เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>
ประวัติการทำหนังสือ
อ.ประกฤษฎิ์ อินทวงษ์ กศน.ตำบลเขาไม้แก้ว
การอ่านหนังสือ
เป็นงานอดิเรกที่โปรดปรานของหลาย ๆ คน จึงเป็นที่น่าเสียดาย
ที่ผลการสำรวจหลายครั้งชี้ให้เห็นว่า คนไทยอ่านหนังสือน้อยมาก ทั้งที่ปัจจุบัน
มีหนังสือหลากหลายประเภทและรูปแบบ
เพื่อตอบสนองความสนใจของนักอ่านได้แทบทุกกลุ่มทุกช่วงวัย
อีกทั้งการเข้าถึงแหล่งหนังสือในปัจจุบันก็ง่ายขึ้นกว่าในอดีตมาก
หนอนหนังสือ นักอ่านทั้งหลาย อาจจะไม่เคยทราบมาก่อนว่าในอดีตนั้น
การทำหนังสือ มีขั้นตอนที่ยุ่งยากเพียงใด
วัสดุที่ใช้ทำหนังสือในอดีตแตกต่างกันไปในแต่ละชนชาติ การทำหนังสือ
เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยก่อนคริสตกาล
ก่อนคริสตกาล
ชาวอียิปต์รู้จักวิธีการเขียนหนังสือลงบนกระดาษที่เรียกว่า “ Papyrus ”
และทำเป็นเล่มโดยการม้วนในลักษณะที่เรียกว่า“ Volumen ” ซึ่งภายหลังกลายมาเป็นคำว่า
“ Volume ” หนังสือลักษณะนี้ เล่มที่เก่าแก่ที่สุดคือ “ The Great Harris Papyrus ”
( ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่ประเทศอังกฤษ ) มีความยาวของม้วน 133 ฟุต
และหน้ากว้าง 16 ¾ นิ้ว เป็นหนังสือที่ระบุเวลาไว้ว่า เป็นปีที่ 32
ของกษัตริย์รามเสส ที่ 3
"The Great Harris Papyrus"
เมื่อชาวจีนรู้จักการนำผ้าไหมมาใช้งาน ได้มีการเขียนหนังสือลงบนผ้าไหมเมื่อราว
400 ปี ก่อนคริสตกาล ทำเป็นเล่มในลักษณะม้วนเหมือนกับอียิปต์
และหลังจากที่จีนคิดกระดาษขึ้นใช้ใน ค.ศ. 105
การทำหนังสือก็ยังใช้ลักษณะเป็นม้วนเช่นเดิม หนังสือของจีนที่พิมพ์ด้วยบล็อกไม้
และมีหลักฐานคงเหลืออยู่คือ ชิ้นพิมพ์วัชรสูตร เป็นม้วนกระดาษยาว 16 ฟุต กว้าง 1
ฟุต มีวันที่พิมพ์ และชื่อผู้พิมพ์ปรากฏในหนังสือว่า “ พิมพ์เมื่อ วันที่ 1 พฤษภาคม
868 โดย วางชี ” สำหรับแจกทั่วไปเพื่อเป็นที่ระลึกถึง บิดามารดา
นับว่าเป็นหนังสือที่จัดพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งก็มีลักษณะเป็นม้วน
แต่ชิ้นพิมพ์ที่เก่าที่สุดที่มีลักษณะเป็นชิ้นพิมพ์ที่พบที่ญี่ปุ่น
เป็นการพิมพ์ยันต์และคาถา จัดพิมพ์ขึ้นโดยโองการของจักรพรรดิ โชโตกุ เพื่อแจกในปี
ค.ศ. 770 ก่อนที่จีนจะรู้จักการใช้ผ้าไหมและกระดาษ
การเขียนหนังสือจะเขียนลงบนไม้ไผ่ ทำเป็นเล่มหนังสือโดยเจาะรูร้อยเชือกไว้เป็นมัดๆ
การทำเล่มหนังสือในลักษณะนี้ทำขึ้นในราวประมาณ 500 ปี ก่อนคริสตกาล
อินเดียก็มีการทำเล่มหนังสือโดยใช้วิธีจารลงบนใบลาน
แล้วจึงเจาะร้อยเชือกเป็นเล่มในลักษณะคัมภีร์พระเทศน์
ที่ยังคงมีใช้กันในปัจจุบันนี้ หนังสือใบลานลักษณะนี้ใกล้เคียงกับสมัยพุทธกาล
คือในราว 500 ปี ก่อนคริสตกาล
ก่อนคริสตกาล ชาวกรีกเขียนหนังสือแล้วใช้แผ่นไม้ 2 แผ่น
มีห่วงโลหะยึดให้ติดกันไว้ตรงกลาง มีลักษณะคล้ายกับเล่มหนังสือ
ต่อมาในปี ค.ศ. 950
ชาวจีนเป็นผู้ริเริ่มดัดแปลงรูปเล่มหนังสือก่อนชาติอื่น
เนื่องจากการใช้หนังสือที่มีลักษณะเป็นม้วน
ทำให้ขาดความสะดวกในการค้นคว้าหรืออ้างอิงในส่วนกลางๆ ของเล่ม
เพราะจะต้องหมุนม้วนไปจนถึงบริเวณที่ต้องการ ทำให้เสียเวลา
จึงได้คิดค้นทำหนังสือให้เป็นลักษณะหนังสือพับ
คือพับไปพับมามีลักษณะคล้ายสมุดข่อยของไทย ทำให้เกิดความสะดวกในการค้นคว้า
จะเปิดอ่านตอนไหนของเล่มก็สะดวกและรวดเร็ว
ปี ค.ศ. 1116 จีนเริ่มรู้จักเย็บเล่มหนังสือพับด้วยเชือก
โดยเย็บทางด้านข้างให้ติดกับด้านหนึ่งและเปิดอ่านอีกด้านหนึ่ง
กระดาษที่จีนทำด้วยมือในระยะแรกๆ จะเป็นกระดาษบาง
ตัวหนังสือเขียนด้วยพู่กันและหมึกที่มีตัวนำเป็นน้ำ
ทำให้กระดาษเขียนได้หน้าเดียวคือเขียนลงบนกระดาษแล้วพับกลาง
ให้ด้านที่เขียนหนังสืออยู่ข้างนอก
แล้วเรียงลำดับซ้อนกันและเย็บติดกันตรงสันซึ่งเป็นด้านปลายกระดาษ
ด้านพับจึงเป็นด้านริมของหนังสือที่เปิดได้ นับว่า จีนเป็นผู้คิดหนังสือเย็บเล่ม
เป็นชาติแรก และชาติอื่นๆ จึงได้นำมาเลียนแบบ
ในยุโรปมีการคิดทำ Parchment ( หนังสัตว์ที่ฟอกแล้ว )
มาใช้สำหรับเขียน และมีการทำหนังสือโดยการเขียนด้วยมือ พระและบาทหลวงตามวัดต่างๆ
ได้ผลิตหนังสืออกมาเป็นจำนวนมาก โดยใช้วิธีการเขียนหนังสือคัดตัวบรรจงอย่างสวยงาม
มีการใส่กนกลวดลาย ภาพประดิษฐ์ต่างๆ ในหน้าหนังสือ และระบายสีอย่างงดงาม
เรียกหนังสือนี้ว่า
“ Illuminated book ” มีการทำปกแข็งด้วยหนังและโลหะ
แล้วเย็บเป็นเล่มให้เปิดได้ด้านหนึ่ง มีลักษณะคล้ายหนังสือในปัจจุบันนี้
แต่มีขนาดตัวเล่มใหญ่มาก ส่วนใหญ่ต้องตั้งอ่านบนโต๊ะ
จนถึงปี ค.ศ. 1499 Aldus Manutius ซึ่งเป็นช่างพิมพ์ชาวเวณิช
ในอิตาลี ได้จัดทำตัวพิมพ์ให้มีขนาดเล็กลง
และผลิตหนังสือให้มีลักษณะรูปเล่มและขนาดหนังสือเท่ากับหนังสือที่ใช้กันใน ปัจจุบัน
สำนักพิมพ์ของเขาคือ Aldine Press ซึ่งมีชื่อเสียงมากในยุคนั้น
ทำให้มีผู้นิยมอ่านหนังสือกันอย่างแพร่หลาย
แต่รูปเล่มของหนังสือยังขาดความประณีตสวยงาม เพียงให้มีลักษณะเป็นเล่มเท่านั้น
William Morris
จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1888 William Morris ได้ตั้ง Kelmscott Press
ขึ้นที่ประเทศอังกฤษ และได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการผลิตหนังสือ
โดยให้มีการออกแบบและวางรูปเล่มอย่างเป็นศิลปะที่จะต้องทำด้วยความประณีตและรอบคอบ
ดังนั้นความคิดต่างๆ ในการออกแบบ การจัดวางรูปเล่ม และการจัดพิมพ์หนังสือ
จึงเกิดได้ขึ้นอย่างแพร่หลาย ทำให้มีผู้สนใจศึกษากันมากยิ่งขึ้นจนถึงปัจจุบันนี้
หนังสือของไทย
ประเทศไทยมีแบบฉบับหนังสือเป็นของตนเองมานาน ตั้งแต่โบราณกาล
โดยการใช้วัตถุดิบของท้องถิ่นที่มีในธรรมชาติ ประดิษฐ์เล่มหนังสือ อาทิ ใบไม้
เปลือกไม้และเยื่อไม้ เป็นวัสดุรองรับในการเขียน ใช้อินทรีย์วัตถุ เช่น ดิน หิน -
แร่ธาตุ เป็นหมึกและสีสำหรับบันทึกตัวอักษรและวาดภาพ
เพื่อใช้สำหรับบันทึกเรื่องราวทางศาสนา ตำรา จดหมายเหตุ วรรณคดี
ตลอดจนภาพจิตรกรรมต่างๆ หนังสือของไทยจึงนับเป็น วิทยสมบัติที่สะท้อนให้เห็นถึง
ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย ที่ทรงคุณค่าทั้งทางด้านศาสตร์และศิลป์ของชาติไทย
หนังสือของไทยมีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง เป็นลำดับอันยาวนาน
และมีหลากหลายลักษณะรูปเล่ม เช่น หนังสือฉบับเขียน หนังสือใบลาน หนังสือสมุดไทย
หนังสือฉบับพิมพ์ หนังสือหายาก หนังสืองานศพ
และในปัจจุบันก็ยังมีหนังสือในรูปของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ( e–Books ) อีกด้วย
บรรณานุกรม
- กำธร สถิรกุล. ประวัติหนังสือและการพิมพ์ พิมพ์ครั้งที่ 7
- “หนังสือ…สื่อสะท้อนภูมิปัญญาไทย” สารกรมศิลปากร 13,11 (พ.ย. 43) 13-16