ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>

เปเล่

เอดิสัน อรันเตส โด นาสซิเมนโต้ ( Edison Arantes do Nascimento) มีชื่อเล่นว่า “ดีโก้” ( Dico) หรือที่เรารู้จักกันดีว่า “เปเล่” เป็นบุตรของ โฮเอา รามอส โด นาสซิเมนโต้ และมาเรีย เซเลสเต้ อรันเตส เขาเกิดเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1940 เขาเกิดและเติบโตขึ้นที่เมืองเตรส โคราคอส ในประเทศบราซิล ครอบครัวของเขามีเชื้อสายปนกันระหว่างแอฟริกากับโปรตุเกส และนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก การที่มีเชื้อสายแอฟริกาจึงทำให้เอดิสันเป็นคนผิวดำ

พ่อของเอดิสันเป็นนักฟุตบอลสังกัดทีมเล็กๆ ที่ไม่โด่งดัง เขาไม่เป็นที่รู้จัก และไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นอาชีพนี้จึงแทบจะทำรายได้เพื่อเลี้ยงครอบครัวไม่ได้เลย แถมในบราซิลในสมัยนั้นการเลี้ยงชีพด้วยการเป็นนักฟุตบอล เป็นอาชีพที่ไม่มั่นคง ส่วนมาเรีย เซเลสเต้ แม่ของเอดิสันก็เป็นหญิงสาวชาวบ้านทำหน้าที่เป็นแม่บ้านเลี้ยงดูลูกๆ ฐานะของครอบครัวนี้จึงเข้าขั้นจนมาก ครอบครัวของเขาก็ต้องย้ายบ้านอยู่เรื่อยๆ ตามแต่ที่พ่อจะได้รับคำเสนอให้ไปเล่นฟุตบอลให้กับทีมนี่ที่อยู่ตามเมืองต่างๆ และพ่อของเขาต้องทำอาชีพทำความสะอาดในโรงพยาบาลเพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัวอีกด้วย

เขตที่ครอบครัวของเขาอยู่นั้นเป็นเขตที่น้ำไม่ไหล ไฟไม่สว่าง การมีไฟฟ้าใช้จึงถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง พ่อของเด็กน้อยต้องการสดุดีเกียรติยศให้กับผู้ที่ประดิษฐ์ไฟฟ้า เขาจึงตั้งชื่อลูกน้อยที่เพิ่งเกิดมาพร้อมๆ กับที่ไฟฟ้ามาถึงว่า “เอดิสัน” ตามชื่อผู้ประดิษฐ์หลอดไฟฟ้าได้คือ “โทมัส แอลวา เอดิสัน” แต่ตัวของเปเล่เองชอบเรียกตัวเองว่า “เอ็ดสัน” มากกว่าชื่อที่พ่อตั้งให้เสียอีก

ต่อมาเอดิสันมีน้องใหม่เป็นผู้ชายเพิ่มขึ้นมาอีกถึงห้าคน ทำให้ชีวิตครอบครัวนี้จึงมีแต่ความยากลำบาก พ่อกับแม่ของเอดิสันก็ทะเลาะเบาะแว้งกันต่อหน้าเขาบ่อยๆ เพราะแม่อยากให้พ่อทำงานที่เป็นหลักเป็นฐานหาอาชีพที่เหมาะสมมากพอที่จะเลี้ยงดูครอบครัวได้มากกว่าการเอาแต่เล่นฟุตบอลซึ่งเป็นอาชีพที่หาเลี้ยงปากท้องแทบไม่ได้

ค.ศ. 1944 ตอนนั้นเด็กน้อยเอดิสันมีอายุได้ประมาณ 4 ขวบ ครอบครัวของเขาก็ย้ายไปอาศัยอยู่ที่เมืองเบารูพ่อของเปเล่ได้รับคำเชิญให้ไปเล่นฟุตบอลให้กับทีมของเมืองนั้น และขณะเดียวกันก็ได้งานเป็นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นทำงานให้กับรัฐบาล ซึ่งจะช่วยทำให้ครอบครัวมีรายได้ที่มั่นคงมากขึ้น

เอดิสันมามีชื่อเรียกว่า “เปเล่” เมื่อตอนเรียนหนังสือ เขามีนักฟุตบอลในดวงใจชื่อว่า “บิเล่”เป็นผู้รักษาประตูทีมวาสโก ดา กามา แต่เขาเรียกชื่อนักฟุตบอลผิดไปเป็น “ปีเล่” ทำให้เพื่อนๆ ล้อและเรียกเขาว่า “เปเล่” ซึ่งในตอนแรกเขาไม่ชอบชื่อนี้มาก และรู้สึกฉุนจนไปมีเรื่องชกเพื่อนร่วมชั้นที่ล้อเขาโดยเรียกเขาในชื่อนี้ ผลที่ตามมา เขาต้องถูกพักการเรียน และยิ่งเขาไม่ชอบชื่อนี้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งถูกเพื่อนล้อมากขึ้นเท่านั้น และนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เอดิสันก็ถูกเรียกในชื่อ “เปเล่” มากกว่า จนกระทั่งทุกวันนี้น้อยคนนักที่จะรู้จักชื่อจริงของเขา ทุกคนจะรู้จักเขาในชื่อของเปเล่เท่านั้น

ด้วยความที่ครอบครัวยากจน เขาต้องช่วยครอบครัวทำงานหาเลี้ยงครอบครัวตั้งแต่เด็กในฐานะที่เป็นพี่คนโต เขาทำงานแทบทุกอย่างที่จะหาเงินได้เช่น ขายฟืน ขายม้วนบุหรี่ ขโมยถั่วของชาวบ้านมากิน หรือไม่ก็ไปรับจ้างขัดรองเท้า โดยเฉพาะเขาได้รับจ้างขัดรองเท้าให้กับนักฟุตบอลทีมเบารู แอตแลติก ( Bauru Athletic Club)

เด็กน้อยเอดิสันเติบโตขึ้นมาเพื่อที่จะรักในการเล่นฟุตบอลเหมือนกันกับพ่อของเขา และคนที่สอนให้เขาเล่นฟุตบอลเป็นคือพ่อ เขาไม่ได้มีเงินมากพอที่จะไปฝึกเล่นฟุตบอลในทีมที่ฝึกสอนการเล่นฟุตบอลให้กับเด็กๆ สิ่งที่เขาพอทำได้ในการหัดเล่นฟุตบอลก็คือการหัดเล่นตามถนน และลูกฟุตบอลของเปเล่ที่ใช้เตะก็เป็นลูกฟุตบอลที่ทำขึ้นมาแบบพิเศษไม่เหมือนใคร เพราะเป็นลูกฟุตบอลที่ทำมาจากถุงเท้าม้วนๆ เป็นวงกลมแล้วเอามาห่อหนังสือพิมพ์แล้วใช้ยางมัดเพื่อใช้เล่น หรือบางทีเปเล่ก็เอาลูกส้มโอมาทำเป็นลูกฟุตบอล เพราะเปเล่นั้นจนมากจนไม่มีเงินพอที่จะซื้อลูกฟุตบอลมาหัดเล่น

เปเล่เริ่มเล่นฟุตบอลอย่างจริงๆ จังๆ เมื่อตอนที่มีอายุได้ 11 ปี เขาก่อตั้งทีมฟุตบอลข้างถนนเป็นของตัวเองโดยมีเพื่อนๆ ที่เล่นอยู่ตามถนนอื่นๆ มาร่วมเข้าทีมด้วย ชื่อทีมของเขาแปลเป็นภาษาไทยว่า “ทีมนักเตะไร้รองเท้า” และต่อมาทีมของเขาก็เข้าลงแข่งในรายการเล็กๆ ของเมืองที่จัดแข่งโดยนายกเทศมนตรีของเมืองเบารู และทีมของเขาก็ได้เปลี่ยนชื่อทีมมาเป็น “อเมริควินย่า”

(Ameriquinha) และสามารถคว้าแชมป์มาครอง โดยเปเล่เป็นนักเตะที่ยิงประตูได้มากที่สุดในการแข่งขันทั้งหมดในรายการนั้น

ชัยชนะในครั้งนี้ทำให้เปเล่ถูกค้นพบโดยวัลเดอมาร์ เดอ บริโต้ (Waldemar de Brito) นักเตะในลีกสูงสุดของบราซิล ฝีมือของเปเล่และเพื่อนๆ เข้าตานักเตะผู้นี้ ดังนั้นในปี ค.ศ. 1954 เขาและเพื่อนๆ ร่วมทีม “อเมริควินย่า” จึงถูกเชิญให้ไปร่วมทีมเยาวชน “บาควินโย่” (Baquinho) การเล่นให้กับทีมนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่เปเล่ได้รับค่าจ้างเพื่อเล่นฟุตบอล และในปี ค.ศ. 1954 นั้นก็เป็นปีที่ทีมใหม่ที่เขาเข้าร่วมได้คว้าแชมป์ฟุตบอลเยาวชนที่จัดแข่งโดยหนังสือพิมพ์เซา เปาโล สปอร์ตติ้ง กาเซ็ตต์

ปี ค.ศ. 1956 เปเล่มีอายุได้ประมาณ 15 ปีครึ่ง เขาก็ได้ถูกเดอ บริโต้ พาไปทดสอบที่สโมสรซานโตส เขาสร้างความประทับใจให้แก่แฟนบอล สื่อมวลชน และผู้บริหารของทีมซานโตส ด้วยการลงเล่นและยิงได้ถึง 4 ประตู จนเดอ บริโต้ บอกกับผู้ควบคุมทีมซานโตสว่าต่อไปเปเล่จะกลายเป็น “นักกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก” เปเล่ทดสอบผ่านและได้ลงเล่นให้กับทีมระดับเยาวชนของสโมสรซานโตส

เปเล่ถูกเรียกตัวให้ไปรับใช้ชาติเป็นครั้งแรกหลังจากที่เขาเพิ่งลงเล่นในฤดูกาลแรก ภายใต้ทีมชุดใหญ่ของสโมสรซานโตสได้ไม่นาน นัดแรกในฐานะนักเตะทีมชาติบราซิลคือนัดที่ลงแข่งกับทีมชาติอาร์เจนติน่าเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ปี ค.ศ. 1957 บราซิลเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไป 1 – 2 แต่ถึงแม้ว่าบราซิลจะเป็นฝ่ายแพ้ แต่นัดนั้นก็มีความสำคัญสำหรับเขามาก คือนอกจากเปเล่จะได้ลงเล่นให้กับทีมชาติเป็นครั้งแรกในชีวิตแล้ว เขายังสามารถทำประตูได้เป็นครั้งแรกในฐานะนักเตะทีมชาติอีกด้วย น่าทึ่งมากสำหรับเด็กหนุ่มที่มีอายุเพียง 16 ปีและอีก 3 เดือนจะมีอายุได้ 17 ปี ที่สามารถทำผลงานได้ขนาดนี้

การรับใช้ชาติครั้งสำคัญมาถึงเมื่อเปเล่ติดทีมชาติเพื่อลงแข่งในฟุตบอลโลกปี 1958 ที่ประเทศสวีเดน (1958 World Cup) เปเล่เป็นนักเตะที่มีอายุน้อยที่สุดในบรรดานักเตะชาติต่างๆ เขาทำประตูในการลงแข่งเพื่อชิงถ้วยฟุตบอลโลกได้เป็นลูกแรก ในนัดที่ทีมชาติบราซิลลงแข่งกับทีมชาติเวลส์ และในวันที่ 19 มิถุนายน ปี ค.ศ. 1958 เปเล่ได้รับการจารึกชื่อให้เป็นนักเตะที่มีอายุน้อยที่สุดในโลกที่ได้ลงเล่นในรอบสุดท้ายของถ้วยฟุตบอลโลก โดยมีสถิติอายุเพียง 17 ปี 249 วัน แถมในนัดที่ลงเตะกับฝรั่งเศสเปเล่ทำผลงานอันโดดเด่นทำแฮททริกส์ยิงประตูได้ถึง 3 ลูกทำสถิตินักเตะที่มีอายุน้อยที่สุดที่ทำแฮททริกส์ได้ในฟุตบอลโลก ส่วนในนัดชิงระหว่างทีมชาติบราซิลกับทีมชาติสวีเดน เปเล่ทำผลงานยอดเยี่ยมทำประตูได้ 2 ลูกมีส่วนช่วยให้ทีมชาติบราซิลบดขยี้ทีมสวีเดนไปได้ 5 – 2 แถมใน 1 ลูกที่เขายิงได้นั้นยังถูกยกย่องให้เป็นประตูที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ถ้วยฟุตบอลโลก เขาทำให้โลกตกตะลึงจากผลงานฟอร์มการเล่นที่ตื่นตาตื่นใจและน่าทึ่งนี้ และยังสามารถนำทีมชาติบราซิลผงาดเป็นเจ้าแห่งฟุตบอลเหนือทีมชาติใดใดในโลกได้เป็นผลสำเร็จ เปเล่จึงเป็นที่เล่าขานและเป็นที่ชื่นชมอย่างมากในตอนนั้น

นอกจากการลงแข่งในรายการฟุตบอลโลกแล้ว เปเล่ยังรับใช้ชาติด้วยการลงแข่งในรายการชิงแชมป์ฟุตบอลอเมริกาใต้ (South American Championship) ในปี ค.ศ. 1959 อีกด้วย ซึ่งเปเล่เป็นนักเตะที่ทำประตูได้มากที่สุดคือ 8 ลูก และบราซิลพลาดแชมป์ไป และอยู่ในอันดับที่ 2 จากการลงแข่งในรายการนี้

ในช่วงปี ค.ศ. 1962 และปี ค.ศ. 1966 เปเล่ประสบกับปัญหาบาดเจ็บซึ่งเป็นผลพวงมาจากการเล่นฟุตบอลโลก จึงทำให้เขาไม่สามารถลงเล่นให้กับทีมของตัวเองได้

4 ปีต่อมาหลังจากฟุตบอลโลกครั้งแรกในชีวิต เปเล่ก็ได้รับใช้ชาติเพื่อลงแข่งฟุตบอลโลกในปี 1962 ที่ประเทศชีลี และเป็นฟุตบอลโลกครั้งที่ 2 ในชีวิต แต่เขาก็ประสบกับปัญหาบาดเจ็บในนัดที่ลงแข่งกับเชโกสโลวาเกีย และทำให้เขาพลาดการลงแข่งในนัดต่อๆ ไปตลอดทั้งรายการทั้งๆ ที่เพิ่งลงเล่นได้แค่นัดเดียว แต่บราซิลก็ทำผลงานได้ดีพอที่จะคว้าแชมป์โลกมาครองได้เป็นสมัยที่ 2 ส่วนเปเล่แม้จะมีปัญหาบาดเจ็บทำให้พลาดแสดงผลงานได้อย่างเต็มที่ แต่ภายหลังการแข่งฟุตบอลโลกผ่านพ้นไปเปเล่ก็กลายเป็นนักเตะที่เนื้อหอมที่สุดของโลก สโมสรฟุตบอลที่ร่ำรวยของยุโรปตามมาแย่งกันจีบให้เปเล่เซ็นสัญญาเข้าร่วมทีมตัวเองและเสนอเงินก้อนโตเพื่อเป็นการจูงใจ ทีมที่มายื่นข้อเสนอให้กับเปเล่นั้นมีเรอัล มาดริด, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด รวมไปจนถึงยูเวนตุสด้วย แต่แล้วรัฐบาลบราซิลก็ประกาศให้เปเล่นั้นเป็น “สมบัติของชาติ” เพื่อป้องกันมิให้เปเล่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ประเทศอื่น

 

สำหรับฟุตบอลโลกในปี ค.ศ. 1966 ที่ประเทศอังกฤษ เปเล่บาดเจ็บอีก ถึงแม้ว่าเปเล่จะสามารถลงเล่นและทำประตูได้จากการลงแข่งกับทีมชาติบัลแกเรีย ซึ่งทำให้เขาสร้างสถิติใหม่เป็นนักฟุตบอลคนแรกที่สามารถทำประตูได้ในการลงแข่งฟุตบอลโลกทั้ง 3 ครั้ง แต่เมื่อเขาลงเล่นกับทีมชาติโปรตุเกสและเจอผู้เล่นฝ่ายตรงกันข้ามจ้องเล่นงานอย่างหนัก จนถึงขั้นดูเหมือนนักเตะโปรตุเกสพยายามไล่เตะแต่เปเล่เพื่อสกัดกั้นการทำประตูของเขา ทำให้เปเล่ได้รับบาดเจ็บอีกครั้งและต้องอดเล่นไปตลอดรายการที่เหลือ ส่วนทีมชาติบราซิลเองก็ไปไม่ถึงฝั่งฝันตกรอบไปตั้งแต่รอบแรก ซึ่งเป็นครั้งที่บราซิลตกรอบฟุตบอลโลกรอบแรกนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1934 เปเล่เสียใจมากจนประกาศว่าเขาไม่ปรารถนาที่จะลงแข่งในรายการฟุตบอลโลกอีกต่อไปแล้ว

เมื่อตอนต้นปี ค.ศ. 1969 เปเล่ถูกเรียกตัวให้ไปรับใช้ชาติอีกครั้งเพื่อลงแข่งฟุตบอลโลกปี 1970 ที่จะจัดขึ้นในประเทศเม็กซิโก ในตอนแรกเปเล่ปฏิเสธ แต่หลังจากนั้นก็ตกลง ในการลงแข่งรอบคัดเลือก 6 นัดนั้น เปเล่ทำประตูได้ 6 ประตู พอในการลงแข่งขันชิงชัยมาถึงเปเล่ก็อยู่ในสภาพฟิตเต็มที่ ในรอบชิงชนะเลิศทีมชาติบราซิลลงแข่งขันกับทีมชาติอิตาลี เปเล่พาทีมชาติบราซิลคว้าแชมป์โลกเป็นปีที่ 3 โดยสามารถเอาชนะทีมชาติอิตาลีไปได้ 4 – 1 โดยเปเล่ยังโหม่งประตูแห่งความทรงจำ ซึ่งเป็นประตูที่ 100 ของบราซิลในฟุตบอลโลกอีกด้วย โดยหลังจากที่เขาทำประตูลำดับที่ 100 ของบราซิลในฟุตบอลโลกเขาได้อุทิศประตูนี้ให้กับผู้เป็นพ่อ และยังกล่าวยกย่องพ่อของเขาว่าเป็นนักฟุตบอลที่เคยทำประตูได้ในนัดเดียวถึง 5 ลูก และเป็นประตูที่ได้จากการโหม่งทั้งหมด

เปเล่รับใช้ชาติเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1971 เป็นการลงแข่งกับทีมชาติยูโกสลาเวียที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร และเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1969 เปเล่ทำสถิติยิงประตูได้ 1,000 ประตูจากทุกรายการที่ลงแข่ง ซึ่งช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนในบราซิลต่างรอคอย ประตูลูก “ลำดับที่หนึ่งพัน” เป็นประตูที่เปเล่ยิงได้ในการลงแข่งกับทีมวาสโก ดา กาม่า ที่สนามมาราคาน่า ต่อหน้าผู้ชมจำนวนนับแสนคน

ฮีโร่ของบราซิลประกาศยุติชีวิตการเป็นนักเตะลงในวัย 34 ปี เมื่อปี ค.ศ. 1974 แต่แล้วหลังจากนั้นเปเล่ก็เปลี่ยนใจกลับมาเล่นฟุตบอลใหม่ในลีกอเมริกาเหนือ (North American Soccer League) 2 ฤดูกาลด้วยการเซ็นสัญญา 3 ปี มูลค่า 7 ล้านดอลลาร์ เพื่อลงเล่นให้กับทีมสโมสรนิวยอร์ก คอสมอส (New York Cosmos) ซึ่งเป็นทีมฟุตบอลในกรุงนิวยอร์ก การที่เขาเข้าสู่วงการฟุตบอลในสหรัฐอเมริกาทำให้วงการฟุตบอลในประเทศนี้ตื่นตัวขึ้นมาก เพราะปกติแล้วกีฬาฟุตบอลไม่เป็นที่นิยมในหมู่คนอเมริกันที่นิยมแต่บาสเกตบอลหรืออเมริกันฟุตบอล

เปเล่ลงเล่นให้กับทีมใหม่ในลีกใหม่ประเทศใหม่ในฤดูกาลที่ 1975 ถึงแม้ว่าเขาจะผ่านจุดสูงสุดในอาชีพค้าแข้งมาแล้ว แต่เปเล่ก็สามารพาทีมคอสมอสคว้าแชมป์ได้ในฤดูกาลที่ 1977 ซึ่งเป็นฤดูกาลที่สามและเป็นฤดูกาลสุดท้ายที่เขาเล่นให้กับทีมนิวยอร์ก คอสมอส

ในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1977 เป็นวันที่เปเล่ปิดฉากอาชีพอันเป็นตำนานของเขาด้วยการการลงเล่นฟุตบอลนัดสุดท้ายในชีวิตของเปเล่คือนัดพิเศษระหว่างทีมคอสมอสและทีมซานโตส ตั๋วนัดนี้ขายหมดเกลี้ยงก่อนเวลาแข่ง 6 สัปดาห์ มีนักข่าวเข้ามาทำข่าวถึง 650 คน และถ่ายทอดการเตะนัดนี้ไป 38 ประเทศ ซึ่งในนัดนี้พ่อของเปเล่และภรรยาของเขาก็เข้าชมด้วย ด้วยก่อนที่จะแข่งเปเล่ได้ออกมากล่าวสั้นๆ และเขาได้ขอให้ผู้ชมพูดคำว่า “รัก” กับเขา 3 ครั้ง ครึ่งแรกเขาเล่นให้กับทีม คอสมอสส่วนครึ่งหลังเขาเล่นให้กับทีมซานโตส โดยผลการแข่งขันนั้นทีมคอสมอสชนะไป 2 – 1 โดยเปเล่ยิงประตูสุดท้ายได้ 1 ลูกจากการสวมเสื้อให้ทีมคอสมอส จบเกมเปเล่วิ่งรอบสนามโดยมีข้างหนึ่งถือธงชาติสหรัฐฯ ส่วนอีกข้างหนึ่งถือธงทีมชาติบราซิล

เปเล่แต่งงานกับโรสแมรี่ โคลบี้ (Rosemarie Cholby) ในปี ค.ศ. 1966 โคลบี้เป็นคนขาวในขณะที่เปเล่เป็นคนดำ ก่อนหน้าที่จะแต่งงานทั้งคู่ได้หมั้นหมายกันอย่างลับๆ นานถึง 6 ปีเมื่อแต่งงานแล้วทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 3 คน เปเล่ทำหมันเพราะไม่ต้องการมีลูกอีก แต่ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1997 เปเล่ในวัย 53 ปี แต่งงานเป็นครั้งที่ 2 กับอัสซีเรีย ซีซัส เลมอส อายุ 36 ปี ซึ่งก็เคยผ่านการแต่งงานมาแล้วเช่นกัน ภรรยาคนใหม่อยากมีลูก ดังนั้นทั้งคู่จึงใช้วิธีการปฏิสนธิในหลอดแก้ว จึงมีลูกสมใจเป็นลูกแฝดชื่อว่าเซเลสเต้ (Celeste) และโจชัว (Joshua) เมื่อปีที่แล้วก็มีข่าวออกมาว่าหลังจากที่อยู่กินกันมานานนับสิบปีเปเล่กับภรรยาคนที่สองก็แยกทางกัน นอกจากนี้ เปเล่ยังมีลูกสาวนอกสมรสอีกหนึ่งคน แต่ต่อมาเธอได้เสียชีวิตไปแล้วด้วยโรคมะเร็งเต้านม

เมื่อวางมือจากฟุตบอล เปเล่เริ่มเขียนหนังสืออัตชีวประวัติหลายฉบับ ซึ่งในจำนวนนั้นมีหนังสือเล่มที่มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า “The Autobiography” และ “My Life and the Beautiful Game” เขารับเล่นสารคดีและภาพยนตร์กึ่งสารดีจำนวนหลายเรื่อง และยังแต่งเพลงอีกด้วย

การจะเป็นนักฟุตบอลที่เก่งและเป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วไปได้ไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าจะมาถึงวันนี้เปเล่ต้องผ่านความอยากลำบากมานับไม่ถ้วน แต่เขาไม่เคยย่อท้อต่อความอยากลำบาก กลับต่อสู้มาสารพัดและผันตัวเองกลายมาเป็นนักเตะที่เก่งที่สุดในโลกได้ด้วยความสามารถ แม้ช่วงเวลาที่เปเล่เคยรุ่งโรจน์จะล่วงเลยมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว แต่ความยิ่งใหญ่ของเปเล่ยังคงถูกกล่าวขานมาจนปัจจุบัน และยังคงเป็นที่จดจำในหมู่คนที่มีใจรักฟุตบอลไปตลอดกาล

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย