีนในทันที
- การสอบสวนผู้สัมผัสและแหล่งโรค : สอบถามสถานที่ทุกแห่ง
รวมทั้งบริเวณป่าที่ผู้ป่วยเดินทางไป 3 - 6 วัน
ก่อนเกิดอาการเพื่อหาจุดต้นตอแหล่งแพร่เชื้อ
เฝ้าสังเกตประชาชนทุกคนที่เข้าไปในแหล่งดังกล่าว ค้นหาบริเวณบ้าน
และสถานที่ที่ผู้ป่วยพักหรือทำงานหรือเดินทางไปก่อนการเจ็บห่วยหลายวัน
เพื่อค้นหายุงพาหะนำโรค กำจัดยุงด้วยยาฆ่าแมลงที่มีคุณภาพ
สืบสวนอาการป่วยไข้เล็กน้อยและสาเหตุการตายที่สงสัยว่าอาจจะมีสาเหตุจากโรคไข้เหลือง
- การรักษา : ไม่มี
มาตรการเมื่อเกิดการระบาด
ไข้เหลืองเขตเมืองหรือที่มียุงลายเป็นพาหะ
- รณรงค์ฉีดวัคซีน เริ่มจากชาวบ้านที่เสี่ยงมากที่สุด และกลุ่มที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มียุงลายอยู่ชุกชุม
- ฉีดพ่นยาฆ่าแมลงในบ้านทุกหลังในชุมชนด้วยยาฆ่าแมลงที่มีคุณภาพในการควบคุมโรคไข้เหลืองระบาดในเขตเมือง
- กำจัดหรือทำลายลูกน้ำในบริเวณแหล่งเพาะพันยุงลาย
ไข้เหลืองในเขตป่า
- ฉีดวัคซีนประชาชนที่อาศัยใกล้ป่าทุกคนในทันที รวมทั้งผู้ที่จะเดินทางเข้าไปในเขตดังกล่าวด้วย
- ให้แน่ใจว่าผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนหลีกเลี่ยงการเข้าไปติดเชื้อในป่าหรือกลุ่มที่ได้รับวัคซีนแล้วจะต้องรออีก 7 วันหลังฉีดจึงจะเดินทางเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวได้
- ในพื้นที่ที่เกิดโรคไข้เหลืองควรจัดให้มีระบบการวินิจฉัยโรคทางเนื้อเยื่อ เพื่อเก็บตัวอย่างตับของผู้ป่วยเสียชีวิตจากไข้ไม่เกิน 10 วันหลังป่วย สถานที่แยกเชื้อไวรัสหรือยืนยันการวินิจฉัยด้วยวิธีการตรวจทางน้ำเหลืองเป็นสิ่งจำเป็น เพราะการตรวจเนื้อเยื่อตับอย่างเดียวไม่ใช่การวินิจฉัยทางพยาธิวิทยาที่จำเพาะของโรคไข้เหลือง
- ในอเมริกากลางและใต้ : ลิง howler และ spider ในป่าที่ตายและยืนยันโรคแล้วเป็นหลักฐานเบื้องแรกว่ามีโรคไข้เหลืองอยู่ในบริเวณนั้น การยืนยันด้วยการตรวจเนื้อเยื่อตับของ ลิงที่ป่วยหนักหรือเพิ่งตายหรือแยกเชื้อไวรัสได้จะเป็นประโยชน์ในการควบคุมมาก
- การสำรวจภูมิคุ้มกันโดยใช้การทดสอบการสะเทิน (neutralization tests) ลิงป่าที่เพิ่งจับได้จะช่วยทำให้ทราบสถานการณ์โรคที่เกิดในหมู่สัตว์ (enzoonosis) การสำรวจทางน้ำเหลืองในมนุษย์ไม่มีประโยชน์ถ้ามีการใช้วัคซีนป้องกันโรคแล้วในวงกว้าง
คัดมาจาก
- โรคติดต่อที่เป็นปัญหาใหม่ เล่ม 3 คู่มือโรคติดต่อที่เป็นปัญหาใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข 2541