วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา

การป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง

ในพื้นที่ที่ยังไม่พบการระบาด เกษตรกรควรปฏิบัติดังนี้

  • เก็บซากพืชออกจากแปลงปลูก ไถพรวนดินหลาย ๆ ครั้งและตากดินไม่น้อยกว่า 14 วัน
  • แช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมีก่อนปลูกทุกครั้ง
  • ต้องตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอทุก 2 สัปดาห์

ในพื้นที่ที่มีการระบาดของเพลี้ยแป้ง เกษตรกรควรปฏิบัติดังนี้

  • ควรหลีกเลี่ยงการปลูกมันในฤดูแล้ง เพราะฤดูแล้งเพลี้ยแป้งจะขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณได้อย่างรวดเร็ว
  • เก็บซากพืชออกจากแปลงปลูก ไถพรวนดินหลาย ๆ ครั้งและตากดินไม่น้อยกว่า 14 วัน
  • แช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมีก่อนปลูกทุกครั้ง
  • ต้องตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอทุก 14 วัน
  • ถ้าพบการระบาดของเพลี้ยแป้งที่รุนแรงในมันสำปะหลังอายุ 1-4 เดือนให้ถอนทิ้งทั้งหมด แล้วนำไปทำลายนอกบริเวณแปลงปลูก หากพบระบาดแต่ไม่รุนแรงให้ตัดยอดทิ้งนำไปทำลาย และฉีดพ่นสารเคมีบริเวณที่พบเพลี้ยแป้ง
  • ถ้าพบการระบาดในมันสำปะหลังอายุ 4-8 เดือน ให้ตัดยอดหรือถอนต้นที่พบนำไปทำลายนอกแปลง และพ่นสารเคมีกำจัดบริเวณที่พบและรัศมีโดยรอบทันที
  • ถ้าพบระบาดในมันสำปะหลังที่มีอายุมากกว่า 8 เดือน ควรเก็บผลผลิต ตัดต้นทิ้งนำไปทำลาย ทำความสะอาดแปลง และปลูกพืชชนิดอื่นแทน เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อย ทานตะวัน หรือพืชตระกูลถั่ว เป็นต้น
  • ใช้ศัตรูธรรมชาติ ควบคุมเพลี้ยแป้ง เช่น แมลงช้างปีกใส ด้วงเต่า แตนเบียน หรือศัตรูธรรมชาติ ที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำ
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีโดยไม่จำเป็นทั้งนี้เพื่อเป็นการอนุรักษ์มาให้ตัวห้ำตัวเบียนที่เป็นศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังถูกทำลาย
  • ใช้วิธีการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน

การแช่ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังก่อนนำไปปลูกสิ่งสำคัญที่สุดที่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ทุกคนจะต้องปฏิบัติเพื่อควบคุมและป้องกันไม่ให้การระบาดของเพลี้ยแป้ง กระจายเพิ่มขึ้น คือการแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมีทุกครั้งก่อนปลูก ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้งที่อาจติดมากับท่อนพันธุ์ก่อน โดยการปฏิบัติดังนี้

  1. ฉีดพ่นสารเคมีที่แนะนำที่ต้นมันสำปะหลังที่เกษตรกรตัดและกองสุม เตรียมไว้เพื่อทำพันธุ์ เพื่อเป็นการป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้งที่อาจติดมากับต้นพันธุ์ก่อน
  2. ตัดต้นมันที่จะปลูกเป็นท่อน ๆ และนำมาวางเรียงมัดเป็นมัด ๆ หรือเรียงใส่กระสอบป่านหรือกระสอบไนล่อน เพื่อให้สะดวกในการแช่หรือยกขึ้นยกลงจากภาชนะที่ใช้แช่ โดยภาชนะที่ใช้แช่สามารถใช้ถังหรืออ่างพลาสติก หรือภาชนะอะไรก็ได้ตามความสะดวกของเกษตรกร โดยเกษตรกรต้องแช่ท่อนพันธุ์ให้จมมิดใต้น้ำที่ผสมสารเคมีเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5-10 นาที ซึ่งจะมีผลต่อการกำจัดเพลี้ยแป้งที่อาจจะติดมากับท่อนพันธุ์ได้ดี และสามารถป้องกันไม่ให้เพลี้ยแป้งเข้าทำลายต้นมันสำปะหลังที่ปลูก ตั้งแต่เริ่มปลูกเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 เดือน เมื่อแช่ท่อนพันธุ์แล้วควรปลูกให้เสร็จภายใน 1 วัน

  สารเคมีที่แนะนำให้เกษตรกรใช้แช่ท่อนพันธุ์ก่อนปลูกได้แก่

  • ไทอะมีโทแซม 25% WG อัตรา 4 กรัม ต่อน้ำสะอาด 20 ลิตร
  • อิมิดาคลอปิด 70% WG อัตรา 4 กรัมต่อน้ำที่สะอาด 20 ลิตร
  • ไดโนทีฟูแรน 10% WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำสะอาด 20 ลิตร

ภายหลังที่เกษตรกรปลูกแล้ว ต้องหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอทุก 14 วัน หากพบการระบาดของเพลี้ยแป้งให้ดำเนินการฉีดพ่นด้วยสารเคมีดังนี้

  • สารไทอะมีโทแซม 25 % WG อัตรา 2 กรัม ผสมไวท์ออย อัตรา 50 มิลลิกรัมกับน้ำสะอาดอัตรา 20 ลิตร หากไม่ผสมไวท์ออย ให้ใช้สารเพิ่มขึ้นเป็น 4 กรัม
  • สารไดโนทีฟูแรน 10%WP จำนวน 10 กรัม ผสมไวท์ออย อัตรา 50 มิลลิลิตร กับน้ำสะอาด จำนวน 20 ลิตร หากไม่ผสมไวท์ออยให้ใช้สารเพิ่มขึ้นเป็น 20 กรัม
  • สารโปรไทโอฟอส 50%WP อัตรา 25 มิลลิลิตร ผสมไวท์ออย อัตรา 50 มิลลิลิตร กับน้ำสะอาดจำนวน 20 ลิตร หากไม่ผสมไวท์ออย ให้ใช้สารเพิ่มขึ้นเป็น 50 มิลลิลิตร
  • สารพิริมิฟอสเมทิล 50%EC อัตรา 25 มิลลิลิตร ผสมไวท์ออย อัตรา 50 มิลิลิตรกับน้ำสะอาดจำนวน 20 ลิตร หากไม่ผสมไวท์ออย ให้เพิ่มสารเป็น 50 มิลลิลิตร

ในพื้นที่ 1 ไร่เกษตรกรต้องใช้สารดังที่กล่าวข้างต้นที่ผสมแล้วฉีดพ่นไม่น้อยกว่าไร่ละ 80 ลิตร จึงจะให้ผลในการป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้งได้ดี และสารไวท์ออยที่ใช้ควรเป็นสารไวท์ออยชนิด 67%EC

จากการศึกษาของคุณสุเทพ สหายา นักกีฏวิทยา ชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร พบว่าการใช้สารไทอะมิโทแซม 25%WG อัตรา 2 กรัมผสมไวท์ออย อัตรา 50 มิลลิกรัม ผสมกับน้ำสะอาด 20 ลิตร มีประสิทธิภาพในการป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้งดีที่สุด และมีต้นทุนถูกที่สุด

เพื่อความปลอดภัยของเกษตรกรก่อนการใช้สารเคมีทุกครั้ง ต้องอ่านฉลากกำกับการใช้สารเคมีให้เข้าใจ และต้องปฏิบัติตามคำแนะนำความปลอดภัยในการใช้สารเคมีอย่างเคร่งครัด รวมทั้งต้องสวมเครื่องแต่งกายเพื่อป้องกันสารเคมีให้รัดกุมและมิดชิด ทั้งนี้เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับเกษตรกรจากสารเคมีที่ใช้

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย