สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
ลัทธิสังคมนิยมกับสงคราม
2
ความแตกต่างระหว่างสงครามรุกรานกับสงครามป้องกันตัว
ระยะระหว่างปี 1789--1871 ได้ทิ้งรอยประทับที่ลึกซึ้งและความทรงจำที่ปฏิวัติไว้. ก่อนหน้าที่ระบอบศักดินา, ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และการกดขี่ของต่างชาติจะถูกโค่น, การต่อสู้เพื่อระบอบสังคมนิยมของชนชั้นกรรมาชีพไม่อาจพัฒนาไปได้. เมื่อกล่าวถึงความชอบธรรมของสงคราม "ป้องกันตัว" ในส่วนที่สัมพันธ์กับสงครามในระยะเช่นนั้น ทุครั้งชาวสังคมนิยมจะหมายถึงเป้าหมายเหล่านี้นั่นเอง, เป้าหมายซึ่งรวมความได้ว่า เป็นการปฏิวัติต่อระบบรุกรานและระบบทาสรุกรานและระบอบทาสกสิกร. การใช้คำว่าสงคราม "ป้องกันตัว" ชาวสังคมนิยมหมายถึงสงคราม"ที่เป็นธรรม" ในความหมายนี้เสมอ(ดับบลิว ลิบคเนซต์ ครั้งหนึ่งก็เคยแสดงทรรศนะของเขาออกมาเช่นนี้). มีแต่ในความหมายนี้เท่านั้นที่ชาวสังคมนิยมเคยถือ,และเดี๋ยวนี้ก็ถือ,ว่าสงคราม"พิทักษ์ปิตุภูมิ", หรือสงคราม "ป้องกันตัว", เป็นสงครามที่ชอบธรรม, ที่ก้าวหน้าและเป็นธรรม. ตัวอย่างเช่น, ถ้าพรุ่งนี้มอรอคโคประกาศสงครามกับฝรั่งเศส, อินเดียกับอังกฤษ,เปอร์เซียร์หรือจีนกับรัสเซีย, และอื่น ๆ , สงครามเหล่านั้นย่อมจะเป็นสงครามที่เป็นธรรม, เป็นสงคราม "ป้องกันตัว" , โดยไม่ขึ้นกับว่าผู้ใดเป็นฝ่ายโจมตีก่อน; และชาวสังคมนิยมทุกคนก็จะเอาใจเข้าข้างชัยชนะของรัฐที่ถูกกดขี่, ที่เป็นเมืองขึ้น, ที่ไม่ได้รับความเสมอภาค, คัดค้านประเทศ" มหาอำนาจที่กดขี่ " , ที่เป็นเจ้าทาส, ที่ปล้นสะดมผู้อื่น.
แต่ท่านลองวาดภาพเจ้าทาสผู้หนึ่งที่มีทาส 100 คน ทำสงครามกับเจ้าทาสอีกผู้หนึ่งที่มีทาส 200 คน เพื่อให้มีการจัดสรรทาส"ที่เป็นธรรม" มากขึ้น. เห็นได้ชัดว่า การนำคำว่าสงคราม"ป้องกันตัว", หรือสงคราม"เพื่อพิทักษ์ปิตุภูมิ", มาใช้ในกรณีเช่นนี้ย่อมจะเป็นความผิดทางประวัติศาสตร์, และในทางปฎิบัติก็มีแต่จะเป็นการหลอกลวงประชาชนธรรมดาสามัญ,หลอกลวงผู้ที่ไร้การศึกษา,หลอกลวงตาสีตาสาโดยทาสเจ้าเล่ห์เท่านั้น. ชนชั้นนายทุนจักรพรรดินิยมปัจจุบันก็กำลังหลอกลวงประชาชนประเทศต่าง ๆ อยู่อย่างนี้เองโดยอาศัยความคิดในทาง"ชาติ" และคำว่า "พิทักษ์ปิตุภูมิ" ในสงครามปัจจุบันระหว่างพวกเจ้าทาสเพื่อปกป้องและเสริมความเข้มแข้งให้แก่ระบอบทาส.
สงครามปัจจุบันเป็นสงครามจักรพรรดินิยม
เกือบทุกคนยอมรับว่า สงครามครั้งนี้เป็นสงครามจักรพรรดินิยม, แต่ส่วนใหญ่แล้วคำ ๆ นี้กลับถูกบิดไปหรือใช้กลับอีกฝ่ายหนึ่ง, หรือมีช่องทางเหลือไว้ให้กล่าวได้ว่า, อย่างไรก็ดี,สงครามครั้งนี้อาจมีความหมายในทางปลดปล่อยประชาชาติที่ก้าวหน้าแบบชนชั้นนายทุนก็ได้. จักรพรรดินิยมคือ ขั้นสูงสุดในพัฒนาการของทุนนิยม, ซึ่งเพิ่งบรรลุในศตวรรษที่ 20 นี้เอง.บัดนี้ทุนนิยมได้พบว่า รัฐประชาชาติแบบเก่านั้นคับเกินไปทั้ง ๆ ที่รัฐประชาชาติแบบเก่านี้ หากมิได้สถาปนาขึ้นมาแล้วก็ไม่ย่อมโค่นล้มระบอบศักดินาลงได้. ทุนนิยมได้พัฒนาการรวมศูนย์ไปจนถึงระดับที่ซินดิเคท, ทรัสต์, และสมาคมต่าง ๆ ของบรรดามหาเศรษฐีนายทุนได้เข้ายึดเอาอุตสาหกรรมแขนงต่าง ๆ ไว้หมด, และโลกเกือบทั้งโลกก็ได้ถูกเชือดเฉือนแบ่งปันกันในหมู่เจ้าแห่งทุนไปหมดสิ้น, ไม่ว่าจะเป็นในรูปของเมืองขึ้นหรือด้วยการผูกมัดประเทศอื่น ๆ ไว้ในสายใยนับพัน ๆ เส้นแห่งการขูดรีดทางการคลัง. การค้าอย่างเสรีและการแข่งขันถูกแทนที่ด้วยการต่อสู้เพื่อผูกขาด, เพื่อยึดครองดินแดนสำหรับการลงทุน, เพื่อแย่งชิงตลาดวัตถุดิบจากดินแดนเหล่านั้น, ฯลฯ.จากการเป็นผู้ปลดปล่อยประชาชาติที่ทุนนิยมต่อสู้กับระบอบศักดินานั้น ทุนนิยมจักรพรรดินิยมได้กลายเป็นผู้กดขี่ประชาชาติรายใหญ่ที่สุด. จากที่เคยก้าวหน้า, ทุนนิยมได้แปรเปลี่ยนเป็นปฏิกิริยา; มันได้พัฒนาพลังการผลิตไปจนถึงระดับที่ว่ามนุษยชาติต้องเผชิญกับทางเลือก 2 ทาง, ไม่ไปสู่ระบอบสังคมนิยมก็ต้องทรมานอยู่กับการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธนับเป็นปี ๆ และกระทั่งสิบ ๆ ปีระหว่าง "มหาอำนาจ" ต่าง ๆ เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งระบอบทุนนิยมอย่างฝืน ๆ โดยอาศัยเมืองขึ้น, การผูกขาด,อภิสิทธิ์และการกดขี่ทางประชาชาติทุกประเภท.
"สงครามคือการต่อเนื่องของการเมืองด้วยวิธีการอื่น"(คือ, โดยใช้ความรุนแรง)
วาทะที่ขึ้นชื่อนี้ เคลาสวิตซ์ นักเขียนปัญหาสงครามที่ลึกซึ้งที่สุดผู้หนึ่งเป็นผู้กล่าวไว้ว่า. ชาวลัทธิมาร์คซ์ได้ถืออย่างถูกต้องเสมอมาว่า หลักการนี้เป็นพื้นฐานทางทฤษฎีของทรรศนะเกี่ยวกับความสำคัญของสงครามที่แน่นอนหนึ่ง ๆ ทุกครั้ง. มาร์คซ์และเองเกลส์ก็ได้พิจารณาสงครามต่าง ๆ ด้วยทรรศนะเช่นนี้ตลอดมา.
ขอให้นำทรรศนะนี้มาใช้กับสงครามในปัจจุบันท่านจะเห็นว่าเป็นเวลาหลายสิบปี, กระทั่งเกือบครึ่งศตวรรษมาแล้ว, ที่รัฐบาลและชนชั้นปกครองของอังกฤษ, ผรั่งเศส, เยอรมัน, อิตาลี, เอ๊าสเตรีย, รัสเซีย, ได้ดำเนินนโยบายปล้นสะดมประเทศเมืองขึ้น, นโยบายกดขี่ประชาชาติอื่น,นโยบายปราบปรามการเคลื่อนไหวของชนชั้นกรรมกร. สงครามในเฉพาะหน้านี้เป็นการต่อเนื่องของการเมืองชนิดนี้ และก็เป็นได้แต่เพียงการต่อเนื่องของการเมืองชนิดนี้เท่านั้น. ตัวอย่างเช่น นโยบายของเอ๊าสเตรียและรัสเซีย, ไม่ว่าในยามสันติหรือในยามสงคราม, ต่างก็เป็นนโยบายที่ทำให้ประชาชาติต่าง ๆ ตกเป็นทาสและไม่ใช่การปลดปล่อยประชาชาติต่าง ๆ . ตรงกันข้าม, ในจีน, เปอร์เซีย, อินเดียและประเทศเมืองพึ่งอื่น ๆ , ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมานี้กลับเป็นนโยบายที่ปลุกเร้าประชาชนนับสิบ ๆ นับร้อย ๆ ล้านคน ให้มาสนใจปัญหาชาติ, นโยบายในการปลดปล่ยพวกเขาออกจากการกดขี่ของ "มหา" อำนาจปฎิกิริยา. สงครามภายใต้เงื่อนไขประวัติศาสตร์เช่นนี้ แม้กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังสามารถเป็นสงครามที่ก้าวหน้าแบบชนชั้นนายทุน,เป็นสงครามปลดปล่อยประชาชาติ.
หากเหลือบดูสงครามปัจจุบันจากทรรศนะที่ว่ามันเป็นการต่อเนื่องของการเมืองของ "มหา" อำนาจ, และของชนชั้นต่าง ๆ ที่เป็นหลักภายในประเทศเหล่านั้นก็เพียงพอที่จะมองเห็นได้ในทันทีถึงความขัดต่อประวัติศาสตร์, ความจอมปลอมและมารยาที่โจ๋งครึ่มของทรรศนะที่ว่าความคิด "พิทักษ์ปิตุภูมิ" เป็นสิ่งชอบด้วยเหตุผลได้ในสงครามปัจจุบัน