วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>

กาแลกซีเมฆแมกเจลเลน

    ปฏิบัติการกล้องโทรทรรศน์อวกาศ AKARI อันเกิดจากความร่วมมืดระหว่างองค์การสำรวจด้วยอวกาศยานแห่งญี่ปุ่น (Japan Aerospace Exploration Agency :JAXA) กับองค์การอวกาศยุโรป (ESA) กำลังเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของภารกิจถ่ายภาพท้องฟ้าทุกทิศทาง และจากภารกิจดังกล่าวกล้อง AKARI ก็ได้มอบภาพกาแลกซีเมฆของแมกเจลเลนใหญ่( Large Magellanic Cloud : LMC)ในย่านรังสีอินฟราเรด พร้อมทั้งรายละเอียดที่น่าสนใจบางประการ LMC เป็นกาแลกซีเพื่อนบ้านของทางช้างเผือก อยู่ห่างจากเรา 160,000 ปีแสง (ซึ่งนับว่าใกล้มากเมื่อเทียบกับกาแลกซีอื่นๆ) ภายในกลุ่มดาว Dorado ของท้องฟ้าซีกใต้ กาแลกซีนี้ประกอบด้วยดาวฤกษ์ประมาณ 10,000 ล้านดวง หรือประมาณ 1 ใน 10 ของดาวฤกษ์ในทางช้างเผือก เมื่อมองในตอนกลางคืนจะเห็นเหมือนกับเมฆมัวขนาดใหญ่โดยมีเมฆขนาดเล็กที่เรียกว่า Small Magellanic Cloud อยู่ด้วย กาแลกซีเพื่อนบ้านทั้งสองตั้งชื่อตาม Magellan นักเดินเรือในศตวรรษที่ 16 ผู้ค้นพบ “เมฆ” ดังกล่าวในขณะเดินทางสำรวจโลก

กรอบสีแดงคือบริเวณที่ถ่ายภาพในย่าน far-infrared กรอบสีเขียวคือบริเวณที่ถ่ายในย่าน near- และ mid- infrared Credit:Mr. Motonori Kamiya

ภาพถ่าย LMC นี้ ถูกบันทึกในย่านรังสีอินฟราเรดโดยอุปกรณ์ Far-Infrared Surveyor(FIS) ซึ่งติดตั้งบนยาน AKARI ภายในภาพให้รายละเอียดของการกระจายมวลสารทั้งฝุ่นและก๊าซภายในกาแลกซี เกล็ดฝุ่นภายในเมฆระหว่างดาวจะถูกแผดเผาโดยแสงดาวฤกษ์เกิดใหม่ พร้อมกันนั้นก็จะแผ่พลังงานออกมาในรูปคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในยานรังสีอินฟราเรด(ตามอุณหภูมิของมัน) ดังนั้นการแผ่รังสีอินฟราเรดนี้จะช่วยบ่งชี้ว่ามีดาวฤกษ์เกิดใหม่อยู่ ณ บริเวณใดบ้าง


ภาพกาแลกซีเมฆของแมกเจลเลนใหญ่ ซึ่งได้จากการรวมภาพถ่ายในย่านรังสีอินฟราเรดความยาวคลื่น 60, 90 และ 140 ไมโครเมตร มีเนบิวลา Tarantula อยู่ทางซ้ายล่าง ภายในพื้นที่ท้องฟ้า 17,000 x 17,000 ปีแสง Credit: JAXA

 

ธรรมชาติของ LMC ถูกเปิดเผยโดยการกระจายตัวของมวลสารระหว่างดาวและดาวฤกษ์ บริเวณกลุ่มมวลสารรูปร่างคล้ายจานที่ซึ่งดาวฤกษ์จำนวนมากรวมกันอยู่ภายในโครงสร้างคล้าย “กระสวย” ในครึ่งล่างของภาพ แสดงให้เห็นว่ามีกลุ่มสสารถูกแยกออกมาจาก LMC อย่างน้อยสองกลุ่ม นักดาราศาสตร์เชื่อว่าอาจเป็นอิทธิพลจากแรงโน้มถ่วงของ LMC เอง กับทางช้างเผือก ส่วนบริเวณสว่างๆ ด้านซ้ายล่างของภาพคือเนบิวลา Tarantula ซึ่งเปรียบได้เป็นโรงงานผลิตดาวฤกษ์ได้เลยทีเดียว


ภาพในช่วงคลื่น near- and mid-infrared (3 , 7 และ 11 ไมโครเมตร) แสดงส่วนประกอบของ LMC จุดขาวๆ ในภาพคือดาวฤกษ์อายุมากภายในกาแลกซีดังกล่าว Credit: JAXA

ภาพที่สองถ่ายในช่วงรังสีอินฟราเรด ทั้งช่วงใกล้ย่ายแสงขาว และช่วงกลาง (near- and mid-infrared wavelengths) โดยกล้องถ่ายภาพอินฟราเรด (Infrared Camera : IRC) แสดงภาพมุมใกล้บางส่วนของ Large Magellanic Cloud

ภาพนี้แสดงดาวฤกษ์อายุมากจำนวนมากซึ่งปรากฎตัวเป็นจุดสีขาว พร้อมทั้งเมฆก๊าซระหว่างดาว ที่ช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถศึกษาวิธีการที่ดาวจะหมุนเวียนก๊าซที่เป็นองค์ประกอบของดาวกลับสู่ความเป็นสสารระหว่างดาวในบั้นปลายของชีวิต

ทั้งหมดนี้คือข้อมูลใหม่ล่าสุดจากยานอวกาศ AKARI ซึ่งจะช่วยปลดล๊อกกล่องแห่งความลับของการกำเนิดและวิวัฒนาการของกาแลกซีเมฆของแมกเจลเลนใหญ่และกาแลกซีทางช้างเผือกของเราเอง

by g4836379@student.mahidol.ac.th , w_norkaew@hotmail.com 

 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย