วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>

ปลาอะราไพม่า หรือ ปลาช่อนอะเมซอน

ปลาอะราไพม่าหรือ Cow fish (ปลาวัวตัวเมีย) หรือ พิรารูดู Pirarucu (ชื่อพื้นเมืองของชาวบราซิล)และ PAICHE (ชื่อพื้นเมืองของชาวเปรู) ส่วนคนไทยรู้จักกันในนาม "ปลาช่อนอะเมซอน" จัดเป็นปลาที่อยู่ในครอบครัวเดียวกับปลาตะพัดหรืออะโรวาน่า คือ Family Osteoglossidae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Arapaima gigas

ปลาอะราไพม่า จัดเป็นยักษ์ใหญ่ของสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำของโลกและสำหรับนักเลี้ยงปลาทุกคน มันถูกจัดเป็นปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถโตได้เร็วมาก มีความยาวได้ถึง 4 เมตร มีน้ำหนักถึง 400 กิโลกรัม เป็นปลาเนื้อดีกินอร่อยของชาวบ้านในประเทศ บราซิล เปรู และโคลัมเบีย ปลาอะราไพม่าเจริญเติบโตได้รวดเร็ว เป็นปลาที่มีแรงเยอะ ว่ายน้ำและกระโดดเก่งมาก รอบตัวของมันปกคลุมด้วยเกล็ดสีเขียวเหลือบขนาดใหญ่ ท้องเป็นสีขาว โคนหางมีเกล็ดสีแดงกระจัดกระจายอยู่ทั่ว คนไทยส่วนใหญ่นิยมเรียกกันว่า "กุหลาบแดง"

ในอเมริกาใต้ ปลาอะราไพม่า เป็นปลาที่นำมากินเป็นอาหาร หรือจะใช้เป็นเกมส์ตกปลาเล่น ส่วนบ้านเราสั่งเข้ามาเลี้ยงเป็นปลาประหลาดราคาแพงต้องทำตู้ทำบ่อเลี้ยงกันราคานับแสนบาท ปลาอะราไพม่าได้ถูกจัดไว้เป็นปลาที่อยู่ในกฏเกณฑ์ของการอนุรักษ์สัตว์ของโลกโดย IUCN (International Union for Conservation of Nature and Natural Resources) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในประเทศอังกฤษ และได้มีการประชุมทางอนุรักษ์สัตว์น้ำชนิดต่างๆ ของโลกไม่ให้สูญพันธุ์ ถึงกับมีข้อตกลงห้ามสั่งเข้าหรือส่งออกปลาดังกล่าวได้โดยเสรี ส่วนประเทศที่สั่งปลาที่ระบุชื่อไว้ก่อนกฏ หรือข้อตกลงใช้บังคับให้ตรวจนับจำนวนแน่นอน หรือส่งปลานั้นคืนประเทศต้นสังกัด เพื่อให้ประเทศที่เป็นถิ่นกำเนิดของสัตว์ชนิดนั้นพยายามเพาะพันธุ์และอนุรักษ์ไว้ให้ได้ ส่วนในประเทศไทยยังไม่ได้ประกาศใช้กฏนี้เป็นทางการ ดังนั้นปัจจุบันจึงยังมีการสั่งปลาชนิดนี้เข้ามาขายกันอย่างเสรี จากสถิติมีผู้บันทึกไว้ว่า ในปี 2528 ที่ผ่านมา มีการขออนุญาตนำปลาอะราไพม่าเข้าประเทศประมาณ 300 กว่าตัว

 

ด้วยสาเหตุที่ปลาอะราไพม่ามีร่างกายขนาดใหญ่โต มันจึงเป็นปลาที่ดูสง่างามอย่างเห็นได้ชัดที่สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ ปลาอะราไพม่าจะใช้เวลาทั้งหมดไปกับการว่ายน้ำเล่นไปมารอบๆ ตู้ปลา โดยจะมีการว่ายน้ำคดเคี้ยวไปมาเหมือนงู ปลาอะราไพม่าจัดเป็นปลาที่น่าสนใจ ตามประวัติมีการขุดพบฟอสซิล (Fossil) ของปลาชนิดนี้ ทำให้สามารถคำนวณอายุของปลาชนิดนี้ได้ว่าได้กำเนิดมาในโลกนี้ เมื่อประมาณกว่า 100 ล้านปีมาแล้วและยังคงรูปร่างทรงเดิม ซึ่งจัดว่าเป็นปลาโบราณ โดยเป็นปลาที่มีเกล็ดใหญ่ ปากกว้าง มีฟันซึ่งแม้จะไม่ค่อยเจริญได้ดีแต่ก็สามารถไล่งับหรือฮุบปลากินเป็นอาหารได้ ลักษณะพิเศษของปลาอะราไพม่าคือ มีอวัยวะเป็นถุงลมอยู่ภายในช่องท้องคล้ายปอดเพราะมีเส้นเลือดฝอยกระจายกันอยู่ทั่วและสามารถเปลี่ยนออกซิเจนได้เช่นเดียวกับปอดมนุษย์เราด้วย ลักษณะที่เป็นความสวยเฉพาะตัวของอะราไพม่าคือ รูปร่างที่มีขนาดใหญ่ มีสีดำเงาเป็นมัน ครีบบน ครีบล่างมีตำแหน่งค่อนไปทางหาง มีแถบสีแดง-ส้มตัดกับพื้นสีดำ หัวแข็งคล้ายกระดูก มีการว่ายน้ำที่ช้าทำให้ดูสง่างาม ปกติชอบว่ายอยู่ใกล้ผิวน้ำและจะต้องขึ้นมาฮุบอากาศทุก ๆ 5-20 นาทีขึ้นอยู่กับขนาดของมันด้วย ถ้าเป็นปลาขนาดเล็กก็จะขึ้นมาฮุบอากาศทุกๆ 5 นาที แต่ถ้าเป็นขนาดใหญ่ก็จะขึ้นมาฮุบอากาศทุก 18-20 นาที ปลาอะราไพม่าเป็นปลาที่ชอบอาศัยในแหล่งน้ำตื้น ถึงแม้จะมีขนาดที่ใหญ่โต และว่ายน้ำช้าๆ แต่มีความว่องไวมากในยามกินเหยื่อ เคยมีผู้พบเห็นปลาอะราไพม่าขนาด 2 เมตร ฮุบกินปลาเทพาขนาดคืบกว่าที่มาแย่งโฉบกินเหยื่อ พร้อมกันทีละ 2 ตัวในชั่วพริบตาเดียว

ปลาอะราไพม่า เป็นปลากินเนื้อที่เจริญเติบโตได้เร็วมาก เมื่อมันมีอายุได้ประมาณ 4-5 ปี ก็จะถึงวัยสืบพันธุ์ การสังเกตเพศผู้เพศเมียของปลาอะราไพม่า ถ้าดูจากภายนอกจะดูยาก แต่สามารถดูในฤดูผสมพันธุ์คือช่วงเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคม (ของอเมริกาใต้) ปลาเพศเมียที่มีไข่บริเวณท้องจะขยายใหญ่ สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ส่วนเพศผู้หัวและลำตัวจะมีสีเข้มและสีแดงอมส้มแถบโคนหาง ปลาอะราไพม่าตัวเมียจะวางไข่ในเดือนมกราคมถึงมีนาคม มันจะสร้างรังใต้น้ำลึกประมาณ 40-50 ซม. ตัวเมีย 1 ตัววางไข่ได้ประมาณ 100,000 ฟอง และจะใช้เวลาประมาณ 5 วันในการฟักออกเป็นตัว เมื่อฟักไข่แล้ว แม่ปลาก็จะดูแลตัวอ่อนไว้ในปาก ส่วนตัวผู้ก็จะช่วยกันดูแลและป้องกันอันตรายจนกว่าลูกปลาจะเจริญเติบโตและช่วยตัวเองได้

ในธรรมชาติปลาชนิดนี้จะอาศัยอยู่ในลุ่มน้ำอะเมซอน มันจะกระโดดขึ้นมากินนกที่เกาะอยู่บนต้นไม้เตี้ยๆ ในตู้ปลาอาหารหลักของปลาอะราไพม่าคือ ปลาสดโดยเฉพาะปลาเป็นๆ เช่น ปลานิล, ปลากัด, ปลาทอง, ลูกกบ หรือไม่ก็เนื้อหมู, เนื้อไก่ เนื้อปลาก็ได้ซึ่งนิยมใช้ปลาทองที่พิการมีการซื้อขายกันในราคาถูก ในระยะแรกก็กินน้อยวันละ 3-5 ตัว ต่อมาเมื่อปลาโตขึ้นก็กินมากขึ้น

ปลาอะราไพม่า นิยมเลี้ยงไว้เป็นปลาสวยงามในบ้านเรามานานกว่าสิบปีแล้ว ที่ผ่านมาพบว่า ถึงแม้ปลาอะราไพม่าจะเป็นปลาขนาดใหญ่ที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี แต่ยังมีข้อด้อยบางประการของปลาอะราไพม่าที่ควรจะต้องระวังก็คือ หากเลี้ยงในตู้กระจกหรือบ่อปูนควรมีระบบกรองน้ำที่ดีและระบบเพิ่มอากาศให้เหมาะสมกับขนาดของจำนวนปลา มีอุณหภูมิประมาณ74-78oF pHที่เหมาะสมจะค่อนข้างไปทางกรดเล็กน้อย หากน้ำเสียหรือขาดออกซิเจนเพียงระยะเวลาสั้นๆ ก็จะทำให้ปลาอะราไพม่าตายได้ทันที ฉะนั้นจึงควรเลี้ยงในที่กว้าง ให้อาหารในปริมาณที่พอเหมาะและควรให้อาหารที่สด ถ้าตู้ปลาเล็กเกินไปปลาจะแสดงออกโดยการว่ายแบบกระวนกระวาย ชนตู้ โดดออกมาหรือไม่ก็หงอยลงๆ ซึมเศร้าไม่กินอาหาร จนตายไปเฉยๆ ปลาอะราไพม่าขนาดใหญ่สามารถฝึกให้กินอาหารเม็ดได้และหากเลี้ยงในบ่อดินขนาดใหญ่ปลาอะราไพม่าสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี สัตว์จำพวกกบ เขียด งู และปลาตัวเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ในบ่อก็จะกลายเป็นอาหารของปลาชนิดนี้ไป ซึ่งจะขยันหากินทั้งเวลากลางวันและกลางคืน

ที่มา
http://www.nicaonline.com/articles/site/view_article.asp?idarticle=96

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย