สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>
มะขามเทศ
เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่
ลำต้นมีหนาม ใบบางและเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ ดอกช่อ ขนาดเล็ก สีขาว
เห็นเกสรตัวผู้เป็นพู่ชัดเจน ผลเป็นฝักโค้งเป็นปล้องๆ ฝักอ่อนสีเขียว
เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีชมพูหรือแดง เนื้อในเป็นสีชมพูหรือสีขาว รสหวานหรือหวานอมฝาด
ถ้าทิ้งไว้นาน เนื้อจะนุ่ม รสหวานจัดขึ้น แต่ถ้านานเกินไปจะมีกลิ่นเหล้าออกมา
เมล็ดสีดำ มีปล้องละ 1 เมล็ด
การเตรียมต้นให้พร้อมสำหรับการออกดอก
- การตัดแต่งกิ่ง หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตมะขามเทศ ให้ตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรค กิ่งแห้ง กิ่งฉีกหักเสียหายเนื่องจากการเก็บเกี่ยว และกิ่งแขนงในทรงพุ่ม เพื่อควบคุมทรงพุ่มและความสูงไม่เกินมากนัก เพื่อสะดวกในการดูแลรักษา และเก็บเกี่ยวผลผลิต
- การจัดการปุ๋ย หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตหรือตัดแต่งกิ่ง
เพื่อช่วยบำรุงต้นให้มีความสมบูรณ์
ซึ่งการใส่ปุ๋ยจะเปลี่ยนสูตรไปตามระยะเวลาของความต้องการ ได้แก่
หลังเก็บเกี่ยวผลผลิต ใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 เพื่อช่วยบำรุงต้นให้มีความสมบูรณ์เหมือนเดิม
ก่อนออกดอก ใส่ปุ๋ยเคมีที่มีธาตุไนโตรเจนต่ำๆ เช่นสูตร 8-24-24 หรือ 9-24-24 เพื่อช่วยให้ต้นมีการเก็บสะสมอาหารในการสร้างตาดอก
ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของฝักและใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 ในช่วงฝักเริ่มแก่เพื่อปรับปรุงคุณภาพเนื้อให้มีรสชาติดีขึ้น - การให้น้ำ ควรมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ และควรงดการให้น้ำในช่วงก่อนออกดอกเพื่อให้มะขามเทศพักตัวและสะสมอาหารเตรียมพร้อมที่จะออกดอก และเมื่อติดดอกออกฝักแล้วจึงเริ่มให้น้ำตามปกติ แต่ควรระวังในช่วงฝักเริ่มแก่เพราะถ้าให้น้ำมากเกินไปในช่วงนี้ จะทำให้คุณภาพของฝักไม่ดี ฝักแตกเร็ว เนื้อไม่แน่นและรสชาติไม่ดี
- การป้องกันกำจัดศัตรูพืช มะขามเทศเป็นพืชที่มีโรคและแมลงรบกวนน้อย จะมีรบกวนใน
ช่วงของการออกดอกใหม่ ๆ หากมีการพ่นสารเคมีควรพ่นเท่าที่จำเป็นและควรหยุดพ่นก่อนเก็บเกี่ยวฝักอย่างน้อย 15 วัน เพื่อป้องกันสารเคมีตกค้างในฝักเพราะมะขามเทศเมื่อใกล้เก็บเกี่ยวเนื้อจะปริพองทำให้เปลือกของฝักแตกออก และสารเคมีอาจไปสัมผัสได้ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
วิธีการจัดการเพื่อให้ได้ผลผลิตมะขามเทศปลอดจากศัตรูพืช
- การสำรวจการเข้าทำลายของแมลง ในแต่ละระยะเวลาของการเจริญเติบโต โดยทำการสำรวจทุก 7-10 วัน เพื่อประเมินจำนวน/หรือความเสียหายระดับเศรษฐกิจแล้วทำการป้องกันกำจัดตามคำแนะนำ
- เก็บเกี่ยวในระยะที่เหมาะสม เนื่องจากมะขามเทศเป็นพืชที่มีความแก่ไม่พร้อมกัน จึงต้องทยอยเรื่อยๆ เลือกฝักที่เปลือกเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีชมพู-แดง-แดงเข้มแล้วแต่ชนิดพันธุ์
- เก็บเกี่ยวด้วยวิธีการและอุปกรณ์ที่เหมาะสม เช่น ใช้ไม้สำหรับสอยหรือใช้กรรไกรตัดขั้วฝัก แล้วนำมาคัดขนาดและทำความสะอาดก่อนจำหน่าย
วิธีการจัดการเพื่อผลิตมะขามเทศที่ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง
การป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน ได้แก่
- วิธีเขตกรรม เพื่อให้ต้นมีความสมบูรณ์แข็งแรง โดยมีการตัดแต่งกิ่ง การให้น้ำ ให้ปุ๋ย ปรับปรุงดิน ปรับสภาพแวดล้อมไม่ให้เหมาะสมกับศัตรูพืช ช่วยลดการใช้สารเคมี
- วิธีกล / ฟิสิกส์ เพื่อลดปริมาณของศัตรูพืชเช่น กับดักกาวเหนียว กับดักแสงไฟ ทำให้ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม
- วิธีชีววิธี เพื่อใช้ศัตรูธรรมชาติและสารธรรมชาติจากพืชทดแทนการใช้สารเคมี เช่น ใช้สารสะเดา ใช้ตัวห้ำ ตัวเบียน ควบคุมศัตรูพืชทำให้ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม
- วิธีใช้สารเคมี การเลือกซื้อสารเคมีที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ควรแนะนำให้เกษตรกรเข้าใจรายละเอียด บนฉลาก
สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากได้อย่างถูกต้อง และเลือกซื้อสารเคมีที่มีคุณภาพ
โดย
- ไม่ซื้อสารเคมีที่มีฉลากไม่ชัดเจน เลอะเลือน หรือข้อมูลบนฉลากไม่ครบถ้วน เช่น ไม่มีเลขทะเบียน ไม่ระบุผู้ผลิต-ผู้จำหน่าย ไม่มีวัน เดือน ปี ที่ผลิต ฯลฯ
- ไม่ซื้อสารเคมีที่ระบุวัน เดือน ปี ที่ผลิตเกิน 2 ปี
- ไม่เลือกซื้อสารเคมีที่มีราคาถูกกว่าผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิตผู้จำหน่ายอื่นอย่างผิดปกติเกินความเป็นจริง
- ไม่ซื้อสารเคมีจากพ่อค้าเร่ หรือผู้ที่จำหน่ายแบบซ่อนเร้น ปิดบัง
การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องเหมาะสม
- สำรวจและติดตามสถานการณ์ศัตรูพืชและศัตรูธรรมชาติ ช่วยให้ตัดสินใจเลือกใช้สารเคมีถูกต้องตามชนิดของศัตรูพืชเป็นการลดการใช้สารเคมีและต้นทุนการผลิต
- ต้องหยุดใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชก่อนการเก็บเกี่ยวตามระยะเวลาที่ระบุในฉลาก
- ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร (ภาคผนวก ก)
- ห้ามใช้สารเคมีที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 และที่ระบุในรายการสารเคมีที่ประเทศคู่ค้าห้ามใช้ (ภาคผนวก ข)
- ควรพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชในช่วงเช้าหรือเย็นขณะลมสงบ หลีกเลี่ยงการพ่นในเวลาแดดจัดหรือลมแรง และขณะปฏิบัติงานผู้พ่นต้องอยู่เหนือลมตลอดเวลา โดยพ่นจากรอบๆ นอกของแปลงเข้าสู่กลางแปลง
- จดบันทึกการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชไว้เป็นหลักฐานทุกครั้ง
การใช้เครื่องพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่เหมาะสม
เพื่อให้การใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพ
จะต้องมีเทคนิคการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยใช้อัตราพ่น ขนาดของรูหัวฉีดและ
แรงดัน ที่เหมาะสม