สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้  >>

หอมแดง

       หอมแดงมีหลักฐานว่าพบในเขตตะวันออกกลาง แถบประเทศอิหร่าน อัฟกานิสถานและปากีสถาน ด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ช่วยปรุงแต่งรสชาติให้ดียิ่งขึ้น จึงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และกระจายสู่ทวีปเอเชียจนถึงปัจจุบัน หอมแดงปลูกมากในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม

หอมแดงจะปลูกมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ โดยแหล่งผลิตส่วนใหญ่ อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา อุตรดิตถ์ ศรีสะเกษ ชัยภูมิ เป็นต้น พันธุ์ที่นิยมปลูกมากได้แก่

  • พันธุ์ศรีสะเกษ มีลักษณะเด่นคือ เปลือกนอกหนาสีม่วงแดง หัวกลมป้อม กลิ่นฉุน รสหวาน ใบสีเขียวเข้ม มีนวลจับเล็กน้อย นิยมปลูกมากในจังหวัดศรีสะเกษ
  • พันธุ์เชียงใหม่ มีลักษณะเด่นที่เปลือกบาง สีส้มอ่อน หัวกลมรี กลิ่นไม่ฉุนจัดมีส่วนสูงมากกว่า ส่วนกว้าง รสหวาน หัวจะแยกเป็นกลีบชัดเจน ไม่มีเปลือกหุ้ม ใบสีเขียว มีนวลจับเล็กน้อย นิยมปลูกมากในจังหวัดอุตรดิตถ์ เชียงใหม่
  • พันธุ์พื้นเมือง มีลักษณะเด่นที่เปลือกสีขาวหรือขาวอมเหลือง กลิ่นไม่ฉุน รสหวาน

หอมแดงได้รับความนิยมในการบริโภคมาก เห็นได้จากทุกครัวไทยจะต้องมีหอมแดงเตรียมไว้เสมอ หอมแดงเป็นองค์ประกอบสำคัญของอาหารไทยแทบทุกชนิด ทั้งประเภทแกงเผ็ด แกงเลียง ต้มยำ หลน ยำ ลาบ น้ำพริกต่างๆ เครื่องเคียงข้าวซอย หรือในขนมหวาน ด้วยเพราะเหตุผลที่หอมแดงช่วยดับกลิ่นคาว เพิ่มรสชาติของอาหาร จากข้อมูลพบว่ามีสัดส่วนการบริโภคหอมแดงในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 78 และส่งออกในรูปหอมแดงสด หอมแดงแห้งและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ร้อยละ 22

ในปัจจุบัน มีการบริโภคหอม ซึ่งในท้องตลาดพบว่ามีหอมแขกได้รับความนิยมจากผู้บริโภค แต่ความเป็นจริงแล้ว หอมแขกที่บริโภค ไม่ใช่หอมแดง เพราะด้วยความแตกต่างทางด้านกายภาพ ลักษณะภายใน การเจริญเติบโตและที่สำคัญคุณค่าทางอาหารที่ได้รับนับว่าน้อยกว่าหอมแดงมาก จึงเชิญชวนให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคหอมแดงให้มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงคุณประโยชน์อย่างแท้จริงของหอมแดง โดยเฉพาะคุณค่าทางโภชนาการ และการใช้ประโยชน์และสรรพคุณทางยา



คุณค่าทางโภชนาการ
หอมแดงมีคุณค่าทางโภชนาการสูงอุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี มีธาตุฟอสฟอรัสสูง ในหอมแดง 100 กรัมมีโปรตีน 2.7 กรัม คาร์โบไฮเตรต 12.6 กรัม ไขมัน 0.2 กรัม น้ำตาลหลาย ๆ ชนิดรวม 10.6 กรัมและมีพลังงานเพียง 63 กิโลแคลอรี เปรียบกับหอมแขกแล้ว หอมแดงมีกลิ่นฉุนกว่า แต่คงให้คุณค่าทางอาหารสูง ดังนั้น ควรจะส่งเสริมการบริโภคหอมแดงตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อให้ชื่นชอบกับหอมแดงมากขึ้น

สารสำคัญในหอมแดง
ในหอมแดงสดจะประกอบไปด้วยน้ำมันหอมระเหย ซึ่งประกอบด้วย ไดอัลวินไดรซัลไฟด์ (Diallytrisulfide) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) กลัยโคไซด์ (Glycosides) เพคติน (Pectin) และกลูโคคินิน (Glucokinin)

สรรพคุณและวิธีใช้
สรรพคุณทางยา มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ การบริโภคหอมแดงเป็นประจำจึงสามารถลดระดับคลอเรสเตอรอลและช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ลดไขมันในเส้นเลือดที่เป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ สารในหอมแดงมีคุณสมบัติต้านหรือยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์และแบคทีเรียด้วย

โบราณไทยใช้หอมแดงแก้หวัดโดยใช้หัวหอมตำ สุมหัวเด็ก ลดอาการคัดจมูก แก้ไข้อ่อนๆ เหมาะใช้กับทารก หัวหอมสด 15-30 กรัม ต้มเอาน้ำกินแก้ท้องเดิน ท้องอืดแน่น ขับลม น้ำหัวหอมใช้ดมเวลาเป็นลม เป็นยาบำรุงหัวใจ นำหัวหอมมาย่างไฟ หรือฝานบางๆ ใช้พอกแผล ฝีหรือสิว ลดอาการอักเสบ แก้บวมช้ำ ทำให้ร่างกายอบอุ่น ขับเหงื่อ

การเลือกซื้อ
ควรเลือกซื้อหอมแดงที่แห้งสนิท ไม่ฝ่อ หัวมีสีสดใส เป็นมัน มีหัวเดี่ยวหรือหัวยังไม่แยกออก มีขนาดที่ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป ไม่มีเชื้อราขึ้น ใบต้องแห้ง รากตัดสั้น รากไม่เน่าซึ่งจะบ่งบอกว่าเก็บได้นาน

การเก็บรักษา
หอมแดงมัดจุก อาจจะแขวนในที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก อาจจะอยู่ในรูปหอมแดงแห้งในถุงตาข่าย ควรจะเก็บในสภาพที่แห้ง โปร่ง หากได้รับความชื้นอาจเกิดเชื้อรา และมีการสร้างหน่อและรากได้

เกร็ดความรู้

หั่นหอมอย่างไรไม่ให้ร้องไห้

เมื่อเราหั่นหอม จะเกิดแก๊สที่ระเหยง่าย ฟุ้งกระจายในอากาศ เข้าสู่ตาและจมูก ทำให้ดวงตาเกิดการระคายเคือง น้ำตาไหล
กลเม็ดในการป้องกันน้ำตาไหลเวลาหั่นหอม มีวิธีที่น่าลองดังนี้

  • ลอกเปลือกหอมและแช่ในตู้เย็น ประมาณ 30 นาที ก่อนที่นำมาหั่นเพื่อลดอุณหภูมิในการระเหยของแก๊ส
  • หั่นหัวหอมใต้น้ำไหล เพื่อให้แก๊สละลายน้ำไป
  • ล้างมือและหัวหอมให้เปียกก่อนหั่น เพื่อให้น้ำที่มือและหัวหอมทำปฏิกิริยาเคมีกับแก๊ส
  • หั่นหัวหอมใต้พัดลมดูดควัน เพื่อกำจัดแก๊สที่เกิดขึ้น
  • ลับมีดให้คม เพราะมีดที่ทื่อจะทำลายเซลล์ของหัวหอมมากกว่ามีดที่คม

แหล่งที่มา

  • สุกัญญา ตู้แก้วและสมภูมิ พรรณอภัยพงศ์. 2551. คู่มือนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร หอมแดง. กรุงเทพฯ:
  • โรงพิมพ์สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมส่งเสริมการเกษตร.
  • ศูนย์สารสนเทศทางการเกษตร. 2551. ข้อมูลพื้นฐานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2550. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด อรุณการพิมพ์.
  • กองโภชนาการ. 2544. ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์องค์การทหารผ่านศึก
  • ชยันต์ พิเชียรสุนทร แม้นมาส ชวลิตและวิเชียร จิรวงศ์. 2542. คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์. กรงเทพฯ :
  • บริษัท อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พลับบลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).
  • มูลนิธิสุขภาพไทย. 2541. กระเทียม ยอดสมุนไพรในครัวเรือน. กรุงเทพฯ : บริษัทเคล็ดไทย จำกัด.
  • วีณา เชิดบุญชาติ. 2543. ปลูกผักไทยได้ทั้งอาหารและยา. กรงเทพฯ : บริษัทอัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พลับบลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).
  • มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยและสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล. 2541. มหัศจรรย์ผัก 108. กรุงเทพฯ : บริษัทเคล็ดไทย จำกัด
  • ราชบัณฑิตยสถาน. 2547. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพฯ : หจก. อรุณการพิมพ์.
  • คณะเภสัชศาสตร์ มหิดล.2539. สมุนไพรไม้พื้นบ้าน 1. กรุงเทพฯ : บริษัทประชาชนจำกัด.
  • อรวรรณ สัมฤทธิ์เดชขจร. 2549. รหัสลับหัวหอม. เมนูสุดเศร้า. วารสารเทคโนโลยีวัสดุ ฉบับที่ 43 เมษายน-มิถุนายน 2549.

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย