วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>

เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังและการป้องกันกำจัด

ชื่อวิทยาศาสตร์ Ferrisia virgata (Cockerell)
ชื่อสามัญ เพลี้ยแป้งลาย (striped mealybug)
วงศ์ Pseudococcidae
อันดับ Homoptera

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

เพลี้ยแป้ง เริ่มพบระบาดในมันสำปะหลังเมื่อต้นปี 2551 และระบาดรุนแรงในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังจังหวัดกำแพงเพชร ระยอง ชลบุรี สระแก้ว ปราจีนบุรี และนครราชสีมา ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเพลี้ยแป้งดูดกินน้ำเลี้ยงตามส่วนต่าง ๆ ของมันสำปะหลัง เช่น ใบ ยอด และส่วนตา ทำให้ลำต้นมีช่วงข้อถี่และบิดงอ ยอดแห้งตาย หรือยอดหงิกเป็นพุ่ม (bunchy top) และหากระบาดขณะพืชยังเล็กอยู่อาจมีผลกระทบต่อการสร้างหัวหรือต้นตายได้ เพลี้ยแป้งจะขับถ่ายมูลของเหลวมีลักษณะเป็นน้ำเหนียว ๆ เรียกว่ามูลหวาน ทำให้เกิดราดำ ทำให้พืชสังเคราะห์แสงได้น้อย การเจริญเติบโตไม่เต็มที่ สำหรับชนิดที่พบระบาดเป็นประจำ คือ เพลี้ยแป้งลาย อีกชนิดที่พบใหม่อยู่ระหว่างการจำแนกชนิด

รูปร่างและชีวประวัติ

ไข่ เพลี้ยแป้งส่วนใหญ่ขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ (Parthenogenesis) คือเพศเมียไม่ต้องได้รับการผสมพันธุ์จากเพศผู้ และอาจออกลูกเป็นไข่ (oviparous) หรือออกลูกเป็นตัว (viviparous) แต่ส่วนใหญ่จะออกลูกเป็นไข่ โดยวางไข่เป็นเม็ดอยู่ในถุงไข่ สีเหลืองอ่อนยาวรี ซึ่งมีใยคล้ายสำลีหุ้มไว้ขนาดกว้าง 0.20 มิลลิเมตร ยาว 0.40 มิลลิเมตร เมื่อใกล้ฟักไข่จะมีสีเข้ม ระยะไข่ 6 – 7 วัน

ตัวอ่อน สีเหลืองอ่อน ลำตัวยาวรี ตัวอ่อนวัยแรก (Crawlers) เป็นวัยที่เคลื่อนที่ได้ ตัวอ่อนลอกคราบ 3 – 4 ครั้ง ระยะตัวอ่อน 18 – 59 วัน ตัวอ่อนวันสุดท้ายมีขนาดกว้าง 1.00 มิลลิเมตร ยาว 2.00 มิลลิเมตร สร้างแป้งและไขแป้งสีขาวหุ้มรอบลำตัวซึ่งจะเป็นเกราะกำบังสารฆ่าแมลงได้เป็นอย่างดี

ตัวเต็มวัยเพศเมีย รูปร่างรูปไข่ค่อนข้างยาว ปลายส่วนท้องแคบกว่าส่วนหัว ลำตัวแมลงปกคลุมด้วยไขแป้งบาง ๆ สีขาว ด้านท้ายของลำตัวมีเส้นแป้งสีขาวความยาวประมาณครึ่งหนึ่งของลำตัว ขนาดตัวเต็มวัย กว้าง 1.83 มิลลิเมตร ยาว 3.03 มิลลิเมตร ระยะตัวเต็มวัยเพศเมีย 11 – 26 วัน หลังจากเป็นตัวเต็มวัยประมาณ 10 วัน จึงเริ่มวางไข่ จำนวนไข่ 37 – 567 ฟองต่อถุงไข่ รวมอายุขัย 35 – 92 วัน

เพลี้ยแป้งจะแพร่กระจายตามลำต้น โคนใบและใต้ใบมันสำปะหลัง สามารถแพร่กระจายไปสู่บริเวณพื้นที่อื่นโดยการ ติดไปกับท่อนพันธุ์หรือกระแสลม นอกจากนี้ยังมีมดเป็นพาหะนำเพลี้ยแป้งกระจายไปสู่มันสำปะหลังต้นอื่น หากสภาพอากาศแห้งแล้งและฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน จะขยายปริมาณอย่างรวดเร็วและอาการถูกทำลายจะรุนแรงมากกว่าฤดูฝน

การป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง

วิธีเขตกรรมและวิธีกล

  1. ควรมีการไถและพรวนดินหลาย ๆ ครั้ง ตากดินอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อลดปริมาณเพลี้ยแป้งและศัตรูชนิดอื่น ที่อยู่ในดิน
  2. ควรปลูกต้นฤดูฝนเพื่อให้มันสำปะหลังแข็งแรง และทนทานต่อการทำลายของเพลี้ยแป้ง
  3. ใช้พันธุ์ที่ราชการแนะนำปราศจากเพลี้ยแป้ง ไม่ควรใช้พันธุ์จากแหล่งที่พบการระบาดของเพลี้ยแป้ง
  4. ถอนต้น หรือตัดส่วนของต้นมันสำปะหลังที่มีเพลี้ยแป้งจำนวนมากออกจากแปลง เผาหรือทำลายและทำความสะอาดแปลง เก็บวัชพืช ซากพืช ออกจากแปลงหลังเก็บเกี่ยวแล้ว

ชีววิธี

เพลี้ยแป้งมีศัตรูธรรมชาติ ทั้งแมลงเบียนและแมลงห้ำคอยควบคุมปริมาณเพลี้ยแป้งให้อยู่ในระดับสมดุลอยู่แล้วในสภาพปกติ ซึ่งที่พบในแปลงเป็นประจำได้แก่ ด้วงเต่า และแมลงช้างปีกใส

การใช้สารฆ่าแมลง

สำรวจแปลงมันสำปะหลังโดยเฉพาะตามแนวขอบแปลง ควรพ่นเฉพาะบริเวณที่พบเพลี้ยแป้ง การพ่นสารจะได้ผลดีเมื่อเพลี้ยแป้งอยู่ในวัยที่ 1 – 2 เนื่องจากยังไม่มีการสร้างแป้งหุ้มลำตัว

สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพดี ได้แก่

  • ไทอะมีโทแซม 25 % ดับบลิวจี อัตรา 4 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
  • ไดโนทีฟูแรน 10 % ดับบลิวพี อัตรา 20 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
  • โปรไทโอฟอส 50 % อีซี อัตรา 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
  • พิริมิฟอสเมทิล 50 % อีซี อัตรา 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
  • ไทอะมีโทแซม/แลมบ์ดาไซฮาโลทริน 24.7 % แซดซี อัตรา 10 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
  • หรือใช้สารชนิดใดชนิดหนึ่งข้างต้น ลดอัตราลงครึ่งหนึ่งผสมกับสารไวท์ออยส์ 67 % อีซี อัตรา 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร

(การผสมสารไวท์ออยสื ควรใช้ไวท์ออยส์ตามอัตราที่กำหนดผสมกับน้ำเพียงเล็กน้อย เติมสารฆ่าแมลงแล้วกวนให้เข้ากัน จากนั้นค่อยเติมน้ำให้ได้ปริมาตรตามที่กำหนด)

ควรพ่นสารฆ่าแมลงติดต่อกันอย่างน้อย 2 ครั้ง เนื่องจากการพ่นสารครั้งเดียวอาจกำจัดได้เฉพาะตัวอ่อนและตัวเต็มวัย แต่ไม่สามารถกำจัดไข่และตัวอ่อนของเพลี้ยแป้งซึ่งอยู่ในถุงที่มีใยสีขาว ควรหยุดการใช้สารก่อนเก็บเกี่ยว 7 วัน กรณีท่อนพันธุ์ที่ได้จากแปลงที่เพลี้ยแป้งระบาด หรือปลูกในแหล่งที่พบการระบาดอยู่ก่อนแล้ว ก่อนปลูกควรจุ่มท่อนพันธุ์ด้วยสารฆ่าแมลง ไทอะมีโทแซม 25 % ดับบลิวจี อัตรา 4 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ประมาณ 5 นาที

ข้อมูล : กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร จตุจักร กรุงเทพ 10900 โทร. 0-2579-5583

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย