สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
ดัชนีความสุขโลก
ดร.เสรี พงศ์พิศ
ดัชนีความสุขโลก(HPI : Happy Planet
Index) ไม่ได้ต้องการจะบอกว่าประชากรสองแสนกว่าคนของวานูอาตูมีความสุขที่สุดในโลก
ประเทศนี้น่าอยู่ที่สุดในโลก อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมดีที่สุดในโลก
และสหรัฐอเมริกาซึ่งอยู่อันดับที่ 150 จาก 178 ประเทศ
เป็นประเทศที่มีความสุขน้อยที่สุด ไม่น่าอยู่ที่สุด และสิ่งแวดล้อมแย่ที่สุด
หรือเวียดนาม(อันดับ 12 ของโลก อันดับ 1 ในเอเชีย) จะน่าอยู่กว่าคนไทย
คนมีความสุขกว่าคนไทย(อันดับ 32 ของโลก อันดับ 7 ของเอเชีย) สิงคโปร์(อันดับ 131
ของโลก อันดับสุดท้ายของอาเซียน อันดับท้ายๆของเอเชีย)
HPI ต้องการจะบอกว่าวันนี้ไม่มีประเทศไหนในโลกไปถึงจุดหมายของ
สุขภาวะ ความสมดุล และ ความยั่งยืน ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้ตั้งเป้าไว้ที่
83.5 อันดับหนึ่งวานูอาตูได้เพียง 68.2 เท่านั้น
HPI เป็นแผนที่ความสุข
ถ้าหากประเทศต่างๆเดินตามแผนที่นี้ก็จะพบความสุข
ซึ่งเป็นเป้าหมายชีวิตของผู้คนทุกประเทศในโลก แต่รัฐบาลประเทศต่างๆ
ได้กำหนดตัวชี้วัด ผิดๆ มานาน คิดว่าการมีรายได้มาก การบริโภคมาก
ทำให้คนมีความสุข ซึ่งไม่จริง
ประเทศที่ GDP โตๆทั้งหลายไม่ได้มีความสุขเพิ่มขึ้นตามรายได้เลย
อย่ามองไกลที่ไหนระหว่างปี 2530-2540 GDP ของไทยเติบโตเป็นเลขสองหลักทุกปี
รวมแล้วเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่คนไทยก็ไม่ได้มีความสุขเพิ่มขึ้น
ซ้ำยังทุกข์หนักอีกต่างหาก โดยเฉพาะเมื่อฝันสลายฟองสบู่แตกในปี 2540
คนเราจะมีความสุขควรจะมี 3 อย่างที่ประสานกันไปคือ
1.ความพอใจในชีวิต
2.อายุยืน การมีอายุยืนบ่งบอกถึงสภาพแวดล้อมทางสังคมเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวย
3.การใช้ทรัพยากร หรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
โดยใช้สูตรในการคำนวณคือ HPI = ข้อ 1 คูณข้อ 2 หารด้วยข้อ 3
ความจริงทั้ง 3 เรื่องก็ไม่ใช่อะไรใหม่เสียทีเดียว
ใช้กันมาหลายปีแล้วโดยสหประชาชาติและหลายประเทศ
ซึ่งปรับตัวชี้วัดการพัฒนา(ที่ยั่งยืน)จากการเน้นเศรษฐกิจไปสู่การวัดสุขภาวะ(well-being)ของประชากร(HDI
:Human Development Index)
แต่เป็นเรื่องใหม่และเรื่องใหญ่คือ
กระบวนทัศน์หรือทัศนะแม่บท(paradigm) อันเป็นฐานและวิธีในการวัด ความสุขของโลก
(HPI) ซึ่งแตกต่างไปจากของยูเอ็นและอีกหลายประเทศ
ไม่เช่นนั้นสหรัฐอเมริกาไม่น่าจะหล่นไปอยู่อันดับที่ 150 อังกฤษ 108 สวีเดน 119
ฟินแลนด์ 123 ฝรั่งเศส 129 รัสเซีย 172 ยูเครน 174
ทั้งๆที่รัสเซียมีรายได้ต่อหัวประชากรถึง 9,230 เหรียญสหรัฐ
สิ่งที่น่าประหลาดใจกว่านั้นคือ
เรื่องทั้งหมดนี้มาจากคนเล็กๆกลุ่มเล็กๆเอ็นจีโอเล็กๆสององค์คือ
มูลนิธิเศรษฐศาสตร์ใหม่(New Economics Foundation) และเพื่อนโลก (Friends of the
Earth) ซึ่งเป็นสหพันธ์องค์กรเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมใน 70 ประเทศ
ในองค์กรเหล่านี้มีคนที่เป็นมืออาชีพต่างๆ มาร่วมกันคิดร่วมกันทำงาน
และไม่ได้หวังประโยชน์ส่วนตัวใดๆ งบประมาณการทำงานก็มาจากการบริจาค
เป็นอาสาสมัครนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ทางเลือกซึ่งรวมตัวกันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1986
เพื่อล้อยักษ์ใหญ่กลุ่ม G8
วันนี้พวกเขามีตัวเลขมาบอกชาวโลกว่า
ทำไมเขาถึงจัดสหรัฐอเมริกาไว้ที่อันดับ 150 ทั้งๆที่รายได้ต่อหัวประชากรถึงปีละ
37,562 เหรียญ หรือ 1,420,000 บาท มีความพอใจในชีวิตอยู่ระดับสูงมากคือ 7.4
เท่ากับวานูอาตู มากกว่าไทย(6.5) และอายุเฉลี่ยของคนอเมริกันก็ 77.4
สูงกว่าวานูอาตู(68.6)
ความแตกต่างอยู่ที่การใช้ทรัพยากรของคนอเมริกันซึ่งอยู่ที่ 9.5
เกือบสูงสุดในโลก
หมายความว่าคนอเมริกันใช้ทรัพยากรเกินขีดจำกัดคือมากกว่าที่ควรจะใช้ถึง 9.5 เท่า
ไทยใช้ 1.6 สิงคโปร์ใช้ 6.2
ประเทศที่เรียกกันว่าพัฒนาแล้ว
แต่ผลาญทรัพยากรทั้งหลายจึงหล่นไปอยู่อันดับท้ายๆพอๆกับประเทศยากจนในแอฟริกาซึ่งอายุเฉลี่ยก็สั้นรายได้ประชาชาติก็น้อย(ต่ำกว่าพันเหรียญต่อคนต่อปี)
อย่างสวาซีแลนด์(177) ซิมบับเว(178) สองประเทศที่กำลังล่มสลายด้วยโรคเอดส์
อายุเฉลี่ยประชากรเพียง 32.5 , 36.9 ความพึงพอใจในชีวิตอยู่ที่ 4.2 , 3.3 เท่านั้น
จึงไม่แปลกที่ประเทศกำลังพัฒนาในระดับกลางๆโดยเฉพาะประเทศที่เป็นเกาะทั้งหลายจะรั้งอันดับดีๆจนคนทั่วไปที่คุ้นกับกระบวนทัศน์กระแสหลักจะประหลาดใจและทำใจได้ยากที่เห็นประเทศอย่างโคลัมเบียติดอันดับ
2 ของ HPI เพราะภาพที่สหรัฐอเมริกาป้ายสีให้ตลอดมาคือ
ประเทศที่เต็มไปด้วยยาเสพติดและไม่เป็นประชาธิปไตย
คนไทยเองก็ทำใจไม่ได้ที่เวียดนามอยู่อันดับดีกว่าไทยกลายเป็นที่หนึ่งของเอเชีย
และไม่ค่อยเห็นด้วยที่ศรีลังกา ฟิลิปปินส์กับอินโดนีเซียได้อันดับดีกว่า(15,17,23
ตามลำดับ) เพราะคิดว่าตนเองเศรษฐกิจดีกว่า พัฒนามากกว่า
HPI อยากบอกว่า
- คนจะมีความสุข สังคมจะอยู่เย็นเป็นสุขไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรโลกมากมายอย่างที่ใช้กันเลย
- การพัฒนาที่จะสร้างความสุขในวันนี้ และมีเหลือให้ลูกหลานในวันหน้า นี่คือ การพัฒนาที่ยั่งยืน
HPI ได้เสนอแนวทางไปสู่ ความอยู่เย็นเป็นสุข โดยมีชีวิตอยู่ด้วยทรัพยากรที่มีจำกัดคือ
- การกำจัดความยากจนและความหิวโหยให้หมดไป
เพราะวันนี้ประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ได้แบ่งปันทรัพยากรให้ประเทศยากจนอย่างเป็นธรรม
คนจนที่ไม่มีปัจจัยสี่เพียงพอย่อมไม่สามารถมีชีวิตที่มีความสุขได้
- สนับสนุนชีวิตที่มีความหมายที่อยู่นอกจากงาน ซึ่งอาจไม่ได้ทำเพื่อเงิน
แต่ทำด้วยใจรัก ทำด้วยความพึงพอใจ เช่น การร่วมทำงานอาสาสมัครเพื่อสังคม
กิจกรรมเพื่อชุมชน กิจกรรมที่ทำให้ชีวิตรื่นรมย์ มีความหมาย มีความสุข
ไม่ใช่มุ่งหาแต่เงินอย่างเดียว
- พัฒนานโยบายเศรษฐกิจในขอบเขตของทรัพยากรที่มีอยู่ ไม่ใช้เกินขีดจำกัด การใช้อย่างพอเพียง แปลว่า ใช้แล้วให้เหลือให้ลูกหลานได้ใช้ด้วย
ดัชนีความสุขของโลกได้กระตุกความรู้สึกนึกคิดของผู้คน
ทำให้คนไทยมั่นใจยิ่งขึ้นว่า เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่ปรัชญาลอยๆ
แต่เป็นหลักคิดหลักปฏิบัติที่ไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่ HPI พูดถึงเลย
เศรษฐกิจพอเพียงบอกไว้ 3 อย่างสำคัญคือ
- ความพอเหมาะพอควร ซึ่งก็เป็นหัวใจของ HPI ให้ใช้ทรัพยากรเท่าที่มีอยู่
ไม่ใช้เกินขีดความสามารถที่ธรรมชาติจะรับได้
- ความมีเหตุมีผล เป็นแนวทางการจัดการชีวิต ความเป็นอยู่
เศรษฐกิจสังคมอย่างมีหลักวิชา ทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ใช้ความรู้ ใช้ปัญญา
เข้าใจปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของผู้คน
การมีเหตุมีผลเกิดจากการเรียนรู้ที่เหมาะสม ทำให้คนพัฒนาศักยภาพของตนเอง
ของท้องถิ่น
และสามารถใช้ทรัพยากรอย่างมีเหตุมีผลเหมือนกับที่บรรพบุรุษเราได้ใช้ด้วย
ภูมิปัญญา จึงมีเหลือให้เราลูกหลานในวันนี้
- การมีภูมิคุ้มกันที่ดี หมายถึง การมีหลักประกันว่าสิ่งที่ทำจะมั่นคงยั่งยืน ไม่ใช่ทำแล้วล้มลุกคลุกคลาน หมายถึงต้องสร้างระบบ ไม่ใช่ทำโครงการ ใช้เงินกับอำนาจจะได้โครงการ ใช้ความรู้ใช้ปัญญาจะได้ระบบ โครงการมักไม่ยั่งยืนเพราะเงินหมดก็เลิก คนย้ายก็เลิก เพราะขึ้นกับคน ขึ้นกับเงิน แต่ระบบเป็นพลังที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้ถ้าเป็นระบบที่ดี
HPI ทำให้เราเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจพอเพียงสามารถทำให้คนไทยมีความสุขได้
มีความพอใจในชีวิต มีอายุยืนยาว รวมทั้งมีรายได้เพียงพอและมีชีวิตอยู่อย่างมั่นคง
ถ้าเราไม่รีบดำเนินการ ไม่นานเมืองไทยอาจจะไหลลงไปเลยอันดับที่ 100 ของ HPI
เพราะขณะนี้คนไทยก็เครียด บ้าและฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทรัพยากรก็ลดน้อยลงไป
หนี้สินชาวบ้านนับวันจะเพิ่มมากขึ้นแบบไม่มีทางออก ถึงเวลาตั้งสติกันได้แล้ว
ของดีมีอยู่ ความคิดดีมีอยู่อย่างพอเพียงในบ้านเรานี้เอง