ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

การฝึกหัดครู

การฝึกหัดครูของประเทศฟินแลนด์
การฝึกหัดครูของประเทศสวีเดน
การฝึกหัดครูของประเทศสาธารณรัฐอิตาลี

การฝึกหัดครูของประเทศสาธารณรัฐอิตาลี

ครูสอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในโรงเรียนรัฐบาล แบ่งออกเป็น 5 ประเภทคือ

  • ครูโรงเรียนก่อนประถมศึกษา
  • ครูโรงเรียนประถมศึกษา
  • ครู\โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น
  • ครูโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย และ
  • ครูสอนศาสนาคาทอลิกในโรงเรียนก่อนประถมศึกษา

ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา

การฝึกหัดครูทุกประเภทดำเนินการโดยมหาวิทยาลัย ครูโรงเรียนก่อนประถมศึกษาและครูประถมศึกษาจะต้องสำเร็จหลักสูตรปริญญาตรีสาขาวิชาประถมศึกษาศาสตร์ (Primary education sciences) ครูโรงเรียนมัธยมศึกษาต้องสำเร็จหลักสูตรระดับปริญญาตรีและเรียนต่อในโรงเรียนพิเศษเฉพาะด้าน (SSIS) ซึ่งจำกัดจำนวนการรับเข้าเรียน ส่วนครูที่ต้องการเชี่ยวชาญด้านการช่วยเหลือนักเรียนพิการ จะต้องฝึกอบรมเพิ่มเติม โดยจัดรวมอยู่ในหลักสูตรฝึกหัดครูที่เปิดสอนอยู่แล้วตามปกติ

ปริญญาตรีสาขาประถมศึกษาศาสตร์ และปริญญาเฉพาะทาง (Diploma di specializzazione) เป็นวุฒิที่ต้องมีในการทำงานสอนและการสอบบรรจุ (เป็นการจ้างประจำที่มีสัญญาตามที่กฎหมายและมีข้อตกลงระดับชาติเกี่ยวกับแรงงานกำหนดไว้) เพื่อเป็นครูโรงเรียนก่อนประถมศึกษา โรงเรียนประถมศึกษา และโรงเรียนมัธยมศึกษา

ครูสอนศาสนาคาทอลิกต้องมีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเป็นบุคลากรประจำ วุฒิการศึกษาที่ต้องมี ได้แก่ ตำแหน่งทางวิชาการด้านเทววิทยา ประกาศนียบัตรการเข้าร่วมสัมมนาที่สำคัญด้านศาสนศึกษา ปริญญาโทด้านศาสนศาสตร์ หรือปริญญาตรีที่ยอมรับในระบบการศึกษาของอิตาลีพร้อมกับปริญญาที่ออกให้โดยสถาบันศาสนศาสตร์ ทั้งนี้ ไม่มีการฝึกหัดครูสอนระดับอุดมศึกษาที่เป็นมหาวิทยาลัยหรืออุดมศึกษาไม่ใช่มหาวิทยาลัยแต่อย่างใด

ความเป็นมา

ในอดีตที่ผ่านมา อิตาลีเป็นประเทศเดียวในยุโรปที่ไม่มีระบบการฝึกหัดครูโดยเฉพาะ แต่มีสถาบันระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่จัดการฝึกหัดครูระดับประถมศึกษา (Istituli magistrale) หลักสูตร 4 ปี และสถาบันระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่จัดการฝึกหัดครูระดับก่อนประถมศึกษา (Scoule magistrale) หลักสูตร 3 ปี ดังนั้น ครูที่สอนระดับประถมศึกษาจึงไม่ได้สำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย สำหรับครูที่สอนในโรงเรียนมัธยมศึกษา ก็ไม่มีสถาบันเฉพาะด้านสำหรับทำหน้าที่ฝึกหัดครู ผู้ที่ต้องการเป็นครูระดับนี้ต้องมีวุฒิปริญญาตรีในสาขาที่ตนตั้งใจจะสอน และหาสถานที่เรียนด้วยตนเอง

ต่อมาในยุค 90 เริ่มมีการเปิดหลักสูตรการฝึกหัดครูในระดับมหาวิทยาลัย ประกอบด้วยหลักสูตรปริญญาตรีสาขาวิชาประถมศึกษาศาสตร์ (Primary education sciences) สำหรับผู้ที่ต้องการเป็นครูสอนในโรงเรียนก่อนประถมศึกษาและโรงเรียนประถมศึกษา ส่วนผู้ที่ต้องการปริญญาการด้านสอนระดับมัธยมศึกษา จะเรียนปริญญาตรีในสาขาที่ตนตั้งใจจะสอน แล้วเรียนต่อที่โรงเรียนเฉพาะทาง (Scuola di Specializzazione per I’Insegnamento Secondario-SSIS) ผู้สำเร็จการศึกษาจะได้ Diploma di specializzazione ซึ่งเป็นวุฒิการศึกษาที่ใช้ในการสอบบรรจุเป็นครูในโรงเรียนมัธยมศึกษา

เมื่ออิตาลีออกกฎหมายที่กำหนดว่าตั้งแต่ปี ค.ศ.1974 เป็นต้นไป ครูทุกคนต้องมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย ทำให้หลักสูตร 3 ปีของโรงเรียนฝึกหัดครูก่อนประถม และหลักสูตร 4 ปีของโรงเรียนฝึกหัดครูประถมศึกษา ถูกยกเลิกไปในปีการศึกษา 2001/02 วุฒิการศึกษาของสองหลักสูตรที่ได้รับหลังจากนั้นไม่สามารถสอบบรรจุเป็นครูได้ ครูประถมศึกษารุ่นใหม่ทุกคนจะต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชาประถมศึกษาศาสตร์

สถาบัน และรูปแบบการฝึกอบรม

มหาวิทยาลัยไม่มีศูนย์เฉพาะทางที่จัดขึ้นเพื่อดำเนินงานด้านการฝึกหัดครู (Initial training of teachers) หลักสูตรฝึกหัดครูก่อนประถมศึกษาและประถมศึกษาสาขาวิชาประถมศึกษาศาสตร์ รับนักศึกษาที่สำเร็จมัธยมศึกษาตอนปลาย รูปแบบการฝึกอบรมครูก่อนประถมศึกษาและประถมศึกษากระทำไปพร้อมกัน โดยแบ่งออกเป็นการเรียนวิชาทั่วไป 2 ปี และเรียนวิชาเอก 2 ปี คือแขนงวิชาการสอนระดับก่อนประถมศึกษา และแขนงวิชาการสอนระดับประถมศึกษา การฝึกสอนเริ่มตั้งแต่ปีแรก นักศึกษาเลือกวิชาเอกที่จะเรียนเมื่อสิ้นสุดปีที่สอง วุฒิการศึกษาของหลักสูตรนี้จำเป็นสำหรับการสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเป็นครูสอนในระดับก่อนประถมศึกษาหรือประถมศึกษา หลักสูตรนี้รับผิดชอบโดยคณะศึกษาศาสตร์ และมีเกณฑ์ทั่วไปในการเรียนดังนี้

  • แขนงวิชาการสอนระดับประถมศึกษาเรียนกิจกรรมของกลุ่มวิชาที่ 1 (การฝึกอบรมงานครู) ไม่น้อยกว่า 20% และแขนงวิชาการสอนระดับก่อนประถมศึกษาเรียนไม่น้อยกว่า 25% ของหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร
  • แขนงวิชาการสอนระดับประถมศึกษาเรียนกิจกรรมกลุ่มวิชาที่ 2 (เนื้อหาที่สอนในระดับประถมศึกษา)ไม่น้อยกว่า 35% และแขนงวิชาการสอนระดับก่อนประถมศึกษาเรียนไม่น้อยกว่า 25% ของหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร
  • กลุ่มวิชาที่นักศึกษาเลือกเองไม่น้อยกว่า 5% ของหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร
  • แผนการเรียนของนักศึกษาแต่ละคนต้องมีกิจกรรมของกลุ่มวิชาที่ 1 และ 2 ของแต่ละสาขา

นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมที่ต้องเรียนเพิ่มเติมไม่น้อยกว่า 400 ชั่วโมงเกี่ยวกับการเรียนร่วมของนักเรียนพิการ และฝึกสอนการศึกษาพิเศษไม่น้อยกว่า 100 ชั่วโมง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ต้องมีในการสมัครสอบบรรจุครู

หลักสูตรการฝึกหัดครูสอนระดับมัธยมศึกษาที่ได้วุฒิ Diploma di specializzazione ของ SSIS เป็นหลักสูตร 2 ปีระดับบัณฑิตศึกษา ผู้ที่จะเข้าเรียนต้องมีคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งดังนี้คือ

  • ปริญญาตรีที่ตรงกับสาขาวิชาที่ต้องการสอนในโรงเรียน
  • ปริญญาตรงกับสาขาวิชาที่ต้องการสอนในโรงเรียน จากสถาบันวิจิตรศิลป์ สถาบันอุตสาหกรรมศิลป์ชั้นสูง สถาบันดนตรี
  • วุฒิการศึกษาจากมหาวิทยาลัยของประเทศในยุโรป ที่ตรงกับสาขาวิชาที่ต้องการสอนในโรงเรียน

SSIS เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย ดำเนินงานโดยความร่วมมือระหว่างคณาจารย์และภาควิชาต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานสหวิทยาการต่างๆ ที่เน้นการวิจัยทางการเรียนการสอน โรงเรียนเฉพาะทางแต่ละแห่งเปิดสอนอย่างน้อยสองแขนงวิชา เกณฑ์ของการเรียนหลักสูตรนี้คือ เรียนวิชาร่วมของแขนงวิชาต่างๆ ไม่น้อยกว่า 20% ของหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร และจัดสอนตามสัดส่วนของจำนวนนักศึกษาที่เรียนกลุ่มวิชาที่ 1 เรียนกลุ่มวิชาที่ 2 ไม่น้อยกว่า 20% ของหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร วิชาที่มหาวิทยาลัยจัดให้ต้องกว้างกว่าวิชาที่สอนในการศึกษาภาคบังคับ และให้นักศึกษามีโอกาสเลือก ทั้งนี้ สภาโรงเรียนเป็นผู้อนุมัติแผนการเรียนรายบุคคลของนักศึกษา

หลังจากได้รับวุฒิ Diploma di specializzazione แล้ว นักศึกษาสามารถเรียนโมดุลพิเศษเกี่ยวกับการเรียนร่วมของนักเรียนพิการ โดยใช้เวลาไม่น้อยกว่า 400 ชั่วโมง เพื่อที่จะสามารถสอนการศึกษาพิเศษได้ และต้องฝึกประสบการณ์ด้านการศึกษาพิเศษไม่น้อยกว่า 100 ชั่วโมง

 

การรับเข้าเรียน

การเข้าเรียนหลักสูตรปริญญาตรีสาขาวิชาประถมศึกษาศาสตร์ เพื่อเป็นครูสอนก่อนประถมศึกษาและประถมศึกษา จะต้องสำเร็จระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหลักสูตร 5 ปี และต้องสอบเข้า เนื่องจากมีการจำกัดจำนวนตามแผนระดับชาติด้านการบรรจุครูในโรงเรียน ตัวอย่างเช่น ปีการศึกษา 2007/08 กระทรวงมหาวิทยาลัยฯออกประกาศรับนักศึกษาจำนวน 6,727 คน สำหรับนักศึกษาที่อาศัยอยู่ในอิตาลี และ 164 สำหรับนักศึกษาที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ นอกจากนั้น ประกาศดังกล่าวยังระบุจำนวนนักศึกษาที่จัดสรรให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งอีกด้วย

ส่วนการเข้าเรียนโรงเรียนเฉพาะทาง SSIS เพื่อเป็นครูสอนระดับมัธยมศึกษา ผู้เรียนต้องสำเร็จระดับปริญญาตรี มีการรับจำนวนจำกัดเช่นกัน โดยจะรับเฉพาะผู้ที่มีวุฒิตรงตามบัญชีตำแหน่งที่ต้องการ การสอบเข้าประกอบด้วย การสอบข้อเขียนที่ออกโดยแต่ละมหาวิทยาลัย (ปรนัย 50 ข้อ) และการสอบปากเปล่าหรือข้อเขียนเพื่อประเมินความรู้ในวิชาเฉพาะที่ต้องการเรียน จำนวนนักศึกษาครูที่ต้องการรับจะกำหนดในระดับแคว้น ตามจำนวนตำแหน่งที่ต้องการบรรจุครู ตัวอย่างเช่น ปีการศึกษา 2007/08 กระทรวงมหาวิทยาลัยฯออกประกาศรับนักศึกษาจำนวน 11,830 คน และจัดสรรจำนวนให้แก่มหาวิทยาลัยและ SSIS

หลักสูตรการฝึกหัดครูและวัตถุประสงค์

ความแตกต่างของวิชาที่เรียนจะมีเฉพาะใน SSIS เนื่องจากต้องสอดคล้องกับวิชาและระดับชั้นที่จะสอน ครูที่ฝึกการสอนระดับชั้นใดชั้นหนึ่ง ไม่สามารถทำการสอนระดับชั้นอื่นได้ หากประสงค์จะสอน ต้องเรียนวุฒิเฉพาะทางเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก

ระบบการเรียนหลักสูตรปริญญาตรีสาขาวิชาประถมศึกษาศาสตร์ และหลักสูตรเฉพาะทาง (Scoula di specializzazione) จัดทำโดยมหาวิทยาลัย ตามเกณฑ์และวัตถุประสงค์ที่กระทรวงการศึกษาฯกำหนดไว้ให้ รวมทั้งเนื้อหาวิชาขั้นต่ำ กิจกรรมการเรียนการสอน และกระบวนการตรวจสอบและประเมินความสำเร็จของนักศึกษาด้วย

วัตถุประสงค์ของหลักสูตรการฝึกหัดครูระดับปริญญาตรี ในด้านความรู้และทักษะวิชาชีพครู ได้แก่

  • มีความรู้หนึ่งกลุ่มสาระที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และปรัชญา  
  • ฟัง สังเกต เข้าใจนักเรียนระหว่างการทำกิจกรรม ตระหนักถึงความต้องการพื้นฐานและทางจิต-สังคมของนักเรียน เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนทั้งชายและหญิงสร้างอัตลักษณ์ของตน  
  • สามารถทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงาน ครอบครัว สำนักการศึกษา และหน่วยงานต่างๆ ภายในแคว้น  
  • กำหนดสมรรถนะของตนเองจำนวน 1 วิชา ภายในบริบทด้านการศึกษาที่หลากหลาย และใจกว้างต่อการวิจารณ์และการมีปฏิสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรม  
  • พัฒนาความรู้และทักษะในวิชาที่เกี่ยวข้อง ท่ามกลางบริบทด้านการศึกษาที่หลากหลาย อย่างต่อเนื่องและลึกซึ้ง  
  • ทำให้กิจกรรมการสอนมีคุณค่า เป็นระบบ และซับซ้อน ด้วยการวางแผนแบบยืดหยุ่น ขณะทำการตัดสินใจเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ สาระการเรียนรู้ และวิธีสอน  
  • ทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมในหลักการความรู้และประสบการณ์เฉพาะทาง อย่างเหมาะสมกับความก้าวหน้าในการเรียน ลักษณะเฉพาะของเนื้อหา ความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อหากับวิธีการ และความรู้พื้นฐาน  
  • จัดเวลา พื้นที่ วัสดุ (รวมทั้ง มัลติมีเดีย) และเทคโนโลยีทางการสอน เพื่อให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับทุกคน  
  • ใช้การสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับนักเรียน เป็นเครื่องมือในการสร้างความสามารถ ทักษะ ประสบการณ์ และความรู้ เพื่อเพิ่มความสุขในการเรียนรู้และการแสดงออกของนักเรียน และสร้างความเชื่อมั่นในการค้นหาความรู้ใหม่ของนักเรียน
  • ส่งเสริมนวัตกรรมของโรงเรียนและร่วมมือกับโรงเรียนอื่น/ตลาดแรงงาน
  • ตรวจสอบและประเมินกิจกรรมการสอน-การเรียน และกิจกรรมโรงเรียนโดยภาพรวม ด้วยการใช้วิธีการประเมินที่ทันทสมัยที่สุด  
  • แสดงบทบาททางสังคมของตนในกรอบความเป็นเอกภาพของโรงเรียน ตระหนักในสิทธิและหน้าที่ของครู และปัญหาขององค์กรที่เกี่ยวข้อง สนใจความเป็นจริงเกี่ยวกับประชากรและวัฒนธรรม (อิตาลีและยุโรป) ใจกว้างต่อชาติพันธุ์ที่หลากหลาย และปัญหาเฉพาะด้านของนักเรียนที่ต่างวัฒนธรรม ภาษา และสัญชาติ

วัตถุประสงค์ของหลักสูตรการฝึกหัดครูระดับปริญญาตรีสาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มีดังนี้

  • กลุ่มวิชาที่ 1: ความเป็นครู (Teacher function) ประกอบด้วย กิจกรรมการสอนที่มุ่งให้มีความสามารถและทักษะด้านศึกษาศาสตร์ วิธีสอน จิตวิทยา สังคม-มนุษยวิทยา สุขภาพอนามัย และทักษะที่เกี่ยวกับการสอนเด็กพิการที่เรียนร่วม
  • กลุ่มวิชาที่ 2: เนื้อหาที่สอนในระดับประถมศึกษา (Primary teaching contents) เนื้อหาวิชาตามหลักสูตรและการสอนในโรงเรียนประถมศึกษาและก่อนประถมศึกษา ประกอบด้วย กิจกรรมการสอนที่มุ่งให้นักศึกษามีความสามารถและทักษะเกี่ยวกับวิชาพื้นฐานและความสามารถในการสอนวิชาต่างๆ ได้แก่ ภาษาและวรรณคดี คณิตศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ วิทยาศาสตร์กายภาพ-ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การสื่อสารด้วยดนตรีและเสียง วิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหว ภาษาสมัยใหม่ ประวัติศาสตร์-ภูมิศาสตร์-สังคมศาสตร์ การวาดภาพและศิลปะรูปแบบต่างๆ
  • กลุ่มวิชาที่ 3: การทดลอง (Laboratory) ประกอบด้วย การวิเคราะห์ การวางแผน และการจำลองแบบ (Simulation) กิจกรรมการสอน
  • กลุ่มวิชาที่ 4: การฝึกสอน (Apprenticeship) ประกอบด้วยประสบการณ์การสอนในโรงเรียนเพื่อบูรณาการทักษะเชิงทฤษฎีกับทักษะเชิงปฏิบัติ

วัตถุประสงค์ของหลักสูตรการฝึกหัดครูของโรงเรียนเฉพาะทาง มีดังนี้

  • กลุ่มวิชาที่1: ความเป็นครู ประกอบด้วย กิจกรรมการสอนที่มุ่งให้มีความสามารถและทักษะที่จำเป็นด้านศึกษาศาสตร์ และลักษณะต่างๆของงานครู
  • กลุ่มวิชาที่ 2: เนื้อหาวิชาเฉพาะ ประกอบด้วย กิจกรรมการสอนที่มุ่งให้นักศึกษามีความสามารถและทักษะเกี่ยวกับวิธีสอนวิชาต่างๆ ซึ่งเน้นเป็นพิเศษเกี่ยวกับตรรกะ ที่มา ประวัติความเป็นมา ปรัชญาการนำไปใช้ ความหมายเชิงปฏิบัติและหน้าที่เชิงสังคมของความรู้ประเภทต่างๆ
  • กลุ่มวิชาที่ 3: การทดลองสอน (Laboratory) ประกอบด้วย การวิเคราะห์ การวางแผน และการจำลองแบบกิจกรรมการสอนที่สอดคล้องกับเนื้อหาวิชาเฉพาะ
  • กลุ่มวิชาที่ 4: การฝึกสอน (Apprenticeship) ประกอบด้วยประสบการณ์การสอนในโรงเรียนเพื่อบูรณาการทักษะเชิงทฤษฎีกับทักษะเชิงปฏิบัติ โรงเรียนจะจัดครูพี่เลี้ยง (Host teacher) หนึ่งคนต่อนักศึกษาฝึกสอนหนึ่งคน มีครูนิเทศก์ (Supervising teacher) เพื่อประสานงานระหว่างโรงเรียนต่างๆ กับ SSIS โดยครูผู้นี้จะได้รับการยกเว้นหน้าที่สอนบางส่วน

กิจกรรมการสอนสำหรับหลักสูตรปริญญาตรีสาขาวิชาศึกษาศาสตร์ กำหนดให้หน่วยกิตของการทดลองสอนต้องไม่น้อยกว่า 10% และการฝึกสอนต้องไม่น้อยกว่า 20% ส่วนหลักสูตรของโรงเรียนเฉพาะทางต้องทดลองสอนไม่น้อยกว่า 20% และฝึกสอนไม่น้อยกว่า 25% ของหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร

โดยทั่วไป ในแต่ละภาคเรียนจะจัดการสอนระหว่าง 250-300 ชั่วโมง และกำหนดให้สอบได้ไม่เกิน 3 ครั้งต่อภาคเรียน ทั้งนี้มีการสอบความรู้ภาษาต่างประเทศ 1 ภาษาด้วย เมื่อสิ้นสุดการเรียนของแต่ละหลักสูตร นักศึกษาต้องสอบประมวลความรู้ รวมทั้งทำรายงานเกี่ยวกับการทดลองสอนและการฝึกสอน คณะกรรมการสอบประกอบด้วยอาจารย์มหาวิทยาลัยและครูของโรงเรียนที่เกี่ยวข้อง วุฒิการศึกษามี 2 ประเภทคือ ปริญญาบัตรที่ระบุประเภทของหลักสูตรว่าเป็น Laurea หรือ Specializzazione พร้อมคะแนนที่ได้ และประกาศนียบัตรแสดงรายการวิชาที่สอบผ่านพร้อมคะแนนที่ได้

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย