สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>
โรคกระดูกพรุน
รศ.ศุภศิลป์ สุนทราภา ภาควิชาออร์โธปิดิกส์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โรคกระดูกพรุนเป็นภัยเงียบที่มีอันตรายสูง เทียบได้กับคลื่นยักษ์ซึนามิที่ก่อนจะทำลายล้างทุกอย่างที่ขวางหน้าจะไม่มีสิ่งบอกเหตุใด จะรู้ต่อเมื่อมันได้ซัดทุกอย่างหายไปกับตาเท่านั้น โรคกระดูกพรุนก็เช่นกัน หากไม่มีการตรวจวัดค่ามวลกระดูกและไม่ได้ใช้เกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกแล้ว จะไม่มีทางทราบได้เลยว่าบุคคลใดเป็นโรคกระดูกพรุนและหากละเลยสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือมีกระดูกหัก ซึ่งยังผลเสียต่อผู้นั้นอย่างมหาศาล หากไม่ถึงกับเสียชีวิตก็อาจทำให้คุณภาพชีวิตลดลงอย่างมากหรืออาจถึงกับไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้
โรคกระดูกพรุนคือความผิดปกติของกระดูกที่ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลง
ทำให้ผู้นั้นเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักเพิ่มขึ้น
โดยความแข็งแรงของกระดูกนี้เกิดจากสองปัจจัยรวมกันคือ ความหนาแน่นของกระดูก
และคุณภาพของกระดูก
ความหนาแน่นของกระดูกสามารถตรวจวัดได้ด้วยเครื่องตรวจวัดค่าความหนาแน่นของกระดูก
ในปัจจุบันเครื่องตรวจวัดค่าความหนาแน่นของกระดูกโดยใช้รังสีเอ็กซ์
ถือเป็นเครื่องมือมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก
รูปเครื่องตรวจวัดค่าความหนาแน่นของกระดูกด้วยรังสีเอ็กซ์
(DEXA = Dual Energy X-ray Absorptioometry)
สำหรับคุณภาพของกระดูกประกอบด้วยคุณลักษณะใหญ่ๆ 4 ประการคือ
1. โครงสร้างภายในของกระดูก (bone microarchitecture) รูปที่ 2
หมายถึงโครงสร้างทางจุลภาคภายในกระดูก ซึ่งมีลักษณะสานต่อกันเป็นร่างแห
จากการสานต่อกันเช่นนี้ทำให้มีความสามารถรับแรงกดอัดได้อย่างมาก Silva MJ และคณะ
(1997)2
ได้ศึกษาถึงความสามารถรับแรงอัดของกระดูกพบว่ากระดูกหากลดค่ามวลกระดูกลงเท่าๆกันคือร้อยละ
10 โดยชิ้นหนึ่งไปลดที่ความหนาของเสี้ยนกระดูก (decrease trabecular thickness)
ขณะอีกชิ้นหนึ่งไปลดจำนวนเสี้ยนกระดูกที่เชื่อมขวาง (decrease cross-trabeculae or
decrease trabecular number)
พบว่าความสามารถในการรับแรงอัดของกระดูกที่ลดความหนาลงจะลดลงร้อยละ 20
ในขณะที่กระดูกที่ลดจำนวนเสี้ยนกระดูกที่เชื่อมขวางความสามารถในการรับแรงอัดลดลงถึงร้อยละ
70
สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าเสี้ยนกระดูกเชื่อมขวางมีความสำคัญอย่างมากต่อความแข็งแรงของกระดูก
กระดูกปกติ กระดูกพรุน
รูปแสดงโครงสร้างภายในของกระดูกสองชนิด
รูปซ้ายมือเป็นโครงสร้างของกระดูกปกติ ส่วนรูปขวามือเป็นโครงสร้างของกระดูกพรุน
ลูกศรสีเหลืองแสดงถึงเสี้ยนกระดูกเชื่อมขวางที่ขาดหายไป
ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลงอย่างมาก
2. การหมุนเวียนของกระดูก (bone turnover) รูปที่ 3
โดยการหมุนเวียนของกระดูกสามารถแบ่งย่อยๆเป็น 5 ขั้นตอนดังนี้
-
ขั้นตอนการกระตุ้น โดยเซลล์สร้างกระดูกที่อยู่บริเวณผิวกระดูกจะปล่อยสารเคมีออกมากระตุ้นให้เซลล์สลายกระดูกชนิดที่ไม่มีฤทธิ์กลายเป็นเซลล์สลายกระดูกที่มีฤทธิ์
-
ขั้นตอนการสลายกระดูก ในขั้นตอนนี้เซลล์สลายกระดูกที่มีฤทธิ์จะทำการย่อยสลายกระดูก จนกลายเป็นแอ่งเว้าลงของกระดูก
-
ขั้นตอนพลิกกลับ ในขั้นนี้เซลล์สลายกระดูกจะหายไป จะมีเซลล์ใหม่เข้ามาในแอ่งเว้าของกระดูกแทนและทำการปรับแต่งกระดูกที่ถูกเซลล์สลายกระดูกกินให้มีผิวเรียบขึ้น
-
ขั้นตอนการสร้างกระดูก ในขั้นนี้เซลล์สร้างกระดูกจะเข้ามาในบริเวณแอ่งเว้าที่ถูกตกแต่งให้เรียบแล้วและทำการสร้างกระดูก
-
ขั้นตอนการสะสมแร่ธาตุของกระดูก เป็นขั้นตอนสุดท้ายของขบวนการปรับแต่งกระดูก ในขั้นนี้จะมีแร่ธาตุเข้ามาสะสมในบริเวณที่มีการสร้างกระดูก
-
ขั้นตอนสุดท้ายคือภาวะสงบนิ่ง คือขั้นตอนที่ไม่มีทั้งการสร้างและการสลายกระดูก กระดูกจะอยู่ในภาวะสงบนิ่ง
รูปแสดงขั้นตอนการหมุนเวียนของกระดูก
การสลายกระดูกจะใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ ในขณะที่การสร้างกระดูกใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน ดังนั้นหากมีอัตราการหมุนเวียนของกระดูกสูง จะทำให้มีหลุมและบ่อของกระดูกเพิ่มขึ้น ทำให้กระดูกมีความเครียดเพิ่มขึ้น และนำไปสู่ภาวะของ microfracture และมีความเสี่ยงต่อกระดูกหักในที่สุด
กระดูกจะมีการหมุนเวียนเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง
แต่จะไม่ซ้ำที่กัน
กระดูกทั่วๆไปจะมีการหมุนเวียนและปรับกระดูกเก่าให้เป็นกระดูกใหม่ทั้งร่างกายใช้เวลาประมาณ
10 ปี
3. การสะสมการสลายของกระดูก (damage accumulation or microfracture)
รูปที่ 4 กระดูกใดยิ่งมีการสลายกระดูกมาก หลุมบ่อของกระดูกจะมีทั่วไป
นำไปสู่การเพิ่มความเครียดต่อกระดูกเพิ่มขึ้น (increase stress riser)
และทำให้กระดูกมีความเสี่ยงต่อกระดูกหักเพิ่มขึ้น
รูปการสะสมการสลายของกระดูก
4. การสะสมแร่ธาตุของกระดูก (bone mineralization) รูปที่ 5 ขบวนการปรับแต่งกระดูก จะมีทั้งการสลายและการสร้างกระดูก โดยขั้นตอนสุดท้ายของการสร้างกระดูกคือการสะสมแร่ธาตุของกระดูก ในขั้นตอนนี้จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยพบว่า 3 ใน 4 ของการสะสมแร่ธาตุในกระดูก จะเกิดขึ้นภายในเวลา 2-3 วัน แต่พบว่าอีก 1 ใน 3 ต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ หลังจากสามเดือน จะไม่พบ osteoid ในลักษณะที่ไม่มีการสะสมแร่ธาตุอีกต่อไป พิสูจน์ได้จากการย้อมสี แต่การสะสมของแร่ธาตุเพิ่มเติมและการปรับสภาวะของผลึกให้สมบูรณ์จะทำให้มีการเพิ่มขึ้นของค่าความหนาแน่นของแร่ธาตุในกระดูกอีกประมาณร้อยละ 10-20 ภายใน 1 หรือ 2 ปี
รูปที่ 5 แสดงการสะสมแร่ธาตุของกระดูก
โรคกระดูกพรุนถือเป็นภัยเงียบ โดยทั่วไปจะไม่มีอาการแสดงใดๆทั้งสิ้น ผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนจะรู้ตัวหรือมีอาการต่อเมื่อ
-
มีกระดูกหักจากอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย เช่นหกล้มเป็นต้น
-
มีอาการปวดหลังโดยไม่ทราบสาเหตุ ส่วนใหญ่มักเกิดจากมีกระดูกสันหลังหักหรือทรุดลง
-
หลังโก่งหรือตัวเตี้ยลง
หากผู้สูงอายุเหล่านี้ไม่ได้รับการรักษาโรคกระดูกพรุนอย่างเหมาะสม
ผลที่ตามมาคือคุณภาพชีวิตจะลดลงหรืออาจถึงเสียชีวิตได้
การวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน
ในปีค.ศ. 1994 องค์การอนามัยโลกได้เสนอเกณฑ์การวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน3
โดยใช้เครื่องตรวจวัดค่ามวลกระดูกเป็นมาตรฐาน แบ่งกระดูกออกเป็น 4 ชนิดดังนี้
-
กระดูกปกติ (normal bone) คือกระดูกที่มีค่ามวลกระดูกอยู่ในช่วง 1 ความเบี่ยงเบนมาตรฐานใต้ต่อค่าเฉลี่ยของสตรีวัยเยาว์ที่มีค่ามวลกระดูกสูงสุด
-
กระดูกโปร่งบาง (osteopenia) คือกระดูกที่มีค่ามวลกระดูกอยู่ระหว่างช่วง 1-2.5 ความเบี่ยงเบนมาตรฐานใต้ต่อค่าเฉลี่ยของสตรีวัยเยาว์ที่มีค่ามวลกระดูกสูงสุด
-
กระดูกพรุน (osteoporosis) คือกระดูกที่มีค่ามวลกระดูกอยู่ใต้ต่อค่าเฉลี่ยของสตรีวัยเยาว์ที่มีค่ามวลกระดูกสูงสุด 2.5 หรือต่ำกว่าของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
-
กระดูกพรุนอย่างรุนแรง (severe or established osteoporosis) คือกระดูกที่มีค่ามวลกระดูกอยู่ใต้ต่อค่าเฉลี่ยของสตรีวัยเยาว์ที่มีค่ามวลกระดูกสูงสุดต่ำกว่า 2.5 เท่าของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานร่วมกับมีกระดูกหัก
ความชุกและความสำคัญของโรคกระดูกพรุน
ในปีค.ศ. 2002 national osteoporosis foundation ของประเทศสหรัฐอเมริกา
พบว่าคนอเมริกาจำนวน 10 ล้านคนพบเป็นโรคกระดูกพรุน และมีจำนวนสูงถึง 34
ล้านคนมีมวลกระดูกต่ำ
และพบว่าในแต่ละปีประชากรชาวอเมริกาจะมีกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนมากกว่า 1.5
ล้านคนต่อปี ในจำนวนนี้ 3 แสนคนเป็นกระดูกสะโพกหัก และ 7 แสนคนเป็นกระดูกสันหลังหัก
และเป็นกระดูกบริเวณข้อมือหัก 250,000 คน และกระดูกส่วนอื่นๆหัก 300,000 คน
(สามารถสืบค้นได้จาก www.nof.org) นอกจากนี้จากการศึกษาของ Melton LJ และคณะ4 และ
Chrischilles EA และคณะ5 ยังพบว่าสตรีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปและเป็นโรคกระดูกพรุน
ร้อยละ 40-50 ของสตรีเหล่านี้ตลอดชั่วชีวิตจะมีกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนอย่างน้อย
1 แห่ง
ผู้ป่วยที่มีกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนพบมีคุณภาพชีวิตที่ลดลงและยังพบว่าผู้ป่วยเหล่านี้จะมีอายุสั้นกว่าผู้สูงอายุที่มีอายุเดียวกันในทั้งกระดูกสันหลังและกระดูกสะโพกหัก
จากข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนภายหลังกระดูกสะโพกหักจากโรคกระดูกพรุน ใน
ESCORTE study (2005)6 พบว่าร้อยละ 14.7
ของผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักจากโรคกระดูกพรุนเสียชีวิตภายใน 6
เดือนและส่วนใหญ่จะเสียชีวิตจากภาวะโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เป็นอยู่เก่า
และพบว่าภายหลังรักษา 6 เดือน ร้อยละ 75 ต้องรักษาตัวในสถานพักฟื้น ขณะที่ร้อยละ 25
สามารถกลับพักในบ้านตนเองได้ และพบว่าประมาณครึ่งหนึ่งสามารถเดินเองได้
นอกนั้นต้องใช้เครื่องช่วยหรือบางรายต้องนอนกับเตียงอย่างเดียว
เอกสารอ้างอิง
- Osteoporosis prevention, diagnosis, and therapy. JAMA 2001; 285(6):785-95.
- Silva MJ, Gibson LJ. Modeling the mechanical behavior of vertebral trabecular bone: effects of age-related changes in microstructure. Bone 1997; 21(2):191-9.
- Assessment of fracture risk and its application to screening for postmenopausal osteoporosis. Report of a WHO Study Group. World Health Organ Tech Rep Ser 1994; 843:1-129.
- Melton LJ 3rd, Chrischilles EA, Cooper C, Lane AW, Riggs BL. Perspective. How many women have osteoporosis? J Bone Miner Res 1992; 7(9):1005-10.
- Chrischilles EA, Butler CD, Davis CS, Wallace RB. A model of lifetime osteoporosis impact. Arch Intern Med 1991; 151(10):2026-32.
- Rosencher N, Vielpeau C, Emmerich J, Fagnani F, Samama CM. Venous thromboembolism and mortality after hip fracture surgery: the ESCORTE study. J Thromb Haemost 2005; 3(9):2006-14.