วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>

การทบทวนวรรณคดีและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

ประโยชน์ที่ได้จากการทบทวนวรรณคดีและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
ขั้นตอนการทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
หลักการเลือกวรรณคดีและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
ชนิดของเอกสารที่เกี่ยวข้อง
ข้อเสนอแนะวิธีการทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

ข้อเสนอแนะวิธีการทบทวนเอกสารและ
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

แม้นักวิจัยจะทราบข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่ศึกษาค้นคว้าเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องแล้วแต่การทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องก็มิใช่งานที่นัก จากประสบการณ์ของผู้เขียนและเพื่อน ๆ นักวิจัยมือใหม่หลายคนพบว่า การทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องที่ไม่เคร่งครัดต่อแผนที่กำหนดไว้ จะส่งผลให้การค้นคว้าไม่ทั่วถึงข้อมูลไม่กระจายเท่าที่ควรจะเป็น ถึงแม้ว่าการสืบค้นทางคอมพิวเตอร์จากอินเตอร์เน็ตจะเป็นช่องทางที่สะดวก นักวิจัยทั่วไปนิยมทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องโดยช่องทางนี้กันมาก แต่ข้อมูลที่สืบค้นทางคอมพิวเตอร์จากอินเตอร์เน็ตจะมีรายละเอียดไม่มากนัก ห้องสมุดยังคงเป็นแหล่งข้อมูลเอกสารที่มีรายละเอียดข้อมูลมากที่สุด และเพื่อเสนอแนะวิธีการที่จะทำการคัดกรองข้อมูลนำมาเรียบเรียงเชื่อมโยงให้ต่อเนื่องสละสลวยกันจะดำเนินอย่างไร สำหรับนักวิจัยที่ยังไม่มีทักษะนั้น ขอเสนอแนะวิธีทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องพอเป็นสังเขปดังนี้

  1. จัดเตรียมแฟ้มรวบรวมข้อมูลแยกประเภท ๆ เช่น แฟ้มรวบรวมข้อมูลจากตำราแฟ้มรวบรวมข้อมูลจากบทความวิชาการ แฟ้มรวบรวมข้อมูลจากรายงานผลการประชุม แฟ้มรวบรวมข้อมูลจากรายงานผลการวิจัยที่ลงพิมพ์ในวารสารต่าง ๆ แฟ้มรวบรวมวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา และแฟ้มรวบรวมข้อมูลจากการสืบค้นทางคอมพิวเตอร์จากอินเตอร์เน็ต เป็นต้น
  2. กำหนดเวลาที่จะใช้ทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน เช่น จะศึกษาค้นคว้าให้เสร็จภายในเวลา 1 เดือน หรือ 3 เดือน เป็นต้น แล้วกำหนดช่วงเวลาการศึกษาค้นคว้าไว้ให้แน่นอนด้วย เช่น ทุกวันระหว่างเวลา 9.00 – 18.00 น. หรือ วันเว้นวันระหว่างเวลา 9.00 –18.00 น. เป็นต้น
  3. กำหนดแหล่งการศึกษาค้นคว้าทำเป็นตารางเวลาให้ชัดเจน เช่น สัปดาห์แรกจะศึกษาค้นคว้าที่ห้องสมุด ก สัปดาห์ที่ 2 จะศึกษาค้นคว้าที่ห้องสมุด ข เป็นต้น
  4. การศึกษาค้นคว้าในห้องสมุดแต่ละแหล่งให้แบ่งการศึกษาค้นคว้าเป็น 3 ระยะ คือ

    ระยะแรก เป็นการรวบรวมชื่อเอกสารและข้อมูลที่น่าจะเกี่ยวข้องทั้งหมดที่มีอยู่ในห้องสมุดนั้น
    ระยะที่สองเป็นการศึกษาเอกสารแต่ละชิ้นโดยสังเขปเพื่อคัดเลือกเอกสารที่เห็นว่าเกี่ยวข้องจริง
    ระยะที่สามเป็นการศึกษาเอกสารที่คัดเลือกไว้ในระยะที่สองอย่างละเอียด
     
    การรวบรวมชื่อเอกสารและข้อมูลที่น่าเกี่ยวข้องทั้งหมด เอกสารที่จะรวบรวมชื่อควรจะใช้เอกสารที่พิมพ์เผยย้อนหลังไปนานเท่าใดไม่มีเกณฑ์ที่แน่นอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะข้อมูลนั้น ๆ เช่น ถ้าเป็นข้อมูลเกี่ยวกับประวัติย้อนหลังไปนานมากก็ยิ่งดี แต่ถ้าเป็นข้อมูลด้านทฤษฎีก็ควรจะเป็นทฤษฎีที่ย้อนหลังไปไม่นานนัก เป็นต้น อย่างไรก็ตามสำหรับข้อมูลทั่ว ๆ ไปที่ไม่ใช่ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติ ขอเสนอแนะให้ใช้ข้อมูลย้อนหลังประมาณ 5 ปี แต่ถ้าข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี แล้วจำนวนข้อมูลนั้นน้อยเกินไป ก็ให้ย้อนหลังไปช่วงละ 5 ปี จนกว่าจะได้จำนวนข้อมูลมากจนเป็นที่พอใจ

     

    การศึกษาเอกสารแต่ละชิ้นโดยสังเขปเพื่อคัดเลือกเอกสารที่เห็นว่าเกี่ยวข้องจริงการศึกษาค้นคว้าในระยะนี้เป็นการอ่านเพียงอย่างเดียวไม่ต้องมีการบันทึกสาระ การอ่านอาจอ่านจากหัวข้อสรุปของแต่ละบท หรืออ่านจากบทคัดย่อ หรืออ่านเฉพาะสรุปผลการวิจัย เป็นต้น เมื่ออ่านแล้วเห็นว่าเอกสารชิ้นใดที่เกี่ยวข้องก็คัดเลือกไว้ทั้งหมด

    การศึกษาเอกสารที่คัดเลือกไว้ในระยะที่สองอย่างละเอียด การศึกษาค้นคว้าในระยะนี้กินเวลามาก เพราะต้องอ่านทั้งหมดแล้วสรุปสาระประเด็นสำคัญโดยย่อไว้ทั้งหมดทีละชิ้นซึ่งการสรุปสาระประเด็นสำคัญโดยย่อทั้งหมดแต่ละชิ้นนั้น ผู้วิจัยต้องคิดรูปแบบของตนแล้วบันทึกสรุปสาระประเด็นสำคัญในรูปแบบเดียวกันอย่างเป็นระบบ ตัวอย่างเช่น ใช้ระบบการเขียนบรรณานุกรม คือ ชื่อผู้เขียน ชื่อเอกสาร ครั้งที่พิมพ์เผย จังหวัดที่ตั้งโรงพิมพ์ ชื่อโรงพิมพ์ และปีที่พิมพ์เผย เป็นต้น และถ้าจะคัดลอกข้อความใด ๆ ไปใช้อ้างอิงจะต้องไม่ลืมบันทึกหน้าที่คัดลอกมาด้วย

    เมื่อบันทึกสรุปสาระประเด็นสำคัญโดยย่อทั้งหมดเสร็จไปชิ้นหนึ่งแล้ว ก่อนที่จะเริ่มค้นคว้าชิ้นต่อไปต้องเก็บบันทึกสรุปสาระประเด็นสำคัญชิ้นนั้น ๆ เข้าแฟ้มตามประเภท แฟ้มที่เตรียมไว้ก่อนเสมอ
  5. การสืบข้อมูลทางคอมพิวเตอร์จากอินเตอร์เน็ตก็ดำเนินตามลำดับคล้ายกับการศึกษาค้นคว้าในห้องสมุด ตามที่ได้กล่าวมานั้น
  6. นำข้อมูลมาเรียงต่อกันให้เป็นระบบก่อน โดยอาจเรียงต่อกันตามระยะเวลา และหรือเรียงต่อกันตามความเป็นเหตุเป็นผลของสถานการณ์ หลังจากนั้นจึงนำข้อมูลทั้งหมดมาเรียบเรียงเชื่อมโยงให้ต่อเนื่องสละสลวย การนำข้อมูลทั้งหมดมาเรียบเรียงเชื่อมโยงให้ต่อเนื่องสละสลวยนั้นไม่ใช่นำข้อมูลมาเรียงต่อกันให้เป็นระบบ แต่เป็นการนำข้อมูลทั้งหมดมาเขียนเรียงความที่เป็นเรื่องเพียงเรื่องเดียว แม้ว่าเรื่องเดียวนั้นจะมีการอ้างอิงหลายลักษณะ ก็ต้องวางโครงเรื่องที่เป็นเรื่องเดียวให้จงได้ ซึ่งการเรียบเรียงข้อมูลเขียนเป็นเรียงความที่มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงเป็นเรื่องเดียวกันที่สละสลวยนั้นเป็นขั้นตอนสรุปรวบยอด แต่ในขั้นตอนแรก ๆ ผู้วิจัยอาจต้องนำข้อมูลมาเรียงต่อกันให้เป็นระบบก่อน โดยอาจเรียงต่อกันตามระยะเวลา และหรือเรียงต่อกันตามความเป็นเหตุเป็นผลของสถานการณ์ การจัดเรียงเป็นระบบจะช่วยป้องกันข้อมูลตกหล่น และทำให้นักวิจัยเห็นความต่อเนื่องของข้อมูลได้ชัดเจน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย