วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>

เซลล์สุริยะแห่งยุคนาโนเทค

         มูลค่าของน้ำมันดิบที่นับวันจะยิ่งถีบตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับแหล่งน้ำมันดิบที่เหลือน้อยลงทุกวัน กำลังกลายเป็นแรงกดดันให้นักวิทยาศาสตร์ต้องดิ้นรนแสวงหาพลังงานรูปแบบใหม่มาทดแทน ซึ่งทางเลือกหนึ่งที่เป็นความหวังมาโดยตลอดก็คือพลังงานจากแสงอาทิตย์ อย่างไรก็ตามเนื่องจากเซลล์สุริยะแบบซิลิกอนที่ใช้ในปัจจุบันมีราคาในการติดตั้งสูงมากในขณะที่มีประสิทธิภาพในการแปลงไฟต่ำ ทำให้ไม่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเท่าที่ควร แต่วันนี้นาโนเทคโนโลยีกำลังจะเปลี่ยนเซลล์สุริยะให้มีราคาถูกลงและผลิตได้ครั้งละมากๆ รวมทั้งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากขึ้น ตัวอย่างของการพัฒนาเซลล์สุริยะแบบใหม่ เช่น สีโฟโต้โวลทาอิก (photovoltaic paint) ที่มีลักษณะเป็นฟิล์มบางของพลาสติกซึ่งมีแท่งนาโนของโลหะออกไซด์ทำหน้าที่เป็นตัวรับพลังงานแสง โดยใช้วิธีการผลิตคล้ายๆ กับการพิมพ์เอกสารแบบอิงค์เจ็ต

         นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเซลล์สุริยะแบบเหลว (liquid solar cells) หรือที่เรียกว่าเซลล์สุริยะแบบดายเซนซิไทซ์ ที่มีลักษณะการทำงานคล้ายกับการทำงานของแบตเตอรี่ที่ประกอบด้วย ขั้วบวก ขั้นลบ และสารละลายอิเล็กทรอไลต์ โดยมีลักษณะเป็นฟิล์มแก้วนำไฟฟ้าที่มีการฝังผลึกนาโนของไททาเนียมไดออกไซด์ที่ถูกเคลือบผิวไว้ด้วยสีอินทรีย์ที่ทำหน้าที่ดูดซับแสงได้ โดยมีขั้นตอนการผลิตที่ไม่ซับซ้อนและมีราคาไม่แพงมาก ซึ่งนักวิทยาศาตร์หลายคนได้พยายามหาวิธีการนำเซลล์สุริยะแบบใหม่นี้ไปเคลือบติดกับผนังและหลังคาอาคาร โครงสร้างสะพาน พื้นผิวถนน หรือแม้กระทั่งเสื้อผ้าเพื่อเปลี่ยนแสงให้เป็นไฟฟ้า หรือเอาไปติดไว้กับหลังคาและตัวถังรถยนต์เพื่อใช้เซลล์สุริยะดังกล่าวในการแยกอะตอมไฮโดรเจนออกจากโมเลกุลของน้ำเพื่อป้อนไฮโดรเจนให้กับเซลล์เชื้อเพลิงที่ติดตั้งไว้กับรถยนต์ได้


เซลล์สุริยะแบบดายเซนซิไทซ์

 


เซลล์สุริยะพลาสติก

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย